Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2550 ดาโต๊ะซาอิด อิบราฮิม (Datu Zaid Ibrahim) ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า (Asean Inter-Parliamentary Myanmar Caucus on Democracy in Burma หรือ AIPMC) เดินทางมาประเทศไทย เพื่อแถลงข่าวต่อต้านการกระทำของรัฐบาลทหารพม่าที่ตัดสินใจใช้กำลังยุติการชุมนุมของพระสงฆ์และประชาชนในกรุงย่างกุ้ง


 


การแถลงข่าวจัดขึ้นที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (FCCT) กรุงเทพ โดยดาโต๊ะซาอิด อิบราฮิม กล่าวว่าสมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ ซึ่งเป็นตัวแทนจากประเทศต่างๆ มีพันธกิจที่ต้องกระทำเื่พื่อตอบโต้ความรุนแรงที่รัฐบาลทหารพม่าได้ก่อขึ้น ในฐานะที่ตัวแทนประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามร่วมกันว่า ต้องการจะผลักดันให้เกิดประชาธิปไตยในประเทศพม่า


 


ทั้งนี้ ประธานสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่า เดินทางมาประเทศไทยอย่างเร่งด่วน เพราะการปะทะและสังหารผู้ชุมนุมในพม่ายังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และสมาชิกรัฐสภาอาเซียนฯ เห็นว่าจะต้องร่วมมือกับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป รวมถึงประเทศอื่นๆ เพื่อกดดันให้รัสเซียและจีนเลิกให้ึความสนับสนุนด้านการทหารและด้านเศรษฐกิจแก่พม่า


 


"ถ้า (ประเทศสมาชิก) อาเซียนรู้สึกว่าไม่สามารถทำอะไรกับเรื่องนี้ได้มากนัก...อย่างน้อยที่สุด สิ่งที่พวกเขาจะทำได้ก็คือ การยุติการข้องเกี่ยวกับรัฐบาลทหารพม่า...พวกเขาควรไล่พม่าออกจากการเป็นสมาชิก เพื่อความน่าเชื่อถือของอาเซียนเอง รวมถึงความมีประสิทธิภาพและอนาคตในวันข้างหน้า...พวกเขาจะต้องทำอะไรให้มากกว่าที่เป็นอยู่" ดาโต๊ะซาอิด อิบราฮิม กล่าว


 


นอกจากนี้ ดาโต๊ะซาอิด ได้ประณามการกระทำของรัฐบาลทหารว่า "น่ากลัวและสยดสยอง" พร้อมกล่าวเสริมด้วยว่า "ผู้คนจะต้องถูกฆ่าอีกเป็นจำนวนมากถ้าประชาคมโลกไม่ออกมาเคลื่อนไหว และจะต้องเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วด้วย"


 


ทางด้านนายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตวุฒิสมาชิกของไทยและเป็นสมาชิกคนหนึ่งในรัฐสภาอาเซียนเพื่อประชาธิปไตยในพม่า โจมตีทั้งรัฐบาลทหารพม่าและรัฐบาลทหารไทย โดยกล่าวว่า "พม่าควรจะถูกไล่ออกจากการเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนทันที เพราะ้ถ้าไม่สามารถทำอะไรได้มาก อีกหน่อยประเทศไทยคงต้องล้างมือที่เปื้อนเลือดของตัวเอง"


 


สืบเนื่องจากการที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช.ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 26 กันยายน ที่ผ่านมา ระบุว่า "จะไม่มีการกดดันทางการเมืองใดๆ เกิดขึ้นระหว่างไทยกับพม่า เพราะพม่าไม่ยอมให้มีการแทรกแซงกิจการภายในประเทศ... (และประเทศไทย) เป็นเพื่อนบ้านกัน (กับประเทศพม่า) ถ้าเราเข้าไปยุ่ง ก็จะเป็นการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ"


 


อย่างไรก็ตาม กลุ่มต่อต้านรัฐประหารบางกลุ่มมองว่า นายไกรศักดิ์ เป็นหนึ่งในผู้สร้างความชอบธรรมให้เกิดการรัฐประหาร เมื่อเดือนกันยายน ปี 2549 แม้ว่าปัจจุบันนายไกรศักดิ์จะออกมาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของ คมช.และรัฐบาลก็ตามที


 


กรณีที่ พล.อ.สนธิ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวต่อหน้าตัวแทนจากนานาประเทศที่นิวยอร์กว่า "ประเทศไทยไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ใดๆ ในพม่าได้" นั้น นายไกรศักดิ์ ระบุว่าเป็นคำกล่าวที่ "เลวร้ายและไม่สามารถเข้าใจได้"


 


นอกจากนี้ นายไกรศักดิ์ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกด้วยว่า คณะสงฆ์ของไทยควรทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว เพราะแม้แต่ผู้นำศาสนาในประเทศเขมรยังไม่อาจวางเฉยได้ จนต้องออกมาประท้วงการเข่นฆ่าพระสงฆ์และผู้ชุมนุมในประเทศตัวเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net