เดือน "รอมฎอน" นี้ มีมุสลิมไม่ได้กลับบ้าน

ขณะที่เดือนรอมฎอน เดือนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมกำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 12 ก.ย. แต่ยังมีชาวมุสลิมที่อาจจะไม่ได้กลับบ้าน เพราะติดอยู่ในเงื่อนไข ที่ต้อง "สมัครใจ" เข้าฝึกอาชีพ คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพเรียกร้องให้ภาครัฐทำความเข้าใจ ว่าหากผู้เข้าร่วม เข้าร่วมโดยสมัครใจจริง ก็ต้องอนุญาตให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการฝึกอาชีพ สามารถกลับบ้านประกอบศาสนกิจร่วมกันครอบครัวได้ตามต้องการ โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ

 

 

เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 50 คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกฯ ตรวจสอบการใช้อำนาจของทหารในการจับกุมและคุมขังผู้ต้องสงสัยป่วนใต้ 4 เดือน

 

สืบเนื่องจากการประกาศใช้ "แผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้" ที่มีแผนยุทธการย่อย 14 แผน ตั้งแต่วันที่ 18 มิ.ย. 50 เพื่อจับกุมและควบคุมตัวผู้ที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีกฎอัยการศึกและพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มาใช้เป็นเครื่องมือทางกฎหมายในการจับกุมและควบคุมตัวนั้น และภายหลังจากพ้นกำหนดระยะดังกล่าว ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกส่งเข้าโครงการ "ฝึกอาชีพ" เป็นระยะเวลา 4 เดือน โดยมีเหตุผลเพื่อความปลอดภัยและการสร้างโอกาสใหม่ให้ชีวิต พร้อมทั้งความหวังในการแยกสลาย "แนวร่วม" ของกลุ่มขบวนการ

 

และตามที่พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เดินทางตรวจเยี่ยมและฟังบรรยายสรุปการฝึกอบรมอาชีพแก่ผู้ถูกควบคุมตัวตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้จำนวน100 คน ณ ค่ายวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 50 นั้น

 

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายเหวี่ยงแหจับกุมและการควบคุมตัวผู้ต้องสงสัย 4 เดือนหลังจากพ้นอำนาจควบคุมตัวตามกฎหมาย 30 วันตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

 

เนื่องจากที่ผ่านมา พบว่าการจับกุมและควบคุมตัว มีลักษณะหมิ่นเหม่ต่อการละเมิดกฎหมาย ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม ซึ่งทำให้ผู้ที่ไม่ประสงค์จะเข้าอบรมอาชีพไม่สามารถปฏิเสธและไม่สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้ ถือเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพพื้นฐานของประชาชน โดยกระบวนการจับกุมดังกล่าว ผู้ถูกจับมีทางเลือกเพียง 2 ทางคือ เข้าร่วมฝึกอาชีพ 4 เดือน หรือถูกดำเนินคดีตามกฎหมายโดยไม่มีการแจ้งข้องกล่าวหาในการกระทำความผิด

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการจับกุมด้วยเครื่องตรวจจับการปนเปื้อนสารประกอบวัตถุระเบิด (RDX) ซึ่งยังคงมีข้อสงสัยถึงความถูกต้องแม่นยำที่จะนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นจับกุมของหน่วยงานทหาร และการจับกุมด้วยเครื่องดังกล่าว อาจทำให้ผู้บริสุทธิ์ตกเป็นผู้ต้องสงสัยโดยไม่มีโอกาสโต้แย้งได้ตามสิทธิทางกฎหมาย หรือไม่มีการตรวจสอบด้วยกลไกใดในประเทศได้ในขณะนี้

           

"กรณีการเหวี่ยงแหจับกุมโดยไม่เป็นธรรม อาจทำให้มีผู้บริสุทธิ์ถูกบังคับให้ต้องตกเป็นผู้ถูกควบคุมตัวโดยพลการของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งนำสู่ปัญหาความรุนแรงที่มากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลและหน่วยงานทางทหารควรคิดถึงผลกระทบต่อที่ผู้ถูกควบคุมตัวโดยมิชอบและไม่ได้รับความเป็นธรรมกว่า 500 คน รวมถึงการที่หัวหน้าครอบครัวตกอยู่ภายใต้การควบคุม ทำให้หญิงและเด็ก รวมทั้งบรรดาผู้ที่อยู่ข้างหลังอีกมากมายที่ไม่มีใครดูแล

 

และตามที่ทางการได้อ้างว่า ผู้ถูกควบคุมตัวทุกคนสมัครใจเข้าฝึกอาชีพ ดังนั้นจึงต้องอนุญาตให้ผู้ที่อยู่ระหว่างการฝึกอาชีพและมีความประสงค์ที่จะกลับบ้านเพื่อประกอบศาสนกิจร่วมกับครอบครัวในเดือนรอมฎอน สามารถกลับบ้านได้โดยไม่มีเงื่อนไขใดใด เดือนรอมฎอนซึ่งจะเริ่มต้นในวันที่ 12 ก.ย. นี้ ถือเป็นเดือนอันศักดิ์สิทธิของชาวมุสลิม ทั้งนี้เพื่อให้มุสลิมทุกคนได้มีโอกาสประกอบศาสนกิจได้อย่างเป็นปกติ" นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพกล่าว

 

นอกจากนี้ ทางคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ได้ส่งหนังสือร้องเรียนถือองค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงาน เช่น ผู้รายงานพิเศษขององค์การสหประชาชาติด้านการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนระหว่างการปราบปรามการก่อการการร้าย ศาสตาจารย์ ดร. มาร์ติน ชาย์น และเลขาธิการองค์การมุสลิม (Organization of the Islamic Conference - OIC) แล้วเมื่อวันที่ 6 ก.ย. โดยคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีความเห็นว่า การปราบปรามการใช้ความรุนแรงของหน่วยงานทางทหารของไทย ควรอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน รวมถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของกิจกรรมทางศาสนา

 

และก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ส.ค. ที่ผ่านมา คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ สมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน มูลนิธิผสานวัฒนธรรม สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย และ ศูนย์ทนายความมุสลิม ร่วมกันออกจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ถึงข้อเสนอแนะ 4 ประการต่อยุทธการพิทักษ์แดนใต้และการควบคุมตัว 4 เดือน ว่า

หนึ่ง ให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนนโยบายตามแผนยุทธการพิทักษ์แดนใต้และการควบคุมตัว 4 เดือนอันขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนและหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญ โดยให้นำกระบวนการยุติธรรมปกติมาใช้กับสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่ากระบวนการยุติธรรมมีความโปร่งใส เป็นอิสระและให้ความเป็นธรรม กับเจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้อย่างเสมอภาคโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

 

สอง ให้พิจารณาปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัว 4 เดือนโดยมิชอบด้วยหลักสิทธิมนุษยชนตามแผนยุทธการนี้ โดยทันที

 

สาม ให้รัฐบาลคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อครอบครัวของผู้ถูกควบคุมตัวที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว จิตวิทยาสังคมโดยรวม

 

สี่ ให้รัฐบาลใช้หลักนิติธรรมอย่างเคร่งครัด โดยหลีกเลี่ยงการกวาดจับกุมที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ขาดพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งหากยังคงใช้มาตรการดังกล่าวย่อมเป็นการสร้างเงื่อนไขให้เกิดความรุนแรงขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และมิอาจแก้ไขปัญหาเรื่องความรุนแรงในภาคใต้ได้ โดยรัฐบาลควรยอมรับการปฏิบัติที่สอดคล้องกับการศึกษาวิจัยหลายสำนักที่มีข้อสรุปตรงกันว่า ความรุนแรงในภาคใต้มีสาเหตุสำคัญเกิดขึ้นจากการที่ประชาชนไม่ได้รับเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม

 

อีกด้านหนึ่ง ข่าวจากกรมประชาสัมพันธ์รายงานว่า "ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จ.นราธิวาส เร่งพัฒนาฝีมือให้กับเยาวชนในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการมีงานทำในต่างประเทศ และรองรับตลาดจากต่างประเทศ"

 

เนื้อข่าวระบุว่า นายวิจิตร กูลบุตร รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน จังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อการมีงานทำในต่างประเทศ ซึ่งมีการรับสมัครเยาวชนใน จ.ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และ 4 อำเภอของ จ.สงขลาแล้ว เข้ารับการฝึกอาชีพช่างเชื่อมไฟฟ้า หลักสูตร 3 เดือน จำนวน 43 คน ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะนี้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือก อยู่ในระหว่างการฝึกอบรม โดยจังหวัดนราธิวาส มีผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจำนวน 17 คน

 

นายวิจิตร กูลบุตร กล่าวว่า การฝึกมีทั้งการฝึกภาคทฤษฎี คือ เรียนภาษาต่างประเทศ เป็นเวลา 100 ชั่วโมง โดยมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่จบภาษาต่างประเทศมาเป็นผู้สอน และภาคปฏิบัติฝึกอาชีพช่างเชื่อมไฟฟ้า เป็นเวลา 320 ชั่วโมง และสามารถสอบผ่านเกณฑ์ทดสอบความรู้ความสามารถในการทำงานได้ด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีการฝึกระเบียบวินัย เสริมสร้างนิสัยในการทำงาน โดยได้รับการฝึกจากเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจที่ 30 อีกทั้งยังได้ความรู้นำไปประกอบอาชีพทั้งในและต่างประเทศด้วย

 

 

 

ข้อมูลบางส่วนจาก : สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท