Skip to main content
sharethis

จรรยา ยิ้มประเสริฐ,


ผู้อำนวยการ โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย


 


หมายเหตุ : ชื่อบทความ แก้ไขจากชื่อเดิม "พม่า"


 


 


เกือบยี่สิบปี่ที่กลุ่มและองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนทั่วโลกได้ประท้วงครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อกดดันให้ผู้นำของโลกทั้งหลายดำเนินมาตรการเพื่อนำประชาธิปไตยมาสู่พม่า แต่ดูเหมือนว่าเสียงของพวกผู้นำของโลกยังไม่ดังพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้นำในกลุ่มประเทศอาเซียน เช่น รัฐบาลจีนและญี่ปุ่นที่มีผลประโยชน์กับพม่ามากที่สุด และดำเนินธุรกิจโดยไม่ใยดีว่า ประชาชนพม่าจะอยู่ภายใต้การกดขี่จากรัฐบาลทหารที่ได้รับการกล่าวขานว่าโหดร้ายที่สุดในโลกนี้ อย่างไรบ้าง


 


ความรุนแรงที่รัฐบาลทหารพม่ากระทำต่อประชาชนของตัวเองในปี 2531 และต่อเนื่องมาอีกหลายปี ส่งผลให้มีผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากพม่าอพยพเข้ามาและยังอยู่ในไทยประมาณ 150,000 คน ไม่นับชาวพม่าอีก 2 ล้านคนที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงาน ทั้งที่มีบัตรอนุญาตและไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน พวกเขาเหล่านี้ทำงานที่เป็นงานที่ได้รับค่าจ้างต่ำสุด ได้รับค่าแรงเพียงวันละประมาณเพียง 70 - 80 บาทต่อวัน (เพียงแค่ 40% ของค่าแรงขั้นต่ำ)


 


คนงานอพยพเหล่านี้ที่อยู่ภายใต้การคุกคามทางการเมืองของรัฐบาลทหารพม่า และต่างก็อยู่ในสภาพที่เปราะบางต่อการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ นานา ทั้งจากนายจ้างและเจ้าหน้าที่รัฐของไทย คนงานจำนวนมากถูกจับและส่งตัวกลับประเทศ และต้องเสียเบี้ยใบ้รายทางให้กับทหารพม่าตลอดเส้นทาง


 


ร่วมยี่สิบปีที่พวกเขาหนีเข้ามาพึ่งพิงประเทศไทย แต่พวกเขาใช้ชีวิตโดยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิพลเมืองใดๆ ทั้งสิน ไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครองจากระบบประกันสังคม อยู่ในกับดักแห่งความเป็นอยู่ที่ยากจนข้นแค้น และต้องหนีหัวซุกหัวซุนราวกับสัตว์ที่ถูกล่าในทุกครั้งที่มีเจ้าหน้าที่หรือตำรวจมาตรวจโรงงาน


 


พวกเราได้เพิกเฉยต่อชะตากรรมของคนพม่าร่วม 50 ล้านคน มานานมากเกินพอแล้ว


 


หลังจากได้มีประสบการณ์ตรง (จากการไปพม่า) และได้ประจักษ์ถึงสภาพความจนอย่างที่สุดของชาวพม่าตลอดริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี ซึ่งถือเป็นแม่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดสายหนึ่งในเอเชีย  ในปี 2546 โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยได้ดำเนินโครงการต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานพม่าในประเทศไทย และได้เปิดสำนักงานที่อำเภอแม่สอด ทั้งนี้ด้วยการสนับสนุนจากองค์กรคริสตจักรเพื่อสังคม ประเทศนอรเวย์ และองค์กร ไดอาโกเนีย ประเทศสวีเดน


 


 


ความทรงจำจากย่างกุ้งและพุกามในปี 2543


"พวกเราจะไปประท้วงที่ทำเนียบรัฐบาลที่กรุงแคนเบอร่ากันนะ" เพื่อนบอกกับผู้เขียนในช่วงที่ผู้เขียนได้ไปศึกษาเกี่ยวกับออสเตรเลียเป็นเวลา 2 เดือนในปี 2533 การประท้วงครั้งนี้เพื่อเป็นการระลึกถึงการครบรอบสองปีของการปราบปราบประชาชนของทหารพม่า ในวันที่ 8 สิงหาคม 2531 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสามพันกว่าคน


 


นับตั้งแต่นั้นมา ผู้เขียนก็เข้าร่วมการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยในพม่ามาโดยตลอด


 


ในปี 2543 และ 2544 ผู้เขียนได้มีโอกาสเดินทางไปพม่าเพื่อปฏิบัติภารกิจให้กับองค์กร Altsean-Burma (เครือข่ายทางเลือกอาเซียนต่อพม่า) ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้มีโอกาสประจักษ์ถึงความจริงอันโหดร้ายของสภาพความเป็นอยู่ของชาวพม่า การไปพม่าทั้งสองครั้งทำให้ผู้เขียนเข้าใจในที่สุดว่า "ความยากจนอย่างแร้นแค้นถึงที่สุด" นั้นมันหมายถึงอะไร และวิถี "แห่งการค้าอันไร้พรมแดน" นั้นมันเป็นจริงเช่นไร


 


ทุกโรงแรมจะมีภาพถ่ายของนายทหารติดบนฝาผนัง คุณสตีฟ บีบี้ เพื่อนร่วมเดินทางและตัวผู้เขียนเองก็ได้รับทราบว่า ผู้นำทหารทั้งหลายจะได้รับหุ้นในโรงแรมต่างๆ ฟรีโดยไม่ต้องจ่ายเงินร่วมลงทุน ในการไปพม่าครั้งที่สอง พวกเราพักที่โรงแรมที่เป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนชาวเอเชีย ทั้งจากสิงคโปร์ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น สำหรับนักธุรกิจไทยนั้นขึ้นชื่อในเรื่องการดูแลเรื่องธุรกิจโรงแรมและการบริการ


 


เด็กหนุ่มร่างผอมแกร่นชาวพม่าพยายามเชิญชวนพวกเรา "ไปเที่ยวพุกามไหมครับ" หลังจากที่เฝ้าติดตามพวกเราร่วมครึ่งวัน เขาก็ประสบความสำเร็จในการกล่อมให้เราเชื่อว่า สามารถเดินทางไปกลับระหว่างย่างกุ้งและพุกามซึ่งมีระยะทางห่างกันประมาณ 350 กิโลเมตรได้ภายในสองวัน


 


เมื่อเราเดินทางมาได้ประมาณครึ่งทางไปตามถนนที่ขรุขระและมืดมิด เราก็ตระหนักได้ว่าทั้งคนขับรถแท็กซี่และไกด์ของเราไม่รู้เส้นทาง ระยะเวลาการเดินทางที่บอกกับเราว่าประมาณ 6-8 ชั่วโมงก็กลายเป็น 14 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางเราผ่านด่านตรวจมากมาย และไกด์ผู้น่าสงสารของเราในขณะที่บ่นพึมพำกับเรา ก็ต้องควักเงินจ่ายให้กับด่านตลอดเส้นทาง


 


ในช่วงหยุดพัก ไกด์ได้รับทราบข่าวการเสียชีวิตของน้องชาย เขาเสียใจมาก พวกเราก็เสียใจกับเขาเช่นกัน เราแนะนำเขาว่าให้เดินทางกลับย่างกุ้ง แต่เขายืนยันจะไปต่อ เพราะขณะนี้เขาต้องการเงินมากยิ่งกว่าตอนที่เราออกเดินทางออกมาจากย่างกุ้งเสียด้วยซ้ำไป


 


ในระหว่างเดินทางกลับ เราได้หยุดพักเยี่ยมหมู่บ้าน 2 แห่ง ชาวบ้านได้พาเราเดินตระเวนรอบหมู่บ้าน พวกเขายากจนมากจริงๆ แต่ละครอบครัวอาศัยอยู่ในกระท่อมโทรมๆ ทำด้วยไม้ไผ่และวัสดุอุปกรณ์ที่หาได้ พวกเขาขาดแคลนไปเสียทุกสิ่ง ทั้งผ้าห่ม ยารักษาโรค อาหาร และอนาคต


 


ที่บ้านหลังหนึ่งมีคนในครอบครัวนอนป่วยเรื้อรัง "พวกเราจำเป็นต้องดูแลกันไปตามมีตามเกิด เราไม่สามารถพาเขาไปโรงพยาบาลได้ เพราะมันอยู่ไกลมากและเราก็ไม่มีเงินเลย" พวกเขาบอกกับเราว่าไม่ใช่เฉพาะครอบครัวของเขาเท่านั้น แต่ทุกครอบครัวริมสองฝั่งแม่น้ำอิระวดีที่อยู่ห่างจากย่างกุ้งนับ 100 กิโลเมตร ไม่มีใครมีปัญญาพาคนป่วยไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้


 


แม้ว่าจะผ่านมาหลายปีแล้วก็ตามนับตั้งแต่ผู้เขียนเดินทางไปพม่าทั้งสองครั้ง แต่สภาพความเป็นอยู่และชีวิตของชาวพม่ายังกระจ่างชัดอยู่ในความทรงจำ


 


ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในพม่า ผู้เขียนหวังยิ่งว่าพวกเรา ทั้งโลก จะช่วยกันรณรงค์ให้ได้มาซึ่งสันติภาพและประชาธิปไตยในพม่า - โดยทันที


 


พวกเราจะไม่ยอมให้มีการสูญเสียเลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์อีกต่อไป ยี่สิบปี่ที่ผ่านมาชาวพม่าได้สูญเสียบุคคลที่รักไปมากเหลือเกินแล้ว


 


ประชาชนในพม่าทุกข์ทรมานกันมามากเกินพอแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net