Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 50 ศูนย์ศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย (Center for Democratization Studies) คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเสวนาเรื่อง "วิกฤตการเมืองในพม่า" โดยมีวิทยากรจากองค์กรเอกชนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยในพม่า และสื่อที่เกี่ยวข้อง


 


 


พรสุข เกิดสว่าง จากนิตยสารเพื่อนไร้พรมแดน เล่าถึงสภาพจากค่ายผู้ลี้ภัยว่า ช่วงที่เกิดการประท้วง ได้อยู่ที่ชายแดน ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จะสามารถรับรู้ข่าวสารได้จากวิทยุกับเพื่อนฝูงเท่านั้น คนในค่ายอพยพลี้ภัยซึ่งมีทั้งคนกะเหรี่ยง พม่า และคนไทย เมื่อได้ทราบข่าวเรื่องการประท้วงใหญ่ ทราบกันอยู่แล้วว่าวันหนึ่งมันจะต้องเกิดขึ้น วันหนึ่งคนพม่าคงไม่อาจจะทนอยู่ได้ในสภาพปัจจุบัน รวมถึงบรรยากาศของความกลัวซึ่งทหารพม่าสร้างไว้มันจะจบลงไป


 


เรารู้ว่ามันจะเกิด แล้วตามมาด้วยการนองเลือด ความรู้สึกของคนในค่ายอพยพ บางคนก็กลัวว่ามันจะมีการนองเลือดเกิดขึ้น แล้วเมื่อมีการนองเลือดเกิดขึ้นจริง ก็เกิดความรู้สึกสับสนเพราะไม่รู้ว่าควรจะมีความหวังหรือสิ้นหวังดี


 


พรสุขมีข้อสังเกตว่า ในค่ายผู้ลี้ภัย เกิดคำเรียก "ประชาชนพม่า" ซึ่งเดิมไม่ใช่คำนี้ แต่จะใช้คำว่า "พม่า" ซึ่งมีนัยยะถึง ผู้ร้าย เป็นคำที่ฟังดูเป็นศัตรูที่มาทำร้ายเราตลอดเวลา แต่มาวันนี้ เขาใช้แยกกันชัดเจนว่า "รัฐบาลพม่า" "ทหารพม่า" "คนพม่า"


 


พรสุขกล่าวถึงสถานการณ์ผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาในประเทศไทยว่า จำนวนผู้ลี้ภัย นับเฉพาะในค่าย มีอยู่ราวหนึ่งแสนห้าหมื่นคน แต่รัฐบาลไทยกับองค์การระหว่างประเทศพยายามหว่านล้อมให้ไปประเทศที่สาม แล้วตั้งโควตาไว้ปีละหนึ่งหมื่นห้าพันคน ขณะเดียวกัน ก็กั้นชายแดนไว้ไม่ให้เข้ามา แล้วผลักคนที่มีอยู่ให้กลับไป นอกจากนี้ จะมีอีกสี่พันคนที่จะถูกย้ายออกไปอยู่ในหมู่บ้านเล็กๆ ที่พม่า เป็นหมู่บ้านที่มีกันอยู่ 600 คน ซึ่งทำอะไรไม่ได้เพราะรอบข้างมีแต่กับระเบิด ทั้งยังอยู่ใกล้บกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ อีกด้านหนึ่งก็เป็นกองกำลังทหารพม่า


 


พรสุขวิพากษ์สิ่งที่รัฐบาลไทยที่กระต่อพม่าไว้ว่า "รัฐบาลไทยที่ผ่านมาเรามีแต่นโยบายที่เก๋ๆ เยอะ ที่ใช้กับพม่า โดยที่เราไม่เคยเข้าแทรกแซงทางการเมือง แต่สรุปแล้วมันก็คือการเข้าไปหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากพม่า เรามีโครงการก่อก๊าซไทยพม่า มีโครงการการเกษตรที่ทำให้คนถูกยึดที่ดิน ซึ่งส่งผลให้เกิดผู้ลี้ภัยมากขึ้น ขณะเดียวกันเราก็มีส่วนในนั้น มีส่วนกับความรุนแรงในพม่าไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม"


 


"ในขณะที่เพื่อนของเราที่ย่างกุ้งกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมา เพื่อนของเราซึ่งเป็นผู้พลัดถิ่นมากมายที่ต่อต้านการถูกขับไล่ด้วยการไม่ยอมหนีไม่ยอมย้าย บางคนกำลังต่อต้านรัฐบาลอย่างสันติ มีผู้ลี้ภัย มีแรงงานอพยพที่ดิ้นรนอยู่ในบ้านเมืองของเขา แล้วพวกเรารู้สึกอะไรบ้างไหม ไม่อยากให้ลุกขึ้นมากระตือรือร้นแค่ในช่วงที่มีเหตุการณ์ที่เลวร้ายเกิดขึ้น เป็นข่าวออกทีวีทุกช่อง ถ้าข่าวมันเงียบไป เราจะเงียบด้วยหรือเปล่า" พรสุขกล่าว


 


 


"แสงน้อง" ประธานกลุ่ม Women"s League of Burma (WLB) กล่าวถึงปัญหาพม่าว่ามีมายาวนานจากรัฐบาลเผด็จการทหาร ซึ่งบทบาทของผู้หญิงที่มีในการเคลื่อนไหว ก็มีให้เห็นตั้งแต่ปี 1962 ในการร่วมประท้วงก็มีผู้หญิงอยู่ไม่น้อย แต่เพื่อนร่วมประท้วงที่เป็นผู้หญิงหลายคน เมื่อถูกจับตัวไปก็ถูกทำร้าย ถูกเลือกปฏิบัติ ในปี 1988 ก็มีหลายคนถูกทารุณกรรมทางเพศ แม้ในปัจจุบันนี้เอง ทางสันนิบาตผู้หญิงพม่าแสดงความเป็นห่วงว่าทหารพม่าจะใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ซึ่งมีผู้หญิง รวมถึงมีแม่ชีอยู่ในนั้น


 


ปัญหาที่มีในพม่า ทำให้เกิดปัญหาผู้ลี้ภัยเข้ามาในเมืองไทย ขณะเดียวกัน ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ก็มีความยากลำบากในการเดินทางไปร่วมประท้วง เช่น พี่น้องในรัฐฉาน ผู้นำบางคนก็ถูกจับตัวไป กลุ่มองค์กรชุมชนต่างๆ ก็ถูกทหารพม่าจับตามอง อีกส่วนหนึ่งก็ถูกทหารพม่าบังคับให้ออกมาเดินขบวนสนับสนุน


 


แสงน้อง เสนอว่า อยากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ หาทางออกโดยการที่จะมีการเจรจาร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายทหาร NLD และกลุ่มชาติพันธุ์


 


 


"จ๋ามตอง" จากกลุ่มผู้หญิงไทใหญ่ กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลไทยมีนโยบายชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากการถูกปราบปรามด้วยความรุนแรง อยากให้หยุดโครงการลงทุนในพม่า เช่น เขื่อนสาละวิน ซึ่งชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่ก็ไม่สามารถทักท้วงอะไรทหารพม่าได้เลย ทหารพม่าเองก็เอาแต่บีบบังคับผู้คนทำสิ่งต่างๆ มาโดยตลอด เรื่องสิทธิมนุษยชนในพม่าก็กำลังมีปัญหา จึงอยากให้รัฐบาลเลิกให้การสนับสนุนโครงการเหล่านี้ด้วย


 


จ๋ามตองกล่าวว่า ผู้อพยพจากพม่าเขาแค่ต้องการจะกลับบ้าน ต้องการจะอยู่ในพื้นที่ที่เขาสามารถอยู่ได้อย่างสงบสุข ปราศจากความหวาดกลัวจากรัฐบาลทหารพม่า อยากให้ทุกคนมีส่วนร่วมช่วยเหลือตรงนี้ด้วย นอกจากนี้ ยังขอให้กลุ่มได้มีขบวนการทำงานต่อสู้ภาคประชาชนที่แท้จริง เพื่อช่วยเหลือผู้ถูกทารุณในพม่าด้วย


 


 


ดร. Lian Sakhong เลขาธิการ Ethnic Nationality Council กล่าวว่า ความรุนแรงต่อกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่านี้เกิดขึ้นมานานแล้ว ปัญหาทางการเมืองเองก็นำมาซึ่งการประท้วงในปี 1988 ซึ่งในช่วงเวลานั้น ไม่มีการให้ความช่วยเหลือจากภายนอก และไม่สามารถสื่อออกมาได้


 


เขากล่าวว่า ปัญหาในพม่าจะส่งผลกระทบต่อเมืองไทยในเรื่องของผู้อพยพ จึงอยากให้คนไทยตระหนักถึงเรื่องนี้ อยากให้ช่วยเป็นทางแก้ (Solution) ของปัญหา คนพม่าไม่ได้ต้องการอะไรเลยนอกจากสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปควรได้รับ อยากได้รับการศึกษา อยากมีชีวิตที่เสรี การให้ความเห็นใจเป็นเรื่องดี แต่ไม่อาจแก้ปัญหาได้ (Sympathy will not solve the problem) ประชาชนพม่า ต้องการการกระทำที่จะเข้าไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชน หรือกดดันรัฐบาล


 


ในทุกวันนี้ ต่างชาติหลายประเทศยังคงสนับสนุนรัฐบาลทหารพม่าอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียนที่ให้การสนับสนุนการลงทุน จีนก็ยังคงมีโครงการที่สนับสนุนทหารพม่าให้มีอำนาจมากขึ้น ขณะที่ปัญหาหลายอย่างในพม่ายังไม่ได้รับการแก้ไข ทุกวันนี้พม่ายังเต็มไปด้วยยาเสพติด โรคภัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย ฯลฯ


 


 


Toe Zaw Latt จาก Democratic Voice of Burma กล่าวถึงข้อมูลและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า ว่า ข้อมูลส่วนใหญ่ได้มาจากสัญญาณโทรศัพท์ดาวเทียม แต่ภาพข่าวที่ออกมาตามสื่อต่างๆ ยังมีแต่เฉพาะจากเมืองใหญ่ เนื่องจากสามารถส่งข่าวออกมาได้ ขณะที่ยังมีการประท้วงจากเมืองเล็กๆ อีกหลายเมืองที่ส่งข่าวออกมาไม่ได้ ฝ่ายรัฐบาลทหารก็คอยสกัดกั้นประชาชนไม่ให้มาเข้าร่วมประท้วง ทำให้ประชาชนในชนบทถูกตัดขาดออกจากเมืองและไม่มีอาหาร


 


 


อัจฉริยา สายศิลป์ ผู้สื่อข่าวของสื่อพม่าพลัดถิ่น กล่าวถึงกระบวนการสื่อในพม่าว่า เหตุการณ์การเดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่นี้ มีการเผยแพร่รูปภาพต่างๆ ออกมาได้ ท่ามกลางการควบคุมสื่ออย่างรุนแรงในพม่า ถ้าเทียบกับปี 1988 มีคนตายประมาณสามพันคน ใช้เวลาเกือบสามสัปดาห์กว่าข่าวจะรั่วไหลออกมาได้ ซึ่งไม่ทันแล้วที่จะสร้างปฏิกิริยาจากชาวโลก


 


ปัจจุบัน ในเชียงใหม่มีเครือข่ายสื่อพม่าอยู่หลายองค์กร เช่น Democratic Voice of Burma อิระวดี รวมถึง อัลจาซีร่า ที่เป็นสื่อระดับโลก


 


อย่างไรก็ดี ล่าสุด รัฐบาลพม่าปิดกั้นการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตแล้ว การควบคุมอินเตอร์เน็ตอยู่ในมือรัฐบาลผู้เดียว ซึ่งเทคโนโลยีการ Block อินเตอร์เน็ตในพม่านั้นยังไม่เก่งเท่ายักษ์เขียวของไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่ Block ได้แค่บางส่วน ไม่นานมานี้ก็มีการบอกว่าเคเบิ้ลใต้น้ำเสีย ก็ตัดอินเตอร์เน็ตทั่วประเทศเลย แต่ขณะที่เครือข่ายสัญญาณของไทยกับมาเลเซียยังใช้ได้


 


อัจฉริยากล่าวว่า รัฐบาลพม่าระวังตัวมากที่จะไม่ให้ข่าวหลุดรอด จึงหันมาเล่นงานนักข่าวต่างชาติ ไม่ให้นักข่าวต่างชาติเข้าไป และทหารจะระวังมากกับคนถือกล้อง ถ้าใครถืออย่างเปิดเผยจะยิงทันที เช่นกรณีของนักข่าวญี่ปุ่นที่ชื่อเคนจินั้น เป็นเพราะเขาถือกล้องอย่างชัดเจน และอยู่หน้าขบวนของผู้ชุมนุม ซึ่งภาพในพม่าส่วนใหญ่จะต้องใช้วิธีการแอบถ่าย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net