Skip to main content
sharethis


 



 



 



 



 


 


 


 


มุกดาวรรณ ศักดิ์บุญ


 


 


Free Burma…Freedom now!


We need…Democracy


UN intervention in Burma…Now! Now!


Down with…Dictatorship


 


…………………


 


Min Thet Naing หนุ่มพม่าวัยปลายสามสิบ จ่อโทรโข่งเข้าใกล้ปาก พร้อมตะโกนหาเสรีภาพในพม่า เป็นสัญญาณ ให้ผู้ร่วมเดินขบวนตะโกนตอบเสียงดังก้อง พร้อมกำปั้นที่ชูขึ้นเหนือหัว "เสรีภาพ เดี๋ยวนี้"


 


"พวกเราต้องการประชาธิปไตย สหประชาชาติต้องเข้าไปแทรกแซงในพม่าทันที เผด็จการทหารพม่าจงล่มสลาย"


 


ตลอดระยะทางจากบริเวณจุดเริ่มต้นขบวนที่ลานมาร์ติน เพลส ไปยังท่าเรือเซอร์คิวลาร์ คีย์ และโอเปร่า เฮ้าส์ สัญญลักษณ์ของซิดนีย์ ผู้เดินขบวนในชุดแต่งกายสีแดงตะโกนข้อความดังกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งภาษาอังกฤษและในภาษาแม่พม่า พวกเขาแจกใบปลิวให้คนเดินถนน ชักชวนให้เข้าร่วมขบวน เสียงบีบแตรเป็นสัญญาณสนับสนุน ดังเป็นระยะจากรถยนต์ที่ผ่านไปมา


 


ขบวนผู้ชุมนุมชาวพม่าและชาวต่างประเทศกว่าร้อยคน เข้าร่วมเดินขบวนในวันนี้ พร้อมกับชาวพม่าและประชาชนหลายเชื้อชาติใน 12 ประเทศทั่วโลก เพื่อแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในพม่า ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เข้าร่วมกิจกรรมที่จัดโดยชุมชนพม่าในซิดนีย์และองค์กรออสเตรเลียเพื่อประชาธิปไตยในพม่า (Australia Coalition for Democracy in Burma) มาตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย 2550 ไม่นานหลังจากที่รัฐบาลทหารพม่า เริ่มใช้ความรุนแรงในการสลายพระสงฆ์และชาวพม่าที่เดินขบวนอย่างสันติในกรุงย่างกุ้ง


 


ผู้เดินขบวนชาวพม่าในซิดนีย์บ้างเคยร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดินขบวนประท้วงครั้งใหญ่ในปี 2533 ซึ่งนำไปสู่การปราบปรามเข่นฆ่าผู้ชุมนุมอย่างเหี้ยมโหดโดยรัฐบาลทหารพม่า บางคนที่ยังเป็นเด็กอยู่ในขณะนั้น มีความทรงจำที่ลางเลือนเกี่ยวกับเหตุการณ์ หากกระตือรือร้นยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมในการเดินขบวนเพื่อสันติภาพในพม่าในครั้งนี้


 


หลายคนเกิดและโตในซิดนีย์ พูดพม่าได้ไม่คล่อง แต่ติดตามพ่อแม่มาร่วมเดินขบวนอย่างแข็งขัน


 


"ลูกสาวสองคนของฉันถามว่า แม่จ๋า ทำไมไม่มีใครทำอะไร ช่วยเหลือคนพม่าได้เลยหรือ ฉันรู้สึกเจ็บปวด ไม่รู้จะตอบลูกว่าอย่างไรดี" Thu Zar หญิงพม่าวัยสี่สิบต้นๆ กล่าวอย่างสะท้อนใจ


 


Kyaw San ศิลปินชนเผ่ากะเหรี่ยงโปว์ ซึ่งหลบหนีเหตุการณ์เดินขบวนในปี 2533 ไปอยู่กับกองทัพกอซูเล ชายแดนไทย-พม่ากว่า 4 ปี ก่อนที่จะได้เข้ามาอยู่ที่ออสเตรเลีย เข้ามีส่วนร่วมในกิจกรรมเพื่อสันติภาพในพม่า ด้วยสิ่งที่เขาถนัดที่สุด - ภาพการเดินขบวนของพระสงฆ์ ภาพนาง ออง ซาน ซู จี และอื่นๆ ที่ผู้ชุมนุมนำมาใช้ประกอบการจัดกิจกรรมต่างๆนั้น ล้วนเป็นฝีมือของศิลปินชนเผ่าโปว์ผู้นี้ทั้งสิ้น


 


เขาไม่ได้คาดคิดเลยว่า ภาพพระสงฆ์ร่วมเดินขบวนประท้วง ที่เขาวาดไว้เมื่อปี 2544 จะกลายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพม่าในปีนี้ ซึ่งกลายเป็นข่าวสะเทือนขวัญคนทั่วโลก


 


"เมื่อตอนที่เราประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่า เมื่อปี 2533 นั้น เราไม่มีสิ่งเหล่านี้ เราไม่เห็นการตอบโต้ ประณามจากประชาคมนานาชาติ เราไม่มีสื่อต่างประเทศที่รายงานการประท้วง ไม่เหมือนกับครั้งนี้" Maung Maung Than อดีตนักศึกษาพม่าลี้ภัย เปรียบเทียบเหตุการณ์ประท้วงครั้งสำคัญสองครั้งของพม่า


 


"ปฏิกิริยาตอบสนองจากทั่วโลก ที่ออกมาสนับสนุน และร่วมกันกดดันรัฐบาลพม่า ทำให้เรามีความหวัง เราหวังว่า เราจะชนะ เราต้องชนะ" เขาประกาศก้องต่อหน้าผู้ชุมนุม ซึ่งตอบรับด้วยการตะโกนเช่นเดียวกันว่าต้องชนะ


 


นพ.Myint Cho สมาชิกคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ ของรัฐบาลพม่าพลัดถิ่นในออสเตรเลีย บอกว่าคนพม่าในซิดนีย์จะร่วมกับคนพม่าทั่วโลก ในการดำเนินความพยายามทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือการต่อสู้ของประชาชนชาวพม่าในพม่า แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ ประเทศสมาชิกอาเซียน และสหประชาชาติ ตลอดจนจีน อินเดีย และรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่ามากที่สุดนั้น จะต้องดำเนินการกดดันให้รัฐบาลพม่าเจรจาตกลงสันติภาพกับทุกฝ่ายในพม่าโดยเร่งด่วน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net