พระสงฆ์-ประชาชนพม่ากว่าสองหมื่นเดินขบวนในย่างกุ้ง

 

ขบวนพระสงฆ์ แม่ชี และประชาชน รวมตัวกันที่มหาเจดีย์ชเวดากอง ก่อนเคลื่อนออกไปชุมนุม เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 ก.ย.) (ที่มาของภาพ: REUTERS/Democratic Voice of Burma)

 

พระสงฆ์ แม่ชี และประชาชนกว่า 20,000 คนเดินขบวนในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา นับเป็นการต่อต้านระบอบเผด็จการทหารครั้งใหญ่ที่สุดของประเทศนี้ ในรอบ 20 ปี

 

การปรากฏตัวครั้งแรกในรอบ 4 ปี ออง ซาน ซูจี

ขวัญและกำลังใจของผู้ชุมนุมได้เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวันเสาร์ที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการเดินขบวนเพื่อไปพบกับนางออง ซาน ซูจี สัญลักษณ์แห่งประชาธิปไตยของพม่า โดยพวกเขาเริ่มต้นเดินจากพระมหาเจดีย์ชเวดากอง สัญลักษณ์ที่สำคัญของประเทศพม่าไปตามถนนที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำฝน

 

ทั้งนี้ การประท้วงที่กลายมาเป็นจุดหมายสำคัญเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา เมื่อทหารอนุญาตให้พระสงฆ์กว่า 2,000 รูปรวมถึงประชาชน ผ่านแนวกั้นถนนเพื่อไปชุมนุมยังบ้านพักริมทะเลสาปในกรุงย่างกุ้ง สถานที่ซึ่งใช้ควบคุมตัวนางอองซาน ซูจีมาเป็นเวลากว่า 12 ปี จากช่วงเวลาที่ถูกควบคุมตัวทั้งหมด 18 ปี

 

นับเป็นครั้งแรกที่เธอปรากฏตัวต่อสาธารณะ นับตั้งแต่นางซูจีถูกควบคุมตัวรอบใหม่ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ปี 2546 โดยผู้อยู่ในเหตุการณ์ต่างรู้สึกตะลึงที่ตำรวจอนุญาตให้พระสงฆ์เดินขบวนผ่านแนวกั้น เพื่อไปยังหน้าบ้านของนางซูจี

 

ขบวนพระสงฆ์และประชาชนยืนสวดมนต์หน้าบ้านพักที่นางออง ซาน ซูจี ถูกควบคุมตัว เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 ก.ย.) (ที่มาของภาพ: REUTERS/Stringer)

 

นางออง ซาน ซูจีเปิดประตูบ้านบานเล็ก ออกมาพนมมือไหว้พระสงฆ์ที่กำลังสวดมนต์ให้พร เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (22 ก.ย.) นับเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี

 

ผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า นางออง ซาน ซูจี หรือที่ชาวพม่าเรียกกันว่า "คุณผู้หญิง" (The Lady) ได้เปิดประตูบ้านพัก พร้อมผู้ติดตามสองคน โดยนางซูจีออกมาพนมมือไหว้ขบวนพระสงฆ์ทั้งน้ำตา ระหว่างที่พระสงฆ์เหล่านั้นกำลังสวดมนต์

 

ขบวนดังกล่าวหยุดอยู่ภายนอกบ้านของนางซูจี เป็นเวลา 15 นาที และสวดมนต์ให้กับนางว่า "ขอให้พวกเราปราศจากภยันตรายทั้งปวง, ขอให้พวกเราเป็นอิสระจากความทุกข์ทั้งปวง, ขอให้พวกเราเป็นอิสระจากความลำบากทั้งปวง, ขอให้พวกเรามีสันติทั้งกายและใจ"

 

ผู้สนับสนุนนางซูจีหลายคนถึงกับน้ำตานองหน้า และพวกเขาได้ตะโกนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า "ขอให้นางอองซาน ซูจี อายุมั่นขวัญยืน สุขภาพแข็งแรง ขอให้นางเป็นอิสระโดยเร็ว"

 

"พวกเราหลายคนไม่สามารถกลั้นน้ำตาเอาไว้ได้" ผู้อยู่ในเหตุการณ์กล่าว หลังจากที่พระสงฆ์นับพันรูปสวดมนต์เป็นเวลา 15 นาที หน้าบ้านพักซึ่งเป็นสถานที่ควบคุมตัวนางซูจี ซึ่งบ้านหลังดังกล่าวไม่ได้รับอนุญาตให้มีโทรศัพท์และการเข้าพบนางซูจีแต่ละครั้ง ซึ่งนานๆ จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐบาล

 

สตรีวัย 62 ปีผู้นี้ ได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างสันติในระดับนานาชาติ นับตั้งแต่พรรคสันนิบาติชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางชนะการเลือกตั้งถล่มทลายในปี 1990 (พ.ศ.2533) ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าไม่เคยรับรองผลการเลือกตั้งดังกล่าว

 

บัดนี้ การประท้วงในพม่าที่เริ่มต้นจากการต่อต้านสภาพแรนแค้นทางเศรษฐกิจได้ขยายตัวขึ้น ด้วยการเดินขบวนต่อต้านระบอบทหารโดยพระสงฆ์หนุ่มไปตามท้องถนนในกรุงย่างกุ้ง และเมืองอื่นๆ เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

 

การประท้วงล่าสุดในวันอาทิตย์ พระสงฆ์-ประชาชนนับหมื่นร่วมขบวน

ทั้งนี้ ข่าวการปรากฏตัวของนางซูจีเมื่อวันเสาร์นั้น ได้แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในวันที่พระสงฆ์เตรียมเดินขบวนผ่านกลางกรุงย่างกุ้งที่เจิ่งนองจากปริมาณน้ำฝนที่ตกวันเดียวสูงถึง 11.54 นิ้ว ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดในรอบ 39 ปี

 

สำหรับการประท้วงเมื่อวันอาทิตย์ (23 ก.ย.) นั้น เริ่มต้นที่พระมหาเจดีย์ชเวดากองเช่นเดิม โดยมีจำนวนผู้ชุมนุมค่อยๆ มากขึ้นเมื่อขบวนเคลื่อนเข้าสู่ย่านใจกลางเมืองและผ่านเจดีย์สุเล รวมทั้งสถานทูตพม่าประจำกรุงย่างกุ้งด้วย โดยผู้เห็นเหตุการณ์ระบุว่า พระสงฆ์กว่าหมื่นรูปนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้สวมรองเท้า และการเดินขบวนครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มีแม่ชีประมาณ 200 คน เข้าร่วมด้วย นอกจากนี้ยังมีประชาชนเข้าร่วมสนับสนุนนับหมื่นคน

 

โดยขบวนของพระสงฆ์ได้เปลงเสียงว่า "พวกเราต้องการให้ประชาชนเข้าร่วมกับเรา"

 

เอพีรายงานว่า พระสงฆ์ส่วนหนึ่งตะโกนสนับสนุนนางออง ซาน ซูจี ขณะที่ฝูงชนนับหมื่นเคลื่อนตัว นอกจากนี้ประชาชนยังประสานมือกันเป็นโล่มนุษย์ล้อมขบวนพระสงฆ์เอาไว้ด้วย

 

ออง ฮลา ตัน (Aung Hla Tun) ผู้สื่อข่าวของสำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลนอกเครื่องแบบจับตาการชุมนุม แต่ไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่รัฐบาลหรือทหารในเครื่องแบบในบริเวณใกล้นั้นๆ ทั้งนี้ประชาชนสองข้างถนนต่างปรบมือเมื่อขบวนเคลื่อนผ่าน

 

ขณะที่สำนักข่าวเอพี ระบุว่าเจ้าหน้าที่สันติบาลที่เข้ามาสังเกตการณ์บางส่วนมีปืนพก และสังเกตการณ์อยู่ตามหัวมุมถนนที่ขบวนผู้ชุมนุมเคลื่อนผ่าน

 

 

เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ยอมให้ผ่านแนวกั้น จึงไปไม่ถึงหน้าบ้าน "ออง ซาน ซูจี"

ทั้งนี้ ได้มีผู้ชุมนุมกลุ่มหนึ่งซึ่งประกอบด้วยฆราวาสและพระสงฆ์ประมาณ 200 คน ซึ่งถือป้ายที่เขียนว่า "ความรัก ความเมตตา จะชนะตลอดกาล" ("Love and kindness must win over everything.") ได้แยกออกจากขบวนผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่ และพยายามที่จะเข้าใกล้บ้านของนางออง ซาน ซูจี แบบที่พวกเขาเคยทำสำเร็จเมื่อวันก่อน (22 ก.ย.) แต่ครั้งนี้พวกเขาต้องล่าถอยออกไป

 

ทั้งนี้ เพราะแนวลวดที่กั้นถนนที่มุ่งสู่บ้านพักของนางออง ซาน ซูจี ได้รับการเสริมกำลังด้วยรถดับเพลิง 4 คัน รถตู้ของตำรวจ และมีตำรวจจำนวนหนึ่งพร้อมโล่ปราบจลาจล ซึ่งตำรวจปฏิเสธที่จะให้กลุ่มพระสงฆ์และประชาชนเหล่านั้นผ่านเข้าไป ทำให้ในที่สุดกลุ่มพระสงฆ์จึงได้แต่เพียงเดินวนไปรอบๆ และออกห่างจากบริเวณนั้น

 

 

พระสงฆ์ประกาศคำขวัญใหม่ "การลุกขึ้นสู้ของเราจักต้องประสบความสำเร็จ"

สำหรับการเดินขบวนในวันอาทิตย์นี้ พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งได้ใช้โทรโข่งตะโกนคำขวัญใหม่ว่า "การลุกขึ้นสู้ของเราจักต้องประสบความสำเร็จ"

 

พระสงฆ์ที่เรียกตนเองว่า พันธมิตรพระสงฆ์พม่าทั้งมวล (the All Burma Monks Alliance) ได้ปลุกเร้าประชาชนเป็นครั้งแรกว่า "ต่อสู้อย่างสันติ ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารปีศาจ" จนกว่าจะระบอบนี้จะประสบหายนะ

 

ทั้งนี้ ฝูงชนสองข้างทางและผู้สนับสนุนต่างจับจองพื้นที่สองข้างทางในย่านใจกลางกรุงย่างกุ้ง รอถวายน้ำและดอกไม้ให้กับพระสงฆ์ และถวายขี้ผึ้งสำหรับทาเท้าเปล่าของพระสงฆ์

 

"พวกเราต้องการรัฐบาลแห่งการปรองดอง เราต้องการเจรจากับทหาร เราต้องการให้นางออง ซาน ซูจีและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ได้รับอิสรภาพ" ผู้นำการประท้วงคนหนึ่งกล่าวผ่านไมโครโฟนทั้งน้ำตา

 

นอกจากวานนี้ (23 ก.ย.) ได้มีการชุมนุมในกรุงย่างกุ้งแล้ว ยังมีรายงานว่า มีพระสงฆ์ประมาณ 300 รูป สวดมนต์เป็นเวลา 1 ชั่วโมงที่ตำบลมะเกว (Magway) ห่างจากกรุงย่างกุ้งไปทางเหนือ 375 กิโลเมตร ขณะที่พระสงฆ์ประมาณ 500 รูปเดินขบวนที่เมืองมัณฑะเลย์

 

นอกจากนี้เอพียังอ้างถึงรายงานของสื่อมวลชนพม่าที่อยู่นอกประเทศว่า มีรายงานการเดินขบวนในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาที่เมืองมัณฑะเลย์ (Mandalay) เมืองโมนีวา (Monywa) เมืองกะเล (Kalay) และเมืองหลวงของรัฐคะฉิ่นคือเมืองมยิตคินา (Myitkyna)

 

"พระสงฆ์เหล่านั้นได้แสดงความกล้าหาญ มีการตัดสินใจที่เข้มแข็ง และมีวินัย ในขณะที่ระบอบทหารได้แสดงความอ่อนไหวออกมา" ข้ารัฐการเกษียณผู้หนึ่งกล่าวกับผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ และยังกล่าวต่อไปว่า "ผมคิดว่าเหตุการณ์นี้ได้บอกพวกเราว่า พวกเราสามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยพวกเราเอง"

 

ทั้งนี้บรรดานายพลในรัฐบาลทหารพม่า หรือสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (SPDC) กำลังจัดการประชุมประจำไตรมาส ที่ "เนปยีดอว์" (Naypyidaw) เมืองหลวงใหม่ของพวกเขา ซึ่งสร้างอยู่กลางป่า โดยคาดว่าการประชุมจะเริ่มขึ้นวันจันทร์ โดยการประท้วงน่าจะเป็นหัวข้อหลักของการหารือแน่นอน

 

 

รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ เผยทำเนียบข่าวจับตาสถานการณ์ใกล้ชิด

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา นางคอนโดเลสซา ไรซ์ (Condoleezza Rice) ยังกล่าวเตือนว่าทางวอชิงตันจับตาการประท้วงในประเทศที่เคยเป็นที่รู้กันว่าชื่อว่า "เบอร์ม่า" (Burma) อย่างใกล้ชิด และเรียกผู้นำทางทหารว่า "ผู้โหดร้าย" (brutal)

 

"แน่นอนว่า พวกเราจับตามองเรื่องนี้ด้วยความห่วงใยและประธานาธิบดี (จอร์จ ดับเบิลยู บุช) ก็เคยกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่าเกิดอะไรขึ้นใน "เบอร์ม่า"" ไรซ์กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่ ที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่นิวยอร์ก

 

"ประชาชนพม่าต้องการชีวิตที่ดีกว่า พวกเขามีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในชีวิตอย่างที่ทุกคนพึ่งมี" ไรซ์กล่าว

 

"ความโหดร้ายของระบอบนี้เป็นเรื่องที่ทราบกันดี และพวกเขากำลังบอกกล่าวเรื่องราวเหล่านั้น และฉันคิดว่าประธานาธิบดี (จอร์จ ดับเบิลยู บุช) จะได้กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างแน่นอน" ไรซ์กล่าวกับผู้สื่อข่าว

 

ในวงการนักการทูต คาดการณ์ว่า ทั้งสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศในยุโรปน่าจะเป็นหัวหอกหยิบยกเรื่องพม่าขึ้นมาเจรจาในการประชุมของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในอาทิตย์นี้ ผ่านการเชิญให้มีการกล่าวสนับสนุนการประท้วงในพม่า

 

เลขาธิการทั่วไปของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ซึ่งมีประเทศพม่าเป็นสมาชิกด้วย กล่าวว่าทางกลุ่มจับตาสถานการณ์เรื่องนี้อยู่เช่นกัน

 

"ผมหวังว่าการประท้วงจะเป็นไปอย่างสงบและยุติลง" อ่อง เคง ยอง เลขาธิการอาเซียนกล่าวกับเอเอฟพี

 

 

นักวิเคราะห์ชี้รัฐบาลทหารพม่าอยู่ในสถานการณ์ที่มีแต่เสียกับเสีย

นักวิเคราะห์กล่าวว่า กองทัพ ซึ่งปกครองประเทศพม่ามาตั้งแต่ปี 1962 (พ.ศ.2505) ต้องเผชิญกับความสับสนลังเลในการเจรจาต่อรองกับผู้ประท้วง

 

การใช้มาตรการที่รุนแรงและปราบปรามในที่สาธารณะต่อพระสงฆ์ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือ จะทำให้ประชาชนในพม่าและประชาคมนานาชาติเจ็บแค้น แต่การไม่ทำอะไรก็สร้างความเสี่ยงให้กับระบอบรัฐบาลทหาร

 

"ถ้าพวกเขาปราบปรามพระสงฆ์อย่างรุนแรง นั่นหมายความว่าพวกเขาได้จุดไฟเผาประชาชนที่เหลือ รวมไปถึงสมาชิกของกองทัพด้วย ซึ่งการปราบปรามพระสงฆ์นับเป็นการโจมตีสถาบันที่ศักดิ์สิทธิ์และได้รับเกียรติยศอย่างสูงในพม่า" เด็บบี สทอร์ทฮาร์ด (Debbie Stothard) จากกลุ่มอัลเซียน เบอร์มา (Altsean Burma) กล่าว ซึ่งองค์กรดังกล่าวเป็นกลุ่มรณรงค์ประชาธิปไตยในพม่าซึ่งมีสำนักงานอยู่ในประเทศไทย

 

"จะเห็นได้ว่า ระบอบทหารอยู่ในสถานการณ์ที่มีแต่เสียกับเสีย"

 

 

สรุปสถานการณ์พระสงฆ์นำประท้วงติดต่อกันนับสัปดาห์

ทั้งนี้การประท้วงรัฐบาลทหารพม่า เริ่มต้นจากความไม่พอใจที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาเชื้อเพลิงทุกประเภทเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยสถานีน้ำมันของรัฐบาลขึ้นราคาน้ำมันเบนซินและดีเซลเป็น 2 เท่า โดยราคาน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นจาก 1,500 จั๊ตต่อแกลลอน (1.18 ดอลลาร์) เป็น 2,500 จั๊ต (1.96 ดอลลาร์) ขณะที่น้ำมันดีเซลเพิ่มจาก 1,500 จั๊ต เป็น 3,000 จั๊ต (2.36 ดอลลาร์)

 

ขณะที่ราคาก๊าซกลั่นจากธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่รถประจำทางใช้ เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า จากเดิม 2,800 จั๊ต (2.2 ดอลลาร์) สำหรับเติมเต็มถัง กลายเป็น 15,000 จั๊ต (10.18ดอลลาร์) และ กระทรวงพลังงานของพม่าอนุญาตให้รถยนต์ส่วนตัวและรถแท็กซี่เติมน้ำมันได้วันละ 2 แกลลอน หรือ 7.6 ลิตร เท่านั้น ที่สถานีเติมน้ำมันของทางการ

 

โดยรัฐบาลทหารไม่มีความพยายามใดๆ ที่จะให้ความไม่พอใจของสาธารณชนเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยนับตั้งแต่การประท้วงครั้งแรกในวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รัฐบาลได้จับกุมประชาชนไปแล้วกว่า 150 คน

 

ทั้งนี้ มีรายงานการประท้วงรัฐบาลทหารพม่าตลอดสัปดาห์ โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 17 ก.ย. มีพระสงฆ์ประมาณ 500 รูป เดินขบวนที่เมืองจอกปาดวง (Kyaukpadaung) วันอังคารที่ 18 ก.ย. ประชาชนประมาณ 100 คนเดินขบวนในกรุงย่างกุ้ง (Yangon) และที่เมืองซิททเว (Sittwe) ตำรวจเตือนผู้ประท้วงให้สลายการชุมนุมด้วยแก้สน้ำตาและยิงปืนขึ้นฟ้า นอกจากนี้มีประชาชนหลายพันคนเดินขบวนในเมืองพะโค (Pegu) อองลัน (Aunglan) ปากอกกู (Pakokku) และ มัณฑะเลย์ (Mandalay)

 

และเมื่อวันที่ 19 ก.ย. ที่ผ่านมา พระสงฆ์กว่า 2,000 รูปเดินขบวนในหลายเมืองทั่วพม่า ทั้งที่ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ แปร และซิททเว และเมื่อวันที่ 20 ก.ย. ที่ผานมา พระสงฆ์ประมาณ 1,300 รูปเดินขบวนในกรุงย่างกุ้งโดยผ่านมหาเจดีย์ชเวดากองและเจดีย์สุเล

 

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. พระสงฆ์ในพม่าเดินนำมวลชนกว่า 3,000 คน ไปถามถนนที่เจิ่งนองด้วยน้ำฝนในกรุงย่างกุ้ง และเมื่อวันที่ 22 ก.ย. ที่ผ่านมา นอกจากการประท้วงในย่างกุ้งแล้ว ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางเรียนรู้พระพุทธศาสนาที่สำคัญของประเทศพม่า ก็มีรายงานว่าพระสงฆ์ประมาณ 1,000 รูปออกมาเดินขบวน

 

 

จับตาพระพม่าประท้วงทั่วประเทศ 24 ก.ย. นี้

ทั้งนี้นับว่าพระสงฆ์ในพม่าออกมานำการประท้วงทั่วประเทศเป็นเวลา 7 วันติดต่อกันนับตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน และนับเป็นวันที่ 6 ติดต่อกันในกรุงย่างกุ้ง

 

สำนักข่าวเนชั่น ยังรายงานอีกด้วยว่า พระสงฆ์พม่าที่อยู่ในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ได้รับการเปิดเผยจากพระสงฆ์พม่าว่า ในวันนี้ (24 ก.ย.) พระสงฆ์พม่าจะนัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลพม่าทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดต่างๆ และให้แต่ละวัดที่มีพระสงฆ์ทำการตรวจสอบพระสงฆ์ด้วยกันเอง เนื่องจากมีทหารพม่าโกนศีรษะ ปลอมเป็นพระเดินปะปนไปกับพระที่ชุมนุมด้วย

 

 

ข่าวประชาไทย้อนหลัง

พระสงฆ์พม่าชุมนุมกลางกรุงย่างกุ้งกดดันรัฐบาลทหาร เป็นวันที่ 5, ประชาไท, 22 กันยายน 2550

 

ที่มาของข่าว แปลและเรียบเรียงจาก

20,000 march in Myanmar against junta, AP, September 23, 2007

Emboldened Myanmar monks challenge junta rule, AFP, September 23, 2007

Democracy icon Aung San Suu Kyi greets Myanmar monks, AFP, September 22, 2007

Monks stage biggest anti-junta march in Myanmar, By Aung Hla Tun, Reuters, September 23, 2007

Democracy icon Aung San Suu Kyi greets Myanmar monks, AFP, September 22, 2007

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท