เสวนา 1 ปีรัฐประหาร (จบ): อรรถจักร สัตยานุรักษ์ "ความขัดแย้งทางชนชั้น สาเหตุหนึ่งของรัฐประหาร"

 

ในเวทีอภิปราย "ครบรอบ 1 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และอนาคตสังคมไทย" ณ อาคารชั้น 4 ห้องประชุมอาคารปฏิบัติการณ์คณะสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "1 ปี รัฐประหาร ประชาธิปไตยไทย และทางออกสังคมไทย?" โดยมีนักศึกษา อาจารย์ และผู้สนใจเข้าร่วมมากมาย

 

000

 

ในช่วงหนึ่งของการเสวนา รศ.ดร.อรรถจักร สัตยานุรักษ์ นักวิชาการภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ร่วมเสวนา ได้อภิปรายถึงเหตุรัฐประหารที่เกิดขึ้นในวันที่ 19 กันยาฯ 2549 ว่า "มาจากรากเหง้าของความขัดแย้ง ซึ่งมีมานานแล้วในสังคมไทยตั้งแต่ซึ่งนับย้อนไปได้ตั้งแต่ 6 ตุลาฯ ตัวรัฐประหารในครั้งนี้เองก็ถือเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากเป็นรัฐประหารที่ตั้งอยู่บนความขัดแย้งที่ไม่สามารถแก้ไขได้ง่ายๆ และตัวรัฐประหารเองก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้"

 

"หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 มีหนังสือเล่มหนึ่งออกมา ซึ่งผมคิดว่าเป็นหนังสือที่แสดงถึงความขัดแย้งของสังคมไทย หรือทำให้เราเข้าใจความขัดแย้งของสังคมไทยได้ดีขึ้น คือหนังสือเรื่อง "Root of Conflict  เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 เป็นเหตุการณ์ที่สั่นสะเทือนทั้งสังคมไทยแล้วก็ เปลี่ยนโฉมสังคมไทยมามากพอสมควร ลึกซึ้งมากๆ แล้วในวันนั้นทุกคนก็อยากจะตอบคำถามว่า รากเหง้าของความขัดแย้งคืออะไร ในทำนองเดียวกันในหนึ่งปีที่ผ่านมา มันไม่ใช่แค่เหตุการณ์ 19 กันยายน ที่ครบรอบในวันนี้ แต่มันเป็นผลมาจาก สิ่งที่เราอาจจะพูดได้ว่ามันเป็นรากฐานความขัดแย้งของสังคมไทย สิ่งที่ผมจะพูดต่อไปอาจจะไม่ตรงกับหัวข้อเท่าไหร่ ผมอยากจะมาทำความเข้าใจร่วมกันว่า รากเหง้าของความขัดแย้งทั้งหลายที่มันประทุขึ้นมา มันคืออะไร ถ้าหากเราจะมองหาทางออกของเรา เราคงต้องทำความเข้าใจของรากเหง้าหรือ Root of Conflict ตรงนี้ให้ชัดเจน"

 

"การรัฐประหาร เป็นการเปิดหรือทำให้เห็นถึงความขัดแย้งของประวัติศาสตร์ที่สำคัญยิ่ง นักคิดหลายคนก็พูดตรงกันว่าการรัฐประหารครั้งนี้ เป็นรัฐประหารที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมไทย เพราะว่ามันไม่ใช่รัฐประหารเฉยๆ แต่มันเป็นรัฐประหารบนความขัดแย้งที่ต่อรองแก้ไขกันไม่ได้ง่ายๆ และ ตัวรัฐประหารเองก็ไม่ได้แก้ปัญหานี้"

 

อาจารย์อรรถจักร ยังกล่าวไว้อีกว่า จากการพูดคุยกับอาจารย์สมชาย (ปรีชาศิลปกุล) นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เห็นตรงกันว่ารัฐประหารครั้งนี้จะทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น และคิดว่าหลังจากการเลือกตั้งไปแล้ว ช่วงตั้งรัฐบาลใหม่จะวุ่นวายมาก ถ้าไม่ร่วมกันแก้ปัญหามีความเป็นไปได้ที่สังคมไทยจะพัง

 

"คงจำได้...ว่าอาจารย์สมชายกับผมร่วมกันในวันที่ 20 กว่าๆ หลังรัฐประหาร พวกเราก็เห็นตรงกันว่าครั้งนี้มันแก้ปัญหาไม่ได้และรังจะทำให้ปัญหามันรุนแรงมากขึ้น และนับจากนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงผ่านการเลือกตั้งแล้วก็ ช่วงซึ่งอาจจะไม่ได้เรียกว่าฮันนีมูนพีเรียด คือ 6 เดือนแห่งรัฐบาลใหม่จะวุ่นวายมากๆ ถ้าหากเราไม่ตั้งสติไว้ให้ดี ผมคิดว่าเรา ซึ่งในที่นี้ผมหมายถึงทุกๆ ฝ่ายในสังคมไทย ถ้าหากเรายังถือว่ายังเป็น "เรา" อยู่ไม่แก้ปัญหากันดีๆ ผมว่าสังคมไทยพัง"

 

จากนั้นอาจารย์จากภาคประวัติศาสตร์จึงได้พูดถึง สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดรากเหง้าความขัดแย้ง คือแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดชนชั้นคนจนซึ่งหมายถึงคนที่ผ่านความจนและมีการสืบทอดความจนมาสองถึงสามรุ่น

 

"ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมานี้ มีพื้นฐานจากอะไรบ้าง ผมคิดว่าแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา มันทำให้เกิดช่องว่างของคนจนกับคนรวยเพิ่มมากขึ้น เราจะพบว่าคนจนที่ผ่านความยากจนมาสองถึงสามรุ่น อันนี้คือปัญหาใหญ่ เรามักจะนึกถึงคนจนที่อยู่ในปัจจุบัน แต่จริงๆ แล้วคนจนที่ผมหมายถึงในที่นี้คือ คนจนที่ผ่านความจนมาสองถึงสามรุ่น ซึ่งแปลว่าชนชั้นในความหมายกว้างคือการสืบทอดความยากจนมันดำเนินขึ้นมาแล้วปัญหาความยากจนในสังคมไทยและสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี่เป็นปัญหาร่วมกัน อันเกิดจากแผนพัฒนาประเทศแบบเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่เป็นรอยปะทุอันแรกที่สำคัญที่สุดคือ เราสร้างชนชั้นคนจนขึ้นมา อย่าลืมว่าเราไม่ได้สร้างคนจนเท่านั้น เราสร้างชนชั้นคนจนขึ้นมา ลองนึกถึงพี่น้องเกษตรกรทั้งหลายที่ตกอยู่ในปลักของความยากจนมาสองถึงสามรุ่น ผมคิดว่าทั้งหมดคือการสืบทอดความยากจนกันอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ทำให้เกิดคนยากจน เกิดชนชั้นคนจน และหากพิจารณาแล้วชาวบ้านในชนบทกลายเป็นชนชั้นกรรมาชีพในชนบทแล้ว

 

000

 

อาจารย์อรรถจักร ยังได้กล่าวต่ออีกว่า การสืบทอดชนชั้นคนจน นอกจากจะเกิดจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว ยังเกิดจากการสร้างอุดมการณ์ใหญ่หรือออเดอร์ใหญ่คือ "ความเป็นไทย" ที่ปลอบประโลมคนจนให้ยอมสยบ อดทนต่อความยากจนของตนต่อไป

 

"พร้อมๆ กับการสืบชนชั้นคนจน สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า มีการสร้างอุดมการณ์ชุดหนึ่งขึ้นมา อุดมการณ์หรือออเดอร์ใหญ่ที่จรรโลงความไม่เป็นธรรมในสังคมทั้งหลาย ก็คือออเดอร์ที่เราพูดถึงความเป็นไทย ความเป็นไทยที่มีที่ต่ำที่สูง ความเป็นไทยที่สร้างการปลอบประโลมคนจน ให้อดทนต่อความยากจนอันนั้นๆ ถ้าใครมีพ่อเป็นครูอยากให้ลองนึกถึงเพลง "แสงเรืองๆ ที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย" แล้วครูก็ร้องกัน คือเพลงปลอบใจคนจนให้ยอมสยบอยู่กับความจนตลอดไป"

 

อาจารย์อรรถจักร ได้ขยายความเรื่องของอุดมการณ์ความเป็นไทย ที่สนับสนุนจรรโลงความไม่เท่าเทียมกันในส้งคมว่า ส่วนหนึ่งเกิดมาจากกลไกอำนาจรัฐแบบลูบหน้าจมูกในระบบราชการ เป็นระบบที่ไร้ประสิทธิภาพ และพร้อมจะให้ความเป็นธรรมกับเฉพาะผู้ที่มีเงินซื้อ

 

อุดมการณ์ใหญ่อันนี้พร้อมทั้งความเป็นไทยที่สร้างทำให้มีที่ต่ำที่สูงนี้ มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กับวิถีการเมืองแบบองคาพยพ ก็คือทำให้คนทั้งหมดไม่เท่าเทียมกัน คนจนก็ต้องอยู่กับความจนไป เพื่อที่จะจรรโลงหาแผนพัฒนาทางเศรษฐกิจที่มีคนจนเป็นกองทัพอยู่ตรงนี้ พร้อมๆ กันนั้นเองกลไกอำนาจรัฐ กลไกอำนาจรัฐที่จรรโลงทั้งอุดมการณ์จรรโลงทั้งความไม่เสมอภาค ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจทั้งหลาย โดยเฉพาะระบบราชการ ก็เป็นระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ จะให้ความยุติธรรมได้ก็ต่อเมื่อคุณมีเงินที่จะซื้อ การลูบหน้าปะจมูกที่เราคุ้นเคยมาทั้งหมดถามว่ามันจรรโลงอะไร จรรโลงความไม่เป็นธรรมทางสังคมทางเศรษฐกิจขึ้นมา แล้วในขณะเดียวกันมันก็จรรโลงอุดมการณ์ใหญ่ที่ถือคนไม่เท่ากันแบบที่คนไทยชอบเปรียบคือ อีกคนเป็นหัวแม่มือ อีกคนเป็นนิ้วก้อยอะไรทำนองนั้น กลไกระบบราชการก็เป็นแบบนี้"

 

จากนั้นอาจารย์อรรถจักร จึงได้ พูดโยงเรื่องของอุดมการณ์ใหญ่สนับสนุนความไม่เท่าเทียม กับนโยบายประชานิยมของรัฐบาลทักษิณ โดยมองว่า การเมืองแบบประชานิยม (Populist Politic) ไม่ใช่เพียงแค่การมอบเงินช่วยเหลือแก่ชาวบ้านอย่างที่ส่วนราชการเข้าใจ แต่ยังเป็นการสร้างการเมืองของความหวังขึ้นมา ทำให้คนที่พบกับความยากจนมาสองถึงสามรุ่นได้รับความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม ซึ่งคงไม่มีพรรคการเมืองใดจะให้ความหวังแบบนี้กับประชาชนได้อีก

 

"เพราะฉะนั้นรากฐานความขัดแย้งอันนี้ มันทำให้สังคมไทยจนถึงอย่างน้อยที่สุดก่อน 19 กันยาฯ เป็นสังคมที่ไม่เสมอภาค อุดมการณ์ฝังลึก กลไกอำนาจไม่เสมอภาค ชุดอันนี้มันถูกกระแทกอย่างรุนแรงจากการปรับตัวของรัฐและโลกานุวัตร เราปฏิเสธไม่ได้เวลาเราพูดถึง การเมืองแบบประชานิยม (Populist Politic) ของทักษิณ เราหรือส่วนราชการจะคิดกันอยู่แค่ว่าเป็นการที่มอบเงินหรือให้ความช่วยเหลือแก่ชาวบ้านเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญใน Populist Politic ทั้งหลายตั้งแต่ เปรอง (Juan Domingo Perón - ประธานาธิบดีอาเจนตินา ช่วง ค.ศ.1946-1955 และ 1973-1974) เรื่อยมา มันเป็นการสร้างการเมืองของความหวังขึ้น ลองนึกถึงชนชั้นคนจนที่อยู่ในบ่วงชนชั้นมาประมาณสองสามรุ่น แล้วก็ได้รับความหวังว่าคุณจะมีชีวิตที่ก้าวหน้าขึ้น เราจะพบว่าสิ่งนี้เองคือพลังที่สำคัญ ถ้าหากเราคิดถึงคนจนโดยผูกกับทักษิณเราก็จะไม่เห็นอะไรอีกเลย เราไม่มีทางที่จะเห็นพรรคการเมืองใหม่ที่จะให้ความหวังกับประชาชนได้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ไม่เคยเห็นอะไรเลยในโลกนี้นอกจากตัวเอง ดังนั้นถามว่าประชาชนมาก่อนมันให้อะไร มันก็ไม่ได้ให้ความหวังอะไร แล้วประชาชนมาก่อนนี้คือ รอจนมวลชนเข้มแข็งแล้วประชาธิปัตย์ถึงมา หรือพรรคอื่นๆ ก็ตาม คุณไม่สามารถเล่นการเมืองให้กับชนชั้นได้ซึ่งแตกต่างจากเปรอง แตกต่างจากทักษิณ ที่ผมพูดแบบนี้ไม่ได้แปลว่าเราต้องคิดถึงประชานิยมของทักษิณในแง่ดีอย่างเดียว แต่สิ่งที่เป็นสาระของ Populist Politic ก็คือการให้ความหวัง"

 

การเมืองแบบประชานิยมนั้น นอกจากจะสร้างการเมืองของหวังให้กับชนชั้นคนจนแล้ว ยังเข้าไปกระแทกรอยปะทุของรากฐานความขัดแย้งอันเดิม บวกกับปรากฏการณ์ของโลกานุวัตร (Globalization) ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของไทยแล้ว สิ่งที่จะให้เผชิญกับโลกานุวัตรท่ามกลางระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพคือสัมปทานรัฐ อาจารย์อรรถจักร์กล่าว

 

"รอยปะทุที่เกิดขึ้นในสังคมไทยตรงนี้ก็ถูกกระแทกโดย Populist Politic และถูกกระแทกที่สำคัญคือ Globalization คือ โลกานุวัตร ซึ่งโลกานุวัตรกระทบกับแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน กรณีของโลกานุวัตรที่เข้ามากระทบในสังคมไทยซึ่งคุณไม่มีอะไรเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ ฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม คุณเป็นธุรกิจทารกคือ ขยับขึ้นบนขยับลงล่างไม่ได้ วิธีเดียวที่โลกานุวัตรหรือคนในสังคมไทยจะเข้าเผชิญโลกานุวัตรได้คือสัมปทานรัฐ ดังนั้นสิ่งที่มาประจวบเหมาะกันตรงนี้คือสัมปทานรัฐกับ Populist Politic มันเอื้ออำนวยอยู่สองอย่าง"

 

จากนั้น อาจารย์จากภาคประวัติศาสตร์จึงได้กล่าวถึงสิ่งที่ส่งผลต่อมาจากสัมปทานรัฐ คือทำให้คนที่สัมปทานรัฐมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น ขณะเดียวกันการเมืองประชานิยม ก็ทำให้ชนชั้นคนจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจนและมีความหวังว่าจะหลุดพ้นจากความยากจน ตรงนี้ถือได้ว่าเป็น สำนึกทางชนชั้น (Class Consciousness) อย่างหนึ่ง ซึ่งสามารถทำให้เกิดกองทัพคนจนขึ้นมาได้

 

"อย่างที่หนึ่งคือ คนที่สัมปทานรัฐสามารถที่จะมีอำนาจเข้มแข็งมากขึ้น ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งมันก็กลายเป็นพลังของชนชั้นคนจน หรือที่เรียกว่าชนชั้นล่าง   หรือจะเรียกชนชั้นล่างแบบที่อาจารย์เคร็ก (เคร็ก เจ. เรย์โนลด์) เรียกว่า Sub-altern Class   กระบวนการนี้จึงทำให้กลายเป็นตัวที่จะทำให้คนจนรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจนขึ้นมา และคนจนที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจนนี้รู้สึกว่าตัวเองจะหลุดพ้นจากความยากจนขึ้นมาได้    ต้องกล่าวให้ชัดเจนนะครับว่า คนจนไม่สำคัญ แต่จะสำคัญก็เมื่อคุณรู้สึกว่าจนและมีความหวังจะหลุดพ้น ก่อนหน้าปี 2544 คนจนเริ่มรู้สึกว่าตัวเองจนแต่ยังไม่มีความหวัง คนที่ "รู้สึกจน" แล้วรู้สึกว่าตัวเองมีความหวัง กระบวนการนี้ถือเป็นการเกิดสำนึกทางชนชั้น (Class Consciousness) แบบหนึ่ง รอยปะทะอันนี้มันจึงทำให้เกิดสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า มันเกิดกองทัพคนจนขึ้นมา"

 

อาจารย์อรรถจักร ยังได้พูดถึงเหตุการณ์รัฐประหารและสิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นว่า มันได้เข้ามาทำลายความหวังของชนชั้นคนจนโดยการกีดกันนโยบายบางอย่าง รวมถึงการทำให้อำนาจระบบราชการพร้อมกับอุดมการณ์ที่สนับสนุนความไม่เสมอภาคกลับคืนมา

 

"ชนชั้นคนจนที่เติบโตขึ้นมา แล้วก็เริ่มพบว่า การหวนคืนมาของอำนาจระบบราชการที่มันไม่คงที่ ไร้เสถียรภาพ การรื้อฟื้นอุดมการณ์เดิมที่เน้นความไม่เสมอภาค และการสืบต่ออำนาจทางเศรษฐกิจที่ไม่เสมอภาคนั้นมันขัดกับความหวังของเขา สภาที่ปรึกษา ออกคำแนะนำให้ คปค. คมช. โดยให้ยกเลิกนโยบายพักชำระหนี้ กฎหมายป่าชุมชนก็ถูกหมกเม็ด ถูกเปลี่ยนจนหมดรูปทั้งหลาย คือตัวกีดขวางและตัวบางตัวทำให้เกิดกระบวนการเคลื่อนย้ายหรือทำลายความหวังของคนจนไปจนหมดสิ้น"

 

อาจารย์อรรถจักร ยังได้พูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ว่า รากเหง้าของความขัดแย้งจะนำมาซึ่ง "สงครามชนชั้น" ซึ่งเคยมีตัวอย่างให้เห็นแล้วในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงให้ประเทศอื่นๆ ซึ่งมีพื้นฐานความขัดแย้งมาจากสาเหตุที่คล้ายคลึงกัน แล้วสงครามชนชั้นนี้ยังจะทำให้อุดมการณ์ใหญ่ที่จรรโลงความอยุติธรรมถูกทำลายลง

 

"รากเหง้าของความขัดแย้งอันนี้ ถามว่ามันจะนำสังคมไทยไปสู่อะไร ผมอยากจะเรียกว่ามันเป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญ เพราะสังคมไทยไม่เคยผ่านสิ่งที่เรียกว่า "สงครามระหว่างชนชั้น" มาก่อน แต่ผมคิดว่า นับจากนี้ไปผมคิดว่ามันจะมีสงครามระหว่างชนชั้นเกิดขึ้น ดูง่ายๆ ถ้าเปรียบทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย เราจะพบว่ามันเป็นปรากฏการณ์ร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย อย่างในฟิลิปปินส์เองถามว่า มีคนเขาเรียกแฟนคลับของ เอสตราด้า (โจเซฟ เอสตราด้า) แต่ผมคิดว่าเป็นชนชั้นคนจนที่สนับสนุนเอสตราด้าอย่างเข้มแข็งอย่างมากมาย คนจนที่เสพย์ติดอยู่กับนโยบายภูมิบุตของมาเลเซีย ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ขัดแย้งกับนายกรัฐมนตรี  ดังนั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เองรวมทั้งไทยด้วย มันจะนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่าสงครามชนชั้นเกิดขึ้น และในสงครามชนชั้นที่จะเกิดขึ้นนี้มันจะทำลาย ออเดอร์ใหญ่ หรือ อุดมการณ์ใหญ่ ที่จรรโลงความอยุติธรรมให้พังออกไป ถามว่าวันนี้เรามีอุดมการณ์มีออร์เดอร์อันไหนไหมที่จะกุมคนในสังคมไทยทั้งหมดให้อยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ผมคิดว่าเราไม่มีอีกแล้ว"

 

โดยการที่อุดมการณ์ใหญ่ถูกทำลายลงนั้น จะทำให้คนในสังคมขาดสิ่งกำกับชีวิตที่จะยึดโยงผูกติดไว้ และสงครามชนชั้นที่ไร้ออร์เดอร์นี้ จะส่งผลให้คนไม่ว่าจะในชนชั้นใดพร้อมปะทะรบรากันได้ง่ายๆ ซึ่งในกรณีนี้ อาจารย์อรรถจักร์ ได้ยกตัวอย่างกรณีของเด็กแซ็บกับเด็กแว้น ซึ่งเป็นตัวแทนของชนชั้น Sub-altern Class ซึ่งลงล่างหรือขึ้นบนไม่ได้ จึงต้องระบายความคับข้องใจต่อสังคม

 

"สิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง คือสังคมชนชั้นจะเกิดขึ้นโดยที่คุณไม่มีออร์เดอร์อะไรเลยที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นคนจน คนชั้นกลาง หรือคนรวย เราเป็นคนที่พร้อมจะรบราฆ่าฟันกันได้ง่ายๆ ตัวอย่างของสงครามชนชั้นที่ปรากฏมาในรูป ที่ดูเหมือนไม่เป็นชนชั้นคือ เด็กแซ็บ ซึ่งก็คือชนชั้น Sub-altern ทั้งหมดที่แอยู่รอบเมือง ขึ้นบนไม่ได้ ลงล่างไม่ได้ เด็กแซ็บในเชียงใหม่ภาคเหนือ เด็กแว้นในภาคกลาง จริงๆ คนแบบนี้มีทุกจังหวัดก็คือ Sub-altern Class ที่ขึ้นข้างบนไม่ได้ ลงข้างล่างไปเป็นชาวนาก็ไม่ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือความสับสนและเจ็บปวดที่พร้อมจะลงกับสังคม อันนี้คือเริ่มต้นนะ แล้วถามว่าต่อไปคืออะไร"

 

จากนั้น อาจารย์อรรถจักร จึงได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาก่อนที่ความรุนแรงจะเกิดขึ้น โดนเสนอว่า ควรจะมีเวทีที่เป็นพื้นที่กลางๆ ซึ่งจะทำให้คนที่เห็นต่างกันเข้ามาแลกเปลี่ยน สร้างความเห็นพ้องกันในระดับหนึ่ง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการทำความเข้าใจร่วมกัน ไม่ว่าจะจากชนชั้นกลาง ชนชั้นล่าง หรือ แม้แต่ปัญญาชนเอง ก็ต้องใจกว้างรับฟังกันมากขึ้น

 

"สิ่งที่เรามองเห็น ถ้าหากเรามองเห็นว่ามันเป็น การต่อสู้ทางชนชั้น (Class Struggle) สิ่งที่เราต้องคิดต่อไปคืออะไร ผมคิดว่าสิ่งสำคัญก็คือว่า ทำอย่างไรเราถึงจะเปิดที่ตรงกลางๆ ให้มีการพูดคุยกัน แลกเปลี่ยนกัน และจัดกลุ่มกันอย่างหลวมๆ เพื่อที่จะสร้างความเห็นพ้องต้องกันอย่างกว้างๆ ได้ แน่นอนว่าทุกคนมีโอกาสที่จะเดินในแนวทางตัวเอง แต่ว่าแน่นอนว่าต้องมีกรอบกว้างๆ อันหนึ่ง"

 

"ในทุกวันนี้เราไม่สามารถจะสร้างพรรคอย่างพรรคคอมมิวนิสต์ ที่มีวินัยเหล็กเพชรนำ สามไม่ สี่ต้อง ห้ากระทำ ฯลฯ เราสร้างแบบนั้นไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรที่จะมีพื้นที่กลางๆ ให้เราสามารถ Set Agenda ข้อเห็นพ้องต้องกันร่วมกันได้ในระดับหนึ่ง และข้อเห็นพ้องต้องกันร่วมกันในระดับนึงนั้น และน่าจะเป็นข้อเห็นพ้องต้องกันที่เชื่อมต่อ ทำให้ชนชั้นกลางเข้าใจคนจนมากขึ้น ทำให้คนจนเห็นว่า ถ้าเราจะอยู่ร่วมกันเราก็ต้องแบ่งปันกัน หมายถึงบอกให้ชนชั้นกลางแบ่งปัน ไม่อย่างงั้นแล้วข้ออ้างแบบที่ชนชั้นกลางมักจะทำกันก็คือว่า คนจนมันโง่ ถูกซื้อสิทธิขายเสียง แบบนี้มันก็พังกันไปหมด รวมทั้งปัญญาชนวันนี้เอง ต้องใจกว้าง และต้องรับฟังหันให้มากขึ้น"

 

สุดท้าย อาจารย์อรรถจักร ได้สรุปไว้ว่า ความขัดแย้งที่มีรากเหง้ามายาวนาน พอถึงหลัง 19 กันยาฯ ได้ทำให้รอยปะทุนี้ถูกกระแทก และผู้คนก็แตกออกเป็นฝ่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคม , NGOs หรือแม้แต่นักวิชาการเองยังเต็มไปด้วยความขัดแย้ง สังคมเองก็ซับซ้อนยุ่งยากมากขึ้นท่ามกลางความไร้ออร์เดอร์ใหญ่ ถ้าหากเราไม่สร้างเวทีที่เป็นพื้นที่กลางๆ ขึ้นมาให้คนได้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจ อีกไม่เกินสองปี

ทุกอย่างจะพังแน่นอน

 

"หลัง 19 กันยาฯ ความแตกแยกทั้งหลาย ความไร้ออร์เดอร์ (Order) ใหญ่ทั้งหลาย มันทำให้ทุกฝ่ายแตกกันหมดเลย NGOs ก็แตกเละเทะกันไปหมด นักวิชาการก็แตกเละเทะกันไปหมด สิ่งสำคัญคือ ถ้าหากเราไม่มีพื้นที่กลางๆ ร่วมกัน ผมคิดว่าเราก็ตีหัวกันเอง เราคงต้องยอมรับความต่างของแต่ละฝ่ายสูงขึ้น เพื่อที่จะได้เรียนรู้ร่วมกัน วันนี้มันไม่ใช่ปัญหาง่ายๆ แบบเมื่อก่อนอีกแล้ว มันซับซ้อนมากขึ้นยุ่งยากมากขึ้น ไม่มีใครที่จะเป็นสุขได้เลยในสังคมแบบนี้ ถ้าหากเราไม่สร้างเวทีนี้"

 

"เวทีกลางๆ สักอันนึงที่ทำให้มนุษย์เจอกันมนุษย์คุยกัน หรือแลกเปลี่ยนกันแล้วก็สามารถที่จะ ถกเถียงกันได้อย่างใจกว้าง ถ้าไม่มีตรงนี้หรือสร้างไม่ทัน ผมคิดว่าเราพัง ชีวิตคุณพังหมด แล้วมันจะลาก Set Agenda ของอุดมการณ์ใหญ่ลงมาพังด้วย ทุกอย่างพังหมด ผมเชื่อว่านับจากนี้ไป ผมคิดว่าไม่เกินสองปีเราจะเห็นอะไรฉิบหายวายป่วงเกิดขึ้น"

 

000

 

ข่าวประชาไท ย้อนหลัง

เสวนา 1 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 (ตอนที่ 2): "ปัญหาของชาวบ้าน" ถูกละเลยตลอดกาล, ประชาไท, 23 กันยายน 2550

 

เสวนา "1 ปีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549": ไม่มีอะไรให้ประชาชน นอกจากการ "ชำระแค้น" อำนาจเก่า, ประชาไท, 21 กันยายน 2550 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท