Skip to main content
sharethis

โดย : องอาจ เดชา


 



ปกหนังสือใบอนุญาตข่มขืน : บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน


 


หลายคนคงจำได้ ในปี 2545 เครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่" หรือ SWAN (Shan Women"s Action Network) ได้ร่วมกับองค์กรสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation - SHRF) ผลิตรายงาน "ใบอนุญาตข่มขืน" หรือ License to Rape ขึ้น ซึ่งเรื่องราวของการ "ข่มขืน" อย่างเป็นระบบของทหารพม่าต่อสตรีในรัฐฉานอย่างเป็นระบบ ถูกเปิดเผยในหนังสือ License to rape : the Burmese military regime's use of sexual violence in the ongoing war in Shan State, Burma ซึ่งได้รับการแปลมาเป็นภาษาไทยในชื่อ ใบอนุญาตข่มขืน : บันทึกการทารุณกรรมทางเพศในรัฐฉาน


 


หนังสือดังกล่าวจัดทำโดยมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) และเครือข่ายสตรีไทใหญ่ (Shan Women"s Action Network) เผยแพร่ในฉบับภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2545 และแปลเป็นภาษาไทยโดยการสนับสนุนของสภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia) เมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2545 โดยมีผู้แปลเป็นภาษาไทยคือ "สุภัตรา ภูมิประภาสและเพ็ญนภา หงษ์ทอง" สองหญิงไทยที่ได้ลงภาคสนามเพื่อเก็บข้อมูลสำหรับรายงานฉบับนี้ด้วย ซึ่งรายงานดังกล่าวเป็นการเก็บข้อมูลจากปากคำจริงของบรรดาผู้อพยพจากรัฐฉานที่ลี้ภัยอยู่ตามแนวชายแดนไทย-พม่า


 


หนังสือดังกล่าว รายงานถึงชะตากรรมของสตรีและเด็กซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในรัฐฉานทั้งสิ้น 173 เหตุการณ์ มีสตรีตกเป็นเหยื่อ 625 คน จำแนกเป็นเด็กผู้หญิง 92 คน และสตรี 527 คน ซึ่งถูกทารุณกรรมทางเพศโดยทหารพม่าทั้งระดับประทวนและชั้นสัญญาบัตรที่ถูกส่งเข้ามาประจำการในรัฐฉานระหว่างปี พ.ศ.2539-พ.ศ.2544


 


โดยสมาชิกและกองกำลังทหารพม่าได้ร่วมกันใช้ "การข่มขืน" ปราบปรามการต่อต้านของชาวไทยใหญ่ โดยผู้กระทำคือทหารพม่า 52 กองพัน โดย 83% ของคดีข่มขืน กระทำโดยนายทหารระดับสูงและผู้บังคับบัญชา บ่อยครั้งที่เหยื่อถูกทรมานด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การรัดคอ การทุบตีและการทำให้พิการ เหยื่อ 25% ของการถูกข่มขืนถูกทารุณจนเสียชีวิต 61% เป็นกรณีที่ผู้หญิงถูกรุมข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่านานถึง 4 เดือน


 


โดยสุภัตรา เคยให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์มติชนเมื่อปี พ.ศ.2545 ว่า หนักใจกับการแปลหนังสือเล่มนี้ เป็นเหมือนรายงานที่สมบูรณ์แบบ เป็นข้อมูลที่จับต้องได้ เพราะคนที่ถูกกระทำและเป็นผู้กระทำมีตัวตน มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน เด็ก ผู้หญิงเหล่านี้น่าสงสาร ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลล่าสุดที่ได้รับเป็นข้อมูลจากโรงพยาบาล ซึ่งนำผลการรักษาของผู้หญิง 6 คนที่ถูกกระทำว่าเขาโดนเผาอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก โดยเพ็ญนภา เสริมว่า ตนยังจำภาพที่เดินเข้าไปพูดคุยกับชาวไทยใหญ่เหล่านี้ได้ แต่ละคนมีใบหน้าเศร้า หวาดกลัว สาเหตุที่ต้องลงไปในพื้นที่เพราะขณะที่แปลหนังสือเล่มนี้แล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือ และคนเหล่านี้เขามีชีวิตอยู่กันยังไง


 


"มีเรื่องราวของผู้หญิงท้อง 7 เดือน แล้วโดนข่มขืน เรารู้สึกว่ามันแย่มาก แล้วเขาจะใช้ชีวิตอย่างไร พอไปเจอเขาน่าสงสารมาก ตอนนี้ลูกที่อยู่ในท้องตอนที่เขาถูกข่มขืนอายุ 7 เดือนแล้ว เขากลัวที่จะต้องกลับไปในรัฐฉานอีก ส่วนหนึ่งที่อยากแปลหนังสือเล่มนี้คือต้องการให้รัฐบาลไทยอ่านและสำนึกว่าเกิดอะไรขึ้น ถ้าเป็นไปได้อยากให้เปิดค่ายผู้ลี้ภัยให้กับชาวไทยใหญ่ อยากให้สังคมไทยเป็นที่พึ่งให้กับผู้หญิงและเด็กเหล่านี้" เพ็ญนภา กล่าวในที่สุด


 


ในรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการข่มขืนได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการของทหารพม่าเสมือนเป็นอาวุธสงครามในการปราบปรามการต่อต้านของชาวไทใหญ่ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าการข่มขืนนั้นกลายเป็นปฏิบัติปกติที่กระทำตั้งแต่ระดับนายทหารระดับถึงผู้บังคับบัญชา มีการกระทำอย่างเป็นระบบและโดยเจตนา อีกทั้งจำนวนของผู้หญิงไทใหญ่ที่ถูกข่มขืนนั้นเพิ่มขึ้นตามจำนวนของแผนปฏิบัติการทางทหารของสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (The State Peace and Development Council-SPDC) ที่นำมาใช้ปราบปรามกองกำลังกู้ชาติของชาวไทใหญ่ในรัฐฉานด้วย


 


ว่ากันว่า รายงานชิ้นนี้ ได้กลายเป็นรายงานอื้อฉาวที่เปิดโปงความโหดร้ายทารุณในดินแดนพม่าชิ้นสำคัญที่สุดของโลก โดยเฉพาะการข่มขืนผู้หญิงของกลุ่มชาติพันธุ์ในรูปแบบ "การข่มขืนอย่างเป็นระบบ" ในฐานะที่การข่มขืนเป็นอาวุธเพื่อข่มขวัญประชาชน


 


การข่มขืนเกิดขึ้นในทุกพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆในพม่าและเกิดขึ้นมากทั่วรัฐฉาน มีทั้งการกักขังเพื่อข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าในเวลากลางคืน และใช้เป็นแรงงานในเวลากลางวัน กระทำโดยกลุ่มทหารชั้นผู้ใหญ่และในรูปแบบการอนุญาตให้ทหารใต้บังคับบัญชาข่มขืนผู้หญิงได้โดยปราศจากการลงโทษ


 


รายงานชิ้นนี้รวบรวมข้อมูลระหว่างปี พ.ศ.2539-2544 พบว่ามีจำนวนผู้หญิงถูกข่มขืนถึง 625 คน จาก 173 เหตุการณ์ ผ่านการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากปากคำเหยื่อ ก่อนนำมาวิเคราะห์โดยใช้หลักกฎหมายสากลและหลักกฎหมายระหว่างประเทศ จากนั้นจึงนำสถานที่เกิดเหตุมาพล็อตลงบนแผนที่


 


ล่าสุด "ประชาไท" มีโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้หญิง ที่ชื่อ "จ๋ามตอง"(Charm Tong) จาก Shan Women"s Action Network (SWAN) และ "แสงน้อง"(Hseng Noung) ชาวไทใหญ่ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Advisory Team Member of the Shan Women"s Action Network -SWAN) และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า (Presidium Board member of Women"s League of Burma) ถึงเรื่องนี้อีกครั้ง...


 


ซึ่งได้รับคำตอบจากเธอทั้งสอง ว่า...ในแผ่นดินพม่า เหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง



 



"จ๋ามตอง" (Charm Tong)


จาก Shan Women"s Action Network (SWAN)


 


เมื่อถามถึงสถานการณ์ความรุนแรงในพม่าตอนนี้


ในแต่ละพื้นที่ ในแต่ละรัฐ ในแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์ยังถูกกดขี่หรือไม่


 


จ๋ามตอง บอกว่า การกดขี่ข่มเหงประชาชนยังเหมือนเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นการบังคับใช้แรงงานการเกณฑ์ใช้แรงงาน หรือว่าการขับไล่ชาวบ้านให้อพยพไปอยู่ที่อื่น การบังคับย้ายถิ่นฐาน ยังเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้รับอนุญาต เช่น ในรัฐฉานก็ยังไม่ได้รับอนุญาตให้กลับไปที่บ้านของเขา ซึ่งตอนนี้ก็กลายเป็นหมู่บ้านร้างไปแล้ว


 


"แล้วก็มีอีกหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานเนื่องจากโครงการที่เรียกว่าการพัฒนาต่าง ๆ เช่นการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำสาละวิน ก็จะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาก"


 


เมื่อพูดถึงกรณีที่ผู้หญิงในพม่าถูกกดขี่ จ๋ามตอง บอกย้ำและยืนยันเช่นเดิมว่า เรื่องของการทารุณกรรมทางเพศและการข่มขืนก็ยังเกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ เพราะทุกวันนี้ยังคงได้รับข่าวหลายกรณีที่ทหารพม่าอนุญาตให้ทหารใต้บัญชาข่มขืนผู้หญิงและอีกหลายกรณีที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้เก็บข้อมูลรวบรวมจนถึงขณะนี้ก็ยังมีการข่มขืนอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์ของชาวบ้านก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง


 


"ชาวบ้านจะถูกกดขี่ข่มเหงโดยรวมเหมือนกันอยู่แล้ว แต่ผู้หญิงกับเด็กจะถูกกระทำมาก แล้วถ้าเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จะถูกละเมิดมากกว่า โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงจากการถูกข่มขืน"


           


เมื่อถามว่า ที่ผ่านมา "SWAN" ออกมาทำรายงานเปิดโปงข้อมูลเรื่อง "ใบอนุญาตข่มขืน"


ได้กระตุ้นต่อมจิตสำนึกของรัฐบาลทหารพม่าบ้างหรือไม่ ว่าได้ทำให้รัฐบาลทหารพม่าฉุกคิดหรือว่าหยุดนโยบายกดขี่ลักษณะนี้บ้างหรือไม่


 


จ๋ามตอง บอกว่า ใบอนุญาตข่มขืน ทำให้นานาชาติรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก และเป็นการเปิดโปงว่าทหารพม่าใช้การข่มขืนอย่างเป็นระบบ กับกลุ่มชาติพันธุ์ผู้หญิงและเด็กอย่างไรบ้าง ทหารพม่าถูกประณามโดยนานาชาติและหลายประเทศมาก และในขณะเดียวกันเราก็ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในพื้นที่โดยเฉพาะพื้นที่ต่าง ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ จะเห็นได้ชัดว่าทหารพม่าไม่จริงใจในการแก้ปัญหาในเรื่องนี้


 


และเมื่อพูดถึงพม่า แน่นอนว่า จำเป็นต้องพูดถึงการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จากนโยบายของรัฐบาลทหารพม่า


 


จ๋ามตอง บอกว่า แม่น้ำสาละวินที่พม่า นั้นไหลผ่านทั้ง รัฐฉาน รัฐกะเหรี่ยง รัฐคะยา แล้วก็รัฐมอญ ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำของกลุ่มชาติพันธุ์จริงๆ และชาวบ้านก็ต้องอาศัยแม่น้ำสาละวิน ถ้าหากมีการสร้างเขื่อนซึ่งจะมีหลายเขื่อนที่จะสร้างขึ้น ก็จะมีชาวบ้านที่ได้รับผลกรทบอย่างมากตอนนี้ก็จะมีชาวบ้านที่ถูกขับไล่จากหมู่บ้านเนื่องจากโครงการเหล่านี้


 


"ซึ่งถ้าเจอปัญหาแบบนี้ ชาวบ้านก็คือต้องอพยพเข้ามาลี้ภัยในเมืองไทย ซึ่งถ้าหากมีการสร้างเขื่อนจริง ๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะกับทรัพยากรธรรมชาติ อย่างเช่นป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิถีชีวิตชาวบ้านและประชาชนที่หนีมาเป็นผู้ลี้ภัยและเป็นแรงงานอย่างถาวรที่จะไม่สามารถกลับไปที่บ้านของเขาได้"


 


เธอบอกย้ำด้วยว่า โครงการเหล่านี้ไม่เคยมีใครไปถามชาวบ้านว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเขามีอะไรบ้าง และชาวบ้านไม่เคยมีสิทธิ์ที่จะบอกหรือได้รับผลประโยชน์อะไรเลยจากโครงการเหล่านี้ เขาไม่มีสิทธิ์รับรู้อะไรเลย แต่ว่ามีแต่ต้องหนี ต้องสูญเสีย และถูกขับไล่ เขายังไม่รู้เลยว่าจะมีการสร้างเขื่อนด้วยซ้ำ


 


วกกลับมาคุยประเด็น "ความขัดแย้งเรื่องการเมืองในพม่า" ที่กำลังร้อนระอุในขณะนี้


 


จ๋ามตอง บอกว่า การเคลื่อนไหวในเรื่องการเมืองในรัฐต่างๆ นั้นเป็นไปด้วยความลำบาก เนื่องจากว่าเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตอนนี้ผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ หรือแม้แต่ "ขุนทุนอู" ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติไทยใหญ่เพื่อประชาธิปไตย SNLD ซึ่งได้รับเลือกตั้งมากที่สุดในรัฐฉาน เมื่อปี พ.ศ.2533 และผู้ใหญ่หลายคนที่เป็นสมาชิกของพรรคได้ถูกทหารพม่าจับกุมพร้อมกับผู้นำคนอื่นๆ เมื่อช่วงวันที่ 8 - 9 ก.พ. พ.ศ.2548 และเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สองรองจากพรรคเอ็นแอลดีก็ยังถูกคุมขังรวมกว่า 30 คนจนถึงทุกวันนี้


 


"แล้วพวกเขาก็ถูกส่งไปยังพื้นที่ที่ทุรกันดารมากในรัฐต่าง ๆ พวกเขาไม่ได้อยู่ในรัฐฉานเลย ซึ่งทำให้ครอบครัวเข้าไปเยี่ยมก็ไม่ได้ ในเรื่องของการเมืองก็ยังเหมือนเดิม คือ ถูกควบคุม"


 


เมื่อถามว่า ทางเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ และคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า จะผลักดันเคลื่อนไหวกันอย่างไรต่อไป


 


แสงน้อง (Hseng Noung) ชาวไทใหญ่ ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ (Advisory Team Member of the Shan Women"s Action Network -SWAN) และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า (Presidium Board member of Women"s League of Burma) บอกว่า ที่ผ่านมา ได้มีการพยายามจะทำให้ประชาชนพม่าที่ไม่ใช่กลุ่มชาติพันธุ์เขารู้มากขึ้นว่า ทหารพวกนี้ข่มขืนจริงๆ ชอบกดขี่ข่มเหงทารุณกรรมจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาหนึ่งขั้นที่ว่าคนส่วนใหญ่จะรู้มากขึ้น และหลังจากปี 1988 ก็จะรู้กันมากขึ้นด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งมันช้ามากใช้เวลา ใช้ชีวิตคนทั้งหลายร้อยหลายพันคน กว่าประชาชนเขาจะรู้จริง ๆ ว่า ทหารพม่าพวกนี้มันทำลายจริงๆ


 


เธอบอกว่า เรื่องการเคลื่อนไหวครั้งนี้ก็สำคัญเหมือนกัน ถ้าประชาชนไม่รู้จริง ๆ เขาก็จะไม่รู้สึกว่า คนพวกนี้ลุกขึ้นมาต่อสู้ถืออาวุธทำไม คำตอบก็คือเรื่องมันเป็นมาอย่างนี้มาตลอด 50 กว่าปี คนอื่น ๆก็รู้เรื่องพม่ามากขึ้น


 


"ตอนปี 1988 ที่เห็นทหารพม่าใช้ความรุนแรงตายกันหลายคนที่เมืองย่างกุ้ง คนนานาชาติก็เห็น แต่จริงๆ แล้ว เรื่องข่มขืนนี่ไม่ใช่เพิ่งจะเกิดขึ้นเมื่อปี 2002 แต่เป็นมาตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษ ตอนนั้น ตั้งแต่กลุ่มจีนคณะชาติก๊กมินตั๋ง หนีมาจากประเทศจีน และก็ยังไม่มีทหารพม่าอยู่ในรัฐฉานเลย แล้วก๊กมินตั๋งก็เข้ามาและเพราะว่าไม่มีเงิน ไม่มีข้าวกิน เขาก็เอาไก่ เอาหมูเอาข้าวสาร เอาผู้หญิงด้วย ทหารพม่าก็เลยขึ้นมาในรัฐฉานมาปกป้องประชาชน แต่การปฏิบัติของทหารไม่แตกต่างกับกรมมันตัง ที่เข้ามาเอาหมู เอาเป็ด เอาไก่ เอาผู้หญิง เพราะฉะนั้นก็ลำบากสำหรับประชาชน ตั้งแต่นั้นกลุ่มรัฐฉานก็เริ่มคิดจะต่อสู้ให้ได้รับเอกราชจากสหภาพ ซึ่งมีเขียนไว้ในสัญญาปางหลวง ก็ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่สงบเลย


 



"แสงน้อง" (Hseng Noung) ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่


และประธานคณะกรรมการบริหารองค์กรสันนิบาตสตรีแห่งพม่า


(Presidium Board member of Women"s League of Burma)


  


ทางออกหรือว่าแนวทางในการเรียกร้อง จำเป็นต้องมีสองแนวทางควบคู่กันไปใช่ไหม ทั้งเรื่องการจับปืนลุกขึ้นสู้ และการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธี โดยใช้ข้อมูลความจริงมาเปิดเผย


           


แสงน้อง บอกว่าเป็นขบวนการมาตั้งแต่ครบรอบสิบปีหลังจากสัญญาปางหลวง ตั้งแต่กลุ่มก๊กมินตั๋งเข้ามาในรัฐฉาน เราก็รอคอยกันมา จนถึงปี 1958 กลุ่มไทใหญ่ก็เริ่มมีกองกำลังปฏิวัติ (กลุ่ม "หนุ่มศึกหาญ") จนป่านนี้ถึงปีนี้ ปี 2007 ก็ยังต้องมีกองกำลังเคลื่อนไหว ก็เป็นขบวนการที่ต่อสู้เพื่อเอกราชของตนนับตั้งแต่นั้นมา


 


"กลุ่มไทใหญ่ก็เหมือนกับกลุ่มกะเหรี่ยงด้วย ก็คือมีกลุ่มที่ต่อต้านเป็นครั้งแรก แล้วกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ก็ตามมา แล้วก็มีปัญหาทางการเมืองตั้งแต่นั้นมา เพราะฉะนั้น เป็นเรื่องการเมืองเรื่องที่ต่างไม่พอใจ เรื่องที่ไม่ยุติธรรม เรื่องที่ไม่สิทธิ์เท่าเทียมกัน หลายๆ อย่างก็เลยไม่แก้ และการที่ไม่แก้มาตลอดทำให้มันยุ่งขึ้น เกิดปัญหาใหญ่ขึ้น ในเวลาเดียวกันบางประเทศ บางบริษัท ก็ฉวยโอกาส ฉวยเอาทรัพยากรที่พม่ามีอยู่ ในช่วงสถานการณ์ที่ประเทศพม่าไม่มั่นคงในขณะนี้ด้วย"


 


แหละนี่เป็นเพียงบางฉาก บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พม่า...เหตุการณ์เลวร้ายรุนแรงที่ยังไม่เปลี่ยนแปลง.


 


ข้อมูลที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง


สัมภาษณ์ "แสงน้อง": ผู้ปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ กรณีพระสงฆ์และประชาชนเดินขบวนในพม่า, ประชาไท, 26 ก.ย. 50


ทำความรู้จัก "ใบอนุญาตข่มขืน": เมื่อผู้หญิงไทใหญ่ทำวิจัยเปิดโปงอาวุธประหัตประหารของรัฐบาลทหารพม่า, ประชาไท, 16 ต.ค. 49


เอ็กซ์คลูซีฟ! สัมภาษณ์พิเศษ: "จ๋ามตอง" หญิงไทใหญ่ที่ "บุช" ขอพบ, ประชาไท, 21 พ.ย. 48

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net