Skip to main content
sharethis


 


 


เมื่อวันที่ 27 ส.ค.50  ที่ห้องประชุมตึกหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ มีการจัดสัมมนาวิชาการเรื่อง "ปัญหาที่ดินวะกัฟกับโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ" โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในงานมีผู้รู้ทางศาสนาอิสลามร่วมเป็นวิทยากร มีครู นักเรียนจากโรงเรียนเอกสอนศาสนาอิสลาม ชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อก๊าซฯไทย - มาเลเซียและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เข้าร่วมจำนวนมาก


 


นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนข้อมูล ความคิดเห็นกันแล้ว ชาวบ้านจะนะได้เผยแพร่คำประกาศของพวกเขา "ผืนดินศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจอุทิศเพื่อเอกชน อย่าคิดว่าละเมิดกฎหมายแล้วจะละเมิดหลักการศาสนาได้"


 


 







 


ผืนดินศักดิ์สิทธิ์ไม่อาจอุทิศเพื่อเอกชน


อย่าคิดว่าละเมิดกฎหมาย  แล้วจะละเมิดหลักการศาสนาได้


 


 


 


กว่าสิบปีที่พวกเราต่อสู้กับโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ละเมิดกฎหมาย และที่สำคัญที่สุดคือละเมิดหลักการศาสนาอิสลาม โดยเฉพาะประเด็นที่ดินสาธารณะ อันเป็นที่ดินเดียวกับ "ที่ดินวะกัฟ" ของมุสลิม ซึ่งบัดนี้ถูกบริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซียเข้าครอบครอง เปลี่ยนสภาพและล้อมรั้วปิดกั้นหมดสิ้น


 


แม้ว่าการกระทำดังกล่าวจะขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดินของรัฐไทยอย่างชัดเจน ดังที่ได้เคยมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแล้ว แต่เมื่ออำนาจเงินและอำนาจรัฐร่วมมือกัน หลักเจตนารมณ์ของกฎหมายก็ถูกละเมิดได้ ดังที่มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนสภาพที่ดินสาธารณะดังกล่าวเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2549  สมยอมให้บริษัทเอกชนครอบครองสมบัติสาธารณะ ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ต่อไป  


 


แต่หลักการศาสนาไม่อาจถูกละเมิดได้เช่นนั้น  ที่ดินวะกัฟ คือที่ดินที่เจ้าของเดิมได้อุทิศเพื่อพระผู้เป็นเจ้า ให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยเฉพาะเมื่อมีทายาท (วะเระ) และพยานยืนยัน ย่อมถือว่าครบองค์ประกอบตามหลักบัญญัติอิสลาม  ผืนดินที่กลับคืนสิทธิ์สู่อัลลอฮฺนี้ ไม่ยินยอมให้มีการจำหน่ายจ่ายโอนไม่ว่าในทางใดทั้งสิ้น ถือเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺสำหรับให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันเท่านั้น


 


รายงานจากท่านหญิงอาอีซ๊ะห์ รอดิยันลอฮูอันฮา ระบุว่า ท่านรอซูล (ซล.) กล่าวว่า "ผู้ใดคดโกงที่ดินมาเพียงหนึ่งคืบ แผ่นดินนั้นเจ็ดชั้นจะพันคอเขา" (บันทึกโดยบุคอรีและมุสลิม)  แค่หนึ่งคืบจากพื้นดินของการละเมิดในเรื่องวะกัฟก็เท่ากับละเมิดในสิทธิของคนหลายคนที่มีสิทธิร่วมกันในการใช้ประโยชน์  คำตอบต่อปัญหานี้จึงไม่มีทางอื่นนอกจากปฏิบัติตามที่ระบุไว้ในคำสอนจากอัล-หะดิษ คือ 



 


1. เตือนให้ระวังการลงโทษจากอัลลอฮฺแก่ผู้ที่ละเมิดในสิทธิของผู้อื่น 



 


2. สนับสนุนให้ส่งคืนของที่โกงเขามาอย่างรีบด่วน ก่อนที่จะถูกลงโทษในวันกียามะฮฺ



 


หลักการอิสลามนั้น บัญญัติไว้ชัดเจนว่า สิ่งใด "ฮาลาล" สิ่งใด "ฮารอม"  ไม่ "บุญ" ก็ "บาป"  ไม่ "ถูก" ก็ "ผิด" มีเพียงสองอย่างนี้ สิ่งที่อยู่ระหว่างนั้นไม่มี จึงไม่อาจประนีประนอมกับความชั่วร้าย ไม่อาจก้มหัวให้กับความอยุติธรรม (ไม่อาจก้มหัวกับชัยฏอน)


 


เมื่อรัฐไม่รักษากฎหมาย ประชาชนยิ่งต้องรักษาหลักศาสนา (ฮูกมของอัลลอฮฺ) เพื่อรักษาความจริงที่ถูกต้อง ไม่ยอมให้ถูกละเมิดหรือบิดเบือนโดยอำนาจ "อธรรม" หรือ "ซอเล็ม" ซึ่งหลักศาสนาอธิบายว่า คือการบังคับขู่เข็ญผู้คน การใช้ตำแหน่งหน้าที่ทางการงานหรือทางราชการ เบียดบังเอาทรัพย์ของคนอื่นด้วยความไม่ชอบธรรม



 


ญิฮาดที่แท้จริง คือการกล่าวความจริงต่อผู้นำที่อธรรม


 


ตามคำกล่าวจากหะดิษของท่านรอซูลลุลลอฮฺ (ซ.ล.)  เมื่อหนึ่งเมื่อใดบังเกิดสิ่งเลวร้าย (ทำลายสังคม) แล้วคนที่รู้กลับนิ่งเฉย อัลลอฮฺ (ซ.บ.) บรรดาทูตทั้งหลาย และบรรดามนุษยชาติจะร่วมกันสาปแช่งผู้นั้น  นั่นหมายความว่า เมื่อสิ่งเลวร้ายปรากฏอยู่หน้าพื้นพิภพ ไม่ว่าด้านสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ ทุกสิ่งที่เลวร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมมุสลิม คนที่รู้แล้วจะอยู่นิ่งเฉยไม่ได้ ต้องออกมาปกป้อง ผิดก็ต้องบอกว่าผิด ถูกก็ต้องบอกว่าถูก นั่นคือการทำหน้าที่ตามหลักการอิสลาม ใครอยู่นิ่งเฉย ถือว่ามีความผิดแล้ว


 


หากท่านไม่ได้เป็นผู้ศรัทธาในศาสนาอิสลาม ก็ขอให้ท่านจงละอายต่อศาสนาใดก็ตามของท่าน หรือละอายต่อความดีงามใดที่ท่านยึดถือว่าท่านได้เพิกเฉยดูดายต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นหรือกระทั่งมีส่วนในความอยุติธรรมนั้น 


 


สำหรับมุสลิม การก้มหัวให้กับความอยุติธรรม (ชัยฏอน) เท่ากับทำลายหลักการของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) 


 


ผืนดินอันศักดิ์สิทธิ์ที่อัลลอฮฺสร้างมานี้  ไม่ได้อุทิศเพื่อผลประโยชน์ของรัฐฉ้อฉลและเอกชนบาปหนา


 


อย่าได้คิดว่า เมื่อสามารถละเมิดกฎหมายแล้ว จะสามารถละเมิดหลักการศาสนาได้ด้วย !


 


 


อามีน


 


เครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซไทย-มาลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง


27 สิงหาคม 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net