Skip to main content
sharethis


นอกเหนือจากการรายงานข่าวทางสถานีโทรทัศน์วิทยุโดยสำนักข่าวระดับโลก หนทางเข้าุถึงข้อมูลเรื่องการชุมนุมของกลุ่มพระสงฆ์ นักศึกษา และประชาชนชาวพม่า ซึ่งเดินขบวนไปยังกรุงย่างกุ้งและโดนทหารพม่าใช้กำลังเข้าปราบปราม ถูกรายงานอย่างฉับไวผ่านทางบล็อก http://ko-htike.blogspot.com/ ของบล็อกเกอร์ชาวพม่า "โก ไถ่" (Ko Htike) โดยบล็อกดังกล่าวมีทั้งข้อมูลภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว รวมถึงแถลงการณ์ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาอังกฤษเรียบร้อยแล้ว


 


โก ไถ่ เป็นชาวพม่าแต่อพยพไปอยู่ลอนดอน ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวภายในประเทศพม่าอยู่เสมอ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงดังกล่าว บล็อกของเขาจึงเป็นสื่อกลางที่ทำให้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงข้อเท็จจริงในประเทศซึ่งปิดตัวเองอย่างพม่าได้


 


ทว่า วันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา โก ไถ่ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวบีบีซี โดยระบุว่า การติดต่อกับแหล่งข่าวที่อยู่ในกรุงย่างกุ้งถูกตัดขาดไป เนื่องจากรัฐบาลทหารสั่งตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและบล็อกอินเทอร์เน็ต ทำให้การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกชะงักงัน การส่งคลิปวิดีโอ รูปภาพ และรายงานสถานการณ์การปราบปรามกลุ่มพระสงฆ์และประชาชนผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจึงไม่มีความคืบหน้าออกมาให้เห็นมากนัก


 


สาเหตุหลักคาดว่าจะมาจากการเสียชีวิตของ "เคนจิ นากาอิ" ช่างภาพวิดีโอชาวญี่ปุ่นซึ่งถูกกระสุนปืนลูกหลงยิงจนเสียชีวิต และภาพดังกล่าวถูกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตผ่านทางบล็อกของ โก ไถ่ ด้วย


 


อย่างไรก็ตาม โก ไถ่ กล่าวว่า เขายังสามารถติดต่อแหล่งข่าวในพม่าได้โดยใช้โทรศัพท์บ้าน แต่บางครั้งสัญญาณก็ขัดข้องและไม่แน่นอนนัก


 


วันเดียวกันนั้นเอง หนังสือพิมพ์ไลท์ออฟเมียนมาร์ (Light of Myanmar) ซึ่งบริหารโดยหน่วยงานรัฐบาล ไ้ด้เสนอข่าวเกี่ยวกับการชุมนุม โดยระบุว่า "ผู้บ่อนทำลายจากภายในประเทศและภายนอกประเทศ รวมถึงสถานีวิทยุของต่างชาติ ต่างก็อิจฉาริษยาในความสุขสงบและเจริญก้าวหน้าของประเทศ จึงได้ยุยงปลุกปั่นด้วยคำโกหกหลอกลวง ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวายไร้เสถียรภาพขึ้นในพม่า"


 


เช่นเดียวกับสถานีโทรทัศน์ MRTV-3 ซึ่งออกอากาศข่าวเป็นภาษาอังกฤษ มีการเสนอข้อความบนหน้าจอว่า "เราต้องการเสถียรภาพ เราต้องการสันติภาพ เราต่อต้านการก่อความไม่สงบและความรุนแรง" ต่อจากนั้นก็มีประโยคภาษาอังกฤษที่ระบุว่า ต้องระวังสื่อต่างชาติอย่างบีบีซีและวอยซ์ออฟอเมริกา เพราะสำนักข่าวทั้งสองแห่งนี้เป็น "ผู้บ่อนทำลายพม่า" (Beware of destructionists, BBC and VOA)


 


ผู้สื่อข่าวต่างประเทศของบีบีซีคาดการณ์ว่า นี่คือกลยุทธ์ของรัฐบาลทหารพม่าที่พยายามจะวางเฉยต่อเสียงคัดค้านจากนานาประเทศ เหมือนอย่างที่เคยทำมาตลอดในเวลาที่มีการทวงถามเรื่องประชาธิปไตย การปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี และการยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนกลุ่มชาิติพันธุ์ในพม่า


 


ทางด้าน อ่อง ซอ บรรณาธิการนิตยสารอิระวดี กล่าวไว้ในบทความชื่อ Burma"s Questions โดยตั้งคำถามว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่นานาประเทศซึ่งปกครองในระบอบ "ประชาธิปไตย" จะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อกดดันรัฐบาลพม่าให้เลิกกดขี่ข่มเหงประชาชน และยอมรับว่าชาวพม่าก็ต้องการประชาธิปไตยเช่นกัน


 


อ่อง ซอ ได้กล่าวสรุปในตอนท้ายของบทความว่า การประท้วงครั้งใหญ่เช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา แต่การต่อสู้ของชาวพม่าในครั้งนี้ ต้องการความสนับสนุนจากภายนอกด้วยเช่นกัน มิฉะนั้น การต่อสู้ของประชาชนก็จะถููกล้มล้างโดยอำนาจทหารเหมือนเช่นที่ผ่านมา จึงเป็นการดีกว่า หากนานาประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ เช่น UN จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ


 


สำหรับประเทศที่แสดงจุุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลทหารพม่า ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งออกแถลงการณ์ว่าจะยุติการช่วยเหลือด้านการแพทย์และสาธารณสุขแก่พม่า หลังจากที่ได้รับรายงานเป็นที่แน่ชัดว่าช่างภาพที่ชื่อว่า เคนจิ นากาอิ เสียชีวิตจากการใช้กำลังสลายผู้ชุมนุมในกรุงย่างกุ้ง


 


นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าประเทศออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป จะร่วมมือกันกดดันให้รัสเซียและจีนเลิกให้ความสนับสนุนทางการทหารแก่พม่า เช่นเดียวกับที่อิบราฮิม แกมบารี ทูตพิเศษขององค์การสหประชาชาติ ประจำประเทศพม่า จะเดินทางมาเจรจากับตัวแทนรัฐบาลพม่าต้นเดือนตุลาคมนี้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net