Skip to main content
sharethis


เรื่องและภาพโดยอรพิณ ยิ่งยงพัฒนา


 



 



 



 



 



 



 


การชุมนุมหน้าสถานทูตพม่ามีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 50 เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยเกือบทุกเครือข่ายในประเทศไทย องค์กรแรงงาน องค์กรนิสิตนักศึกษา ได้นัดกันชุมนุมที่หน้าสถานทูตพม่าประจำประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 10.30 - 12.30 น. เรียกร้องให้หยุดการเข่นฆ่าใช้ความรุนแรงกับพระสงฆ์และประชาชน และปลดปล่อยพม่าจากรัฐบาลเผด็จการทหาร หลังจากที่วานนี้ (27ก.ย.) ก็มีการชุมนุมที่หน้าสถานทูตพม่าเช่นกัน ซึ่งนำโดย นปช.และกลุ่มนักศึกษาพม่าร่วมกันชุมนุมราว 200 คน


 


โดยการชุมนุมในวันนี้ ปรากฏว่ากลุ่มผู้ชุมนุมชาวพม่าเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก ไม่เพียงแต่กลุ่มนักศึกษาชาวพม่าในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงชาวพม่าที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย รวมจำนวนผู้ชุมนุมไม่น้อยกว่า 500 คน พร้อมกันนี้ ยังมีพระสงฆ์ 8 รูป ที่มาแผ่เมตตาหน้าสถานทูตด้วย


 


ผู้ชุมนุมชาวพม่า มีเพียงโทรโข่งเป็นเครื่องเสียงชุดเล็กๆ คำหนึ่งที่ร่วมใจกันพูดซ้ำไปมา คือ "Free Free Free Burma!" พร้อมทั้งแผ่นป้ายรณรงค์ ที่เขียนขึ้นด้วยอุปกรณ์ง่ายๆ เขียนข้อความให้ปลดปล่อยพม่า ขอให้สันติเกิดแก่พม่า รวมถึงขอให้ปลดปล่อยนางอองซานซูจี ด้านองค์กรในไทยนั้น มีป้ายที่เรียกร้องต่อประชาคมโลก เช่น จีน อินเดีย และอาเซียน ที่ต้องร่วมกันกดดันรัฐบาลทหารพม่า


 


ออ (นามสมมติ) สตรีวัย 38 ปี เป็นคนหนึ่งที่มาร่วมการชุมนุมในครั้งนี้ เธอเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ราว 5 ปีแล้ว เธอเล่าว่าก่อนหน้านี้ เคยรับราชการเป็นครูอยู่ที่ประเทศพม่า แต่ถูกไล่ออก แค่ปัญหาการเมืองในประเทศก็บีบคั้นจนแทบจะไม่สามารถหาเลี้ยงปากท้องได้ จึงตัดสินใจเข้ามาหางานทำในเมืองไทย


 


ที่ออมาร่วมชุมนุมที่หน้าสถานทูตในวันนี้ ไม่ได้มาเพียงคนเดียว แต่มีเพื่อนๆ มาด้วยอีก 3 คน ทั้งหมดเป็นชาวพม่าและเป็นผู้หญิง แต่ออ ดูจะพูดภาษาไทยได้คล่องแคล่วที่สุด เธอเป็นคนไทใหญ่ ส่วนเพื่อนๆ นั้นมีทั้งชาวคะฉิ่นและชาวพม่า ออบอกว่า พวกเขาเป็นกลุ่มเพื่อนที่คบหาพูดคุยแล้วถูกคอกัน


 


ออและเพื่อนๆ ใช่ว่าจะรู้จักกันที่ประเทศพม่า และใช่จะทำงานที่เดียวกัน ตัวออนั้นปัจจุบันทำงานโรงงานรองเท้าที่ย่านแสมดำ เพื่อนๆ คนอื่น ทำงานโรงงาน บ้างมาจากพระรามสอง บ้างอยู่แถวลำลูกกา ทั้งหมดมารู้จักกันได้ เพราะเมื่อประมาณ 10 เดือนก่อนหน้านี้ มีงานบวชพระที่จัดขึ้นที่แม่ฮ่องสอน ตอนนั้นมีการบอกกล่าวกันขอแรงกัน ผู้คนต่างเข้าไปช่วยงาน เช่น ทำอาหารในงาน และนั่นเป็นโอกาสที่ทำให้เธอได้เจอกับเพื่อนๆ กลุ่มนี้ และยังติดต่อกันจนทุกวันนี้


 


เมื่อถามว่า วันนี้มาชุมนุม แล้วไม่ห่วงงานหรือ ออบอกว่า วันนี้ลางานมาหนึ่งวัน และมีความจำเป็นที่ต้องมาเข้าร่วม เพราะเป็นกิจกรรมที่สำคัญมาก เธอบอกว่า ไม่ต้องการให้มีการเข่นฆ่าพระสงฆ์และประชาชนที่ออกมาเดินขบวน


 


สำหรับสถานการณ์ที่พม่านั้น ออเล่าว่า เป็นห่วงครอบครัวทางบ้าน ที่ผ่านมาติดต่อกันโดยใช้โทรศัพท์ แต่ก็ไม่สามารถมีบทสนทนาอะไรได้มากไปกว่าถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ เช่น กินข้าวหรือยัง แต่ถึงอย่างไรก็ดี มาวันนี้จะโทรศัพท์ถามไถ่เช่นที่เคยทำ ก็ทำไม่ได้แล้ว เพราะสัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดแล้ว


 


เมื่อถามว่า ออกมาร่วมชุมนุมแบบนี้ กลัวไหมว่าจะถูกจับในเมืองไทย ออตอบว่า ประชาธิปไตยในเมืองไทยดูจะมีความหวังมากกว่าที่บ้านเกิดของเธอ


 


ออ ซึ่งสวมหูฟังสมอลทอล์กที่ต่อกับโทรศัพท์มือถือเอาไว้ตลอดเวลา บอกว่า เธอรับรู้สถานการณ์ในพม่าได้ ก็ต้องรอข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต โดยคอยติดตามว่า สำนักข่าวของประเทศต่างๆ เช่น ข่าวจากเยอรมนี และข่าวจากสวีเดน ให้ข้อมูลคืบหน้าว่าอย่างไร ซึ่งเมื่อรับรู้ข้อมูลแล้ว โทรศัพท์มือถือนี้เอง ที่เธอใช้เป็นทั้งตัวรับและส่งข่าวความเคลื่อนไหวในกลุ่มเพื่อนตลอด


 


"บางที ตีสอง เพื่อนโทรมาบอก มีความคืบหน้าแล้ว ตีสาม ตีสี่ ก็จะมีความเคลื่อนไหวเรื่อยๆ" ออเล่าถึงผลจากความเข้มข้นในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น


 


ถึงตอนนี้ เพื่อนของออคนหนึ่ง พูดแทรกขึ้นมาว่า รู้สึกขอบคุณนักข่าวจากที่ต่างๆ ที่ทำให้เรื่องราวได้รับการพูดถึงไปทั่วโลก เธอรู้ว่า เรื่องนี้ มีผลต่อการเมืองในประเทศของเธออย่างแน่นอน


 


ด้านองค์กรสิทธิในประเทศไทยเกือบทุกองค์กร มีแถลงการณ์ร่วมกันเพื่อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าและประชาคมโลก ประณามรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ที่ได้ใช้กำลังทหารและอาวุธเข้าปราบปรามพระสงฆ์และประชาชนจนถึงแก่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก และขอให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ยุติการใช้ความรุนแรงต่อพลเมือง ยุติการปราบปรามด้วยกำลังอาวุธ ซึ่งจะทำให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้น


 


โดยรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าจักต้องเคารพหลักสิทธิมนุษยชนสากล คลี่คลายสถานการณ์ด้วยสันติวิธีและปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองโดยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นางออง ซาน ซู จี ผู้นำนักศึกษา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประชาชนผู้รักประชาธิปไตย และความเป็นธรรมในประเทศพม่า ซึ่งถูกจับกุมตัวก่อนหน้านี้และจากเหตุการณ์ครั้งนี้


 


สำหรับข้อเรียกร้องต่อประชาคมโลกนั้น ได้เรียกร้องให้รัฐบาลจีน รัฐบาลไทย และอาเซียน ใช้ศักยภาพที่มีอยู่ทุกวิถีทางเพื่อยับยั้งความรุนแรงในพม่า ยุติการปราบปรามและการสังหารหมู่กลางเมืองครั้งใหม่ เปิดให้มีการเจรจาสันติภาพ การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง เพื่อฟื้นฟูพม่ากลับคืนสภาวะปกติและสังคมประชาธิปไตย


 


 


ภาพโดย กฤนกรรณ สุวรรณกาญจน์










เอกสารประกอบ

แถลงการณ์องค์กรด้านสิทธิ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net