สมัชชาคนจนเฮ เจรจากรณีเขื่อนราษีไศล-เขื่อนหัวนา คืบ กรมชลฯ รับหลักการ

 

 

 

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม กรมชลประทาน และจังหวัดศรีสะเกษ กับสมัชชาคนจนและสมัชชาลุ่มน้ำมูล ได้เจรจาเพื่อแก้ไขปัญหา กรณีเขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนา ร่วมกัน ณ สำนักงานโครงการฝายราษีไศล จ.ศรีสะเกษ โดยมีนายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานในการเจรจา พร้อมด้วยนายมงคล สุระสัจจะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตัวแทนจากสมัชชาคนจน ที่ประชุมมีข้อสรุปดังนี้

 

1. ให้ได้หลักการ ขั้นตอน และแผนการดำเนินงาน พิจารณาการทำประโยชน์ในที่ดินทำกินของชาวบ้าน และกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการระดับพื้นที่ ให้คณะกรรมการระดับอำเภอ ทั้ง 6 อำเภอ (ราษีไศล, ศิลาลาด, บึงบูรพ์, โพนทราย, รัตนบุรี, ท่าตูม) นำหลักการและขั้นตอนดังกล่าว ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ได้เลย และกำหนดเงื่อนเวลาการทำงานอย่างชัดเจน มติที่ประชุม รับหลักการที่ทางสมัชชาคนจนเสนอ

 

2. ข้อเสนอหลักการและขั้นตอนการพิจารณา การครอบครองและทำประโยชน์โดยยึดหลักการตามมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 ดังนี้

 

(1)การพิจารณาร่องรอยการทำประโยชน์ ให้ยึดหลักการตีความตามมติครม. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 โดยพิจารณาตามร่องรอยการทำประโยชน์ในพื้นที่จริง และร่องรอยตามภาพถ่ายทางอากาศ มาประกอบกัน เช่น การทำนา การเก็บหาของป่า การเลี้ยงสัตว์ เก็บผัก หักฟืน เป็นต้น

 

(2)ให้พิจารณาเป็นรายแปลงตามบัญชีรายชื่อของกลุ่มสมัชชาคนจนและกลุ่มชาวนา 2000

 

(3)เจ้าของที่ดินร่วมพิจารณาชี้แจงในที่ประชุม

 

(4)คณะทำงานระดับตำบลร่วมชี้แจงในที่ประชุม

 

(5)ให้นำเอกสารทั้งหมดมาประกอบการพิจารณา (คำร้องขอรังวัดที่ดิน, ผลการทำงานของคณะทำงานระดับตำบล, เอกสาร รว. 43 ก, ผลการอ่านแปลภาพถ่าย, และผลการแจ้งการทำประโยชน์เพิ่มเติม

 

มติที่ประชุมเห็นชอบว่า

 

1. กระบวนการแก้ไขปัญหาตั้งแต่การยื่นคำร้องจนถึงการจัดทำ รว.43 ก และเสนอสู่การพิจารณาคณะทำงานระดับอำเภอ ถือว่าราษฎรที่ผ่านกระบวนการดังกล่าวครอบครองในลักษณะยึดถือไว้เพื่อตนตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543

 

2. การทำประโยชน์ ให้นำนิยามการทำประโยชน์ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2543 อย่างเคร่งครัดและในกระบวนการพิจารณาของคณะทำงานระดับอำเภอ และให้ใช้แนวทางตามข้อเสนอของสมัชชาคนจน ตามหลักการข้อ (1) - (5) เป็นกระบวนการในการพิจารณาของคณะทำงานระดับอำเภอ

             

            3. แผนการปฏิบัติงาน การพิจารณาร่องรอยการทำประโยชน์ในที่ดินทำกินของราษฎร

 

            มติที่ประชุมเห็นชอบว่า ให้ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการพิจารณาระดับอำเภอ แจ้งคำสั่งให้เร่งรัดการประชุมคณะทำงานพิจารณาระดับอำเภอ ทั้ง 6 อำเภอ โดยเร็ว โดยอำเภอราษีไศล เริ่มประชุมในวันที่ 9 ตุลาคม 2550 เวลา 10.00 น. เป็นอำเภอแรก ส่วนอำเภออื่นๆ ให้มีการประชุมต่อเนื่องให้แล้วเสร็จภายใน 7 - 15 วัน

             

            4. ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบทางสังคม โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย มีมติที่ประชุมเห็นชอบ 1. กรณีงบประมาณคงค้าง ได้รับอนุมัติมาแล้ว ให้ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสานกับสำนักชลประทานที่ 8 เกี่ยวกับการเบิกจ่ายงบประมานการศึกษาดังกล่าวได้เลย 2.ให้เรียกประชุม คณะกรรมการศึกษาผลกระทบทางสังคม โครงการฝายราษีไศล ตามคำสั่งกระทรวงเกษตร ฯ ที่ 72 / 2550 โดยเร็ว ภายในเดือนตุลาคมนี้ 3.ทางสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยินดีที่จะลงมาชี้แจงในระดับพื้นที่

 

2. ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา กรณีสมัชชาลุ่มน้ำมูน

 

1. ให้กรมชลประทานดำเนินการตามหลักการที่ได้ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาฯ เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 ดังนี้

 

1.1 หากปรากฏว่า ไม่ทับซ้อนมอบหมายให้ช่างวัดผู้ทำการรังวัดเดิม ภายใต้สังกัด กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน) รับรองรูปแปลงและเนื้อที่ที่รังวัด

 

1.2 หากปรากฏว่า ทับซ้อนมอบหมายให้ช่างรังวัดกรมที่ดินดำเนินการตรวจสอบรูปแปลงและพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่

 

            2. กรณีราษฎรที่มีการตกค้าง ตั้งแต่การรังวัดร่วมกับกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานในตำบลยางสว่างและตำบลดอนแรด (อำเภอรัตนบุรี) ขอให้นำเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบรูปแปลงและพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่ร่วมกับสมัชชาลุ่มน้ำมูน

 

            3. ขอให้มีการดำเนินงานการตรวจสอบการทับซ้อนในส่วนของสมัชชาลุ่มน้ำมูนให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน

 

            4. กรณีรายแปลงที่ไม่ทับซ้อน ขอให้นำแปลงที่ไม่มีการทับซ้อนเข้าสู่กระบวนการพิจารณาการทำประโยชน์ในที่ดินทำกิน ตามกรอบเดียวกับกลุ่มสมัชชาคนจน

 

ที่ประชุมแจ้งความคืบหน้า แผนที่ระวางของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานเดิมนั้น 1 ระวางเท่ากับ 1 แผ่น ส่วนของกรมที่ดินมี 1 ระวาง เท่ากับ 4 แผ่น ปัจจุบันได้ผลการตรวจสอบแล้ว พบว่า ทับซ้อน 130 แปลง รอให้ช่างรังวัดกรมที่ดินลงมาพิสูจน์ในพื้นที่ ไม่ทับซ้อนจำนวน 35 แปลง เตรียมส่งให้กรมพัฒนาฯ รับรอง มีส่วนนอกเขตอ่างเก็บน้ำ 119 จำนวน 175 แปลง

 

ประชุมมีมติเห็นชอบ ดังนี้

 

1. กรณีแปลงไม่ทับซ้อน ให้ส่งกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเดิม รับรองรูปแปลงและนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาร่องรอยการทำประโยชน์ ตามกระบวนการของสมัชชาคนจน

 

2. กรณีแปลงที่ทับซ้อน ให้นายช่างรังวัดของกรมที่ดินลงมาพิสูจน์สิทธิ์ในพื้นที่

 

3. สำหรับกรณีที่กรมชลประทานชี้แจงว่า อยู่นอกเขตอ่างในระดับ + 119 ม.รทก ทางสมัชชาลุ่มน้ำมูลชี้แจงเพิ่มเติมว่า เป็นพื้นที่น้ำล้อมรอบ ทางประธานในที่ประชุม (นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน) รับว่า จะเดินทางมาลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเอง

 

4. กรณีราษฎรที่ตกค้างตั้งแต่การรังวัดร่วมกับกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน ในตำบลยางสว่างและดอนแรด ให้นำเข้าสู่กระบวนการร่วมกับกลุ่มสมัชชาลุ่มน้ำมูนได้เลย หากเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจริง

 

3. ข้อเสนอต่อการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนกรณีเขื่อนหัวนา

           

 

1. ในส่วนผลการรังวัดที่เสร็จแล้วในปี 2549 ให้กรมชลประทานถ่ายเอกสาร รว. 43 ก ให้กับชาวบ้าน เพื่อเป็นหลักฐานการตรวจสอบทรัพย์สินในส่วนที่รังวัดแล้วเสร็จและเป็นการเปิดเผยข้อมูลให้กับชาวบ้าน

     

 

2. ให้มีการรับรองผลการรังวัดที่ดินในส่วนที่รังวัดแล้วเสร็จ ทั้งนี้เป็นไปตาม คำสั่งจังหวัดศรีสะเกษ ที่ 106/2550 เรื่อง แต่งตั้งของคณะทำงานตรวจสอบทรัพย์สินราษฎรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างฝายหัวนา

 

            3. กรณีบ้านโนน ต.รังแร้ง อ.อุทุมพรพิสัย ที่ยังเหลือค้างการรังวัดที่ดินอยู่จำนวน 66 แปลง ให้ดำเนินการรังวัดในส่วนที่เหลือให้แล้วเสร็จตามมติ ครม. 25 กรกฎาคม 2543 และมติ ครม. 3 เมษายน 2544

 

4. จ่ายค่าตอบแทนให้กับคณะทำงานชาวบ้านในการนำลงรังวัดที่ดินปี 2549 จำนวนเงิน 117,000 บาท ตามมติที่ประชุมจังหวัดวันที่ 22 สิงหาคม 2548

 

5. ให้ชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม

 

6. ให้เปิดเผยข้อเท็จจริงในแผนการดำเนินงานของเขื่อนหัวนาในระยะต่อไป

 

ที่ประชุมมีมติ ดังนี้

 

1.       ทางกรมชลประทานรับปากว่า จะประสานกับกรมที่ดินให้ถ่ายเอกสาร รว. 43 ก ปี 2549 ให้ชาวบ้าน ภายใน 15 วัน ในส่วนอำเภอที่รังวัดเสร็จแล้ว

 

 

2.       ให้มีการประชุมคณะอนุกรรมการระดับอำเภอทั้ง 3 อำเภอ เพื่อพิจารณาเรื่องการรับรองผลการรังวัด รว.43 ก ภายในอาทิตย์หน้า (8 -12 ตุลาคม 2550)

 

3.       กรณีบ้านโนน ต.รังแร้ง อ.อุทุมพร จำนวน 66 แปลง มอบให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและทีมงาน ลงพื้นที่เพื่อชี้จุดและจับพิกัด ตรวจสอบแปลงให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายของกรมที่ดิน ภายในเดือนตุลาคม 2550 นี้

 

4.       กรณีงบประมาณค่าใช้จ่ายคณะทำงานส่วนราษฎร จำนวน 58, 500 บาท นั้น ทางกรมชลประทาน โดย นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน รับว่า ให้ใช้งบประมาณของกรมชลประทาน เพื่อจ่ายให้คณะทำงานฝ่ายราษฎร ภายในเดือนตุลาคมนี้ โดยให้โครงการงานชลประทานศรีสะเกษ ส่งรายละเอียดการทำงานของคณะทำงานฝ่ายราษฎรให้กับกรมชลประทาน

 

5.       กรณีการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม ดร.กนกวรรณ มะโนรมย์ ตัวแทนคณะผู้ศึกษา ชี้แจง ว่า จะส่งรายงานความก้าวหน้าแรก ต่อสำนักชลประทานที่ 8 ในวันที่ 10 ตุลาคม 2550 นี้ และ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายวีระ วงศแสงนาค ในฐานะประธานอนุกรรมการ จะประชุมเพื่อคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณารายงานดังกล่าว

 

6.       กรณีการเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานของเขื่อนหัวนา ที่ประชุมเห็นว่า กรณีงบประมาณที่เตรียมไว้สำหรับการถมลำน้ำมูนเดิมโครงการฝายหัวนา ปี 2551 นั้น เห็นว่า ให้ปรับเปลี่ยนเป็นงบประมาณในการจ่ายค่าทดแทนของกรณีฝายราษีไศล

           

นายไพทูรย์ โถทอง แกนนำสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนราษีไศล กล่าวหลังจากเสร็จการเจรจาว่า ข้อตกลงในวันนี้รู้สึกพอใจในระดับหนึ่ง เพราะที่ประชุมจะมีการประชุมคณะทำงานระดับอำเภอในวันที่ 9 ตุลาคม 2550เวลา 10.00 น. ณ ที่ว่าการอำเภอราษีไศล ซึ่งถ้าการประชุมครั้งนี้เป็นไปตามมติข้อตกลงที่เจรจากันวันนี้ คิดว่าชาวบ้านจะดีใจมาก ทำให้การแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ลุล่วงระดับหนึ่ง

 

นายไพทูรย์ ยังกล่าวอีกว่า ผลการเจรจาในวันนี้ถือว่าเป็นเพราะพลังของพี่น้องที่มาเรียกร้องสิทธิด้วยตนเอง จึงสามารถนำไปสู่การเจรจาและได้ข้อสรุปที่น่าพอใจ แต่จากบทเรียนการเจรจาหลายครั้งที่ผ่านมา รัฐไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหา ทำให้ชาวบ้านก็ไม่นิ่งนอนใจ หากภายหลังกระบวนการที่เกิดขึ้นยังไม่ได้คำตอบที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม ชาวบ้านก็จะออกมาแสดงพลังอีกครั้ง

 

ด้านนายเข็มเพชร สมภาวะ แกนนำสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนหัวนา กล่าวว่า เขาพอใจระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าเป็นจริงตามคำหวานที่กรมชลฯ รับปาก ก็จะพอใจมาก หากไม่เป็นไปตามมติข้อตกลงที่รับปากไว้ ก็จะนำขบวนพี่น้องชุมนุมเรียกร้องอีกครั้ง เพราะเชื่อว่าถ้าไม่กดดันก็จะไม่เกิดการเจรจา ถ้าไม่ออกมา ก็ไม่ได้เห็นหน้ากัน

 

ทางด้านนายบุญมี โสภังค์ แกนนำสมัชชาลุ่มน้ำมูน ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวหลังเสร็จสิ้นการเจรจาว่า ผลการเจรจานั้น เขาพอใจระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาชาวบ้านถูกรับปากจนชิน แต่การชุมนุมครั้งนี้ ชาวบ้านมีความตื่นตัวมากขึ้น ได้นำความทุกข์ยากที่สะสมหมักหมมมานาน มาบอกกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผลการเจรจาวันนี้ ก็มองเห็นความหวังของชาวบ้านพอสมควร

 

นายบุญมี กล่าวเพิ่มเติมว่า ภูมิใจมากที่ชาวบ้านออกมาแสดงพลังของประชาชน มาติดตามด้วยตนเอง ร่วมกับรัฐ ถือเป็นโอกาสในการได้เรียนรู้เรื่องสิทธิมากขึ้นด้วย ที่ผ่านมามีแต่ทางรัฐกำหนดแนวทางให้เดิน ประชาชนต้องจำยอม แต่วันนี้พวกเราส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตนเอง

 

ทางด้านนายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน ประธานในการเจรจา กล่าวว่า การเจรจาและแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ชาวบ้านมาถูกทางแล้ว ตนก็อยากจะแก้ไขให้เสร็จโดยเร็วเช่นกัน พร้อมกับทิ้งท้ายด้วยว่า ปัญหามีไว้ให้แก้ไข และคิดว่าทุกอย่างน่าจะแก้ไขได้ด้วยดี

 

ทั้งนี้ ภายหลังการเจรจาเสร็จสิ้น ได้มีการลงนามในบักทึกข้อตกลงร่วมในการแก้ไขปัญหาของทุกฝ่ายไว้เป็นหลักฐาน โดยตัวแทนลงนามประกอบด้วย นายวีระ วงศ์แสงนาค รองอธิบดีกรมชลประทาน, นายมงคล สุระสัจจะ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ,นางผา กองธรรม สมัชชาคนจน, นายไพทูรย์ โถทอง สมัชชาคนจน,นายบุญมี โสภัง สมัชชาลุ่มน้ำมูล,นายสมบัติ โนนสัง สมัชชาคนจน และนายประดิษฐ์ โกศล สมัชชาคนจน

 

 

 

 

                                                    

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท