Skip to main content
sharethis

คณะทำงานวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีการจัดการประชุมสัมมนาวิชาการภายใต้หัวข้อ "วิกฤตโลกร้อน: ความไม่พร้อมของประเทศไทย" ณ ห้องราชเทวี โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 28 กันยายนที่ผ่านมา


ระบุมนุษย์ทำร้ายตัวเอง เปลี่ยนระบบนิเวศ ช่วยเชื้อโรคแข็งแรง
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์ประจำคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปัญหาโรคระบาดที่จะเกิดจากวิกฤตโลกร้อน ว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง ที่สุดแล้ว ก็คือ พฤติกรรมของมนุษย์ในการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศวิทยา ที่ไปช่วยส่งเสริมให้เชื้อโรคแข็งแรงมากกว่าเดิม รวมทั้งการนิยมบริโภคสัตว์ป่า และเมื่อเชื้อโรคมีการพัฒนาถึงระดับหนึ่ง และมนุษย์ละเลยเพิกเฉยต่อการรับมือและเตรียมพร้อมในเชิงรุก ก็จะเป็นโอกาสดีที่เชื้อโรคระบาดในวงกว้าง เช่น การเสียชีวิตซ้ำซากจากไข้หวัดนก


30-50 ปีข้างหน้า อากาศเปลี่ยนรุนแรง ฤดูหนาวสั้น แล้งยาวนาน
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์ วิจัย และฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลก แห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (START) กล่าวถึง ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอีก 30-50 ปีข้างหน้า ว่าผลการศึกษาพบว่า ค่าเฉลี่ยน้ำฝนมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก โดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ที่สำคัญ คือ ปีที่มีน้ำมากกับปีที่น้ำน้อย จะเกิดขึ้นแบบสุดขั้วมากขึ้น โดยผลที่ได้จากแบบจำลองสภาพภูมิอากาศ แนวโน้มค่าเฉลี่ยฝนจะมากขึ้น เพราะลมมรสุมจะแรงขึ้น อนาคตฤดูหนาวจะสั้น ฤดูแล้งจะยาวนาน อุณหภูมิเฉลี่ยจะสูงขึ้น 2-3 องศาเซลเซียส


และน้ำจะท่วมกรุงเทพฯ ได้ ด้วยสาเหตุหลายปัจจัย คือ หากเกิดภาวะน้ำแข็งละลายอีก 50 ปีข้างหน้า จะทำให้น้ำขึ้นมากที่สุด 20-30 เซนติเมตร การขยายตัวของน้ำในมหาสมุทรชั้นบน 0.1% อีก 20 เซนติเมตร และอีกประเด็นที่สำคัญกว่า คือ ลม เพราะลมจะทำให้มรสุมมีกำลังแรงขึ้น เมื่อลมแรงในช่วงฤดูหนาว ลมที่มาจากตะวันออกเฉียงเหนือจะดึงน้ำจากทะเลจีนใต้ เข้ามาหนุนให้น้ำทะเลยิ่งสูงขึ้น


ดังนั้น เมื่อมองภาพรวมอีก 50 ปีข้างหน้า น้ำจึงอาจเพิ่มสูงเต็มที่ 1 เมตร และผลกระทบที่ตามมาจากน้ำท่วม คือ น้ำจะดันลุกเข้าไปในแผ่นดินในสัดส่วนรุนแรงหลายพันเท่า โดยเฉพาะกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมีพื้นที่ราบต่ำทำให้ได้รับผลกระทบมากที่สุด อีกทั้งน้ำทะเลจะกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่ง ซึ่งเป็นที่ดินที่มีมูลค่ามหาศาล นอกจากนี้ การกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งทำให้ระบบนิเวศวิทยาเปลี่ยนแปลงไป การระบายน้ำจะยากขึ้นและการรุกล้ำของน้ำเค็มยังส่งผลต่อน้ำดื่ม น้ำใช้ของคนกรุงเทพฯ โดยเฉพาะหากมีการรุกล้ำเข้าใกล้บริเวณผลิตน้ำประปา จะสร้างความเสียหายอย่างมาก


อุณหภูมิเปลี่ยนเร็ว สัตว์-พืชปรับตัวไม่ทัน พบข้าวปินส์ออกรวงแต่ไม่มีเมล็ด
ดร.กัณฑรีย์ บุญประกอบ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อธิบายว่า การสืบทอดเผ่าพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติจำเป็นจะต้องมีอุณหภูมิที่เหมาะสม ขณะที่ ที่ผ่านมาสิ่งแวดล้อมรอบข้างไม่เหมาะสม สัตว์จะเคลื่อนที่ไปสู่จุดอีกจุดหนึ่ง แต่ปัจจุบันอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ภายใน 100 ปี อุณหภูมิเปลี่ยน 1.4-5.8 องศาเซลเซียส จึงทำให้สิ่งมีชีวิตปรับตัวไม่ทัน พื้นที่อยู่อาศัยไม่ต่อเนื่องกัน เนื่องจากมีการขยายเมือง เมื่ออยู่ไม่ได้ก็สูญพันธุ์ และเกิดพืชพันธุ์ชนิดใหม่ๆ เข้ามาทดแทน โดยเฉพาะด้านผลผลิตทางการเกษตรน้อยลงอย่างมาก ตัวอย่างเช่น การทดลองปลูกข้าว ที่สถาบันปลูกข้าวนานาชาติในฟิลิปปินส์ พบว่าอุณหภูมิในนาข้าวมีผลต่อละอองเรณูซึ่งอ่อนไหวต่ออุณหภูมิอย่างมาก ทำให้ผสมไม่ติดข้าว ข้าวจะเจริญเติบโตออกรวงแต่ข้างในกลับไม่มีเมล็ด ดังนั้นจึงควรเริ่มเก็บสายพันธุ์ต่างๆ และคัดสายพันธุ์จากป่าเพื่อมาผสมพันธุ์ใหม่ให้มีความทนร้อนทนแล้ง


ไฟป่า น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยแล้ง คือสิ่งที่จะเกิดหลังภาวะ "โลกร้อน"
รศ.ดร.ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ประจำภาควิชา ธรณีวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกเป็นสาเหตุให้เกิดความแปรปรวนของอากาศในทุกทวีปของโลก ผลกระทบต่อภัยพิบัติน้ำท่วม แผ่นดินไหว ภัยแล้งในอนาคตจะมากขึ้นและส่งผลต่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยเฉพาะในปีที่มีน้ำมากปรากฏการณ์ El Nino จะทำให้มีน้ำท่วมและแผ่นดินถล่มเกิดขึ้นมากมาย แต่บางปีที่มีระบบน้ำน้อยอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ ENSO (El Nino-Southern Oscillation) จะทำให้เกิดปัญหาภัยแล้งขาดแคลนน้ำในทุกภาคของประเทศและมีไฟป่าเกิดขึ้น


ชี้ปลูกต้นไม้ 833 ต้น ต่อรถ 1 คัน จึงจะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้
ดร.จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อม และทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงการใช้พลังงานในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่างการใช้งานรถยนต์ตลอดทั้งปีว่า เดินทางเฉลี่ย 25,000 กิโลเมตร ในระยะทางเฉลี่ย 8.3 กิโลเมตรต่อการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 1 ลิตร จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.5 กิโลกรัม ถ้าใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 3,000 ลิตรต่อปี จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เท่ากับ 7,500 กิโลกรัม ซึ่งการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของต้นไม้ตลอดทั้งปีเท่ากับ 9 กิโลกรัม ดังนั้น หากต้องการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะต้องปลูกต้นไม้ขึ้นมาใหม่ถึง 833 ต้นต่อรถยนต์ 1 คัน


นายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่จะแก้ไขปัญหาโลกร้อนนั้น ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน โดยให้แง่คิดไว้ว่า "เราเปลี่ยนคนไม่ได้ แต่เราเปลี่ยนตัวเราเองได้ อยู่ในโลกใบนี้อย่าคิดว่าเราอยู่คนเดียว แต่เราเริ่มต้นที่จะป้องกันปัญหาโรคร้อน ให้รู้ว่าเราทำอะไรอยู่ ขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของตัวเราเอง"


ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้ว และการที่จะสายเกินไปที่เราทุกคนต้องหันมาใส่ใจศึกษา ค้นคว้า รับรู้ และผลักดัน หักล้างความไม่พร้อมของประเทศไทย โดยไม่กระทำพฤติกรรมใดๆ ที่เพิ่มความร้อนให้กับโลกมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกที่กำลังรุนแรงมากขึ้น 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net