ศาลอุทธรณ์ ยกฟ้องคดีท่อก๊าซจะนะ

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดสงขลานัดกลุ่มคัดค้านท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อ.จะนะ จ.สงขลา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 คดีเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมเหตุการณ์ 20 ธันวาคม บริเวณหน้าโรงแรมเจบี เมื่อคราวจัดประชุมคณะรัฐมนตีสัญจรไม่เป็นทางการสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไม่เป็นทางการนอกสถานที่ (ครั้งที่5) และการประชุมร่วมกันระหว่างคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลแห่งประเทศไทยกับคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลประเทศมาเลเซีย ณ โรงแรมเจบี หาดใหญ่

โดยมี พนักงานอัยการจังหวัดสงขลา เป็นโจทก์ยื่นฟ้องชาวบ้านและองค์กรพัฒนาเอกชน(เอ็นจีโอ) รวม 20 คน ในข้อหา "ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำตามหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ร่างกาย, พกพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร, ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายโดยมีอาวุธและร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป, ร่วมกันทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่า ทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณะประโยชน์, มั่วสุมกันกระทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองโดยมีอาวุธโดยผู้กระทำความผิด เป็นหัวหน้าหรือเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น, ไม่เลิกมั่วสุมตามคำสั่งของเจ้าพนักงาน ซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้" ซึ่งศาลจังหวัดสงขลาพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 20 เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2547 แต่ทางพนักงานอัยการจังหวัดสงขลา ได้ยื่นอุทธรณ์คดี

เวลา 10.00 น. นางเพียงพร วิเศษสินธุ์ และนายรชต อ่องวิบูล ออกนั่งบัลลังก์ห้อง 204 ศาลจังหวัดสงขลา อ่านคำพิพากษาคดีศาลอุทธรณ์ภาค 9 จำเลยทั้ง 20 มาศาล พร้อมด้วยกลุ่มคัดค้านฯ ท่อก๊าซจะนะที่เดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาจำนวนมาก ด้านพนักงานอัยการจังหวัดสงขลาซึ่งเป็นโจทก์ยื่นอุทธรณ์ไม่มารับฟังคำพิพากษา

ทั้งนี้ คำพิพากษาระบุว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการชุมนุม อย่างสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ โดยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นเห็นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

หลังจากฟังคำพิพากษาแล้ว กิตติภพ สุทธิสว่าง เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนหนึ่งผู้ถูกฟ้องคดีกล่าวว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ระบุชัดว่า สิทธิของมนุษย์ ของชุมชนต่อทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นสิทธิของมนุษย์ที่มีมาตั้งแต่เกิด แม้ไม่มีกฎหมายลูกมารองรับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจ พนักงานอัยการต้องปรับวิธีคิด ทัศนคติต่อสิทธิชุมชน สิทธิประชาชนที่สำคัญต้องตระหนักถึงสิทธิรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทหรือนายทุนอย่างเดียว บทเรียนการดำเนินโครงการนี้ น่าจะเป็นบทเรียนและบรรทัดฐานให้กับรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ตระหนักถึงสิทธิของประชาชนและชุมชนในการจะดำเนินโครงการใดๆในชุมชน โดยเฉพาะแผนพัฒนาของรัฐที่ต้องการให้อำเภอจะนะไปสู่ทิศทางการพัฒนาแบบมาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นรูปแบบที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ ทำลายสิทธิชุมชน

คำพิพากษาสรุปโดยสังเขป คือ จะเห็นได้ว่าที่มาและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติดังกล่าวในรัฐธรรมนูญได้นำหลักการสำคัญและเป็นหลักสากลที่ว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรมีและใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันเพื่อกำหนดวิถีชีวิต แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของตนเอง รวมทั้งมีสิทธิเข้าร่วมกับรัฐจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยมีสิทธิดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึง 20 ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่องค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติ และชุมชนดั้งเดิมในท้องถิ่นร่วมกับประชาชนในพื้นที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชนในพื้นที่โดยตรง สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 กับพวกย่อมมีอยู่แม้ยังไม่มีการออกกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ในเมื่อสิทธิเหล่านี้มนุษย์มีและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติควบคูกับทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นของมนุษย์ทุกคน

การออกกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญเป็นเพียงการกำหนดรายละเอียดของรูปแบบให้เกิดความถูกต้องชัดเจนเป็นอย่างเดียวกัน การตีความการใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายดังที่โจทก์อุทธรณ์มานั้นเป็นการตีความตามลายลักษณ์อักษรและจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยมิได้คำนึงถึงที่มาและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าหากรัฐละเลยหรือเพิกเฉยไม่ออกกฎหมายตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญดังกล่าวแล้ว สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนชาวไทยที่จะเข้าไปมีส่วนจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามที่บัญญัติไว้รัฐธรรมนูญก็จะไม่มีสภาพบังคับและไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด อีกทั้งยังทำให้ประชาชนไม่มีโอกาสตรวจสอบควบคุมการใช้อำนาจของรัฐว่าถูกต้องชอบธรรมหรือไม่ ดังนั้นการตีความของโจทก์จึงขัดต่อเหตุผลและน่าจะไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 กับพวกจึงมีสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวชุมนุมคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อุทธรณ์ในข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 กับพวกได้พยายามดำเนินการเคลื่อนไหวอย่างสงบ ปราศจากอาวุธเปิดเผยต่อเนื่องกันมาด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ ต่อสังคม สาธารณชนและสื่อมวลชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้มีส่วนร่วมรับรู้และกระตุ้นเตือนให้รัฐเห็นความสำคัญของปัญหาและความเดือดร้อนของประชาชนในชุมชนดั้งเดิม จำเลยกับพวกได้พบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนายกรัฐมนตรีโดยเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อให้เป็นที่ยอมรับของชุมชน ก่อนรัฐบาลจัดทำประชาพิจารณ์โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านได้ประกาศแจ้งเตือนรัฐบาลมิให้จัดทำประชาพิจารณ์ที่ไม่ถูกต้องและไม่ชอบธรรม เพราะเกรงจะเกิดเหตุรุนแรงจากกลุ่มชุมชนดั้งเดิมที่คัดค้านโครงการดังกล่าว ก่อนมีการรวมตัวเคลื่อนไหวชุมนุมกันในวันเกิดเหตุฝ่ายจำเลย ผู้ชุมนุมคัดค้านได้แสดงความจริงใจในการดำเนินการอย่างเปิดเผย เป็นขั้นตอนตามกฎหมาย

ก่อนเกิดเหตุและขณะเกิดเหตุสื่อมวลชนแขนงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ จากในประเทศและต่างประเทศได้ให้ความสนใจและเฝ้าติดตามดูเหตุการณ์และความเคลื่อนไหวการต่อต้านคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อย่างต่อเนื่องตลอดมา นอกจากนี้ทั้งฝ่ายเจ้าพนักงานตำรวจ ฝ่ายผู้ชุมนุมคัดค้านและสื่อมวลชนต่างก็บันทึกภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไว้เป็นหลักฐาน จากการตรวจพิจารณาดูเหตุการณ์ในแผ่นบันทึกภาพและกล้องวีดีทัศน์และวีซีดี วัตถุพยานหมาย วจ.2 ถึง วจ.4 แล้ว ปรากฏว่าเป็นการบันทึกภาพเหตุการณ์ที่ไม่ต่อเนื่องและไม่เป็นไปตามลำดับเหตุการณ์ อีกทั้งไม่มีภาพเหตุการณ์สำคัญตามที่พยานโจทก์กล่าวอ่างหลายประการ เช่น ไม่มีภาพขณะพันตำรวจเอกสุรชัยสั่งให้ขบวนรถยนต์ของฝ่ายจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านหยุดและเลี้ยวเข้าไปในซอยข้างธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาถนนเพชรเกษม เพื่อเข้าจุดที่ชุมนุมตามที่ตกลงกันไว้ ไม่มีภาพขบวนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านพยายามจะชนพันตำรวจเอกสุรชัย ไม่มีภาพขบวนรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านขับฝ่าจุดสกัดของพันตำรวจเอกจิรวัฒน์กับพวกที่บริเวณสามแยกหัวมุมถนนเพชรเกษมตัดกับถนนจุติอนุสรณ์ ไม่มีภาพการเจรจาระหว่างจำเลยที่ 4 กับนายวัชระพันธ์ พันตำรวจเอกคำรณวิทย์ พันตำรวจเอกกระจ่าง และพันตำรวจเอกสุรชัยที่บริเวณเชิงสะพานจุติบุญสูงอุทิศขณะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านหยุดขบวนอยู่หลังแผงเหล็ก ไม่มีภาพขณะมีการสั่งการให้เจ้าพนักง่านตำรวจเข้าไปตั้งแถงเรียง ผู้ชุมนุมคัดค้าน อันเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดการผลักดันกันไปมากับกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านที่อยู่ ไม่มีภาพจำเลยผู้ชุมนุมคัดค้านยั่วยุ ขว้างปาสิ่งของหรือใช้มีดหรือใช้หนังสติ๊กหรือใช้ไม้คันธงตีทำร้ายเจ้าพนักงานตำรวจก่อนเกิดเหตุรุนแรงจนมีการปะทะกัน

กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านได้แสดงเจตจำนงและวัตถุประสงค์ด้วยวาจาและการกระทำอย่างเปิดเผยต่อรัฐบาล สาธารณชน สื่อมวลชน ให้รับรู้ตลอดมาก่อนเคลื่อนไหวชุมนุมจนกระทั่งเกิดเหตุขึ้น ซึ่งพยานโจทก์ทุกปากก็รับว่า กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านขอเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านต่อนายกรัฐมนตรีหรือผู้แทนจริง การที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึง 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านไม่แสดงหนังสือคัดค้านหาได้เป็นพิรุธและส่อเจตนาดังที่โจทก์เข้าใจไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านไม่ส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือคัดค้านแสดงว่ามีเจตนาก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เห็นว่า การใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมเรียกร้องตามรัฐธรรมนูญในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย ถ้าหากมีคนจำนวนมากรวมตัวกันเคลื่อนไหวชุมนุมย่อมเป็นการแสดงพลังของมวลชนที่จะมีผลผลักดันทำให้รัฐบาล องค์กรของรัฐ และองค์กรของเอกชนเห็นความสำคัญของปัญหาและเข้ามาแก้ไขปัญหา แต่ถ้าหากมีการส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือคัดค้านเพียงไม่กี่คนก็คงไม่ประสบสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์เหมือนเช่นที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวชุมนุมของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20

และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านจึงไม่ถือว่ามีเจตนาแอบแฝงหรือช่อนเร้นเพื่อก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง นอกจากนี้จากพฤติการณ์แห่งคดียังปรากฏว่าเจ้าพนักงานตำรวจมิได้ออกคำสั่งประกาศให้เลิกการชุมนุมและให้ไปชุมนุมยังสถานที่ที่ทางราชการจัดทางเครื่องกระจายเสียง เพียงแจ้งแก่ตัวแทนของกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้าน ซึ่งขณะนั้นเหตุการณ์อยู่ในภาวะวิกฤตมีการเผชิญหน้าเตรียมพร้อมที่จะเกิดเหตุรุนแรงได้ตลอดมา ดังนั้นกรณียังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านมีเจตนาฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานตำรวจ และการที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถสลายการชุมนุมได้อย่างรวดเร็ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านมิได้วางแผนเตรียมการมีและใช้อาวุธเพื่อต่อสู้เพื่อยืนยันว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 กระทำการใดขณะเกิดเหตุ

ประกอบกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ประธานคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา เบิกความเป็นพยานประกอบรายงานการพิจารณาสอบสวนและศึกษา กรณีการใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมคัดค้าน โครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดยคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภาเอกสารหมาย ล.39 ว่า ได้สอบปากคำพยานที่เกี่ยวข้องบางคนที่ให้ความร่วมมือมาชี้แจง พยานและคณะกรรมาธิการบางคนได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุจริงมาพิจารณาประกอบแผ่นบันทึกภาพ และเสียงเหตุการณ์วันเกิดเหตุทั้งของเจ้าพนักงานตำรวจ กลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านและสื่อมวลชนแล้วเห็นว่า การเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพโดยสงบ ปราศจากอาวุธ จึงได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 44 ซึ่งสอดคล้องตรงกับผลสรุปข้อเท็จจริงและความเห็นของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งแต่งตั้งอนุกรรมการลงไปตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในพื้นที่และตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุจริง เห็นว่า คณะกรรมการทั้งสองชุดนี้ เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย การเข้ามาเกี่ยวข้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงก็เป็นไปตามที่มีการร้องเรียนขอความเป็นธรรม การดำเนินการกระทำในรูปคณะกรรมการ เปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องมีโอกาสชี้แจงนำพยานหลักฐานมาหักล้างพิสูจน์ความจริง มีการตรวจสอบพยานและสถานที่เกิดเหตุ เมื่อคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าวเป็นคนกลาง มีคุณวุฒิสูงมีความรู้ความสามารถและมีชื่อเสียงแพร่หลายเป็นที่ยอมรับของสังคม อีกทั้งไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย จึงไม่มีมูลเหตุจูงใจและไม่มีข้อน่าระแวงสงสัยว่าคณะกรรมการทั้งสองชุดดังกล่าวจะกลั่นแกล้งหรือกระทำการใดที่เป็นผลร้ายแก่ฝ่ายใด พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 ในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักรับฟังได้

จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาเป็นลำดับ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 และกลุ่มผู้ชุมนุมคัดค้านการชุมนุม อย่างสงบ เปิดเผย ปราศจากอาวุธ โดยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2540 มาตรา 44 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 10 และที่ 12 ถึงที่ 20 จึงไม่เป็นความผิดตามฟ้องโจทก์ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นเห็นชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ทุกข้อของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท