Skip to main content
sharethis

อัคนี มูลเมฆ
สำนักข่าวประชาธรรม


ทันทีที่ขบวนการประชาชนภายใต้การนำของคณะสงฆ์ลุกขึ้นต่อต้านระบบปกครองพม่าในย่างกุ้ง องค์กรระหว่างประเทศที่เรียกว่า "กลุ่มวิกฤติการณ์นานาชาติ" (International Crisis Group) ซึ่งมีอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย-นายกาเร็ต อีแวน, เป็นประธาน ออกมาเรียกร้องให้ประชาคมนานาชาติเข้าไปยับยั้งการปราบปรามผู้เดินขบวนของรัฐบาลย่างกุ้ง


ข้อเรียกร้องเมื่อวันที่ 25 กันยายนต้องการให้นายบัน คีมูน, เลขาธิการสหประชาชาติเรียกประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของชาติที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับพม่าโดยฉุกเฉิน ประเทศดังกล่าวได้แก่ จีน, อินเดีย, และสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้รับบทเป็นประธานสมาคมอาเซียน


ขณะเดียวกัน, ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช ของสหรัฐฯ ก็กล่าวสุนทรพจน์เรียกร้องนานาชาติให้แซงชั่นพม่าทั้งทางเศรษฐกิจและทางการฑูตเพิ่มขึ้น นายบุชกล่าวว่า "ชาวอเมริกันรู้สึกเดือดดาลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่า" และแถลงว่าก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน, สหรัฐฯ เองได้กระชับมาตรการแซงชั่นโดยพุ่งเป้าไปยังการอายัติเงินทองของคณะบุคคลในรัฐบาลพม่า


กระนั้น, ความเคลื่อนไหวในเวทีระหว่างประเทศที่รวมทั้งการเรียกร้องและประณามก็มิอาจสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้ ระบบปกครองพม่ายังใช้มาตรการปราบปรามอย่างเด็ดขาดต่อผู้เรียกร้องประชาธิปไตยบนถนนในกรุงย่างกุ้งและตามหัวเมืองต่างๆ ซึ่งรายงานข่าวระบุว่าการประท้วงได้ระบาดออกไปกว่าสิบหัวเมือง


อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่ามาตรการปราบปรามครั้งนี้แตกต่างจากครั้งที่เคยเกิดขึ้นในปี 1988 ที่ชาวพม่าภายใต้การนำของขบวนการนักศึกษาลุกขึ้นต่อต้านรัฐบาล ซึ่งประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 3,000 คน ความวิตกของรัฐบาลย่างกุ้งต่อแรงกดดันจากภายนอกทำให้วิธีการปราบปรามครั้งนี้ลดความรุนแรงลง โดยทหารและตำรวจหันมาใช้แก๊สน้ำตา, กระบองและโล่ห์แทนการโจมตีด้วยอาวุธร้ายแรง แม้มีรายงานว่ามีการใช้อาวุธสงครามอยู่บ้าง


มาตรการปราบปรามที่ลดความรุนแรงลง ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลลดความกลัว กระทั่งสามารถยืนหยัดยืดเวลาการประท้วงออกไป แม้เผด็จการจะปิดกั้นการเผยแพร่ข่าวสารออกสู่โลกภายนอกก็ตาม ทั้งนี้เพราะกลุ่มผู้ประท้วงรู้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกลายเป็นศูนย์รวมความสนใจของชาวโลก และรัฐบาลเผด็จการยิ่งปราบปรามก็ยิ่งเผชิญกับแรงกดดัน


นักวิเคราะห์มองเหตุการณ์การลุกฮือในพม่าครั้งนี้ว่า โดยตัวมันเองการประท้วงเป็นเหมือนแส้โบยตีรัฐบาลพม่าจากทิศทางรอบด้าน เผด็จการย่างกุ้งตกอยู่ในภาวะ "มีแต่เสีย" หรือตกอยู่ในสถานการณ์ "Lose-Lose Situation" ลงไปเรื่อยๆ เนื่องจากพื้นฐานภาพพจน์ของรัฐบาลมีแต่ความเลวร้ายและถูกมองว่าเป็นประเทศที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง


ในทางกลับกัน, การเดินขบวนและการปราบปรามที่อุบัติขึ้นในพม่าส่งแรงกระแทกกลับมายังฝักฝ่ายผู้เกี่ยวข้องภายนอกว่า ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา, ความพยายามแก้ไขความขัดแย้งในประเทศนี้อยู่ในภาวะล้มเหลว การแซงชั่นของวอชิงตันและประเทศกลุ่มอียู, รวมทั้งนโยบาย "เกี่ยวพันเชิงสร้างสรรค์" (Constructive Engagement) ของอาเซียน ล้วนใช้การไม่ได้กับประเทศเผด็จการอย่างพม่า


สองสามปีที่ผ่านมา นายโคฟี่ อันนาน, อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ, พยายามสร้างความสมานฉันท์ระหว่างระบบปกครองย่างกุ้งกับฝ่ายต่อต้านภายใต้การนำของนางอองซาน ซูจี ด้วยวิธีส่งฑูตพิเศษ อย่างน้อยสองรายเข้าไปไกล่เกลี่ย กระทั่งสามารถทำให้รัฐบาลย่างกุ้งในยุคของพลเอกขิ่น ยุนต์ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นปล่อยตัวนางซูจีชั่วคราว หรือกระทั่งกดดันให้รัฐบาลพม่ากำหนด "โร้ดแม็พ" (Road Map) เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาการเมืองในประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย


ทว่าการรัฐประหารของกลุ่มหัวรุนแรงใน "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" (State Peace and Development Council - SPDC) ภายใต้การนำของพลเอกอาวุโส ตัน ฉ่วย และพลเอก หม่อง เอ ทำให้ความหวังทั้งหมดดับมอดลง และนำพาพม่าไปสู่ความมืดมนอีกครั้ง


รัฐบาลใหม่นอกจากปฏิเสธบทบาทของอาเซียนและโลกตะวันตกแล้ว ยังหันเหนโยบายไปสร้างพันธมิตรกับอินเดีย ขณะยังรักษาไมตรีกับปักกิ่งไว้ การหันหลังให้อาเซียนและโลกตะวันตกเหมือนเป็นสัญญาณชี้ว่าย่างกุ้งไม่ต้อนรับความพยายามใดๆ ของประเทศกลุ่มนี้ ทั้งทำให้ความกระตือรือร้นเพื่อแก้ปัญหาของสหรัฐฯ และอียู รวมทั้งอาเซียนอยู่ในภาวะบอดใบ้


แม้ย่างกุ้งสามารถต้านแรงกดดันจากภายนอกได้ระยะหนึ่ง แต่แรงกดดันจากภายในกลับปะทุขึ้นอย่างรุนแรง มิหนำซ้ำยังส่งสัญญาณที่น่าวิตกยิ่งกว่าการต่อต้านของประชาชนเมื่อปี 1988 ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของขบวนการนักศึกษา


ความแตกต่างของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทั้งสองครั้งถูกตีความว่า ครั้งแรกเป็นการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษา, ปัญญาชน และชนชั้นกลางในเมือง แต่ครั้งหลังเป็นการลุกฮือของประชาชนระดับรากหญ้าภายใต้การนำของขบวนการสงฆ์ ซึ่งหมายความว่าความไม่พอใจระบบเผด็จการกระจายไปทุกหย่อมหญ้า อีกทั้งความเกลียดชังและการต่อต้านฝังรากลึกอยู่ในประเทศ คนรากหญ้ากำลังกลายเป็นเผือกร้อนในลำคอของเผด็จ ผู้คนเรือนแสนเหล่านี้ยังอยู่ที่นั่น ไม่หลบหนีออกนอกประเทศเหมือนกับนักการเมืองและปัญญาชนยุคปี 1988


ในอดีต ขบวนการต่อสู้ของนักศึกษาและปัญญาชนพม่าซึ่งดำเนินมาถึง 19 ปี ถูกวิจารณ์ว่าใช้ยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาดกระทั่งไม่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศ กล่าวคือเป็นการเคลื่อนไหวต่อสู้จากภายนอกที่ไร้ผล ไม่อาจสั่งสมศักยภาพที่กระตุ้นให้เกิดแรงปะทุขนาดใหญ่ขึ้นมาได้ เนื่องจากเหล่านักศึกษาและนักการการเมืองพลัดถิ่นต่างอพยพออกมาอยู่ในต่างประเทศ


ทว่าการลุกฮือของสงฆ์และประชาชนครั้งนี้ฟ้องว่า ไม่ว่าปัญญาชนจะผิดพลาดอย่างไร แต่พลังขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงจากในประเทศอุบัติขึ้นแล้ว แม้ใช้เวลายาวนานแต่ภูเขาไฟลูกนี้คือพลังแห่งความหวังที่ประเทศพม่ารอคอย


แม้ไม่มีข้อมูลรายละเอียด แต่เป็นไปได้ว่าพลังที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นความพยายามของอดีตกลุ่มผู้นำนักศึกษาที่เรียกตัวเองว่า "รุ่นปี 88" (generation 88) เนื่องจากก่อนหน้านี้ปรากฏข่าวคราวจากภายในว่านักศึกษาได้แทรกซึมเข้าไปจัดตั้งขบวนการต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ โดยกระตุ้นประชาชนให้ประท้วงโดยวิธีสันติ เช่นการเขียนจดหมายหลายหมื่นฉบับถึงผู้นำรัฐบาล และการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์เช่นจุดเทียนไว้ในโบสถ์อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวอาจเป็นผลจากการสรุปยุทธศาสตร์อันผิดพลาดในอดีตก็เป็นได้


การลุกขึ้นสู้ในพม่าครั้งนี้กลายเป็นแส้ที่โบยตีโลกภายนอกเช่นกัน การเดินขบวนและการปราบปรามตอกย้ำถึงความล้มเหลวในการแก้ปัญหาพม่าของประชาคมโลก สหรัฐฯ และอียูไม่อาจทำอะไรได้เกินไปกว่าการแซงชั่น การใช้ไม้นวมของอาเซียนสะท้อนให้เห็นถึงความไร้ประสิทธิภาพ  ความผิดพลาดเหล่านี้ทำให้สายตาทุกคู่เหลียวมองไปยังประเทศจีน


ความเชื่อที่ว่าปักกิ่งคือผู้สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับสถานการณ์ในพม่า เกิดขึ้นจากเหตุผลหลักสองประการ อย่างแรกคือจีนมีอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง และการทหารเหนือรัฐบาลทหารในย่างกุ้งยิ่งกว่าชาติใดๆ และประการที่สอง เมื่อเร็วๆนี้จีนได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการแก้ปัญหามาแล้วในกรณีความขัดแย้งที่ดาเฟอร์ และวิกฤติการณ์นิวเคลียร์เกาหลีเหนือ


ที่ภูมิภาคดาเฟอร์ในแอฟริกา จีนสามารถกดดันให้รัฐบาลของนายอัลบาชีร์แห่งซูดานยอมรับกองกำลังสันติภาพของสหประชาชาติ หลังจากองค์กรโลกและสหรัฐฯ ประสบความล้มเหลวมาเป็นเวลานาน ทั้งที่สงครามกลางเมืองในภูมิภาคดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิตไปแล้วถึง 200,000 คน


ส่วนกรณีของเกาหลีเหนือ สหประชาชาติ รวมทั้งเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ไม่อาจใช้มาตรการใดๆกดดันรัฐบาลเปียงยางให้เลิกล้มโครงการผลิตอาวุธนิวเคลียร์ได้ แต่ปักกิ่งได้รับการปรบมือเมื่อสามารถถอดสลักวิกฤติการณ์ด้วยวิธีต่อรองให้เกาหลีเหนือยอมรับข้อเสนอนิวเคลียร์แลกน้ำมันและความช่วยเหลือจากภายนอก ทั้งสองกรณีปักกิ่งเพียงใช้วิธีการทางการฑูตเท่านั้น


คำถามสุดท้าย สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพม่าจะส่งผลอย่างไรต่ออนาคตของประเทศนี้?


แน่นอน, โลกภายนอกจะเพิ่มมาตรการที่แข็งกร้าวมากขึ้น นี่เป็นเรื่องที่คาดหวังได้ เช่นที่ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ กล่าวในฐานะเลขาธิการอาเซียนคนใหม่ว่า อาเซียนควรใช้นโยบาย "ความเกี่ยวพันแบบยืดหยุ่น" หรือ Flexible Engagement แทนนโยบาย "ความเกี่ยวพันเชิงสร้างสรรค์" ที่ไร้ผล และเช่นเดียวกัน, จีนจะถูกเรียกร้องให้เข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาพม่าในไม่ช้านี้


กล่าวโดยสรุปได้ว่า การลุกขึ้นสู้รอบใหม่ของขบวนการประชาชนในพม่าส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างมีศักยภาพในอนาคต ในทางกลับกัน, ผู้นำทางทหารในย่างกุ้งจะถูกบีบรัดอย่างไม่เคยมีมาก่อน เผด็จการต้องเผชิญกับศัตรูรอบด้านทั้งภายในและภายนอก ทั้งจะถูกโดดเดี่ยวจนมากขึ้น กระทั่งกลายเป็นคนแปลกหน้าในประเทศของตัวเอง


สำหรับขบวนการประชาชน การต่อต้านรัฐบาลในวันข้างหน้ามีอยู่สองทางเลือก คือการใช้กิจกรรมเชิงเคลื่อนไหว(Active) และกิจกรรมประท้วงด้วยวิธีงดเว้นกระทำการ (Passive) ซึ่งอาจเป็นการดื้อแพ่ง(Disobedience) ไม่ว่าจะเลือกใช้วิธีใด ต่อไปนี้พวกเขามีแต่ "ได้กับได้"(Win-Win Situation!) เท่านั้น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net