Skip to main content
sharethis

นุ่มนวล ยัพราช


โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


 



 


ท่ามกลางความสับสนคลุมเครือในอนาคตโรงงานอินเตอร์โมต้า หลังจากออกประกาศปิดโรงงานชั่วคราวโดยนายจ้าง ทำให้คนงานร่วม 200 กว่าคนมาชุมนุมหน้าโรงงานเพื่อขอทราบคำตอบเกี่ยวกับอนาคตโรงงาน ซึ่งนายจ้างได้นัดเจรจาเวลา 10.00 น. ในวันที่ 27 สิงหาคม 2550 แต่เมื่อถึงเวลานัดหมาย นายจ้างกลับไม่มาตามนัดโดยให้เหตุผลกับผู้ชุมนุมว่า เกรงว่าจะได้รับอันตรายถ้าหากมาเจรจาที่โรงงาน สร้างความมึนงงให้กับคนงานที่มีเพียงสองมือเปล่าเท่านั้นอย่างยิ่ง การชุมนุมดำเนินไปท่ามกลางตึงเครียดทั้งความอบอ้าวของอากาศ จากนั้นไม่นานนายจ้างได้ส่งนาย อนุพงษ์ ฉายาลักษณ์ ซึ่งอ้างว่าเป็นผู้จัดการเข้ามาเป็นตัวแทนในการเจรจา มีการยื่นข้อเสนอให้เจรจาไกล่เกลี่ยทั้งสองฝ่ายที่โรงพัก ซึ่งทางลูกจ้างมองว่าข้อเสนอนี้ค่อนข้างประหลาดเพราะคนงานไม่ได้มีความผิด อีกทั้งกลัวนายจ้างใช้ลูกเล่นตุกติกจับตัวแทนสหภาพขังในห้องขัง ต่อมาท่ามกลางการประสานงานของเจ้าหน้าที่แรงงานที่เกี่ยวข้องได้ยื่นข้อเสนอให้มีการเจรจาที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานปรุงจำจังหวัดปทุมธานี ซึ่งนายจ้างก็ยืนยันเช่นเดิมว่าประสบสภาวะทางเศรษฐกิจและค่าเงินบาทแข็งตัว อีกทั้งคำสั่งซื้อจากลูกค้าลดลง (แต่ไปเปิดโรงงานที่อื่น)


 


การไกล่เกลี่ยในวันที่ 27 สิงหาคม 50 มีข้อมูลต่างๆที่น่าสนใจไหลออกมาจากปากของตัวแทนนายจ้าง เช่น โรงงานที่ตั้งอยู่ที่คลอง 4 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรงงานทั้งหมด สร้างขึ้นมาให้ดูมีมาตรฐานเพื่อดึงดูดลูกค้า โดยที่กระบวนการผลิตสินค้าบ่อยครั้งไม่ได้อยู่ในโรงงาน แต่ใช้รูปแบบการจ้างงานแบบรับเหมาช่วงไปทำต่อที่บ้านหรือ ผู้รับเหมาช่วงประเภทห้องแถวซึ่งเสียค่าใช้จ่ายในราคาถูก แต่เนื้องานที่ได้ไม่มีมาตรฐานทำให้ต้องมีการแก้งานและไม่สามารถส่งงานให้กับลูกค้าตามเวลาที่กำหนด อันเป็นสาเหตุหลักในการยกเลิกหรือนายจ้างต้องเสียค่าปรับ ไม่ได้เป็นความผิดของลูกจ้างหรือสภาวะเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่เป็นเพราะกระบวนการผลิตที่นายจ้างเลือกใช้ที่อยู่บนฐานของการกอบโกยกำไรเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจพัฒนารูปแบบการผลิตให้มีมาตรฐาน


 


กรณีการขนย้ายเครื่องจักรออกจากโรงงาน ตัวแทนนายจ้างอ้างว่าเป็นเครื่องจักรเหล่านั้นเป็นของอีกบริษัทหนึ่งซึ่งอยู่ในเครือเดียวกัน โดยโรงงานแห่งนี้ได้ยืมมาใช้จึงจำเป็นต้องนำไปส่งคืน เมื่อมีการเปิดโรงงานในวันที่ 1 กันยายนนี้ กระบวนการผลิตในโรงงานนี้อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องจักร


 


ตัวแทนนายจ้างอธิบายว่าเหตุที่ต้องขนย้ายเครื่องจักรตอนปิดโรงงานนี้เพราะกลัวลูกจ้างขโมยสินค้า ซึ่งตัวแทนสหภาพแย้งขึ้นทันทีว่ากระบวนการทำงานไม่เปิดโอกาสให้ขโมยเพราะต้องมีการเซ็นรับอย่างละเอียดและอีกอย่างคนงานมีศักดิศรีมากพอ เธอกล่าวต่อไปว่าปัจจุบันคนงานยังต้องซื้อกรรไกรในการตัดด้ายเองอยู่เลย


 


ข้อตกลงร่วมสำคัญๆ ระหว่างนายจ้างกับตัวแทนสหภาพคือ นายจ้างรับปากว่าจะไม่ปิดโรงงาน แต่ปิดเพียงแค่ชั่วคราวคือวันที่ 27-31 สิงหาคม 50 ในช่วงปิดงานจะจ่ายค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนดไว้โดยใช้ มาตรา 75 ซึ่งจะจ่าย 50% ของค่าแรง ซึ่งลูกจ้างไม่เห็นด้วยเพราะนายจ้างใช้มาตรา 75 อย่างผิดๆ ไม่ได้เป็นไปตามกระบวนการที่ถูกต้อง ที่ต้องมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าไปตรวจสภาพก่อน ซึ่งในวันที่ 29 สิงหาคม 50 ทางเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะเข้าไปตรวจโรงงาน ดังนั้นนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 100% ซึ่งทางนายจ้างไม่ได้รับปากแต่อย่างใด


 


สวัสดิการในการทำงานซึ่งประกอบไปด้วยรถรับส่ง เบี้ยขยัน เงินสมทบเมื่อคลอดลูกคนละ 500 บาท เมื่อพ่อแม่ลูกจ้างเสียชีวิตทางโรงงานจะช่วยจ่ายเงินสมทบรายละ 1,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านี้ทางตัวแทนนายจ้างแจ้งว่าจะมีการลดจำนวนรถรับส่งคนงาน ถือเป็นเรื่องที่ลำบากมากเพราะตัวโรงงานนั้นตั้งอยู่กลางท้องทุ่งนา คนงานต้องมีรถจักรยานยนต์เท่านั้นจึงจะสามารถไปทำงานได้ ถ้าไม่มีรถรับส่งพนักงานส่วนหนึ่งที่ไม่มียานพาหนะเป็นของตัวเองก็ถูกบีบให้ออกไปโดยปริยาย ซึ่งทางตัวแทนนายจ้างไม่ได้รับปากแต่อย่างใด เพียงแต่แบ่งรับแบ่งสู้แบบกว้างๆว่าสวัสดิการเหล่านี้จะไม่เปลี่ยนแปลง


 


ข้อต่อมา ตัวแทนนายจ้างขอให้คนงานซึ่งชุมนุมอยู่หน้าโรงงานเคลื่อนย้ายสถานที่ในการชุมนุม เพื่อเปิดทางให้รถขนสินค้าของบริษัทขนเสื้อจำนวน 6,000 ตัวออกจากโรงงานเพื่อที่จะไปส่งลูกค้า ซึ่งทางลูกจ้างได้ยินยอมแต่ขอเข้าไปดูกระบวนการขนสินค้าในวันที่ 28 สิงหาคม 50 ซึ่งตัวแทนนายจ้างได้ไปจ้างรถขนของจากที่อื่น เมื่อคนงานตรวจสอบอย่างละเอียดพบว่าในรถที่ขนเสื้อผ้าชั้นในสุดมีเครื่องจักรที่ถอดชิ้นส่วนออกเป็นชิ้นๆ ซุกซ่อนอยู่ ทำให้คนงานไม่พอใจมากเพราะรู้สึกว่านายจ้างทรยศข้อตกลง จึงทำการปิดล้อมรถไว้ทำให้คนขับตกใจหนีไป คนงานจึงสามารถยึดรถไว้จากนั้นได้ช่วยกันระดมนำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปปิดหน้าโรงงานไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการขนเครื่องจักรหนี และยื่นข้อเรียกร้องว่าจะไม่มีการเจรจากับใครนอกจากเจ้าของโรงงาน และในวันที่ 30 สิงหาคม นี้จะมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมของคนงานต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net