Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข


 


 


ผลการประชามติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านไป ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดคาดแต่อย่างใด ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ฝักใฝ่และใส่แว่นสีใด หรือเห็นความจริงแบบใด ส่วนใหญ่ก็คาดไว้อยู่แล้วว่า ผลการประชามติจะออกมาเป็นการผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการผ่านประชามติครั้งนี้ถูกโฆษณาชวนเชื่อให้เท่ากับการเปิดประตูสู่การเลือกตั้ง กระทั่งทำให้เชื่อว่าจะเป็นก้าวแรกสู่การเมืองประชาธิปไตยกันสักทีหลังจากอยู่ในภาวะน่าเบื่อหรืออึมครึมมาตลอดสองปี


 


แต่เราจะบอกว่า ประเทศของเราจะเข้าสู่การเมืองประชาธิปไตยได้อย่างไร ในเมื่อรัฐธรรมนูญ แม่บทที่วางโครงสร้างอำนาจ ปฏิบัติต่อผู้คนภายใต้สังคมการเมืองเดียวกันแบบไม่เท่ากัน


 


ข้าราชการผู้ซื่งควรจะเป็นข้าผู้รับใช้ประชาชน กลับมาเป็นนายเหนือประชาชนด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ข้าราชการ ผู้ซึ่งส่วนใหญ่ได้ดีเพราะอยู่นาน อยู่ในระบบที่ปราศจากระบบการตรวจสอบประเมินผลที่ดี และไม่ได้เชื่อมโยงที่มาและความชอบธรรมจากประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศ หากมีเส้นสายดี เขาจะเข้ามานั่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา หากเกษียณแล้ว เขาจะมานั่งอยู่ในองค์กรอิสระ มีอำนาจอย่างน้อยเทียบเท่า หรือมากกว่าตัวแทนของประชาชน ที่ผ่านการประเมินผลจากผลงานความสำเร็จในชีวิตของเขา ผ่านการประเมินทางนโยบาย ความนิยมและด้วยการเลือกตั้ง เพียงเท่านี้ เราจะบอกว่า การผ่านร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น เป็นก้าวแรกสู่ประชาธิปไตยได้อย่างไร


 


เพราะไม่ว่าอย่างไร เขาเหล่านี้ล้วนแต่มีส่วนสำคัญต่อการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งสิ้น จะต้องม็อบอีกกี่ม็อบ เรียกร้องกันอีกกี่ครั้ง เราจึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เราจำไม่ได้หรือ อีกกี่หยดน้ำตาอีกกี่ชีวิตที่ต้องเสี่ยงสูญเสีย โชคดีไม่ใช่ญาติมิตรของเรา แต่จะมีกี่คนภาวนาในใจว่า จะโชคดีกว่า หากคนที่สูญเสียนั้นเป็นเราเสียเอง และการอยู่โดยเห็นผู้อื่นสูญเสียเป็นการโชคร้ายทรมานใจ เพราะเหตุนั้นเกิดจากความอ่อนด้อยและมักง่ายของเราในวันนี้


 


ผมเพิ่งกลับจากเยอรมนีในวันที่ผ่านสงครามมาแล้วกว่า 60 ปี แต่ผู้คนก็ยังตระหนักซึ้งกับความรับผิดชอบที่ได้กระทำไว้กับเหยื่อสงครามร่วมกัน แม้ว่าเขาจะมิได้ลงมือกระทำสงครามด้วยตัวเอง กระทั่งเริ่มมีคำถามว่า มันเป็นธรรมกับลูกหลานหรือไม่ที่ต้องมารับผิดชอบกับการสงครามของคนรุ่นก่อน


 


เราคนไทยที่ถูกยัดเยียดการประชามติ และผ่านมันไป จะรับผิดชอบต่ออนาคตอย่างไร เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครรู้ 


 


ผมถูกสอนมาว่า หากมีวันใดเกิดเหตุทำร้ายร่างกายในที่เปลี่ยว ความผิดนั้นย่อมไม่ใช่เพราะเราดันไปเดินในที่เปลี่ยว และความผิดนั้นย่อมต้องมาจากผู้ทำร้าย กระนั้นการแก้ไข นอกจากจะทำให้เกิดสำนึกให้การศึกษามิให้ใครหรือใครทำร้ายผู้คนในที่เปลี่ยวได้แล้ว เรายังต้องแก้ตรงที่ทำให้ทางเส้นนั้นมิใช่ทางสายเปลี่ยวอีกด้วย


 


ประชาธิปไตยไทยก็เช่นกัน จะอย่างไร มันก็มิได้ถูกพรากไปเพราะนักเลือกตั้งคนใด จะอย่างไรกระบวนการเลือกตั้งทุก 4 ปี ยังคงกำหนดชะตาให้กับนักเลือกตั้งเหล่านั้นได้ในที่สุด ผู้ที่พรากประชาธิปไตยไทยไปและนำความอึมครึมมาตลอดสองปีที่ผ่านมา อย่างไรเสียก็ยังคงเป็นคณะรัฐประหาร และพลพรรคที่สร้างเหตุผลปูทางให้


 


น่าแปลกที่คนเหล่านี้กลายเป็นผู้อวดอ้างว่าเป็นผู้นำพาประชาธิปไตยมาให้


 


น่าแปลกที่คนเหล่านี้ไม่เคยละอายใจและลงมือสร้างกติกาใหม่ โครงสร้างใหม่ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และทำทุกวิถีทางให้ได้รับความชอบธรรม


 


เข้าสู่เดือนที่ 12 ของการรัฐประหาร เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ผ่านมาจากการประชามติอย่างฉ้อฉล ทว่าเราจำต้องยอมรับ กระนั้นคะแนนที่ได้ระหว่าง "เห็นชอบ" กับ "ไม่เห็นชอบ" ก็ใกล้เคียงกันอย่างยิ่ง


 


ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะต้องไปอธิบายกับผลคะแนนเหล่านั้น ว่ามาจากการจ่ายอามิสสินจ้างหรือไม่ แต่น่าสนใจยิ่งกว่า ที่ผ่ายรัฐประหาร ไม่ว่าจะ คมช. รัฐบาล คณะกรรมการการเลือกตั้ง ส.ส.ร. สนช. และกลไกข้าราชการทั้งหมดต้องกลับไปก่ายหน้าผากถามตัวเองว่า ทำกันขนาดนี้ วาดภาพปีศาจขนาดนี้ ใช้อำนาจขนาดนี้ ใช้สื่อขนาดนี้ ใช้กฎอัยการศึกขนาดนี้ แต่ทำไม ผลคะแนนที่ได้จึงออกมาได้ใกล้เคียงขนาดนี้


 


ไม่ใช่เรื่องที่ฝ่ายไม่เห็นชอบ ซึ่งเป็นผู้พ่ายแพ้ต้องก่ายหน้าผาก หากแต่ผู้ทำทุกอย่างเพื่อชนะ แต่ชนะได้เท่านี้ต่างหากที่ต้องกังวล เพราะเขาย่อมตระหนักรู้ว่า ประชาชนที่เขาขี่ คือมนุษย์ผู้มิได้กินแกลบ


 


เราอาจจะไม่ได้รัฐธรรมนูญ 2540 คืนมา แต่การประกาศว่า เราคือประชาชนผู้ไม่กลัว แม้จะอยู่ภายใต้กฎอัยการศึก ใต้อำนาจรัฐจากปากกระบอกปืน และสื่อโฆษณาชวนเชื่อทุกรูปแบบ ก็มิใช่สิ่งที่ไร้ค่ามิใช่หรือ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net