Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 24 ก.ย. 50 ในระหว่างวันที่  23-29 ก.ย.50 นางอังคณา นีละไพจิตร ตัวแทนคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ร่วมกับองค์การสิทธิมนุษยชนในเอเชียหลายประเทศ  เข้าร่วมประชุมสภาสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ซึ่งการประชุมสภาสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 6 ที่มีกำหนดการประชุมตั้งแต่วันที่ 10-28 ก.ย.   (the 6th session of the Human Rights Council: 10 to 28 September 2007 )    ดูรายละเอียดที่


http://www.ohchr.org/english/bodies/hrcouncil/6session/index.htm


ทั้งนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร จะร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนหลายองค์กรจัดตั้ง  "คณะทำงานร่วมสากลเพื่อต่อต้านการบังคับให้บุคคลหายไป" (The International Coalition against Enforced Disappearances)  และร่วมกันรณรงค์ให้ประเทศต่าง ๆในเอเชีย และประเทศอื่นในโลก รวมทั้งประเทศไทยร่วมลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับใหม่นี้ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทำให้บุคคลหายไป  


 


"คดีทนายสมชาย และคดีคนหายกว่า 20 คดีในภาคใต้  แม้จะยังไม่ก้าวหน้าและยังไม่สามารถนำคนผิดมาลงโทษได้  แต่รัฐบาลไทยควรมีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาเรื่องคนหายในประเทศไทย   โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ  ดังนั้นรัฐบาลไทยต้องพิจารณาลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศฉบับนี้โดยไม่รีรอ  เพื่อแสดงเจตนารมณ์ร่วมกับองค์การสหประชาชาติว่าประเทศไทยจะมีมาตรการทุกด้านที่จะยุติการบังคับให้บุคคลสูญหายอันที่เกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐโดยเด็ดขาด และมีกฎหมายในประเทศที่สามารถนำคนผิดมาลงโทษ"  นางอังคณา กล่าวก่อนเดินทางไปกรุงเจนีวา  เมื่อคืนวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550


นอกจากนั้น นางอังคณา นีละไพจิตรมีกำหนดการที่จะพบกับผู้แทนพิเศษแห่งองค์กรสหประชาชาติหลายท่านเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในภาคใต้ของไทย โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน  การซ้อมทรมาน  การควบคุมตัวโดยพลการ และความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรม  โดยมีกำหนดการจะพบกับ   ผู้แทนพิเศษเรื่องความเป็นอิสระของศาลและทนายความในวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2550   รวมทั้งจะพบปะเพื่อติดตามเรื่องการร้องเรียนกับผู้แทนพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนในระหว่างการต่อต้านการก่อการร้ายในวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2550 และในวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2550 จะเข้าพบกับผู้แทนพิเศษเรื่องการต่อต้านการทรมาน และผู้รายงานพิเศษเรื่องการคุ้มครองนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน โดยได้นำข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมานและการควบคุมตัวโดยพลการต่อผู้ต้องสงสัยก่อเหตุภาคใต้เพื่อเข้าพูดคุยและหาแนวทางในการคุ้มครองปกป้องสิทธิของบุคคลเหล่านี้ในสถานการณ์ไม่สงบภาคใต้ต่อไป


 






 


การบังคับให้บุคคลหายไปคืออะไร


 


การบังคับให้บุคคลหายไปคือการถูกจับ การถูกควบคุมตัว การถูกลักพาตัว หรือรูปแบบอื่น ๆ ของการจำกัดเสรีภาพโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือโดยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ทำตามอำนาจสั่งการ  โดยการสนับสนุนหรือโดยได้รับอนุญาตจากรัฐ   และโดยที่รัฐ ปฎิเสธว่ารับรู้เรื่องการจำกัดเสรีภาพหรือโดยไม่รู้ว่าบุคคลที่ถูกบังคับให้หายไปนั้นอยู่ที่ที่ไม่อยู่ในเขตอำนาจที่จะปกป้องตามกฎหมาย


 


การกระทำเช่นนี้ครั้งแรกใช้ในสมัยนาซี เพื่อกำจัดชาวยิวในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง  และก็ได้กลายเป็นการเลียนแบบเอาอย่างของรัฐบาลหลาย ๆ รัฐบาลในประเทศเอเชียและในลาตินอเมริกา  ในขณะนี้ เอเชียเป็นทวีปที่มีรายงานว่ามีบุคคลที่ถูกบังคับให้หายไปมากที่สุด


 


อนุสัญญาขององค์การสหประชาชาติเรื่องการป้องกันไม่ให้บุคคลถูกบังคับให้หายไป คืออะไร


 


อนุสัญญานี้กฎหมายระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการบังคับให้บุคคลหายไป  ในการประชุมสมัชชาใหญ่สามัญครั้งที่ 61 ของประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ได้รับรองอนุสัญญาฉบับนี้เป็นเอกฉันท์     ให้รัฐสมาชิกขององค์การสหประชาชาติร่วมลงนามเพื่อเป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาฉบับนี้  โดยจะต้องมีรัฐภาคีอย่างน้อย 20 ประเทศเพื่อให้อนุสัญญาฉบับนี้มีผลบังคับใช้


 


เนื้อหาสำคัญของอนุสัญญาฉบับนี้


 



  • มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านการบังคับให้บุคคลหายไป และมิให้ผู้กระทำผิดลอยนวล

  • กำหนดความหมายของการบังคับให้บุคคลหายไปที่เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคล/กลุ่มบุคคลที่ทำตามอำนาจสั่งการของรัฐ

  • กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องดำเนินการให้การบังคับให้บุคคลหายไปเป็นความผิดในคดีอาญามีบทลงโทษในกฎหมายของประเทศนั้น

  • ระบุให้มีการสืบสวนสอบสวนต่อข้อร้องเรียนและรายงานกรณีคนหายอย่างเร่งด่วน  และร่วมถึงขอบข่ายอำนาจของคณะสืบสวนสอบสวนที่จะสามารถเข้าไปยังสถานที่ใด ๆ ก็ตามที่ "ผู้สูญหาย" อาจถูกนำตัวไป และรวมถึงการคุ้มครองพยาน

  • ระบุว่ารัฐต้องชดเชนค่าเสียหาย 5 รูปแบบ ได้แก่ ค่าเสียหาย  ค่าเยียวยา  การรับประกันว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์นี้อีก 

  • ระบุถึงสิทธิของเหยื่อในการรับรู้ข้อเท็จจริง และแจกแจงขอบเขตของสิทธินั้น

  • รัฐมีภารกิจในการติดตามหา "ผู้สูญหาย" พร้อมทั้งระบุตำแหน่ง เคารถและนำศพกลับคืนในกรณีที่เหยื่อเสียชีวิต

  • รัฐต้องจัดกลไกแก้ไขปัญหาสถานะภาพทางกฎหมายแก่ครอบครัว "ผู้สูญหาย" และให้สิทธิแก่ครอบครัว "ผู้สูญหาย" ในการจัดตั้งสมาคม

  • ระบุให้มีการพิจารณาคดีติดตามหา "ผู้สูญหาย" อย่างเร่งด่วน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net