Skip to main content
sharethis

 



ขบวนประชาชนพม่า เดินขบวนประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าให้ปล่อยตัวแกนนำการประท้วงรัฐบาล ที่ขึ้นราคาน้ำมัน (ที่มาภาพ : AFP/Khin Maung Win)


 


 


ความเคลื่อนไหว


ประชาไท - 23 ส.ค.50  สำนักข่าว AFP รายงานว่า วันนี้กลุ่มผู้รณรงค์ประชาธิปไตยในพม่าได้เดินขบวนประท้วงกันระลอกใหม่ประมาณ 40 คน เพื่อประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า สืบเนื่องมาจากการขึ้นราคาน้ำมัน


 


โดยส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ประท้วงเป็นสมาชิกของพรรคฝ่ายค้านของพม่า พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยของพม่า (National League for Democracy : NLD) ของนางอองซาน ซู จี


 


แต่พอขบวนประท้วงเริ่มไปได้เพียง 5 นาที กลุ่มสนับสนุนเผด็จการทหารพม่าประมาณ 20 คนก็ได้เข้าขัดขวางการเดินขบวนของฝ่ายนิยมประชาธิปไตย --- โดยทั้ง 2 ฝ่ายได้ ต่างตะโกนด่าทอกัน โดยประชาชนชาวพม่าก็ได้มาสังเกตการณ์การเคลื่อนไหวครั้งนี้


 


ทั้งนี้ การเคลื่อนไหวของประชาชนพม่าได้เริ่มขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ประชาชน 500 กว่าคนในกรุงย่างกุ้งและอีกหนึ่งเมือง ได้เดินขบวนประท้วงรัฐบาลเผด็จการ โดยประชาชนเหล่านี้ไม่พอใจการที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าประกาศขึ้นราคาน้ำมันอย่างกะทันหัน โดยการประท้วงครั้งนี้ถือว่าเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ที่สุดในเมืองย่างกุ้งในรอบ 9 ปีที่ผ่านมานี้


 


จากนั้นเมื่อคืนวันอังคารที่ผ่านมา รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าได้ทำการตอบโต้การเคลื่อนไหวของกลุ่มมวลชน ด้วยการจับกุมนักเคลื่อนไหว 13 คน ซึ่งมีอดีตนักเคลื่อนไหวในยุค 1988 รวมอยู่ด้วย


 


ซึ่งเมื่อวันพุธที่ผ่านมา มีการเคลื่อนไหวเป็นครั้งที่ 2 โดยมีประชาชนกว่า 150 คน ได้เดินขบวนแถบชานกรุงย่างกุ้ง เพื่อเรียกร้องให้รัฐปล่อยตัวผู้ถูกจับทั้ง 13 คน ต่อมามีกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลเผด็จการเข้ามาขัดขวางการเดินขบวนประท้วง และมีการจับผู้ชุมนุมประชาชนกว่า 10 คน ซึ่งมีผู้หญิงรวมอยู่ด้วย โดยประชาชนจำนวนหนึ่งได้สังเกตการณ์อยู่ข้างถนน และให้กำลังใจผู้ประท้วง


 


การเคลื่อนไหวในวันพฤหัสบดีที่ 23 ส.ค.นี้ จึงถือเป็นการเคลื่อนไหวครั้งที่ 3 ในรอบสัปดาห์


 


 


น้ำมันทำพิษ


เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า รัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามีคำสั่งปรับราคาของเชื้อเพลิงและน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ในสถานีให้บริการเชื้อเพลิงของรัฐ ส่วนแก็ซธรรมชาติขึ้นราคาไปถึง 5 เท่าตัว โดยอ้างถึงการปรับตัวของราคาน้ำมันในตลาดโลก


 


ในพม่านั้น รัฐบาลได้ทำการผูกขาดการจัดจำหน่ายเชื้อเพลิงและอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงในประเทศไม่ให้สูงเกินไป แต่กลับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล 1 แกลลอน จากราคา 1500 จ๊าต (1.16 ดอลลาร์) เป็น 3000 จ๊าต (2.33 ดอลลาร์) แก็สโซลีน (น้ำมันเบนซิน) ขึ้นราคาเป็น 2500 จ๊าต (1.94 ดอลลาร์) ส่วนแก็สธรรมชาติ 65 ลิตร (ประมาณ 17 แกลลอน) ขึ้นราคาจาก 500 จ๊าต (39 เซ็นต์) เป็น 2500 จ๊าต (1.94 ดอลลาร์)


ทั้งนี้ ราคาน้ำมันเบนซินเคยมีราคาต่ำมากเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ ,โดยราคาเชื้อเพลิงในพม่านั้นมีความสำคัญมากต่อผลกระทบต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนพม่า (เงินเดือนของครูในพม่ามีประมาณ 40000 จ๊าด หรือ 31.30 ดอลลาร์)โดยทางการพม่าประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงครั้งสุดท้ายเมื่อปี ค.ศ.2005 ทั้งนี้ ทางการพม่ามีนโยบายจำกัดการขายผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงภายในประเทศ (rationing system) รวมถึงจำกัดการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ แก่ประชาชน


น้ำมันเบนซินถูกจำกัดการขายมาตั้งแต่ยุค 1980 มีการบันทึกยอดการใช้ของประชาชน โดยเจ้าของรถยนต์ สามารถซื้อน้ำมันเบนซินได้เพียง 227 ลิตร (60 แกลลอน) ต่อเดือนเท่านั้น --- แต่ตามจำนวนโควตาที่รัฐให้นั้นไม่ค่อยจะเพียงพอต่อการใช้ของผู้ขับขี่ยวดยานในพม่า จึงมีการหาซื้อจากตลาดมืดอย่างแพร่หลาย


ส่วนรถโดยสารประจำทางและรถแท็กซี่ในพม่านั้นส่วนใหญ่ใช้พลังงานแก็สธรรมชาติ ซึ่งรัฐบาลพม่าได้เริ่มใช้แก็สจากธรรมชาตินี้เมื่อ ปี ค.ศ.2005  โดยพม่าเป็นประเทศที่ผลิตแก็สธรรมชาติเองด้วย


ประชาธิปไตย + ปากท้อง
ด้านนาย จารุวัฒน์ เกยูรวรรณ บรรณาธิการวารสารสาละวิน คณะกรรมการรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) ให้ความเห็นว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ในพม่า อาจจะเป็นจุดเริ่มครั้งใหม่ในการเรียกร้องประชาธิปไตย เพราะมีเรื่องปากท้องเข้ามาเกี่ยวพัน


จารุวัฒน์กล่าวว่า การเคลื่อนไหวในพม่าเริ่มเป็นที่น่าจับตามองมากขึ้นว่าการต่อสู้ในรอบนี้จะมีผลเป็นอย่างไร เพราะช่วงหลังมานี้ประชาชนพม่าเริ่มมีการเคลื่อนไหวระลอกใหม่ๆ ที่แตกต่างจากยุค 88


 


"ผมใช้คำว่าการเคลื่อนไหวในรอบนี้ ก็เพราะว่ามันมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อนหน้านี้แล้ว นำโดยอดีตนักศึกษา ปี 88"  


 


ส่วนในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกันนี้ ก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2549  ประชาชนพม่าจำนวนหนึ่งได้พร้อมใจกันออกมาร่วมภาวนาในศาสนสถานต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะที่เจดีย์ชเวดากองที่มีผู้คนนับพันได้แต่งชุดขาวพร้อมเทียนออกมาร่วมภาวนาเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปสู่ประชาธิปไตยอย่างสันติ และเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง


 


จารุวัฒน์กล่าวว่านับเป็นการเคลื่อนไหวของประชาชนที่สันติและบริสุทธิ์ภายใต้การกดขี่ของกลุ่มทหารและในครั้งนั้น ได้มีประชาชนจำนวนมากร่วมลงชื่อเรียกร้องประชาธิปไตย สิ่งเหล่านั้นเป็นความพยายามของนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในพม่า ที่มุ่งเน้นกลับมารณรงค์กับประชาชนในประเทศมากขึ้น


 


เขาระบุว่า ก่อนหน้านี้การเคลื่อนไหวส่วนใหญ่มุ่งเน้นเรียกร้องให้องค์กรนานาชาติกดดันพม่า โดยเฉพาะ UN แต่มันก็ได้ถูกพิสูจน์แล้วว่าไม่ได้ผล ประเทศต่างๆ มุ่งเน้นที่ผลประโยชน์ของตนเองในด้านพลังงานจากรัฐบาลทหารพม่ามากกว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่า


 


จารุวัฒน์กล่าวว่า การกลับมามุ่งเน้นการรณรงค์ภายในประเทศระลอกนี้ ได้ส่งผลให้ประชาชนมีความมั่นใจในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมากขึ้น การเคลื่อนไหวครั้งล่าสุดนี้เริ่มมาจากเรื่องปากท้อง ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมายมากนัก เพราะการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในหลายประเทศก็เริ่มต้นขึ้นด้วยปากท้อง และในกรณีของพม่า คุณภาพชีวิตของประชาชนแย่มาก


 


"ไม่ว่าคุณจะมีอาชีพอะไร ข้าราชการชั้นผู้น้อย กับประชาชนธรรมดาก็คงมีคุณภาพชีวิตที่แย่พอๆ กัน ยิ่งเมื่อมีการขึ้นราคาค่าเชื้อเพลิง ก็ได้ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าหมายความว่า ราคาสินค้าต่างๆ ก็เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า แต่รายได้ของคนยังเท่าเดิม"


 


"แน่นอนการเคลื่อนไหวเรื่องปากท้อง มันจะกลายเป็นการเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองแน่นอน เพราะมันเกี่ยวข้องกัน และการที่ประชาชนพม่ายังลำบากอยู่ตอนนี้ก็เพราะการเมืองที่เป็นเผด็จการ แต่เราไม่อาจจะคาดเดาอะไรได้มากนักว่าการเคลื่อนไหวครั้งนี้มันจะถูกพัฒนาไปไกลมากขนาดไหน แต่มันก็เป็นนิมิตหมายที่ดี และหวังว่าความกล้าหาญของประชาชนชาวพม่าในครั้งนี้จะส่งผลเป็นกำลังใจให้กับประชาชนไทยในการต่อสู้กับเผด็จการทหารด้วย" จารุวัฒน์กล่าวปิดท้าย


 


 


 


----------------------------------


ที่มา :


 


Fuel price hike triggers Burma tensions


Myanmar protesters stage new rally


Myanmar arrests dissidents, halts fuel protests


 


 


ข่าวเกี่ยวเนื่องในประชาไท :


 


รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าขึ้นราคาเชื้อเพลิง 2 เท่า , แก็สธรรมชาติ 5 เท่าตัว !


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net