Skip to main content
sharethis


ประเดิม ดำรงเจริญ (ที่มาภาพ : http://th.wikipedia.org)


จากสถานการณ์การเมืองภายหลังผลการประชามติผ่านไปได้อย่างฉิวเฉียด เป็นผลให้กระแสความสนใจของประชาชนตกไปอยู่ในเรื่องของการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นปลายปีนี้ ภาพเก่าๆ เดิมๆ ของพวกนักการเมืองกระแสหลักที่ไม่เคยเปลี่ยนพฤติกรรมในการจ้องผสมพันธุ์เพื่อแบ่งสรรผลประโยชน์ แบบไม่เห็นหัวประชาชน ก็วนเวียนกลับมาอีกครั้ง


จากการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมา ภาคประชาชนไทยเองมักไม่ค่อยมีข้อเสนอที่เป็นทางออกต่อสังคมมากนัก ไม่ว่าจะเป็นการกาช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือเลือกหมามากัดกัน เป็นผลให้ไม่สามารถจุดกระแสต่อสังคมได้อย่างแท้จริง ท้ายที่สุดฝ่ายได้รับเสียงข้างมากและเป็นความหวังของพี่น้องประชาชนทั่วไปก็ไม่พ้นพรรคการเมืองของพวกนายทุนอยู่ดี


เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทยได้ถือกำเนิดขึ้น ในช่วงที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยังดำเนินการต่อสู้อย่างเข้มข้น นับเป็นการถือกำเนิดของพรรคการเมืองภาคประชาชนอีกครั้งหนึ่งภายหลังการปราบปรามขบวนการภาคประชาชนในช่วงหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ที่น่าสนใจคือพรรคดังกล่าวได้จดทะเบียนเป็นพรรคการเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ ทำให้การเลือกตั้งในปลายปีนี้ เราจะมี พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย เป็นทางเลือกหนึ่งของคนชนชั้นล่างอย่างแน่นอน


วันนี้เราจะลองมาพูดคุยกับ ประเดิม ดำรงเจริญ หัวหน้าพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย เพื่อเปิดพื้นที่ให้ได้รับทราบถึงนโยบาย และปลุกท่านให้ตื่นจากความเบื่อหน่ายทางการเมืองกระแสหลักที่พล่ามแต่เรื่องของคุณธรรม จริยธรรม และนโยบายที่มักจะทำร้ายจิตใจเรา



000


ทำไมจากเครือข่ายหนี้สินชาวนาหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ถึงเปลี่ยนมาเป็นพรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย?


การเคลื่อนไหวของเครือข่ายหนี้สินชาวนาที่ผ่านมา เราได้บทเรียนสำคัญ พอเราออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องของผลประโยชน์เฉพาะหน้า เพื่อให้เขาเจียดผลประโยชน์ให้เรา กว่าจะทำได้สำเร็จแต่ละครั้งมันยากมาก ทั้งที่การเคลื่อนไหวในแต่ละครั้งของเครือข่ายมีมวลชนเข้าร่วมเป็นหมื่น กว่าจะกดดันภาครัฐให้มีความคืบหน้า แต่ละก้าว แต่ละก้าว อย่างในเรื่องการรับซื้อหนี้จากเกษตรกรก็ยากมาก หลายครั้งที่ไม่เป็นข่าว เพราะพวกชาวนาเกษตรกร เป็นพวกเสียงไม่ดัง คนชอบดูถูกว่าต่ำต้อย ไม่ให้ความสำคัญ แม้เราจะรู้ว่าเป็นหน่วยการผลิตพื้นฐานในสังคมก็เถอะ ทีเวลาเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐตั้งกองทุนบริหารสินทรัพย์ให้โดยแทบไม่ต้องมีการเรียกร้องอะไร



มันก็เป็นเรื่องง่ายๆ ว่าถ้าเราเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐเอง มันจะง่ายกว่าไหมที่จะเรียกร้องผลประโยชน์ของเรา ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกกดขี่ คือเรามองว่าเรื่องปัญหาของพี่น้องเกษตรกรไทยที่ต้องเจอมาทั้งในเรื่องหนี้สิน เรื่องราคาผลผลิต ทั้งหมดมันเป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างทางสังคมทำให้เราได้รับความเดือดร้อน นี่ไม่ใช่เรื่องของตัวบุคคล ไม่ใช่เรื่องของความขี้เกียจ ขยัน ถ้าเราจะพูดถึงการแก้ปัญหา ในเรื่องของโครงสร้างต้องได้รับการแก้ไขด้วย นั่นหมายถึงตัวนโยบายรัฐต้องออกมาเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เราด้วย


แล้วเครือข่ายหนี้สินชาวนาเดิมจะมีบทบาทอย่างไร?


เราตั้งพรรคไม่ได้แปลว่าเราจะยุบเครือข่าย เครือข่ายก็ยังอยู่และให้การสนับสนุนพรรค เราแบ่งรูปแบบกันเคลื่อนไหว ผมจะยกตัวอย่างในสวีเดน มันจะมีองค์กรที่มีสมาชิกองค์กรแรงงานระดับประเทศ เรียกว่า แอลโอ (LO: Landsorganisationen i Sverige หรือ สมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งสวีเดน - ประชาไท) เป็นฝ่ายสนับสนุนทางการเมืองกับพรรคแรงงานของเขา เวลาทำกิจกรรมก็แยกกัน บางรูปแบบการเคลื่อนไหวที่พรรคไม่สามารถทำได้เพราะติดเงื่อนไขในระบบ ทางเครือข่ายก็จะนำไปเคลื่อนไหวเอง คือพูดง่ายๆ ว่าถ้าเป็นเรื่องในระบบ พรรคจะเป็นคนทำ เรื่องการเดินขบวน ก็ให้ทางเครือข่ายทำไป และอาศัยอุดมการณ์เป็นตัวเชื่อมโยงทั้งสององค์กร วิธีการของทั้งสององค์กรอาจแตกต่างกัน อันนี้รวมทั้งการตัดสินใจทางการเมืองของพรรคด้วยเหมือนกัน ว่าจะร่วมอะไรกับใครอย่างไร


กิจกรรมที่พรรคเครือข่ายชาวนามีบทบาทหลังการตั้งพรรคมามีอะไรบ้าง? 


เราเพิ่งก่อตั้งเมื่อปลายปีที่แล้ว หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยา 2549 พอวันที่ 20 กันยา เราออกแถลงการณ์มาว่า เราไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารครั้งนี้ แต่เมื่อคุณทำไปแล้ว คุณต้องรีบจัดการเลือกตั้ง และบอกมาเลยว่าจะใช้เวลาร่างรัฐธรรมนูญเท่าไหร่ ไม่ควรเกินสามเดือน ข้อห้ามชุมนุมทางการเมืองคุณต้องยกเลิก ไอ้ที่คุณบอกเอาไว้ใน ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 6 เรื่องขอให้ชาวนาอยู่ในความสงบเรียบร้อยและส่งตัวแทนมาพิจารณาแก้ปัญหาร่วมกัน เราก็ท้าทายเขาไปว่าคุณต้องแก้ไขปัญหาให้ตามวิธีที่เราเสนอและมีส่วนร่วมภายใน 7 วัน ปัญหาเรื่องหนี้สิน ปัญหาเรื่องเกษตรกรโดนฟ้องไล่ยึดที่ดินทำกิน ต้องเอาไปปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นนี่จะเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าที่คุณอ้างประชาชนในการยึดอำนาจเข้ามาเป็นเรื่องโกหก ขอให้มีตัวแทนประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ


ด้วอย่างล่าสุดก็เรื่องการลงประชามติที่ผ่านมา เราก็ร่วมเสนอเพื่อแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญ ส่งไปหลายข้อหลายมาตราแต่ไม่มีการพูดถึงเลย เราผลักดันให้การปฏิรูปการเมืองต้องมีการพูดถึงปัญหาของพี่น้องเกษตรกร เป็นหลักในการดำเนินนโยบายของประเทศ โดยองค์กรเกษตรกรต้องเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและผลผลิต ต้องออกกฏหมายคุ้มครองสวัสดิภาพของแรงงานภาคการเกษตร อย่างน้อยต้องมีมาตราฐานเท่าเทียมกับกฏหมายคุ้มครองแรงงาน เนื่องจากปัจจุบันแรงงานภาคการเกษตรมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำมาก เป็นภาคแรงงานที่มีสัดส่วนสูงแต่ไม่มีกฎหมายอะไรคุ้มครองช่วยเหลือเขาเลย


มีข้อเรียกร้องที่ตรงกับการแก้ไขของ สสร. อยู่เรื่องเดียวคือเรื่องวุฒการศึกษาของผู้สมัครเลือกตั้ง ปัญหาของเกษตรกรไม่มีการเอาไปพูดถึงอย่างจริงจังเลย ซึ่งทางพรรคเรามองว่านี่แหละคือปัญหาที่ต้องแก้ไขก่อน ปัญหาเกษตรกรเราให้ความสำคัญมาก  เพราะนี่คือชนชั้นล่าง เหมือนตอนนี้เรามีแผลใหญ่อยู่ เลือดยังไหล แต่เราไม่สนใจ ผมมองว่าเราน่าจะเอาพลาสเตอร์มาปิดแผลนี้ก่อน (ปัญหาของพี่น้องเกษตรกร) แล้วค่อยคิดหาทางแก้ไขปัญหาในด้านอื่นต่อไป 


เลยทำให้นโยบายหลักของพรรค มุ่งเน้นไปที่เกษตรกร?


นโยบายหลักที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้ คือการทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรอุตสาหกรรมเพื่อผลิตอาหารปลอดสารพิษ อาหารที่ปลอดภัย โดยคนทุกชนชั้นในสังคมสามารถเข้าถึงได้ รูปธรรมก็คือ เราต้องทำการพัฒนาการเกษตรแบบเป็นระบบที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการผลิต ส่วนในเรื่องของอุตสาหกรรม การทำการเกษตร กับอุตสาหกรรมต้องเป็นสัดส่วน เพราะถ้าในพื้นที่การเกษตรที่อุตสาหกรรมเข้าไปตั้งแค่ 20 เปอร์เซ็นต์ อีก 80 เปอร์เซ็นต์จะไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานในบริเวณที่ควรจะเป็นสถานที่เพาะปลูก เช่น ในเขตอยุธยา แปดริ้ว เพราะดินบริเวณนี้มันเหมาะแก่การเกษตร 


ในเรื่องของการจัดการที่ดินเพื่ออุตสาหกรรม โรงงานหลายประเภททำอันตรายต่อแผ่นดิน ทำให้ดินปนเปื้อนสารพิษสูง เราไม่ควรให้มันมาตั้งในประเทศไทย อย่างโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ บางยี่ห้อก็ไม่ผลิตในประเทศแม่ แต่เอาไปผลิตในประเทศด้อยพัฒนา คนงานก็สูดดมสารพิษเข้าไป บ้านเรือนของประชาชนรอบโรงงานก็เดือดร้อน ดินของเรากลายเป็นถังขยะให้เขาเอาของเสียมาทิ้ง เราในฐานะเจ้าของประเทศก็ต้องบอกให้เขาปรับปรุง ถ้าปรับไม่ได้ก็ย้ายโรงงานไป แต่เราไม่ได้ปฏิเสธความเจริญโดยสิ้นเชิง อย่างเรื่องป่าชุมชน ป่าสงวน เราไม่คิดว่าต้องกันคนออกจากป่า เพราะในต่างประเทศเขาก็อยู่ร่วมกับป่าได้ บางป่าเอกชนเป็นเจ้าของด้วยซ้ำ แต่ต้องจัดวิธีการดูแล เพราะนี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องระบบชลประทาน


เรามัวแต่ไปคิดว่าชลประทานคือการสร้างเขื่อน ผมว่าเป็นเรื่องที่โง่มาก เพราะเขื่อนไม่เคยเก็บน้ำได้จริง ไม่เคยช่วยเกษตรกรได้ในหน้าแล้ง หน้าฝนก็ต้องปล่อยน้ำ สร้างทีนึงต้องทำลายป่าไม้ไปเท่าไหร่ แล้วระบบมันเสียหมด เรามีเขื่อนตั้งเท่าไหร่? และจะสร้างอีกเท่าไหร่? ไม่เห็นชลประทานอะไรจะดีขึ้นตรงไหน แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่แผนหนึ่งจนถึงปัจจุบัน เก้าแผนแล้ว ก็เน้นเรื่องอุตสาหกรรมมาตลอด แล้วคนก็จนลง มีปัญหาเกิดขึ้นมากมาย มันได้ไม่คุ้มเสีย เราพัฒนาประเทศให้ภาคเกษตรเข้มแข็ง ให้เรายืนได้ด้วยตัวเอง เพื่อให้เป็นอู่ข้าวอู่น้ำของโลก ไม่ดีกว่าหรือ


พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทย เป็นพรรคการเมืองที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายเลือกตั้ง มันมีอุปสรรคอย่างไร หลังจากการจดทะเบียนแล้ว เพราะมีภาคประชาชนหลายส่วนมักตั้งพรรคก่อนจดทะเบียน?


อย่างที่เราก็รู้กันว่าถ้าคุณตั้งพรรคการเมืองพรรคหนึ่งขึ้นมา มันก็ตั้งเป้าหมายชัดเจนว่าคุณมุ่งเข้าสู่อำนาจรัฐ เราก็อยากจะเข้าไปมีส่วนในอำนาจรัฐจริงๆ เพื่อไปมีบทบาทในการบริหารบ้านเมือง การจดทะเบียนในการตั้งพรรคเลยทำให้เราเป็นทางการ ปัจจัยหนึ่งที่สำคัญก็คือเราพร้อมในด้านมวลชน เราพูดได้เต็มปากว่าเราเป็นพรรคที่ตั้งจากภาคประชาชนจริงๆ เราเก็บค่าบำรุงสมาชิก เพื่อใช้สร้างพรรคเดือนละ 20 บาท ปีละ 240 บาท เราไม่ได้ตั้งพรรคจากการบริจาคของนายทุน ไม่ต้องกังวลเรื่องอุดมการณ์เรื่องการทำงานของเรา เพราะว่าพรรคจะเดินตามนโยบายตามที่มวลชนเป็นผู้กำหนดไว้ เราพร้อมที่จะทำในสิ่งที่เราฝันเอาไว้ คือสังคมที่ดีงามและเราไม่เพ้อฝันเพราะเรามีมวลชนจริงๆ


ถ้าคุณอ้างตัวว่าเป็นภาคประชาชนแต่ไม่มีมวลชนมันก็ไม่มีประโยชน์อะไร ขณะเดียวกันเราเองก็เปิดกว้างหากภาคประชาชนส่วนอื่นๆ จะเข้าร่วมกับเรา ถ้าคุณเห็นว่าภาคเกษตรกรต้องยืนอยู่ได้ก่อนเลือดต้องหยุดไหลก่อน เราก็พร้อมที่จะใช้ช่องทางที่มีอยู่นี้ในการแก้ไขให้ระบบมันเป็นประโยชน์ต่อผู้ถูกกดขี่ให้ได้มากที่สุด 


สำหรับผู้ใช้แรงงาน เราอยากให้พรรคเครือข่ายชาวนาแห่งประเทศไทยประชาสัมพันธ์ตัวเองต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานเพื่อการเลือกตั้งในครั้งหน้า?


ผมก็คงต้องตั้งคำถามกับคุณก่อนว่า คุณอยากเป็นกรรมกรจริงหรือเปล่า ที่จริงคนงานกับชาวนาไม่ได้ห่างไกลกันเลย กรรมกรในยุคนี้ก็คือคนรุ่นที่สองของเกษตรกรนี่แหละ เขาไม่ได้แยกขาดจากชาวนา คุณอาจมีรายได้ที่ดีกว่าในการทำงานโรงงาน คุณสามารถส่งเงินไปเลี้ยงพ่อแม่ที่บ้าน จะให้กลับไปทำนาอีกคงไม่ไหว แต่ลึกๆ แล้ว ถ้าถามถึงสภาพการใช้ชีวิตในโรงงานและในชนบท ถ้าเลือกได้เขาคงอยากทำงานในภาคการเกษตรมากกว่า เพราะงานในโรงงานมันบั่นทอนสุขภาพคุณ แต่คุณก็กลับไปไม่ได้ เพราะปัญหาในเรื่องรายได้ ซึ่งถ้าผมเอาคำถามนี้ไปถามในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น หรือ ในยุโรป  เกษตรกรไม่ได้มีชีวิตแบบนี้ รายได้เขาสูงจนสามารถเป็นทางเลือกในการประกอบอาชีพได้


ซึ่งเมืองไทยผมเชื่อว่าถ้าเราฟื้นภาคการเกษตรให้เข้มแข็งได้ คนจะให้ความสำคัญกับภาคเกษตรเอง เพราะจากสถิติการวิจัยของสภาพัฒน์ ปี 2547 ภาคอีสานทำนาปีละสองครั้ง มีหนี้ประมาณ 100,000 บาท ส่วนภาคกลางทำนาปีละสามครั้ง มีหนี้ประมาณครัวเรือนละ 300,000 บาทเศษ ประเด็นก็คือ ตัวเลขพวกนี้บอกได้ว่าชาวนาไม่ได้ขี้เกียจ เราเชื่อว่าเราสามารถทำให้รายได้ของภาคเกษตรดีขึ้นได้ ชาวนาถึงแม้จะกระจัดกระจายไม่ได้ทำการผลิตแบบรวมหมู่ แต่ผมก็ไม่ได้มองว่าเลวร้ายอะไร เพราะเป็นส่วนที่ผลิตโภคทรัพย์ เป็นกำลังการผลิตที่แท้จริง นี่เป็นความฝันที่พรรคเราตั้งใจว่า "ถ้ามีโอกาสเราก็จะทำ"







 


บทสัมภาษณ์นี้มาจากคอลัมน์ถามทาง หนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้ายฉบับ เดือนตุลาคม 2550 ...


อ่านเลี้ยวซ้ายฉบับเต็มได้ที่ :


http://www.pcpthai.org/autopagev3/fileupload/SunSeptember2007-16-57-3.pdf


 


  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net