Skip to main content
sharethis


(รายงานชิ้นนี้เป็นตอนที่สอง (จบ) ต่อจาก รายงาน : แรงงานพม่าในไทย  (1) : คนไร้รัฐ)


 


 


กอแก้ว วงศ์พันธุ์


นักเขียนอิสระ


 


 


 


0 0 0


 


แรงงานพม่ากับอคติทางชาติพันธุ์ :


เหยื่อของประวัติศาสตร์ชาติไทย


 


เมื่อวันปีใหม่ที่ผ่านมา องค์กรคริสตศาสนาจักรซึ่งมีที่ทำการในบ้านน้ำเค็ม อ.ตะกั่วป่า จ.พังงาและทำงานเพื่อแรงงานข้ามชาติในด้านต่างๆ ได้จัดงานปีใหม่สำหรับแรงงานพม่า ซึ่งไม่ง่ายและมีไม่บ่อยครั้งนักที่แรงงานพม่าจะมีโอกาสฉลองวันสำคัญแบบชุมนุมชนและเป็นทางการเช่นนี้ หากไม่ใช่เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนเป็นผู้จัดให้ ในวันนั้น แรงงานพม่าต่างแต่งตัวสวยงามและสะอาดสะอ้าน ใครมีเสื้อใหม่ผ้าใหม่ก็นำมาใส่กันวันนั้น บางคนมีทองหยองก็สวมใส่เพื่อประดับให้เกิดความสวยงาม และเป็นการอวดถึงความมีมานะและฐานะของตนด้วย ผิดไปจากวิถีชีวิตปกติในชีวิตประจำวันที่ร่างกายมอมแมมด้วยการกร่ำงานและเสื้อผ้าซ่อมซ่อที่มีกลิ่นคาวปลา กลิ่นเหงื่อติดกายรู้สึกได้เมื่อกลิ่นมาปะทะจมูก ในวันนั้นควรเป็นวันที่สร้างความรื่นรมย์ให้กับพวกเขามากที่สุดในรอบปี แรงงานพม่าทยอยมาจากที่ต่างๆ โดยรถบัส รถบรรทุก และรถปิคอัพ บางกลุ่มลงจากเขา เพราะทำงานรับจ้างตัดยาง บางคนเพิ่งขึ้นมาจากทะเลสดๆ ร้อนๆ จำนวนเรือนหมื่นของแรงงานพม่า และจำนวนรถที่มากผิดปกติ แรงงานพม่ามาถึงสถานที่จัดงานได้เพียงจำนวนหนึ่ง เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานการปกครอง พร้อมกำลังเต็มพิกัดเข้ามาตรวจสอบการจัดงาน และได้สกัดรถรับส่งแรงงานพม่าที่ยังมาไม่ถึงสถานที่จัดงาน ไม่ให้เข้าร่วมงาน และส่งแรงงานพม่ากลับที่พักตามเดิม ทั้งยังสั่งให้ควบคุมการจัดงานปีใหม่อย่างใกล้ชิด เจ้าหน้าที่ตำรวจและเจ้าหน้าที่รัฐทำเช่นนี้ ด้วยเหตุผลเป็นเรื่องของ "ความมั่นคงแห่งชาติ" งานปีใหม่สำหรับแรงงานพม่ากลับเป็นการแสดงถึงความมีอคติทางชาติพันธุ์ที่มีดำรงอยู่ในสังคมไทยไปเสียสิ้น


 


พม่าเป็นภัยแห่งความมั่นคงแห่งชาติที่มีอยู่ในมโนสำนึกของคนไทย เป็นคำที่ ธงชัย วินิจจะกุลใช้คำว่า "ความนึกคิด" (mentality) แบบชาตินิยมที่คับแคบของสังคมไทย ที่มองพม่าเป็นศัตรูตลอดกาล บทเรียนประวัติศาสตร์ชาติไทย บรรจุเนื้อหาเรื่องราวเกี่ยวกับไทยรบพม่า พม่ารบไทยตั้งแต่ระดับประถม เด็กอายุแปดขวบ ลูกชายของเพื่อนผู้เขียนยังสามารถสรุปและเอ่ยได้เต็มปากว่า พม่าเป็นศัตรูของไทย "ป้าใหม่ไปช่วยพม่าทำไม พม่าเป็นศัตรูของเรา" "ทูทราบได้อย่างไร พ่อบอกเหรอ" "ไม่ ทูรู้เอง ทูอ่านในหนังสือที่โรงเรียน"


 


พม่าเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างความเป็นชาติ แบบชาตินิยมของ การพ่ายแพ้สงครามในช่วงกรุงศรีอยุธยา ปี พ.ศ.2310 ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงในรูปแบบต่างๆ ยามที่ต้องการให้ไทยสามัคคี หรือให้ไทยรวมใจเพื่อสู้ภัยต่างๆ ซึ่งมักจะได้ผลอย่างดีเสมอ เมื่อช่วงหนึ่งในสมัยอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรยังคงดำรงตำแหน่งและยังได้รับความนิยมทางการเมืองด้วยนโยบายประชานิยม ด้วยการสร้างภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างค่านิยมฟุ้งเฟ้อแก่สังคม ในช่วงนั้นการเมืองเข้มข้นด้วยการปะทะกันระหว่างแนวคิดโฆษณาแบบทุนนิยมข้ามชาติกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อหนึ่งใช้เนื้อหาส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่อยุธยาพ่ายต่อพม่า เนื้อหาเป็นเรื่องราวเหล่าข้าหลวงฟุ้งเฟ้อกับความสุขสบายที่ถูกประเคนจากกลุ่มฉ้อราษฎร์บังหลวง แนวคิดคือการหลงใหลต่อความฟุ้งเฟ้อจนสิ้นชาติ เปรียบกับยุคสมัยนี้ที่คนไทยกำลังหลงติดอยู่กับวัตถุ ทั้งรัฐบาลยังขายสมบัติชาติให้แก่ทุนต่างชาติหลายแห่ง กลยุทธ์การใช้เนื้อหาไทยเสียกรุงแก่พม่าโดนใจคนไทยที่สุด ส่งผลให้โฆษณาชุดนั้นเป็นที่นิยมของผู้บริโภค


 


ไทยรบพม่า จึงเป็นวาทกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อสร้างชาติไทย เป็นวาทกรรมที่สร้าง "ความเป็นอื่น และแบ่งเขา แบ่งเรา" อย่างชัดเจน ภาพยนตร์เรื่องนเรศวรมหาราช หรือภาพยนตร์เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ชาติไทยหลายเรื่องมักมีพม่าเป็นศัตรูคนสำคัญ ภาพยนตร์เรื่องนเรศวรมหาราชที่สร้างในยุคนี้ ก็เพื่อสนองตอบเรื่องสำนึกความเป็นชาติไทย สร้างความสามัคคีกลมเกลียวกันในชาติ แต่ได้ตอกย้ำการแบ่งแยกเขา แยกเราจากของไทยกับพม่าอย่างชัดเจน เป็นความลักลั่นของความเป็นชาติไทย ที่ในอีกด้านหนึ่งก็มุ่งสร้างความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจกับพม่า และมุ่งเอาทรัพยากรธรรมชาติของพม่ามาใช้ โดยเฉพาะการสร้างเขื่อนเพื่อสร้างกระแสไฟฟ้าขายให้กับประเทศไทย


 


"ความนึกคิด" สำนวนของธงชัย วินิจจะกุล ที่ไทยมองพม่าเป็นศัตรูยังฝังรากลึก ที่หมู่บ้านน้ำเค็ม หลังภัยพิบัติสึนามิ ความหวาดระแวงและความเกลียดชังพม่าในหมู่คนไทยมีมากขึ้น ก่อนที่หมู่บ้านจะถูกภัยพิบัติสึนามิ พม่าเป็นเพียงแรงงานอพยพที่คนไทยมองอย่างเหยียดหยาม และใช้งานอย่างกดขี่ แต่หลังภัยสึนามิมีองค์กรพัฒนาเอกชนเข้ามาให้การช่วยเหลือชาวพม่าจำนวนมาก โดยเฉพาะการดูแลเรื่องสุขภาพ เช่น องค์กรคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) the International Organization for Migrant (IOM) องค์กรคริสตจักรเข้ามาดูแลเรื่องการศึกษาของเด็กพม่า เข้ามาช่วยเหลือในด้านสิทธิมนุษยชน ช่วยพม่าตามหาศพของญาติที่เสียชีวิตและช่วยเหลือพม่าด้านกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีองค์กรที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิอีกหลายองค์กรเข้ามาทำงานในพื้นที่หลังภัยสึนามิ การเข้ามาช่วยเหลือขององค์กรเอกชน มองอีกด้านหนึ่งกลับเป็นการกระตุ้นภาพของความเป็นศัตรูและภัยต่อความไม่มั่นคงของชาติเกิดขึ้นในหมู่บ้านน้ำเค็ม


 


คนไทยในหมู่บ้านน้ำเค็มพอใจที่จะเห็นแรงงานพม่าเป็นเพียงแค่แรงงานรับจ้างเท่านั้น พม่าเป็นพลเมืองชั้นสอง และเป็นอื่นในหมู่บ้าน แม้ว่าจำนวนแรงงานพม่าในหมู่บ้านน้ำเค็มเกือบจะเท่าๆ กับจำนวนประชากรคนไทยในหมู่บ้านน้ำเค็ม แต่เมื่อองค์กรเอกชนเข้ามาช่วยเหลือและรวมกลุ่มแรงงานพม่า แม้จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนก็ตาม แต่ความคิดของคนในชุมชนกลับมองเป็นเรื่องการส่องสุม การสร้างกำลังที่เข้มแข็งให้กับพม่าที่อาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ เสียงของผู้นำหมู่บ้านบ้านน้ำเค็มอย่างน้อย 3 เสียงที่ผู้เรียนมีโอกาสพูดคุยด้วย ซึ่งขอไม่เปิดเผยชื่อ คนหนึ่งมองว่า ตอนนี้สถานการณ์ของพม่าน่ากลัว เพราะมีองค์กรเอกชนเข้ามารวมกลุ่มพม่า ไปสร้างความเข้มแข็งให้เขา ซึ่งสุ่มเสี่ยงมาก ถ้าหากเขาเกิดแข็งข้อขึ้นมา จะทำให้เกิดความไม่มั่นคงให้กับประเทศได้ ทางพวกเราก็จับตาดูอยู่ ส่วนผู้นำอีกสองเสียงก็มองไปในทิศทางที่ไม่ต่างกันนัก เขามองว่าองค์กรพัฒนาเอกชนมองแต่มุมที่ดีและเป็นการหวังดีต่อพม่า แต่ไม่มองเรื่องความมั่นคงของชาติ ในพังงามีพม่าจำนวนมาก เป็นเรื่องที่ต้องระวัดระวัง


 


ทว่า ภาพของแรงงานพม่าในความนึกคิดของคนไทยที่หลอมด้วย ความคิดแบบชาตินิยม แตกต่างจากความเป็นจริงในชีวิตของแรงงานพม่าโดยสิ้นเชิง แรงงานพม่าไม่ต่างจากแรงงานไทยที่เดินทางไปขายแรงงานยังต่างประเทศ สาเหตุเพราะความลำบาก ยากจน และต้องการชีวิตที่ดีกว่า แรงงานพม่าก็เช่นเดียวกัน พวกเขาเผชิญปัญหาเช่นเดียวกับเส้นทางของแรงงานข้ามชาติทั่วโลก คือ บางคนต้องจ่ายค่านายหน้าเป็นเงินจำนวนมากเพื่อให้ได้เดินทางมาประเทศไทย ราคาค่านายหน้าสูงถึง 300,000 จั๊ด (1 บาทต่อ 37 จั๊ด) บางคนขายบ้าน บางคนจำนองบ้าน เพื่อเป็นค่าเดินทาง เมื่อมาถึงเมืองไทยก็ต้องเสียเงินค่านายหน้าที่นำมาส่งนายจ้าง ถ้าไม่มีเงินเสียค่านายหน้า แต่นายจ้างเป็นคนจ่าย พวกเขาต้องถูกหักเงินเดือน หรือบางครั้งทำงานโดยไม่ได้รับค่าจ้างจนกว่าหนี้สินจะหมดลง เส้นทางการเดินทางเข้ามาสู่อันดามันตอนใต้ จะเดินทางมายังเกาะสองก่อน แล้วจึงนั่งเรือจากเกาะสองข้ามมาขึ้นฝั่งไทย และเสียค่าผ่านด่าน เข้ามาแล้วก็ไม่กลับไปอีก ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองไทยแบบหลบๆ ซ่อนๆ บางกลุ่มลักลอบขึ้นฝั่งโดยหลบหนีการตรวจของด่าน แต่ส่วนใหญ่จะเข้ามาด้วยการเสียค่านายหน้า ซึ่งหมายถึงการทุจริตเป็นกระบวนการ มีการจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นทอดๆ มาแล้ว


 


ปัญหาที่แรงงานพม่าในอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงาพบมากที่สุดคือ การถูกโกงค่าแรง ปัญหามีทั้งระดับไม่จ่ายเลย และจ่ายบางส่วน ซึ่งกรณีหลังพบมากที่สุด นายอวงโกเทต บอกว่าเขาถูกโกงเสมอ บางครั้งนายจ้างจ่ายค่าแรงเพียงแค่ครึ่งเดียว เขาต้องอยู่อย่างประหยัด เพราะต้องอดออมส่งเงินไปให้ครอบครัวที่อยู่ในพม่าด้วย นายทู ทำงานในเมืองไทยมานาน สามารถพูดภาษาไทยได้ เขามีฝีมือและความรู้ในเรื่องการก่อสร้าง เขาจึงหันมาทำอาชีพรับเหมา โดยดึงพม่าด้วยกันเองมาเป็นลูกน้อง และรับงานต่อจากผู้รับเหมาคนไทยอีกทอดหนึ่ง บ่อยครั้งที่เขาได้รับค่ารับเหมาไม่ครบ แต่ก็ไม่กล้าปริปาก เพราะกลัวว่าจะถูกกลั่นแกล้ง เขากลัวคนไทยจะเรียกตำรวจมาจับ เพราะพม่าบางคนไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน งานล่าสุดเขาถูกโกงค่ารับเหมาไปหมด ลูกน้องก็อด ตัวเขาก็อดแต่ก็ต้องหยิบยืมเงินเพื่อนคนอื่นๆ ไปจ่ายให้ลูกน้อง


 


แรงงานพม่าส่วนใหญ่ทำงานเป็นลูกจ้างเรือประมง รับจ้างกรีดยาง แรงงานก่อสร้าง รับจ้างรายวันตามแพปลา เช่น ขูดปลา รับจ้างในโรงซ่อมรถ ต่อเรือ รับจ้างในโรงงานต่างๆ สำหรับงานรับจ้างต่างๆ นั้นรายได้ไม่เกิน 3,000 บาท เงินค่าจ้างรายวันๆ ละ 150 บาท บางรายได้ต่ำกว่านั้น ลักษณะงานที่แรงงานพม่ารับจ้าง เป็นงานที่สกปรก เสี่ยงภัย งานหนัก มายาคติเรื่องแรงงานพม่าแย่งงานคนไทยทำนั้นไม่เป็นความจริง ลักษณะงานระดับล่างเหล่านี้คนไทยเลิกทำไปแล้ว เพราะนายจ้างหาคนไทยทำงานแบบนี้ไม่ได้ แรงงานต่างด้าวจึงหลั่งไหลเข้ามาทดแทน นายจ้างคนหนึ่งบอกว่า พวกพม่าขยัน ทำงานเก่ง อึด สู้งาน กลางแดดกลางฝนก็ไม่กลัว บางงานคนไทยไม่มีทางทำได้ งานขุดเลนที่สกปรก ขี้เลนเต็มไปหมด พวกนี้ก็ทำได้ หรืออย่างงานขุดสุขา พวกนี้ก็ไม่รังเกียจ คนไทยเรียกงานเหล่านี้ว่าเป็นงานชั้นต่ำ


 


นอกจากนี้แล้ว เรื่องความเสี่ยงภัยในงานที่ทำ แรงงานพม่าต้องยอมรับชะตากรรมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากหลีกเลี่ยงก็หมายถึงการตกงาน และไม่มีเงินส่งให้ครอบครัวในพม่า นายจ้างส่วนใหญ่ไม่มีกระบวนการอบรมทักษะการทำงานหรือการใช้เครื่องมือก่อนการทำงานแก่แรงงานพม่า แรงงานพม่าหลายคนได้รับบาดเจ็บจากการทำประมง จากการตัดไม้ เลื่อยไม้ บางคนมือขาด นิ้วขาด โดยนายจ้างไม่รับผิดชอบ บางรายทำงานก่อสร้างต้องใช้เครื่องมือไฟฟ้าถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต นายจ้างรับผิดชอบแค่เผาศพให้เท่านั้น กรณีนางเอ เธอและครอบครัวทำงานให้กับนายจ้างในบริษัทก่อสร้างหล่อเสาปูน สามีทำในส่วนงานหนักคือ หล่อปูน ส่วนผู้หญิงทำหน้าที่ผูกลวดเหล็กเพื่อขึ้นเป็นโครงเสาสำหรับหล่อปูน ลูกชายสามคนไม่ได้เรียนหนังสือเป็นแรงงานแถมที่คอยช่วยเหลือพ่อหรือแม่ โดยไม่มีค่าจ้างแต่อย่างใด นายจ้างจะพาครอบครัวไปทำงานที่ไหน เธอไม่สามารถคัดค้านได้ วันหนึ่งนายจ้างพาลูกชายคนโตวัยสิบสี่ปีของเธอไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัดภูเก็ต ปรากฏว่า ลูกชายถูกไฟช็อตเสียชีวิต เธอทราบแต่เพียงว่านายจ้างจัดการเผาศพให้โดยที่เธอไม่มีโอกาสได้เห็นหน้าศพลูกชายเป็นครั้งสุดท้าย เพราะนายจ้างไม่กล้าเสี่ยงพาเธอไปที่จังหวัดภูเก็ต เพราะกฎหมายแรงงานต่างด้าว หากมีการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามจังหวัด ต้องทำงานขออนุญาตกับทางหน่วยงานราชการหลายหน่วยงาน เช่น สถานีตำรวจเพื่อขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อแจ้งเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว กระบวนการดังกล่าวเสียเวลาทำงานของนายจ้าง ไม่รวมเหตุผลของการเสียค่าใช้จ่ายในการพาเธอและครอบครัวไปภูเก็ต


 


หากพิจารณาในแง่มนุษยธรรม ที่มนุษย์พึงมีต่อกัน สิ่งเลวร้ายเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับมนุษย์ชนชาติใดในโลก แต่แรงงานพม่าเหล่านี้เผชิญกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานอยู่เกือบทุกวัน สำนึกที่นายจ้างหรือคนไทยคิดว่า งานชั้นต่ำเหล่านี้มีเพียงพม่าเท่านั้นที่ทำได้ งานหนักแค่ไหนพม่ามันสู้ โดยปราศจากการเห็นอกเห็นใจ สิ่งเหล่านี้มีเหตุพื้นฐานมาจาก การอคติทางชาติพันธุ์ที่มองพม่าเป็นศัตรู เป็นชาติที่น่าหวาดระแวง เป็นชาติที่เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ และเป็นชาติพันธุ์ที่ในอดีตก่อความเจ็บช้ำน้ำใจให้แก่คนไทยในอดีต ยุคเสียกรุงศรีอยุธยายังคงหลอกหลอนทั้งคนไทยและคนพม่า ฉะนั้นระดับความเลวร้ายในชะตากรรมของแรงงานพม่าจึงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของการสร้างสำนึกชาตินิยมของไทยด้วย สายโซ่ที่ร้อยข้อเท้าผูกโยงติดกันสิบคนของแรงงานพม่า เพียงแค่โทษหลบหนีเข้าเมือง และต้องถูกส่งกลับประเทศพม่า แต่การควบคุมประหนึ่งแรงงานเหล่านี้เป็นอาชญากรร้ายแรง คนไทยบางส่วนที่พบเห็นการจับกุมไม่ได้มองเป็นเรื่องร้ายแรงหรือเลวร้าย เพราะเป็นการจับกุมพม่า


 


แม้ว่าเหตุการณ์การละเมิดสิทธิไม่ได้เกิดกับพม่าทุกคน แต่ผู้เขียนต้องการชี้ประเด็นให้เห็นถึงกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งที่ถูกกระทำจากอคติทางชาติพันธุ์ทั้งในฐานะพลเมืองชายขอบของรัฐ และอคติทางชาติพันธุ์จากรัฐเพื่อนบ้านในฐานะแรงงานต่างด้าว ที่ทำให้คนเหล่านี้อยู่อย่างไร้สิทธิไร้เสียงในสังคม อย่างไรก็ตาม แรงงานพม่าบางกลุ่มเข้ามาทำมาหากินในเมืองไทยเกิน 10 ปี สร้างครอบครัว อยู่ในเมืองไทย และแรงงานพม่ากว่า 90 เปอร์เซ็นต์ยอมมีลูกหลานทั้งที่ตกอยู่ในภาวะลักลั่นระหว่างคนไร้สัญชาติ ลูกหลานที่เกิดมาอาจจะไม่สามารถได้สัญชาติพม่า หากพ่อและแม่ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชนพม่า และรัฐบาลพม่าไม่ยอมรับในความเป็นพลเมือง เฉพาะในอำเภอตะกั่วป่ามีเด็กพม่าจำนวน 300 กว่าคน


 


แรงงานพม่าในภาวะ "คนไร้รัฐ" คือการถูกกระทำจากการเมืองทั้งภายในประเทศและจากประเทศที่ตนเองเข้าไปอาศัย ในประเทศพม่า ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่แสดงว่าพวกเขาเป็นประชากรของประเทศพม่า แต่เมื่อถึงเวลาวิกฤตต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเช่นเมื่อครั้งหลังภัยสึนามิ พวกเขากลับเป็นพลเรือนที่รัฐบาลพม่าไม่ให้การช่วยเหลือและเหลียวแล ไม่นับจำนวนประชากรที่ลี้ภัยในคราบคนขายแรงงานในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมืองเมื่อหนีภัยเมื่อยุค 888 คนจำพวกนี้ไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศพม่าได้อีก หากเข้าไปเมื่อไร จะถูกทหารพม่าจับทันที คนกลุ่มนี้เป็นส่วนหนึ่งในจำนวนแรงงานพม่าในไทย ส่วนบางพวกที่เป็นชนกลุ่มน้อยเช่น ชาวกระเหรี่ยง กับมอญ ที่ทางการทหารพม่าจับตามองเป็นพิเศษหากต้องกลับไปเยี่ยมบ้าน ความไม่มั่นคงในสถานภาพภายใต้คราบคนขายแรงงานต่างถิ่น แม้หลายคนจะมีบัตรประจำตัวประชาชนบ่งบอกว่าเป็นประชากรพม่า


 


บางคนเข้ามาทำงานในฐานะอาสาสมัครในองค์กรเอกชนเช่น อู วิน ไม่กล้าที่จะข้ามไปยังฝั่งพม่า (เกาะสอง) แม้ว่าวิธีการจะไปได้ง่ายแสนง่าย แต่เขาเสี่ยงกับภาวะถูกจับกุมเมื่อถูกตรวจสอบประวัติที่รัฐบาลร่วมมือกับรัฐบาลทหารพม่าส่งรายชื่อผู้ลี้ภัยทางการเมืองและกลุ่มที่ทำงานกับองค์กรพัฒนาเอกชนให้แก่รัฐบาลทหารพม่า เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างฟิลิปปินส์ ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศส่งออกแรงงานมากที่สุดในโลก ผู้ขายแรงงานของฟิลิปปินส์คือ ฮีโร่ (วีรบุรุษ) ของประเทศ เนื่องจากเป็นผู้นำรายได้เข้าประเทศ ปีหนึ่งๆ เป็นเงินเกือบหมื่นล้านบาท ที่ทางรัฐบาลของฟิลิปปินส์ต้องเอาใจใส่ และให้สิทธิพิเศษ หรืออภิสิทธิ์แก่ชนชั้นแรงงานข้ามชาติตั้งแต่สนามบิน มีช่องทางพิเศษในการเข้าไปเช็คอิน (ตรวจเอกสารเพื่อเข้าห้องพักผู้โดยสาร) โดยที่พวกเขาไม่ต้องเสียเวลาเข้าคิวร่วมกับผู้โดยสารคนอื่นๆ นอกจากนี้รัฐบาลยังมีหน่วยงานหลายหน่วยงานดูแลแรงงานข้ามชาติในด้านต่างๆ ทั้งด้านเงินทุน สวัสดิการ หลังเลิกเป็นแรงงานข้ามชาติ และผู้ขายแรงงานฟิลิปปินส์ที่เข้าไปอยู่ในประเทศอื่นอยู่ในฐานะ stateless เพราะไม่ใช่คนของประเทศนั้นๆ เมื่อเข้าไปอยู่อาณาเขตแบ่งแยกรัฐ แต่ทำไมในสถานแรงงานข้ามชาติพม่ากลับตรงกันข้ามในทุกด้าน ฟิลิปปินส์ยอมถอนทหารออกจากอิรักทันทีเมื่อแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งถูกจับเป็นตัวประกันเมื่อปี 2546 ขณะที่รัฐบาลทหารพม่าปฏิเสธการช่วยเหลือและร่วมมือตรวจสอบความเป็นพลเมืองพม่าของแรงงานพม่าหลังภัยสึนามิ โดยอ้างความมั่นคงภายในประเทศ


 


นอกจากนี้ในฐานะแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย แรงงานพม่ายังถูกจำกัดสิทธิต่างๆ มากมาย แรงงานพม่ามีสิทธิอยู่ภายใต้เขตแดนไทยภายใต้ใบอนุญาตทำงาน (บัตรสีชมพู) อย่างถูกกฎหมาย และจำกัดพื้นที่ในการเดินทาง โดยห้ามข้ามเขตแดนจังหวัด ซึ่งจะดูจากหมายเลขบัตรที่ตัวเลขมีรหัสจังหวัดระบุอยู่ในบัตรนั้นด้วย เขาจะเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายทันทีเมื่อข้ามเขตจังหวัด อาจถูกจับ ปรับ และส่งกลับ แต่โดยส่วนใหญ่มักจะถูกจับ ปรับเป็นเงินที่เกินกว่าค่าปรับ จึงปล่อยตัวกลับไป และมีความไม่มั่นคงต่อสถานภาพแรงงานข้ามชาติ ต้องต่ออายุบัตรปีต่อปี หากนายจ้างไม่ต่ออายุบัตรให้พวกเขาต้องกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย หรือแรงงานเถื่อนทันที และถึงแม้ว่าจะมีบัตรสีชมพู บัตรนั้นไม่ได้บ่งบอกถึงสิทธิอื่นๆ เช่น การทำนิติกรรมภายใต้รัฐไทย แรงงานพม่าซื้อมอเตอร์ไซต์ในชื่อของตนไม่ได้ ต้องใช้ชื่อของคนไทยที่ไว้วางใจทำนิติกรรมซื้อขายให้ แรงงานพม่าลงทะเบียนบัญชีรายชื่อโทรศัพท์มือถือไม่ได้ (ในกรณีจ่ายเป็นรายเดือน) แรงงานพม่าเลี่ยงไปซื้อหมายเลขโทรศัพท์แบบเติมเงิน โดยไม่ต้องลงทะเบียนรายชื่อ รวมไปถึงการไปเปิดบัญชีธนาคาร หากปราศจากพาสปอร์ตแล้ว บัตรสีชมพูไม่สามารถทำให้แรงงานพม่า เปิดบัญชีหรือทำนิติกรรมใดๆ กับธนาคารได้


 


แรงงานพม่าเป็นกลุ่มชายขอบในสถานภาพแรงงานข้ามชาติในสายตาของประชากรไทย ทั้งในแง่การทำงานชั้นต่ำที่คนไทยไม่ทำ การถูกมองเป็นอื่น แบ่งเขาแบ่งเรา ในฐานะที่รัฐไทยสร้างตำนานและตำราให้พม่าเป็นศัตรูเพื่อสร้างชาติไทยให้มั่นคง แรงงานพม่าจะถูกมองอย่างหวาดระแวงในฐานะเป็นภัยในความมั่นคงของชาติไทย ฉะนั้นในสถานการณ์ที่ล่อแหลมของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กฎระเบียบของกระทรวงมหาดไทยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด มีข้อห้ามต่างๆ กับแรงงานพม่าในเขตจังหวัดที่มีแรงงานพม่าจำนวนมาก เช่น ห้ามไม่ให้มีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งขัดแย้งกับชีวิตประจำวันของแรงงานพม่า เพราะเป็นสิ่งเดียวที่แรงงานพม่าใช้ติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากสถานภาพของพวกเขาเอง แม้แต่คนมีบัตรสีชมพูก็ไม่สามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ไม่นับแรงงานเถื่อนที่สามารถถูกจับและส่งกลับประเทศได้ทุกเวลาหากถูกตรวจค้น นอกจากนี้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปมาหาสู่กันแม้ภายในพื้นที่ที่ทำงาน ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง แรงงานพม่ารายได้วันละไม่เกินร้อยห้าสิบบาท จึงเป็นเพิ่มภาระให้พวกเขาไปโดยปริยาย เพราะส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่ป่า คือ สวนยางพารา ซึ่งรวมไปถึงการห้ามมีมอเตอร์ไซต์ไว้ครอบครองด้วย เป็นการเดินทางเดียวที่ประหยัดและสะดวกกับเขามากที่สุด นอกจากนี้แรงงานพม่ายังเป็นสิ่งที่รัฐมองว่าเป็นภัยความมั่นคงชัดเจน เมื่อมีประกาศภาวะฉุกเฉินห้ามออกจากเคหะสถานภายในเวลา 20.00 - 06.00 น. และห้ามชุมนุมเกินกว่าห้าคน


 


ความหมายความเป็นคนไร้รัฐของแรงงานพม่าในที่นี้จึงเป็นทั้งคนที่ไร้เสียงในประเทศของตน การไม่มีตัวตนหรือเป็นแค่ชายขอบในประเทศเพื่อนบ้านที่ตนไปอาศัยขายแรงงานเท่านั้น แม้จะพยายามสร้างพื้นที่ให้เขาเป็นส่วนหนึ่งของแรงงานสำคัญทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ แต่ก็ไม่อาจก้าวข้ามพ้นความคิดทางประวัติศาสตร์ ไทยรบพม่า ไปได้


 


0 0 0


 


 


อ้างอิง


 


เครือข่ายแม่น้ำตะวันออกเฉียงใต้ ศูนย์ข่าวสาละวิน (บก.), เขื่อนสาละวิน โศกนาฏกรรมสองแผ่นดิน, สำนักพิมพ์เคล็ดไทย, 2546


 


ไชยรัตน์ เจริญสินโอฬาร, "มายาคติในสังคมทุนนิยมปัจจุบัน", สัญวิทยา โครงสร้างนิยม หลังโครงสร้างนิยมกับการศึกษารัฐศาสตร์, สำนักพิมพ์วิภาษา, 2545


 


ธงชัย วินิจจะกุล, "ประวัติศาสตร์การสร้างตัวตน", อยู่เมืองไทย : รวมบทความทางสังคมการเมืองเพื่อเป็นเกียรติแด่ ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริกในโอกาสอายุครบ 60 ปี, สมบัติ จันทรวงศ์และชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (บก.) กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2530


 


นิธิ เอียวศรีวงศ์, ประวัติศาสตร์ ชาติ ปัญญาชน, มุกหอม วงษ์เทศ (บก.), กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มติชน, 2548


 


นิติ ภวัครพันธุ์และสุกัญญา เบาเนิด, วันชาติมอญ ทบทวนแนวคิดทางมานุษยวิทยาเรื่อง "รัฐ", เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 6 รัฐ จากมุมมองของชีวิตประจำวัน, กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2550


 


พรพิมล ตรีโชติ, จากลุ่มอิระวดีสู่สาละวิน : บทวิเคราะห์ทางการเมือง สังคม และความสัมพันธ์ไทยพม่า, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, 2547


 


สุภัตรา ภูมิประภาสและทัศนีย์ ตนไพศาล (แปล), ข่มขืน - ขื่นขมในความเงียบ เรื่องเล่าของผู้หญิงกระเหรี่ยงกับเรื่องราวของทหารพม่า และสงครามประชาชนในรัฐกระเหรี่ยง, คณะกรรมการจัดงานครบรอง 60 ปี ออง ซาน ซู จี, 2548


 


อดิสร เกิดมงคลและสุภัตรา ภูมิประภาส (บก.), ไทยรักพม่า, ปาฐกถาพิเศษโดย ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกุล เนื่องในวาระครบรอบ 17 ปี เหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า (8-8-88), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า, 2548


 


อดิสร เกิดมงคล, คนพลัดถิ่น - คนข้ามแดน, เอกสารประกอบการประชุมประจำปีทางมานุษยวิทยาครั้งที่ 6 รัฐ จากมุมมองของชีวิตประจำวัน, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2550


 


เบลซีย์, แคทเธอรีน, โลกแห่งมายาคติ, หลังโครงสร้างนิยม ฉบับย่อ, อภิญญา เฟื่องฟูสกุล (แปล), กรุงเทพ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร, 2549


 


Stuart Hall 1997, "the Spectacle of the Other, in Margaret Wetherell et al (eds.) Discourse Theory and Practice : A Reader. London : Sage, pp. 324-344

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net