บทความ: เริ่มต้นด้วยสติ สันติวิธีที่เราทำได้

ธิติมา อุรพีพัฒนพงศ์

สำนักข่าวบางบ๊วย

 

หลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวคราวของ พม่าประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับเรายาวกว่า 1,000 กิโลเมตรว่าพวกเขามีความยากลำบากเพียงใด เนื่องจากมีพระสงฆ์และประชาชนชาวพม่าจำนวนมากมายเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจากการใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามการประท้วงของรัฐบาลทหาร

จากความใกล้ชิดผูกพัน บวกกับความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์อันยาวนานระหว่างประเทศไทยกับพม่า ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกเจ็บปวดอย่างยิ่งที่เห็นเพื่อนมนุษย์ด้วยกันต้องประสบกับความยากลำบากเช่นนี้ จึงพยายามอย่างที่สุดความสามารถเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้สันติภาพและความสุขเกิดขึ้นบนแผ่นดินพม่า

เหตุการณ์ความไม่สงบในพม่า เป็นเพียงหนึ่งในหลายเหตุการณ์อันเลวร้ายในช่วงเวลาที่สถานการณ์อันน่าเศร้าเช่นนี้เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น สงครามอิรัก อัฟกานิสถาน หลายคนจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วเราสามารถทำอย่างไรได้บ้างในสถานการณ์เช่นนี้

"มันง่ายมาก หากเราจะชี้นิ้วที่ทหาร แล้วบอกว่านี่คือต้นตอของปัญหา เพราะถ้าเราคิดอย่างนั้นละก็ มันง่ายเกินไป" พระภิกษุสมุทรธรรมเอ่ยขึ้นในงาน การปาฐกถาธรรมโดยคณะภิกษุภิกษุณี ลูกศิษย์พระอาจารย์ติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ที่ผ่านมา

 

 

สงครามในใจ

แต่ก่อนที่จะพูดคุยกันถึงเหตุการณ์ในประเทศพม่า ท่านได้เชื้อเชิญให้เราลองเริ่มต้นพิจารณาดูว่า

"สันติภาพ" คืออะไร?

คำว่าสันติภาพในความคิดของเรา หมายถึง ไม่มีสงครามใช่หรือไม่

หลวงพี่ได้ยินคนกล่าวว่า เราอยู่ใกล้กับประเทศพม่า แต่เราทำกลับทำเหมือนว่าไม่มีปัญหา ทั้งที่ความจริงมันมีปัญหาอยู่ ดังนั้น ทำไมหนอ เราถึงแสร้งว่ามันไม่มีปัญหา หรือในชีวิตประจำวัน บ่อยครั้งแค่ไหน ที่เราแสร้งทำเป็นไม่เห็นปัญหาที่เกิดขึ้น ในขณะที่พระพุทธสอนว่าให้เรามองเห็นอย่างแท้จริง

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นเรื่องง่ายมากที่เรา จะให้ความสนใจกับสงครามที่เกิดขึ้นภายนอก โดยปราศจากการพิจารณาถึง "สงครามภายใน" ในความเป็นจริงแล้ว เวลาที่เรากล่าวว่า ไม่มีสงครามเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเรามีสันติในใจ เพราะหากพิจารณาอย่างลึกซึ้ง จะเห็นว่า มีสงครามเกิดขึ้นเสมอในหัวใจของเรา

"หากเรามองอย่างลึกซึ้งจะพบว่า แทบไม่มีสักวันเลยที่จิตใจของเรา ไม่เกิดอาการขุ่นเคือง อาการขัดแย้งในใจ มีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอยู่ทุกวัน หรือ คนที่เรารัก สามี ภรรยา เพื่อนของเราทำให้เรารู้สึกขุ่นเคืองใจบ้างหรือไม่"

 

 

Am I sure?

ปกติแล้ว เรามักคิดว่า เรารู้จักสามีของเรา เข้าใจลูกชายของเรา หรือภรรยาของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้ว สิ่งที่เรารับรู้ เป็นการเพียงความคิดเห็นภายในใจของเราเอง เพราะ ทุกประสบการณ์ที่เรารับรู้จะผ่านชั้นกรองหนึ่งอยู่เสมอก่อนที่จะกลายเป็นความรับรู้ของเรา นั่นหมายความว่า ส่วนใหญ่แล้ว เราไม่ได้รับรู้สิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็นจริง แต่เกิดจากความคิดของเราเท่านั้น ผลที่ตามมาก็คือ เกิดความเข้าใจผิดขึ้น ซึ่งเป็นรากของความรุนแรงและสงครามต่างๆ

คำถามหนึ่งที่หลวงพี่สมุทรธรรมเห็นว่า เป็นคำถามที่ทรงพลังอย่างมาก ที่เราควรตั้งคำถามกับตัวเองอยู่เสมอ ก่อนที่จะโกรธ หรือโมโหใคร ก็คือ เราแน่ใจแล้วหรือที่คิดอย่างนั้น หรือ Am I sure?

หากมองภายนอก เราอาจจะมั่นใจเป็นอย่างมากว่าสิ่งที่เราคิดคือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว พร้อมจะต่อล้อต่อเถียงเพื่อยืนยันความถูกต้อง แต่ลึกๆ เมื่อเราได้ใคร่ครวญพิจารณาก็พบว่าจริงๆ เราไม่ค่อยมั่นใจนัก ซึ่งตามวิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนานั้น เราควรรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง แทนที่จะเป็นการตีความของเรา

ขณะเดียวกัน เมื่อเรามองในภาพรวม จะพบว่า เราต่างก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับสงครามในภาพใหญ่ ซึ่งเรามักจะคิดว่า สงครามคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากคนอื่นไม่ใช่ตัวเรา เป็นเรื่องของรัฐบาล เรื่องของประเทศนั้นๆ เราไม่ใช่ต้นเหตุของการสร้างสงคราม

แต่เราแน่ใจแล้วหรือ?

มีคำสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า พวกเราสามารถมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมได้ โดยการดูแลส่วนตัวให้ดี เพราะภาพรวมในการกระทำของแต่ละคน ก็กลายเป็นกรรมร่วมกันของสังคมด้วย

 

 

ให้เสียงของเขาดังในหัวใจของเรา

ในการภาวนาแบบพุทธ การไม่แบ่งแยกเป็นสิ่งที่สำคัญมาก หลวงพี่สมุทรธรรมได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ในพม่าขณะนี้ เพราะเชื่อว่าทุกคนสามารถรู้สึกร่วมได้กับพระ หรือนักบวชในพม่า เราอาจจะเห็นได้ว่า พวกเขาเหล่านี้มีความทุกข์มาก จากการถูกทรมานต่างๆ ถูกจำกัดเสรีภาพในการสื่อสาร การแสดงความคิดเห็น เรารู้สึกโกรธแค้นทหารที่ใช้ความรุนแรง แต่พวกเราเองมีความสามารถแค่ไหน ในการลองเข้าไปถึงจิตใจของทหารเหล่านั้น โดยไม่ต้องเห็นชอบด้วย

"เราอาจจะลอง เอาใจเราไปใส่ในใจทหารพม่าสักคนหนึ่ง และใช้เป็นหัวข้อในการเจริญสติ เมื่อเรามองอย่างลึกซึ้ง เราจะเห็นการยึดติดในอำนาจของทหารเหล่านั้น เราอาจจะเห็นว่าพวกเขาอาจเติบโตมาท่ามกลางความยากจน และขาดการติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอก ในที่สุดแล้ว ด้วยสถานการณ์เช่นนี้ทำให้พวกเขาค่อยๆไต่เต้าจนมีอาชีพและเลี้ยงตัวเองได้ หรือบางครั้งชายหนุ่มคนนั้นอาจถูกล้อมาจากความจน หรือจากการแบ่งแยกของคนรอบข้าง จึงขาดความมั่นคงภายใน อันก่อให้เกิดความกลัวในจิตใจขึ้น เวลาที่เราพิจารณาอย่างลึกซึ้ง เราจะพบความขัดแย้งในจิตใจซึ่งเป็นต้นเหตุของความกลัวของเขา ดังนั้น สถานการณ์จึงสลับซับซ้อนกว่าที่เราเห็นมาก" หลวงพี่สมุทรธรรมชวนให้เรามองในมุมที่ต่างออกไป

 

 

คณะกรรมการฟังอย่างลึกซึ้ง

เวลาที่เราไม่แน่ใจว่าเรามีความคิดเห็นที่ถูกหรือไม่ ภิกษุณีนิรามิสาแนะนำให้เราฝึกที่จะสื่อสารอย่างสันติ คือ การฝึกฟังอย่างลึกซึ้งและการใช้วาจาแห่งรัก ท่านได้ยกตัวอย่างคำแนะนำของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ต่อปัญหาสงครามอิรัก หรือความขัดแย้งต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า เราควรตั้งคณะกรรมการฟังอย่างลึกซึ้งขึ้น เพื่อที่พวกเขาจะสามารถฟังความทุกข์ความยากลำบากของอีกฝ่ายหนึ่งได้ และเพื่อที่จะบอกเล่าอีกฝ่ายถึงความโกรธ ความกลัว ความระแวง สงสัยอะไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา การฝึกปฏิบัติการฟังอย่างกรุณาเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะสามารถช่วยให้อีกฝ่ายมีความทุกข์น้อยลง

      การฟังอย่างลึกซึ้ง คือ การฝึกที่จะฟังพร้อมตามลมหายใจเข้าออก และรักษาจิตใจแห่งความกรุณาตลอดช่วงที่เรากำลังฟัง และบอกกับตัวเองว่า เราฟังอีกฝ่ายเพื่อจุดประสงค์เดียว คือ ทำให้อีกฝ่ายมีความทุกข์น้อยลง ถ้าเราสามารถจะฝึกเช่นนั้นได้ เราก็จะได้รับการปกป้องจากความเมตตา กรุณา และเราจะสามารถฟังอย่างลึกซึ้งได้อย่างแท้จริง

"อย่างไรก็ดี การฝึกที่จะฟังอย่างลึกซึ้งต้องมาจากประสบการณ์ต่างๆ และบ่มเพาะผ่านการยืน เดิน นั่งอย่างมีสติ ไม่ใช่อยู่ๆก็ไปนั่งฟังอยู่เฉยๆ หากเราได้บ่มเพาะสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอก็จะช่วยทั้งตัวเราเองและคนรอบข้างด้วย"

 

 

มนตร์ ๔ ประการสร้างสันติ

หลวงพี่นิรามิสาได้เปรียบความสัมพันธ์เป็นดั่งสายน้ำ หากไม่มีการสื่อสารอย่างสันติอยู่เสมอ ความสัมพันธ์ย่อมย่ำแย่เหมือนกับสายน้ำที่ถูกปิดกั้นจนเน่าเหม็น เราจะทำอย่างไร ให้สายธารแห่งความสัมพันธ์นั้น ไหลล่อง และสดใสอยู่เสมอ คำตอบก็คือต้องมีการสื่อสารที่ดี

นอกจากการฟังอย่างลึกซึ้งแล้ว การใช้วาจาแห่งความรักก็มีความสำคัญเช่นเดียวกัน หลวงพี่นิรามิสาได้มอบมนตร์ ๔ ประการของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ที่จะมีประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ของเรา ดังนี้

 

๑) "ที่รัก ฉันอยู่ที่นี่เพื่อเธอ" (Darling, I am here for you) และเราก็จะอยู่ตรงนั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด หมายถึงว่า กายและใจเราอยู่ตรงนั้นด้วย

 

๒) "ฉันรู้ว่าเธออยู่ตรงนั้น และฉันก็มีความสุข" (I know you are there and I am happy) เพราะบางครั้ง การที่เราอยู่ด้วยกันมานาน เช่น สามีภรรยา ทำให้เราเคยชินและมองไม่เห็นอีกฝ่าย เราจึงควรทำให้ความสัมพันธ์ของเราใหม่อยู่เสมอ

 

๓) "ฉันเป็นทุกข์ และฉันอยากจะบอกให้เธอรู้ว่า ฉันพยายามจะทำอย่างดีที่สุดเพื่อบรรเทาความทุกข์นั้น" เพราะหลายครั้งที่เราเป็นทุกข์ มักจะแสดงออกในรูปแบบอื่นๆ เช่น หงุดหงิด ขณะเดียวกัน หากเราในฐานะผู้ฟังได้ยินว่าเขาพยายามทำอย่างดีที่สุด เราก็อาจจะตอบกลับไปว่า ฉันรับรู้ว่าเธอกำลังทุกข์และฉันอยู่ตรงนี้เพื่อเธอ

 

๔) "โปรดช่วยฉันด้วย ฉันกำลังเป็นทุกข์" เพราะหลายครั้งเรามักจะบอกว่าไม่เป็นไร หรือเรื่องแค่นี้เราทนได้ อยากจะแยกไปอยู่คนเดียว ไม่อยากขอความช่วยเหลือ จากอคติต่างๆที่เกิดขึ้นมา แต่ความจริงแล้ว นั่นไม่ใช่การเยียวยาที่แท้จริง เพราะเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นไม่มีใครเป็นฝ่ายถูกหรือผิด เป็นความรับผิดชอบร่วมกัน

 

 

รูปธรรมของสันติภาพ

สำหรับหลวงพี่นิรามิสาแล้ว "การเจริญสติ" คือ รูปธรรมของสันติภาพ สติ คือการกลับมาอยู่กับลมหายใจและอยู่กับปัจจุบัน รวมถึงการมองอย่างลึกซึ้งเข้าไปในต้นตอของสิ่งเหล่านั้น เช่น สงครามเกิดขึ้นจากความโกรธ ไม่รู้ อวิชชา ความโลภ ซึ่งอยู่ในตัวเราทุกคน ดังนั้น หากมีสันติเกิดขึ้นในตัวเราแล้ว เราจะเชื่อมโยงกับสันติธรรมภายนอกได้

มีหลายวิธีที่ทำให้เราสัมผัสถึงรากของความขัดแย้ง และสันติภาพได้ หลวงปู่ติช นัท ฮันห์มักสนับสุนนให้เรามีห้องสำหรับตามลมหายใจ เช่น ห้องพระ ซึ่งเราอาจจะเรียกว่าห้องสันติภาพ เพราะถือเป็นมุมของบ้านที่เรารู้ว่า เป็นมุมที่มีสันติ และเปิดโอกาสให้เราอยู่กับลมหายใจ เมื่อใดก็ตามที่เรากลับมาอยู่ปัจจุบัน และลมหายใจได้ นี่แหละ เราเรียกว่าสันติภาพ เพราะเราสามารถที่จะหยุดอยู่กับตรงนั้น ศานติในเรือนใจก็จะเกิดขึ้น เพราะแน่นอนว่า เมื่อเราคิดมาก ความสับสนก็เกิดมาก จนทำให้มองสิ่งต่างๆ ไม่ชัดเจน และก่อให้เกิดความคิดเห็นที่ผิดได้ หากปราศจากการพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง

หลวงพี่นิรามิสา ทิ้งท้ายว่า การเป็นผู้ใฝ่หาสันติ เหมือนการเป็นศิลปินที่จำเป็นต้องรู้จักนำวิธีแต่ละอย่างไปใช้ในแต่ละสถานการณ์ เมื่อนั้นเอง เราก็จะมีชีวิตที่เป็นสุข และมีสันติในใจมากขึ้น

 

จากการปาฐกถาธรรม "ศิลปะแห่งศานติ" The Art of Peace

โดยคณะภิกษุภิกษุณี แห่งหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส วันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๕๐

ณ หอประชุมคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

6-23 ตุลาคมนี้ มีกิจกรรมภาวนา ในหัวข้อ "ศิลปะแห่งศานติ: The Art of Peace"

สนใจติดต่อ 085-318-2938, 085-318-2939 หรือ http://www.thaiplumvillage.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท