Skip to main content
sharethis

ในงานเสวนา "ระบบบำนาญแห่งชาติ: ความท้าทายนโยบายรัฐ" ซึ่งจัดโดย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ร่วมกับสำนักข่าวชาวบ้าน เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้อายุตั้งแต่ปี 2545 แล้ว โดยมีผู้สูงอายุ หรือประชากรที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 10% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนปี 2550 ประเทศไทยมีประชากร 62.8 ล้านคน มีผู้สูงอายุประมาณ 6.9 ล้านคน คิดเป็น 11% ของประชากร


 


สิ่งที่น่าสังเกตคือ ประชากรผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเร็วมากเกินคาด โดยใน 2560 จะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป 9.7 ล้านคนจากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน คิดเป็น 15% ของประชากรทั้งประเทศ และอีก 13-14 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน คิดเป็น 17% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย ที่ผู้สูงอายุจะมีจำนวนมากกว่าประชากรที่อายุต่ำกว่า 15 ปี


 


ข้อสังเกตอีกอย่างคือ แนวโน้มที่น่าสนใจของผู้สูงอายุที่จะเพิ่มขึ้นนับแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยปีนี้จะมีประชากรที่เข้าสู่วัยสูงอายุ 4 แสนคน อีก 5 ปีข้างหน้า จะมีผู้สูงอายุอีก 6 แสนคน อีก 10 ปี จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอีก 8 แสนคน และอีก 16 ปีข้างหน้า เด็กที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 หรือที่เรียกกันว่า "รุ่นเกิดล้าน" เนื่องจากเป็นช่วงปีที่เด็กเกิดในประเทศไทยเกินกว่าหนึ่งล้านคน จะทยอยเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ ซึ่งหลังจากนั้นจะมีผู้ทยอยเข้าสู่วัยสูงอายุปีละเกือบล้านคน ซึ่งถึงตอนนั้น เมืองไทยจะเกิดวิกฤตผู้สูงอายุ


 


โดยเรื่องที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ เรื่องความมั่นคงด้านสุขภาพและด้านรายได้ คือ เมื่อเจ็บป่วยต้องได้รับการรักษา รวมทั้งต้องมีรายได้พอยังชีพได้ ทั้งนี้ แม้ว่าในอดีตที่ผ่านมา เมื่อคนแก่ทำงานไม่ได้ ก็ยังมีลูกหลานทำงานแล้วนำรายได้มาเกื้อหนุนเจือจุนให้ แต่ในอนาคต คนแก่จะมีลูกน้อยลง และมีคนแก่จำนวนไม่น้อยที่ไม่มีลูก หรือไม่แต่งงานเลย ทำให้ไม่มีลูกหลานเลี้ยงดู ซึ่งเห็นได้จากคนรุ่นเกิดล้าน ที่เกิดในสมัยที่มีการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมสูง ทำให้มีพฤติกรรมแตกต่างจากประชากรรุ่นก่อน โดยผู้หญิงได้รับการศึกษาสูงขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น ทั้งหญิงและชายจำนวนมากไม่ยอมแต่งงาน หรือแต่งงานแล้วมีลูกน้อย อีกทั้งยังเริ่มมีค่านิยมที่ลูกไม่เลี้ยงดูพ่อแม่ ทำให้คนรุ่นนี้อาจไม่มีลูกหลานเกื้อหนุนเมื่อแก่ตัวลง


 


เสนอโมเดล "บำนาญแห่งชาติ"


ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา ผู้ศึกษาระบบบำนาญแห่งชาติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย ปัญหาด้านสุขภาพของผู้สูงอายุได้มีการแก้ไขแล้วด้วยหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ยังขาดการจัดการปัญหาเรื่องรายได้ในยามชราและการดูแลระยะยาว ซึ่งครอบครัวไม่สามารถเกื้อหนุนได้ เนื่องจากความเป็นครอบครัวเดี่ยว อัตราการแต่งงานและการเกิดที่น้อยลง ส่วนการออมส่วนบุคคล ก็มีความไม่แน่นอนของอายุขัย และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจมาเกี่ยวข้อง ระบบบำเหน็จบำนาญโดยบริษัทเอกชนก็ไม่ได้มีทุกที่ จะมีเพียงสำหรับบริษัทใหญ่ๆ ซึ่งจัดให้คนหยิบมือเดียวเท่านั้น


 


และเมื่อมาดูระบบบำเหน็จบำนาญโดยภาครัฐ ก็พบว่าเป็นการจัดอยู่บนฐานของอาชีพ ซึ่งทำให้มีเพียงแรงงานในระบบ 13.68 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมดเท่านั้นที่มีหลักประกันรองรับ ส่วนแรงงานนอกระบบอีก 21.18 ล้านคน ไม่มีหลักประกันด้านรายได้ ซึ่งหากคนเหล่านี้ แก่ตัวลง (อายุ 60 ปีขึ้นไป) จะสามารถรับเบี้ยยังชีพคนชราได้ เดือนละ 500 บาท แต่ก็มีปัญหาคือ ถ้าต้องช่วยคนเหล่านี้ทั้งหมด รัฐต้องใช้เงินมหาศาล จึงเสนอให้สร้างระบบบำนาญมารองรับ และให้รัฐเป็นเจ้าภาพ แต่ไม่ควรเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบเดิมที่มีอยู่แล้ว อาจเป็นกระทรวงการคลัง หรือกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์


 


โดย ดร.วรเวศม์ ได้เสนอระบบบำนาญแห่งชาติ ซึ่งใช้ระบบกึ่งสะสมทรัพย์ กึ่งช่วยเหลือเกื้อกูล โดยรัฐนำเงินที่ผู้ออมจ่ายสมทบไปบริหารจัดการ และคืนให้เมื่อผู้ออมเกษียณ


 


โดยเงินสมบท ควรเก็บเป็นก้อนต่อเดือน เพราะหากกำหนดตามรายได้ จะมีปัญหาการตรวจสอบรายได้ที่แท้จริง กำหนดสูงเกินไป จะเป็นอุปสรรคต่อคนรายได้น้อยในการเข้าสู่ระบบ หรือหากกำหนดต่ำเกินไป จะมีผลต่อสถานะทางการคลังในระยะยาว


 


ส่วนเงินบำนาญ เสนอให้เป็นเงินก้อนต่อเดือนเช่นกัน โดยพิจารณาตามจำนวนปีที่จ่ายเงินสมทบ ทั้งนี้ หากกำหนดต่ำเกินไป จะเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน ขณะที่กำหนดสูงเกินไป จะมีผลต่อสถานะทางการคลังในระยะยาว และหากกำหนดแบบคงที่ตลอด คนรุ่นหลังจะเสียเปรียบเพราะมูลค่าเงินบำนาญลดลง ฉะนั้น จึงเสนอให้มีการปรับเงินเฟ้อ ลดความเหลื่อมล้ำระหว่างรุ่น


 


โดยอาจเริ่มใช้กับกลุ่มผู้ที่มีอายุ 25-55 ปีที่อยู่ในกลุ่มแรงงานนอกระบบ อาทิ แม่ค้า แพทย์ สถาปนิก ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งไม่ได้รับความคุ้มครองและหลักประกันทางสังคมแบบข้าราชการ ลูกจ้างประจำของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ครูหรือครูใหญ่โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ลูกจ้างของรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ และลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน


 


โดย ดร.วรเวศม์ เสนอให้มีการบังคับจ่ายเงินสมทบ 300 บาทต่อเดือน เมื่ออายุครบ 60 ปี จะได้รับเงินบำนาญ 1,300 บาทต่อเดือน พร้อมกำหนดให้มีการปรับเงินเฟ้อ โดยปรับเงินเฟ้อคงที่อยู่ที่ 2,091 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ อาจมีการผ่อนปรนให้ในกรณีผู้ที่ยังไม่สามารถจ่ายได้ เช่น นักศึกษา หรือผู้ที่จ่ายได้บ้างไม่ได้บ้าง เช่น ผู้ที่ยังไม่มีงานทำ


 


ทั้งนี้ หากมีระบบบำนาญแห่งชาติ เบี้ยยังชีพคนชราก็จะลดบทบาทลง และมีเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสที่สุดเท่านั้น


 


ด้าน พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ ผู้จัดการโครงการวิจัยผู้สูงอายุ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าวว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งตรงกับวันผู้สูงอายุสากล มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ จะจัดให้มีการประชุมระดับชาติเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุเรื่อง "บำนาญชราภาพสำหรับผู้สูงอายุไทย" ขึ้น ที่โรงแรมหลุยส์ แทเวิร์น กรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอรูปแบบการดำเนินงานระบบบำนาญเพื่อชราภาพสำหรับผู้สูงอายุ รวมทั้งเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือภาคประชาชน นอกจากนี้ ยังได้เชิญพรรคการเมืองร่วมรับฟังด้วย เพื่อเสนอแนวความคิดดังกล่าวเป็นนโยบายระดับชาติต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net