Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


สิ่งสำคัญที่เราจะต้องรู้เกี่ยวกับบทบาทในการกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า นั่นก็คือบทบาทการลงทุนในประเทศพม่าของต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้นานาประเทศอิหลักอิเหลื่อกับการพยายามกดดันรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่างจริงจัง


 


ในรายงานชุดนี้จึงจะขอนำเสนอถึงข้อมูลเบื้องต้นคร่าวๆ สำหรับระบบเศรษฐกิจของพม่าและการลงทุนในพม่าจากบรรษัทและรัฐบาลของชาติต่างๆ …


 


พัฒนาการทางเศรษฐกิจของพม่าตั้งแต่ยุค 1990s จนถึงปัจจุบัน


 


ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990s จนถึงปี ค.ศ. 2005 การเปิดประเทศค้าขายได้ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจในพม่าให้มั่งคั่งขึ้น ซึ่งถึงแม้การภาคการส่งออก (exports) จะมีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่กระนั้นภาคนำเข้าสินค้า (Imports) ก็มีปริมาณเพิ่มสูงมากกว่า เนื่องมาจากความต้องการบริโภคภายในประเทศซึ่งเป็นระบบตลาด


 


การผ่อนคลายนโยบายควบคุมภาคธุรกิจของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ได้ส่งผลให้ธุรกิจภาคส่งออกของพม่าเริ่มขยายตัวขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจเสื้อผ้าสิ่งทอและธุรกิจด้านพลังงาน ซึ่งการลงทุนจากต่างชาติที่สำคัญก็คือการหาแหล่งพลังงานในพม่า


 


มูลค่าทางการค้าที่เติบโตขึ้นของพม่านั้น ส่วนหนึ่งที่สำคัญก็คือการทำการค้าขายกับเพื่อนบ้านเช่น จีน, ไทย และอินเดีย รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจภาคส่งออก และสนับสนุนการลงทุนข้ามชาติให้มาลงทุนในพม่า


 


 - การค้ากับเพื่อนบ้าน


 


ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การค้าตามตะเข็บชายแดนของพม่านั้น เป็นส่วนสำคัญสำหรับรากฐานความมั่งคั่งของพม่า โดยประเทศพม่ามีพรมแดนติดกับจีนระยะทางยาวถึง 1357 ไมล์, ไทย 1314 ไมล์, อินเดีย 857 ไมล์, บังคลาเทศ 152 ไมล์ และลาว 128 ไมล์ ซึ่งทั้งประเทศเหล่านี้ถือว่าเป็นคู่ค้าหลักตั้งแต่พม่ายังดำเนินนโยบายปิดประเทศ รวมถึงการค้าขายกับอีกบางประเทศ เช่น สหรัฐ, ญี่ปุ่น, เยอรมนี, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และมาเลเซีย และกลุ่มประเทศจากสหภาพยุโรป เป็นต้น


 



 


ปริมาณการค้าการส่งออกและนำเข้าระหว่างปี ค.ศ.1985 - 2003 กับประเทศเพื่อนบ้าน (จีน ไทย อินเดีย บังคลาเทศ) และคู่ค้าที่สำคัญของพม่า (สหรัฐ, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และมาเลเซีย)


 


โดยในปี ค.ศ. 2003 พม่าส่งออกสินค้าสู่ต่างประเทศรวมเป็นเงินถึง 2,721 ล้านดอลลาร์ โดย 56.5% เป็นการส่งออกสู่ 4 ประเทศเพื่อนบ้านสำคัญอย่างจีน, ไทย, อินเดีย และบังคลาเทศ


 


ส่วนการนำเข้าสินค้า ในปี ค.ศ. 2003 พม่านำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวม 2,904 ล้านดอลลาร์ โดย 52.7 % นั้นเป็นการนำเข้าจาก 4 ประเทศเพื่อนบ้านสำคัญอย่างจีน, ไทย, อินเดีย และบังคลาเทศ เช่นกัน


 


นอกจากนี้คู่ค้าสำคัญในช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1985 - 2003 ก็คือ สหรัฐ, ญี่ปุ่น, เยอรมัน, สิงคโปร์, เกาหลีใต้ และมาเลเซีย โดยเฉพาะสิงคโปร์นั้น พม่านำเข้าสินค้าจากสิงคโปร์เป็นอันดับ 2 รองจากจีน ในปี ค.ศ. 2005


 


- เปิดประตูการค้าในยุคโลกาภิวัตน์


 


นโยบายการเปิดประตูการค้าของพม่า เกิดหลังจากที่รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าขึ้นมามีอำนาจหลังปี ค.ศ. 1988 ซึ่งก่อนหน้านั้นพม่าใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเองมานาน ทั้งนี้เมื่อขึ้นมามีอำนาจด้วยความไม่ชอบธรรมรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าภายใต้ชื่อ สภาฟื้นฟูกฎหมายและระเบียบแห่งรัฐ (State Law and Order Restoration Council: SLORC) ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นสภาเพื่อการพัฒนาและสันติภาพแห่งรัฐ (State Peace and Development Council: SPDC) ก็ได้สนับสนุนการค้าและการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงพัฒนาเศรษฐกิจภาคส่งออกของพม่าเอง


 


การเปิดประตูการค้าของพม่านอกจากจะกระตุ้นภาคส่งออกของพม่าในการทำธุรกิจระหว่างประเทศแล้ว ในช่วงทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา ทำให้การลงทุนจากต่างประเทศก็เฟื่องฟูในพม่าถึงแม้จะมีปริมาณขึ้นๆ ลงๆ ก็ตาม


 


สำหรับการลงทุนจากต่างชาติ ได้มีการรองรับโดยการออกนโยบายที่เอื้อสำหรับการเปิดประเทศทางการค้า โดยในเดือนพฤศจิกายน ปี ค.ศ. 1988 ได้มีการออกกฎหมายการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Investment Law: FIL) และในเดือนธันวาคม ปีเดียวกันก็ได้มีการออกกฎหมายส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ (Foreign Investments Commission: FIC) ที่คล้ายกับคณะกรรมการการส่งเสริมการลงทุน (Board of Investment: BOI) ของประเทศไทย


 



 


โครงการลงทุนในพม่าจากต่างชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 - 2005


 


ซึ่งนโยบายเหล่านี้คล้ายกับเป็นการปลดปล่อยระบบเศรษฐกิจสู่ระบบตลาดโลก จากการปิดประเทศมานานกว่าค่อนศตวรรษ


 


นโยบายการส่งเสริมการลงทุนและการทำการค้าขายกับต่างประเทศของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่านี้ได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกมีปริมาณเพิ่มขึ้นในทุกปี โดยในปี ค.ศ. 1989 มีผู้ประกอบการนำเข้าและส่งออกจดทะเบียนไว้ 1000 ราย จากนั้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 2700 รายในเวลาใกล้เคียงกัน และเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 9000 รายในปี ค.ศ. 1997


 


ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1989 - 2005 มีโครงการลงทุนจากต่างชาติเข้าไปลงทุนในพม่าถึง 399 โครงการ มีมูลค่ารวมถึง 13,815.9 ล้านดอลลาร์


 


ธุรกิจซึ่งต่างชาติสนใจลงทุนนั้นมีอาทิเช่น ธุรกิจทางด้านการเกษตร, ประมง, เหมืองแร่, ภาคการผลิตอุตสาหกรรม, ธุรกิจพลังงาน เป็นต้น  


 



 


การลงทุนในภาคธุรกิจต่างๆ ทั้งจากนักธุรกิจพม่าและต่างชาติ


 


โดยเฉพาะขุมทรัพย์ที่สำคัญของพม่าที่ต่างชาติต่างให้ความสนใจ นั่นก็คือพลังงานจากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะพลังงานจากก๊าซธรรมชาติ


 


ตั้งแต่ในต้นยุค 1990s เป็นต้นมา แหล่งก๊าซธรรมชาติสองแห่งอย่าง ยาดานา (Yadana) และ เยตากุน (Yetagun)ได้ถูกบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่อย่างโททัล (Total) ยูโนแคล (Unocal) และเท็กซาโก้ (Texaco) เข้าไปลงทุน ซึ่งก๊าซธรรมชาติจากสองแห่งนี้ได้ต่อท่อเข้าไปในประเทศไทยด้วย


 


รวมถึงอีกแหล่งซึ่งมีการให้สัมปทานขุดสำรวจใหม่เมื่อ 24 พฤศจิกายน 2548 ในแหล่งฉ่วย (Shwe) ในอ่าวเบงกอล (Bengol) ได้แก่ บล็อก A-3, A-1 บริษัทข้ามชาติที่ได้เข้าไปทำโครงการ คือ บริษัทแดวู อินเตอร์เนชั่นแนล (Daewoo International) ของเกาหลีใต้ และบริษัทไชน่า ออยล์ ฟิลด์ (China Oil Field) ของจีน โดยรัฐบาลพม่าได้ทำ MOU ซื้อขายก๊าซธรรมชาติกับรัฐบาลอินเดียและรัฐบาลจีน


 


โดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติของพม่านั้น มีจำนวนเพิ่มขึ้นในทุกปีจากมูลค่า 239 ล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 440 ล้านดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม ปี ค.ศ.2001 และได้เพิ่มสูงขึ้นเป็น 939 ล้านดอลลาร์ ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2006


 


ซึ่งธุรกิจส่งออกก๊าซธรรมชาตินั้น คิดเป็นมูลค่ากว่า 40% ของการส่งออกทั้งหมดของพม่า โดยการส่งออกก๊าซธรรมชาติ ได้เสริมสร้างปริมาณการค้ากับต่างประเทศให้กับพม่าอย่างมหาศาลและสามารถสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้กับพม่าได้อีกด้วย


 


ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของพม่า: การสวนทางกับปัญหาสิทธิมนุษยชนในประเทศ


 


ภาพอันโหดร้ายของคณะเผด็จการทหารพม่านั้นมิได้กระทำการแบบโหดร้ายและงี่เง่า แต่กลับเป็นการเล่นเกมอันชาญฉลาดในการที่จะรักษาความโหดร้ายให้กระทำต่อประชาชนพม่าด้วยวิธีการอันแยบยล


 


หนึ่งในวิธีการที่ยังคงให้คณะเผด็จการทหารพม่าดำรงอยู่ในอำนาจนั้นก็คือ ความฉลาดที่จะเลือกการเปิดประเทศ ต้อนรับการเข้ามาของนายทุนนานาชาติ


 


พวกเขาฉลาดที่จะเลือกนโยบายการลงทุนเสรีที่ไม่เท่าเทียม! ซึ่งทำให้เกิดความมั่งคั่งให้แก่พวกเขา คณะทหาร ชนชั้นปกครอง และสุนัขจิ้งจอกในเสื้อสูทจากหลากหลายประเทศ


 


จากการประเมินของ CIA the world factbook พบว่าความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของพม่านั้นมีพอสมควร คือมีระดับ GDP (purchasing power parity) อยู่ที่ 85.2 พันล้านดอลลาร์ เป็นอันดับที่ 66 ในการประเมินเมื่อปี ค.ศ. 2006


 


แต่ทั้งนี้ก็มีประชากรมีระดับการใช้ชีวิตอยู่ต่ำกว่าเส้นระดับความยากจน (Population below poverty line) ถึง 25% ของประชากรทั้งหมดของประเทศ รวมถึงสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ในด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเผด็จการทหาร


 


จากภาพที่เราได้เห็น อาจเป็นบทพิสูจน์หนึ่งของน้ำยาการพัฒนาระบบเศรษฐกิจเสรี โดยเฉพาะการยึดแนวทางเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalist) ที่ทุนสามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกที่ เพื่อทำกำไร แม้ว่าที่แห่งหนนั้นสถานการณ์ต่างๆ จะไม่ได้เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างเปี่ยมสุขสำหรับประชาชนส่วนใหญ่


 


การหยั่งเข้าไปสูบผลประโยชน์จากธุรกิจข้ามชาติในพม่านั้น ได้ฝังลึกเปรียบดั่งกับท่อสูบก๊าซธรรมชาติหลากสีหลายสัญชาติ ในพื้นที่แต่ละจุดของพม่า เพื่อส่งออกไปทำเงินในตลาดโลก รวมถึงภาคธุรกิจอื่นๆ ที่เข้าไปลงทุน --- พม่าผูกติดกับธุรกิจข้ามชาติ และธุรกิจข้ามชาติก็ยังคงกอบกำรายได้มหาศาลจากพม่า ซึ่งเป็นการยากยิ่งหากคิดที่จะละทิ้งขุมทองนี้ไปอย่างทันทีทันควัน


 


สิ่งที่รัฐบาลนานาชาติและนักกิจกรรมเพื่อสังคมส่วนใหญ่ในขณะนี้มุ่งที่อยากจะเห็นนั้นก็คือ มาตรการทางเศรษฐกิจในการกดดันพม่าอย่างรุนแรงที่สุด --- การคว่ำบาตรห้ามค้าขายกับพม่า


 


แต่ก็มีคำถามสองข้อใหญ่ สำหรับการดำเนินมาตรการนี้


 


คือจะสามารถดำเนินการคว่ำบาตรนั้นได้จริง พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือจากทุกชาติและทุกบรรษัท รวมถึงจะกระทำให้เร็วที่สุดได้หรือไม่?


 


และคำถามต่อมาถ้าข้อแรกเป็นจริง ก็คือใครจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ประชาชนพม่าที่เป็นแรงงานและผู้บริโภคในภาคการลงทุนทั้งหลาย, ประชาชนส่วนใหญ่ หรือคณะเผด็จการทหาร?


 


ที่มา:


Economy of Burma (Wikipedia - เข้าดูเมื่อ 8 ตุลาคม 2550)


CIA the world factbook - Burma (CIA the world factbook - เข้าดูเมื่อ 8 ตุลาคม 2550)


IDE DISCUSSION PAPER No. 116 "Trade, Foreign Investment and Myanmar"s Economic Development during the Transition to an Open Economy" (Toshihiro KUDO Fumiharu MIENO, The Institute of Developing Economies - สิงหาคม 2550)


เปิดลายแทงขุมทรัพย์ "พม่า" เบอร์ 1 จีน เบอร์ 2 อังกฤษและ 3, 4, 5...ใคร? (ประชาชาติธุรกิจ 4 ตุลาคม 2550)



 


อ่านตอนแรก :


รายงาน - ทุนข้ามชาติกับการลงทุนในพม่า: นี่แหละค่ากระสุนปืนสำหรับเผด็จการพม่า!


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net