Skip to main content
sharethis

"จรัล" ขึ้นเวทีคนวันเสาร์ เตือนอย่าประมาท เพราะรัฐบาลเผด็จการทหารมีแนวโน้มปราบปรามประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ชี้เหตุการณ์พม่าสามารถเกิดในไทยได้ ด้านบรรดาเครือข่ายต้านรัฐประหารจัดเลี้ยงให้กำลังใจหลัง "จรัล" ถูก 156 สนช. ถอดถอน เตรียมเดินขบวนไปหน้าสภา วางหรีด 156 อัน

 

ประชาไท - 30 ก.ย. 50 เมื่อวันที่ 29 ก.ย. นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ซึ่งถูกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 156 คน มีมติถอดถอนเนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และเป็นหนึ่งในแกนนำการชุมนุมที่หน้าบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมตรี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550  ได้ขึ้นเวทีเสวนาเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าโดยเปรียบเทียบกับประเทศไทย เวทีนี้จัดระหว่างการชุมนุมของกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ณ ท้องสนามหลวง

 

นายจรัล กล่าวว่า ประชาชนพม่าตกอยู่ใต้ระบอบทหารมาถึง 45 ปี คือตั้งแต่ พ.ศ. 2505 หลังนายพลเนวิน ทำการรัฐประหารรัฐบาลนายอูนุ จากนั้นได้กดขี่ข่มเหงประชาชนจนเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและกว้างขวาง มีการเกณฑ์แรงงงานซึ่งเหลือเพียงไม่กี่ประเทศที่ยังใช้วิธีการนี้กับประชาชน ส่วนในไทยนั้นตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ระบอบการปกครองมีลักษณะสลับระหว่างประชาธิปไตยช่วงสั้นๆแล้วตามมาด้วยการรัฐประหาร ระบอบประชาธิปไตยไทยระยะยาวที่สุดคือ 15 ปี หลังสุด จนเกิดการรัฐประหารอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ย. 49

 

นายจรัล อธิบายประวัติศาสตร์การปกครองของพม่าว่า เป็นประเทศที่ประกอบด้วยชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มแต่เมื่อรวมกันแล้วจะเป็นคนส่วนใหญ่โดยทหารพม่าได้ทำการปราบปรามเรื่อยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2505 บางกลุ่มก็ตั้งกองทัพขึ้นสู้ นอกจากนี้ก็มีขบวนการนักศึกษาในพม่าได้ทำการต่อสู้เรื่อยมาจนกระทั่งวันที่ 8 ส.ค. 31 หรือเหตุการณ์ 8888 นักศึกษาและประชาชนถูกปราบปรามอย่างนองเลือด มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,000 คน อย่างไรก็ตามครั้งนั้นการเคลื่อนไหวยังมีต่อไปเรื่อยๆจนกระทั่งรัฐบาลทหารทำท่าว่าจะยอมเป็นประชาธิปไตย แต่ก็เกิดรัฐประหารซ้ำในวันที่ 18 ก.ย. 31 หลังจาก 10 ปี ผ่านไปผู้คนจึงเริ่มออกมาประท้วงและถูกจับเป็นระยะๆอีกครั้ง ในรอบนี้รัฐบาลทหารได้ขึ้นราคาน้ำมันจึงเกิดการประท้วง และทางรัฐบาลทหารทำการปราบปรามติดต่อกันเป็นวันที่ 4 แล้ว

 

นายจรัลกล่าวต่อไปว่า นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ในพม่าคล้ายกับการเห็น 2 มาตรฐานของสื่อมวลชนและนักสิทธิมนุษยชนไทย เนื่องจากในขณะที่สนับสนุนคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และเห็นด้วยกับการรัฐประหาร หรือการที่สื่อแขวะด่าประชาชนในที่นี้ (สนามหลวง) ในประเทศไทย กลับคัดค้านเหตุการณ์ในพม่าและสนับสนุนให้ประชาชนลุกขึ้นสู้

 

นอกจากนี้ หลังเกิดการปราบปรามในพม่า ประธานคมช.ได้ออกมาพูดว่าทหารพม่าทำถูกแล้วและเชื่อว่าจะคุมสถานการณ์ได้ การคิดแบบนี้ทำให้เห็นว่าเขาเป็นคนแบบเดียวกันกับทหารพม่า ภายใต้รัฐบาลเผด็จการทหารนั้นแนวโน้มการปราบปรามการเคลื่อนไหวของประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นแน่นอน เราจึงอย่าไว้วางใจแม้ว่าจะมีรัฐธรรมนูญหรือมีระบบกลไกต่างๆ เพราะเนื้อแท้นั้นยังเป็นเผด็จการ อย่าประมาทเพราะเหตุการณ์แบบในพม่าอาจเกิดขึ้นกับเราได้

 

น.ส.ชนกาญจน์ พันธุ์เดิมวงศ์ ผู้ร่วมเวทีอีกคนหนึ่งกล่าวว่า ขณะนี้มีรายงานล่าสุดอย่างไม่เป็นทางการว่ามีผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามแล้วประมาณ 200 คน และมีผู้ถูกจับอีกนับพัน จากเหตุการณ์นี้สิ่งที่เผด็จการไทยและพม่าทำเหมือนกันคือการโกหก เพราะตั้งแต่วันแรกของการปราบปรามทางรัฐบาลพม่าบอกว่ามีผู้เพียงคนเดียว ในขณะที่ตัวเลขที่ออกมาตามสื่อต่างๆรายงานว่ามีถึง 7 คน

 

ประการต่อมาที่เผด็จการไทยเหมือนกับพม่าคือการไม่ให้พรรคที่ได้รับการเลือกตั้งจัดตั้งรัฐบาล ในพม่ารัฐบาลเคยจัดให้มีการเลือกตั้งและพรรคสันนิบาตแห่งชติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ของนางอองซานซูจีได้รับชัยชนะแต่ไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล ส่วนไทยถามว่าพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนมาเป็นรัฐบาลได้หรือไม่

 

ประการที่สาม สิ่งที่ คมช.กำลังเดินตามพม่าคือการทำให้ประชาชนยากจนลง ในพม่ารายได้ต่อหัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน ซึ่งในไทยตอนนี้หลายโรงงานค่อยๆปิดตัวลงแล้ว

 

น.ส.ชนกาญจน์ ยังบอกให้เห็นบทเรียนจากการณีที่เกิดขึ้นในทั้ง 2 ประเทศว่า การรณรงค์เรื่องประชาธิปไตยในพม่านั้นเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่พวกอ้างสิทธิมนุษยชนกลับฉวยโอกาสจากเหตุการในพม่านำไปสร้างภาพชุบตัวเองว่าเป็นนักสิทธิมนุษยชนและนักประชาธิปไตย แต่ให้จำเอาไว้ว่าในบ้านตัวเองกลับไม่ได้ต่อต้านเผด็จการและการรัฐประหาร

 

นอกจากนี้ควรระลึกร่วมกันว่าเผด็จการทหารนั้นควรตายไปจากโลก เพราะเมื่อมีการยึดอำนาจแนวโน้มการใช้ความรุนแรงจะมีสูงมาก คงต้องส่งกำลังใจไปพม่าและต่อสู้กับเผด็จการในบ้านเราไปพร้อมกัน

 

สำหรับวันนี้กลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ สมาพันธ์ประชาธิปไตย กลุ่มเพื่อรัฐธรรมนุญ 2540 กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย และกลุ่มสตรีเพื่อประชาธิปไตย ยังได้จัดงานเลี้ยงให้กำลังใจแก่นายจรัล ที่ถูกสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 156 คน มีมติถอดถอนจากการเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ณ อาคารฐานเศรษฐกิจ

 

นายปรัชญา สุรกำจรโรจน์ กลุ่ม 24 มิถุนาฯได้อ่านแถลงการณ์ กรณีการถอดถอนจรัล มีเนื้อความว่าขอแสดงความยินดีกับนายจรัลมา เพราะการถูกถอดถอนโดยลูกสมุนเผด็จการลายพรางคือใบรับประกันคุณภาพชั้นดีกว่าการได้รับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเสียอีก ซึ่งนายจรัลได้ปริญญาอีกใบโดยไม่ต้องลงทะเบียนเรียน

 

ในแถลงการณ์เชื่อว่านายจรัลจะยังคงสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยต่อไป และกลุ่ม 24 มิถุนาฯ นายจรัลไม่เคยถูกถอดถอนจากการเป็นกรรมการสิทธิมนุษยชน เพราะผู้ถอดถอนและอำนาจที่ใช้ถอดถอนล้วนแล้วแต่ดำเนินไปบนวิถีทางแห่งโจรโดยโจรและเพื่อโจรลายพราง นอกจากนี้ยังประณามเผด็จการและลูกสมุนโดยเฉพาะ สนช.

 

แถลงการณ์ยังตั้งคำถามต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่เหลืออีก 9 คน ต่อกรณีการถอดถอนนายจรัล ทั้งที่การต่อสู้เผด็จการไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่และตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชน ประชาชนทั่วประเทศที่ต้องมีชีวิตอยู่ใต้ระบอบเผด็จการมากว่า 1 ปี ยังแทบไม่เคยได้รับการเหลียวแล และไม่มีการประณามเผด็จการจากองค์กรสิทธิมนุษยชนซักคำเดียว ซึ่งไม่นับรวมไปถึงการสนับสนุนให้เผด็จการก้าวเข้าสู่อำนาจและค้ำยันความชอบธรรมให้เผด็จการจนถึงเวลานี้ ทั้งนี้ ใครทำอะไรไว้ผู้นั้นต้องรับผิดชอบต่อประวัติศาสตร์อย่างแน่นอน เมื่อยุคสมัยผ่านพ้นไป

 

นอกจากนี้แนวร่วมต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นัดรวมตัวที่หน้าลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 3 ต.ค. 50เวลา 12.00 น. เพื่อเดินขบวนไปยังหน้ารัฐสภา จะมีการวางพวงหรีด 156 อัน แก่ สนช.ที่ถอดถอนนายจรัล และเป็นการแสดงให้เห็นว่า นปช.ยังมีชีวิตและหัวใจต้านเผด็จการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net