Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 28 ส.ค. 50 เมื่อวันที่ 24 ส.ค. คณะอนุกรรมการสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง และแร่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดงานสัมมนาเรื่อง "มาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิในทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง และแร่" โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมกว่า 19 หน่วยงาน อาทิ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป่าไม้ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กรมทรัพยากรทางธรณีและชายฝั่ง กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชย์นาวี กรมประมง กรมที่ดิน กรมทรัพยากรธรณี การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ฯลฯ


งานครั้งนี้จัดขึ้นในวาระที่คณะอนุกรรมการดังกล่าวได้ตรวจสอบและรับเรื่องร้องเรียนทั้งกรณีน้ำ ชายฝั่ง และแร่  มากว่า 6 ปี และกำลังจะหมดวาระในไม่กี่เดือนข้างหน้า ซึ่งได้พบปัญหาและข้อเสนอต่อมาตรการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านทรัพยากรน้ำ ชายฝั่ง และแร่ โดยแบ่งออกเป็น 6 ประเด็น ได้แก่ กรณีน้ำในโครงการชลประทาน กรณีเหมืองแร่อุตสาหกรรม กรณีเหมืองแร่ประเภทอื่นนอกจากเหมืองหินอุตสาหกรรม กรณีดูดทรายแม่น้ำ กรณีดูดทรายบก และกรณีทะเลและชายฝั่ง


กรณีน้ำในโครงการชลประทาน
ศศิน เฉลิมลาภ รองเลขาธิการมูลนิธิ "สืบ นาคะเสถียร" และอนุกรรมการฯ  มีข้อเสนอว่า การดำเนินโครงการชลประทานทุกขนาด ทุกประเภท ต้องศึกษาผลกระทบ อย่างน้อยที่สุดควรมีการทำรายงานผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม พื้นที่ที่จะดำเนินโครงการจะต้องมีการชดเชยที่คุ้มค่า เป็นธรรม ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องมีการศึกษาทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์แบบอื่นๆ ที่สามารประหยัดงบประมาณ ระยะเวลา และอำนวยประโยชน์ได้มากกว่า โครงการที่ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น ฝายหัวนา ต้องได้รับการทบทวนโครงการใหม่


นายศศินกล่าวว่า โครงการพัฒนาแหล่งน้ำซึ่งมักถูกอ้างเพื่อผลประโยชน์ของเกษตรกร แต่เมื่อเกิดกรณีฝนแล้งกลับนำน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปช่วยเหลือแหล่งอุตสาหกรรม ถือเป็นการสร้างความไม่ชอบธรรมแก่เกษตรกร ดังนั้นการจัดสรรดังกล่าว ควรคำนึงถึงเกษตรกรผู้ใช้น้ำเป็นหลัก และจัดสรรให้อุตสาหกรรมเป็นแหล่งท้ายสุด เนื่องจากแหล่งอุตสาหกรรมสามารถพึ่งพาตัวเองได้


กรณีเหมืองแร่อุตสาหกรรม
รตยา จันทรเทียร กล่าวถึงจุดอ่อนของพ.ร.บ.แร่ พ.ศ.
2510 ที่อนุญาตให้เปลี่ยนชนิดแร่ได้ จึงเสนอว่า ก่อนอนุญาตให้เปลี่ยนแปลงชนิดแร่ หรือเพิ่มเติมชนิดแร่ มาเป็นแร่หินอุตสาหกรรม จะต้องศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) และต้องได้รับความยินยอมจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งในระหว่างและหลังการจัดทำ EIA อีกทั้งยังเสนอให้เปิดโอกาสให้ประชาชนในการร่วมตรวจสอบการประกอบกิจการตามเงื่อนไขที่มีอยู่เดิมอย่างจริงจัง


รตยากล่าวต่อว่า มาตรการที่กำหนดให้ปรับปรุงทัศนอุจาดหลังเลิกประกอบกิจการ ตามเงื่อนไขท้ายประทานบัตรเดิมยังไม่เพียงพอ ควรเพิ่มเติมเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ฟื้นฟูทั้งสิ้น และกำหนดให้ต้องวางเงินประกันให้เพียงพอแก่การฟื้นฟู นอกจากนี้ ในกรณีการประกอบกิจการเหมืองหินอุตสาหกรรมและโรงโม่หินใกล้แหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ ควรออกกฎกระทรวง หรือระเบียบ ในการเว้นระยะห่างที่มากพอสมควรที่กิจการดังกล่าวจะไม่กระทบต่อแหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ


กรณีเหมืองแร่ประเภทอื่นนอกจากเหมืองหินอุตสาหกรรม
อภินันทน์ โชติรสเศรณี อดีตสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และอนุกรรมการ กล่าวถึงข้อเสนอซึ่งคล้ายกับกรณีเหมืองแร่อุตสาหกรรม คือ ในระหว่างและหลังการจัดทำ EIA ต้องเผยแพร่ข้อมูล จัดประชุมรับฝังความคิดเห็นเป็นระยะ รวมไปถึงระหว่างและหลังการประกอบกิจการ ควรตรวจสอบการดำเนินกิจการ โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งหากการดำเนินกิจการมีผลกระทบหรืออันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน ต้องให้กิจการดังกล่าวหยุดดำเนินกิจการชั่วคราว เพื่อแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นก่อนดำเนินการต่อ


ในการปรับปรุงฟื้นฟู เสนอให้เพิ่มเติมเงื่อนไขท้ายประทานบัตร ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้รับผิดชอบในการฟื้นฟูทั้งสิ้นและกำหนดให้มีการวางเงินประกันให้เพียงพอแก่การฟื้นฟู รวมทั้งเปิดโอกาสให้อปท. และชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและกำกับดูแล ส่วนค่าภาคหลวงแร่ของกิจการบางประเภท เช่น ทองคำ ที่ต่ำไม่คุ้มค่ากับทรัพยากรธรรมชาติที่สูญเสียไป สมควรปรับปรุงให้อยู่ในอัตราที่เหมาะสมคุ้มค่า


ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินภายหลังประกอบกิจการเหมืองแร่ หากตรวจสอบจากคำขอประทานบัตร พบเป็นที่ดินของรัฐหรือที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์อยู่ก่อประกอบกิจการ หากเป็นที่ดินของรัฐต้องเป็นของรัฐตลอดไป และให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ซึ่งถือว่าออกโดยไม่ชอบดังกล่าว


กรณีดูดทรายแม่น้ำ และกรณีดูดทรายบก
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายจากสภาทนายความ และอนุกรรมการ นำเสนอกรณีดูดทรายแม่น้ำ และกรณีดูดทรายบกว่า ก่อให้เกิดปัญหาตลิ่งพัง ดินทรุด และเกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ ดังนั้น กิจการดูดทรายทุกขนาดจะต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยที่สุดในระดับการศึกษาผลกระทบเบื้องต้น (
IEE) พร้อมเผยแพร่ข้อมูลรอบด้านเป็นระยะๆ เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบร่วมพิจารณาและตัดสินใจอย่างโปร่งใส นอกจากนี้ การกำหนดแนวเขตอนุญาตให้มีการดูดทรายทั้งบนบกและในแม่น้ำ ต้องแสดงแผนผังแนวเขตให้ชัดเจน โดยให้ อปท.และชุมชนมีส่วนร่วมตั้งแต่การกำหนดเขต


นอกจากนี้ หากการประกอบกิจการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน ผู้ประกอบการต้องหยุดกิจการชั่วคราวทันทีจนกว่าจะแก้ปัญหาให้เสร็จสิ้นก่อน และเสนอให้ตั้งคณะกรรมการในการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการจากจังหวัดที่เกี่ยวข้องมีพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบ


ในการอนุญาตประกอบกิจการ ควรกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการวางเงินประกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เพราะปัจจุบัน เมื่อเกิดปัญหารัฐต้องรับผิดชอบแบกรับภาระอันมากเหล่านี้ โดยไม่สามารถเรียกร้องการชดเชยจากผู้ประกอบกิจการได้


"ทราย คือผลประโยชน์มหาศาลกับการลงทุนที่ต่ำ เพียงลงทุนซื้อเครื่องจักร ไม่มีค่าภาคหลวง ไม่มีภาษี ดังนั้นจึงมีปัญหาเรื่องอิทธิพลมาก โดยเฉพาะกับคนที่ไปขัดขวางทำให้ผลประโยชน์เค้าลดลง ซึ่งการแก้ปัญหาจะทำได้ดีขึ้นหากผู้มีอำนาจหน้าที่เข้าไปควบคุมดูแลอย่างจริงจัง" ส.รัตนมณี กล่าว


กรณีทะเลและชายฝั่ง
ส.รัตนมณี กล่าวถึงสิ่งก่อสร้างต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นท่าเทียบเรือ เขื่อนหรือกำแพงกันคลื่นทุกขนาดทุกประเภท ท่าจอดเรือยอร์ช (เรือสำราญกีฬา) ซึ่งมีการออกแบบให้ใช้พื้นที่ทะเลกว้าง ควรมีการจัดทำ
EIA เพื่อศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมก่อนการก่อสร้าง รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริงและเปิดโอกาสให้ชุมชนผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงได้ร่วมพิจารณาและตัดสินใจ


"ซื้อคอนโด ได้ท่าเทียบเรือ ได้ทะเล" ส.รัตนมณีกล่าวถึงการใช้พื้นที่สาธารณะประโยชน์ในทะเลและชายฝั่ง ซึ่งทุกคนควรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเสมอกัน การให้อนุญาตแก่เอกชนรายใดรายหนึ่ง ก่อให้เกิดกระทบในการทำมาหากินของประมงพื้นบ้าน ทำให้ประชาชนถูกลิดรอนสิทธิจากวิถีทางแห่งการังชีพ


บรรจง นะแส นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และอนุกรรมการ กล่าวข้อเสนอในส่วนของประมงพื้นบ้านว่า เขตพื้นที่น่านน้ำที่มีทรัพยากรทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์ แต่ผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านลดจำนวนลง จากเดิมในปี 2538 มีประมงพื้นบ้านราวแปดหมื่นกว่าราย ในปี 2543เหลือเพียงห้าหมื่นกว่าราย ปริมาณการส่งออกสัตว์น้ำลดลงทุกปี ปัญหาสำคัญเป็นเพราะการใช้อุปกรณ์ประมงทำลายล้าง เช่น อวนรุม อวนลาก เรือปั่นไฟปลากะตัก ที่ยังคงมีอยู่ทั้งที่มีกฎหมายห้าม


ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานของรัฐต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง แก้ข้อจำกัดรัฐเรื่องเครื่องมือและกำลังคน ด้วยการดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการป้องกันรักษาหรือบังคับใช้กฎหมาย ต้องประกาศพื้นที่นำร่องห้ามอุปกรณ์ทำลายล้างเข้าไปหาปลาในพื้นที่จังหวัดปัตตานีและนราธิวาส และประกาศห้ามเข้าในพื้นที่ทะเลที่รับผลกระทบสูง อีกทั้งเสนอให้ศึกษาหาแนวทางออกกฎหมายกำหนดให้การมี อวนรุม อวนลาก เรือปั่นไฟปลากะตัก และอุปกรณ์ประมงทำลายล้างอื่นอยู่ในครอบครองเป็นความผิดทางอาญา


ส่วนการรับรองสิทธิของประมงพื้นบ้าน นายบรรจงเสนอให้รัฐรับรองสิทธิในการจอดเรือริมทะเลหรือริมคลองที่ต่อเนื่องกับทะเล และให้รัฐรับรองสิทธิในการได้รับสัญชาติของชาวเล กลุ่มอุรุกลาโว้ย มอแกน ซึ่งเป็นกลุ่มประมงพื้นบ้านดั้งเดิม เพื่อความมั่นคงในการดำรงชีวิตโดยปกติสุข นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงการตรวจสอบก่อนการออกเอกสารสิทธิไม่ให้ทับพื้นที่ป่าชายเลน แลการเร่งฟื้นฟูป่าชายเลนที่เสื่อมโทรมร่วมกับชุมชน


ภายหลังจากการเสนอมาตรการแก้ไข ตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดย นายนิวัติ ชาญกุล ตัวแทนจากกรมชลประทาน กล่าวถึงกรณีฝายหัวนาว่า ทางกรมชลประทานได้รับข้อเสนอให้ทบทวน แต่ไม่ได้มีทางเลือกอื่นถึงวิธีการและความเป็นไปได้มาให้ด้วย ซึ่งทางกรมชลประทานยินดีที่จะรับฝังข้อเสนอและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อการทบทวนโครงการต่อไป แต่ในส่วนของการจัดสรรแหล่งน้ำในกรณีฝนแล้งนั้นรัฐบาลเป็นผู้จัดการตามนโยบายรัฐที่มีอยู่ เมื่อรัฐได้เชิญแหล่งอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมทุน ก็ต้องรับประกันในการประกอบกิจการ พร้อมเสนอว่าไม่ควรเรียกร้องแต่เรื่องน้ำอย่างเดียว เพราะยากที่จะเป็นไปได้ น่าจะเป็นการเรียกร้องเรื่องการชดเชยจะมีความเป็นไปได้มากกว่า


ด้านนายพงษ์เทพ จารุอำพรพรรณ  ผู้อำนวยการสำนักบริหารสิ่งแวดล้อม ตัวแทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวถึงเรื่องการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนว่า ในอนาคต แต่ละหน่วยงานจะต้องทำในส่วนนี้ แต่อาจไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาต่อไปได้ จึงขอให้กรรมการสิทธิฯ กำหนดมาตรฐานเรื่องหลักในการปฏิบัติงานที่ชัดเจนในการมีส่วนร่วมของประชาชนว่าควรมีกติกาอย่างไร


นายพงศ์เทพกล่าวเห็นด้วยกับการให้น้ำหนักต่อสิทธิชุมชนของคณะทำงาน แต่ในขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้คำนึงถึงผู้ประกอบการในสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนจะประกอบอาชีพเช่นกัน


"การเรียกร้องที่ไม่จบไม่สิ้น ทำให้กิจการไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้" ตัวแทนกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าว


นอกจากนั้นนายพงษ์เทพ ยังได้กล่าวถึงการจัดทำ EIA ว่ามีค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการทำมาก ทั้งเป็นเพียงการประเมินเบื้องต้น อาจมีความคลาดเคลื่อนเพื่อให้ผ่านการเห็นชอบ ไม่ได้เป็นการประเมินอย่างแท้จริง ซึ่งอาจไม่ช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่ และการมุ่งทุกอย่างไปลงที่ EIA หรือ EEI จะทำให้เจ้าหน้าที่ทำงานไม่ไหว


 


 


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net