Skip to main content
sharethis


องอาจ เดชา เรียบเรียง


 


 


 






 


 


เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม ที่ผ่านมา "พรสุข เกิดสว่าง" บรรณาธิการนิตยสาร "เพื่อนไร้พรมแดน" ซึ่งเผยแพร่งานส่งเสริมความเข้าใจในสิทธิมนุษยชนไร้พรมแดน ได้ให้สัมภาษณ์บันทึกเทปรายการ "ผญาชุมชน" สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ FM 100 MHz ซึ่งออกอากาศทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 18.10-19.00 น. ดำเนินรายการโดย "ชาริณี ธัมโม" และ "อินทอง ไชยลังกา"


 


โดย "พรสุข" ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์หลังรัฐบาลทหารพม่าเข้าล้อมปราบอย่างรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากนับจากนี้ จะมีชาวพม่าและชนกลุ่มน้อยต้องอพยพหนีตาย และลี้ภัยเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง...


 


"ประชาไท" ขอนำบทสัมภาษณ์ดังกล่าวมานำเสนอตรงนี้...


 


 


 


000


 


สาเหตุของความรุนแรงในพม่าช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มันเริ่มต้นจากอะไร ?


ในระยะใกล้ คนมองกันเยอะว่า มาจากการที่รัฐบาลขึ้นราคาน้ำมัน มีผลให้ราคาสินค้าสูงขึ้นมาก ทำให้ผู้คนอดอยาก พระสงฆ์เริ่มออกมาประท้วงเป็นกลุ่มเล็กๆ แล้วรัฐบาลก็ตอบโต้ด้วยการจับพระสงฆ์สึก เข้าไปตรวจตราในวัด ทำให้พระสงฆ์ คนออกมามากขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่ หลังจากนั้นเกิดการปราบปรามกันขึ้น ซึ่งใช้ความรุนแรงมาก มีการทุบตี ยิง ภาพข่าวที่เราเห็นมีความชัดเจนว่าทหารพม่าตั้งใจยิงช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่กำลังถ่ายภาพอยู่ ไม่ใช่โดนลูกหลงแน่นอน


 


คนมองว่าการประท้วงมันเกิดขึ้นจากการขึ้นราคาสินค้าและน้ำมัน แต่ถ้าคนติดตามสถานการณ์ในพม่ามานานจะรู้ว่าจริงๆ มันเป็นสิ่งที่คุกรุ่นรอคอยมา 19 ปีแล้ว ว่าเมื่อไหร่ประชาชนจะทนไม่ได้กับสภาพนี้ เพราะมันไม่ใช่แค่ราคาสินค้าแพง แต่มันเป็นวิถีชีวิตที่ถูกกดดันมาก ไม่สามารถจะอยู่ จะกิน จะทำงานตามปกติมานานแล้วและเขาพยายามที่จะอยู่ แล้วรัฐบาลก็พยายามทำให้ประชาชนกลัว กลัวเกินกว่าที่จะลุกขึ้นมา แต่เราก็คิดว่าวันหนึ่งประชาชนจะทนไม่ได้และลุกขึ้นมา และพระสงฆ์ก็ลุกขึ้นมาในครั้งนี้ เพราะพระสงฆ์ใกล้ชิดประชาชนมาก ชาวบ้านไม่มีอะไรกินพระสงฆ์จะรู้ เพราะพระสงฆ์ก็จะไม่มีอะไรกินเหมือนกัน


 


มีหลายคนถามว่า ทำไมพระสงฆ์ต้องออกมา ทั้งที่บทบาทของพระต้องดูแลศาสนาไม่น่าเกี่ยวกับทางโลก ?


มีคนพูดแบบนี้เยอะ แต่เราต้องมองบทบาทพระสงฆ์ในประเทศพม่า เพราะพระสงฆ์มีบทบาทในสังคมมานานแล้ว และไม่ได้มีหน้าที่แค่เผยแผ่ศาสนา แต่ช่วยดูแลทุกข์สุขของชาวบ้านด้วย มีความใกล้ชิดมาก เป็นผู้รับฟังเวลาชาวบ้านทุกข์ยาก มีปัญหาชีวิตใดๆ ก็ตาม พระสงฆ์ในพม่าถือเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง ถือเป็นกลุ่มคนที่มีการศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งของสังคมพม่า ตอนแรกการเรียกร้องไม่เชิงเป็นการประท้วงเสียทีเดียว เป็นการออกมาพูด แต่รัฐบาลไม่ฟัง แต่กลับใช้ความรุนแรง พระสงฆ์ก็เริ่มบอยคอตด้วยการไม่รับถวายทานจากทหารพม่าทั้งหมด ทำให้เหตุการณ์เริ่มรุนแรง คือประชาชนออกมาสมทบเพื่อปกป้องพระสงฆ์ พระก็ออกมามากขึ้นๆ รวมถึงแม่ชีด้วย


 


สถานการณ์ในปัจจุบันนี้คลี่คลายแล้วหรือยัง หรือมีความรุนแรงแอบแฝงอยู่ ?


ทุกวันนี้มีการไล่ล่าค้นหาตามวัด จับพระออกมาสึก หรือทำลายข้าวของในวัดอย่างไม่หยุด เพียงแต่ว่าไม่มีการเดินขบวนที่ถนน และเริ่มมีคนต้องหลบหนีออกจากย่างกุ้ง และเมืองต่างๆ เพราะเขาถูกติดตามตัว เขาก็อพยพมาประเทศที่ใกล้สุดคือ ประเทศไทย


 


อยากให้ช่วยมองปัญหาที่จะตามว่าจะเป็นอย่างไร ?


การอพยพย้ายถิ่นไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นตอนนี้ คนจากประเทศพม่าต้องหนีมาเมืองไทยมานานแล้ว และอาจจะมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2531 เรามีผู้ลี้ภัยในประเทศไทยประมาณ 150,000 คน เรามีแรงงานอพยพประมาณ 1,000,000 กว่าคน ซึ่งตรงนี้มีเยอะอยู่แล้วและเขาก็เข้ามาเรื่อยๆ เพราะสภาพประเทศมันอยู่ไม่ได้ และที่จะเพิ่มขึ้นมาก็เป็นเพียงคนที่หลบหนีมาจากการปราบปราม ก็ไม่ได้เป็นวิกฤตการณ์น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะเรารับผู้อพยพมานานแล้ว แต่มันไม่เป็นข่าว และคนไม่ได้รู้สึก


 


แต่ปัญหาอีกอย่างที่จะเกิดในพม่าตอนนี้ และจะทำให้คนหนีออกมาทำงานมากขึ้นคือ สภาพเศรษฐกิจเขาแย่ลง ตอนนี้เท่าที่เราทราบคือมีคนอดอยากมาก เพราะเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นก็มีการกั้นเส้นทาง ทำให้การค้าขายทำไม่ได้ สินค้าที่เป็นอาหารส่งไม่ได้ ผู้คนที่เคยได้รับความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมจากองค์กรระหว่างประเทศในกรุงย่างกุ้งก็รับไม่ได้ มีการห้ามไม่ให้วัดรับถวายทาน ซึ่งถ้าวัดไม่มีข้าวก็หมายถึงชาวบ้านจะไม่มีข้าว


 


คือปัญหาเรื่องความมั่นคงทางอาหารเป็นประเด็นมาก เมื่อคนหมดหนทาง แม้ว่าถ้าคนกลุ่มนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เขาก็ต้องออกมาหาเส้นทางชีวิตของเขา ซึ่งก็คือที่นี่ (ประเทศไทย)


 


ผลกระทบที่เกิดจากการอพยพ ก็เป็นผลกระทบที่มีมาแต่ไหนแต่ไร เช่น ปัญหาแรงงานอพยพที่เข้ามาจำนวนมาก และรัฐบาลไทยก็ยังไม่สามารถจัดระเบียบได้ และคงจะจัดยาก เพราะเราก็ไม่สามารถหยุดคนที่จะมาได้ในเมื่อประเทศเขามีปัญหา เราจะจัดยังไงก็คงเป็นเรียบร้อยไม่ได้ ต้องเข้าใจตรงจุดนั้น


 


เรื่องของผู้ลี้ภัย สถานที่เขาอยู่ก็แออัดอยู่แล้ว ถ้าคนมีเพิ่มมา ก็จะแออัดเพิ่มอีก ขณะที่รัฐบาลไทยก็พยายามส่งไปต่างประเทศ มีการผลักดันกลับบ้าง ซึ่งในสภาพนี้ก็คงไม่สมควรที่จะผลักดันกลับอย่างยิ่ง


 


อย่างอื่น คงเป็นเรื่องธรรมดาของคนข้ามพรมแดนไปมา อาจมีโรคภัยไข้เจ็บบ้าง เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว


 


ถ้าจะมีผลกระทบอีกอย่างที่ไม่เกี่ยวกับผลกระทบ เรามองว่า รัฐบาลไทยหรือนักธุรกิจที่ไปลงทุนทำอะไรกับรัฐบาลทหารไว้เยอะ มีการร่วมมือกับทหารพม่า ซึ่งธุรกิจเหล่านี้มันเป็นส่วนหนึ่งทีเดียว ที่ทำให้คนเขาอยู่ไม่ได้ เช่น เราไปลงทุนการเกษตรกับรัฐบาลพม่า ซึ่งการลงทุนนี้ทำให้ชาวบ้านถูกยึดที่ทำกิน มาเป็นโครงการเกษตรขนาดใหญ่ของรัฐบาล ถูกบังคับให้ปลูกพืชตามที่มีนักธุรกิจลงทุน และเก็บภาษีจำนวนมาก ซึ่งตรงจุดนี้ทำให้คนเขาอยู่ไม่ได้


 


จะว่าเราได้รับกระทบก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่เรามีส่วนเข้าไปสร้างให้เรื่องนี้มันเกิดขึ้นอีกส่วนหนึ่ง มันก็เป็นวงเวียนในเมื่อเราไปสร้างไว้ เราก็ต้องรับ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว


 


แนวโน้มของการลี้ภัย การอพยพย้ายถิ่นจะมากขึ้นหรือไม่ ?


น่าจะหนักเป็นกระแสอยู่ในช่วงสั้นๆ และหลังจากนั้นก็จะหลั่งไหลมาเหมือนเป็นปกติ ซึ่งปกติมีผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นเดือนละพันกว่าคนอยู่แล้ว คนไทยมักไม่ทราบ เขาต้องหนีสงครามเข้ามา คือ ชนเผ่าทั้งหลาย ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกพม่า


 


คนอาจจะเพิ่มขึ้นจำนวนมากเป็นช่วงสั้นๆ แต่หลังจากนั้นถ้าเหตุการณ์ไม่คลี่คลาย ก็จะเป็นแบบนี้เรื่อยๆ มันไม่จบ คือเราไม่สามารถแก้ปัญหาด้วยปลายเหตุว่าการจัดระเบียบ หรือส่งคนไปต่างประเทศ เพราะเรื่องที่ในประเทศเขามันรุนแรงมาก และเราอาจต้องย้อนมองตัวเองว่าเราไปทำอะไรไว้บ้างหรือเปล่า ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น


 


เป็นไปหรือไม่ ที่จะมีผู้ลี้หนีภัยมาฝังตัวตามจุดต่างๆ เพื่อขออาศัยอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้ตั้งใจจะมาทำงาน ?


จะเรียกว่าส่วนใหญ่แล้ว ทางชายแดนมีค่ายพักของผู้ลี้ภัย 9 แห่ง ประมาณ 150,000 คน เขาไม่ได้ต้องการมาทำงาน เขาหนีภัยมา และเขาต้องการสถานที่ปลอดภัยที่จะอยู่ ค่ายแรกเกิดขึ้นในปี 2527หมายความว่าคนรุ่นแรกอยู่มา 20 ปีกว่าปีแล้ว ซึ่งในช่วงแรกเขาไม่ได้คิดเข้ามาทำงานทำการหรือมาตั้งรกราก แต่เมื่อมันกลับไม่ได้ เขาอาจต้องคิดว่าเขาจะทำอย่างไรกับชีวิตตัวเขาเอง อาจมีคนที่อยากออกมาทำงานบ้าง หรือคิดว่าถ้ากลับไม่ได้เราจะอยู่ที่นี่ไหม


 


แต่ส่วนใหญ่ที่คุยแล้วไม่มีใครอยากอยู่ค่าย เขาอยากกลับบ้าน


 


ส่วนคนที่เข้ามาหางานทำ ต้องเข้าใจว่ามันเป็นสภาพที่ต่างไปจากคนไทยไปทำงานที่ไต้หวัน เกาหลี คนไทยเราไปแสวงหาโอกาสเพื่อชีวิตที่ดีกว่าและสำหรับครอบครัว แต่คนจากพม่ามันก้ำกึ่งว่าอยู่ไม่ได้ กับหาชีวิตที่ดีกว่า คืออยู่ไม่ได้กับที่ดินถูกยึด อาจไม่ได้ถูกทหารไล่ฟันมา ไม่ใช่หนีสงคราม แต่ที่ดินเขาถูกยึด บ้านเขาถูกไล่ เขาก็ต้องมาหางานทำที่นี่ เขากลับไปได้ไหม ถ้าไม่ถูกฆ่า ก็ไม่มีที่จะอยู่ที่จะกิน มันเป็นเรื่องซับซ้อน มันต่างจากคนงานไทยไปต่างประเทศพอสมควร


 


อยากถามเรื่องผู้ลี้ภัย ที่ว่ามีค่ายผู้ลี้ภัยในไทยทั้งหมด 9 ค่ายนั้น ปัจจุบันมีที่ไหนบ้าง ?


ที่ จ.แม่ฮ่องสอน มี 2 ค่าย เป็นค่ายผู้ลี้ภัยชาวกะเรนนี 2 ค่าย จ.ตากมี 3 ค่าย เป็นค่ายชาวกะเหรี่ยง ที่ จ.กาญจนบุรี และ จ.ราชบุรี ก็เป็นชาวกะเหรี่ยง เมื่อก่อนมีค่ายของชาวมอญด้วย แต่หลังจากที่เขาหยุดยิงกับรัฐบาลพม่า และเขาได้พื้นที่เล็กๆ รัฐบาลไทยเลยผลักดันผู้ลี้ภัยชาวมอญกลับไป เขาก็อยู่เป็นค่ายไม่สามารถอยู่เป็นหมู่บ้าน เพราะเป็นพื้นที่เล็กๆ มันไม่สามารถทำกินได้เป็นปกติ และเขาไม่ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทย เพราะเขาไปอยู่ในฝั่งพม่า


 


อยากให้มองเห็นว่า หลังจากเราผลักคนมอญกลับไป สักพักหนึ่งเมื่อเขาอยู่ไม่ได้ เราจะพบว่ามีชาวมอญอพยพเยอะมากในเมืองไทย คือถ้าเราไม่ให้เขาเป็นผู้ลี้ภัย ในที่สุดเขาจะเข้ามาเป็นแรงงานอพยพนั่นเอง เพราะเขาอยู่ไม่ได้


 


ในค่ายมีผู้ลี้ภัย มีจำนวน 150,000 คน และแรงงานน่าจะหนึ่งล้านกว่า ซึ่งก็เป็นตัวเลขประมาณการณ์จากสถาบันต่างๆ เพราะจริงๆ แล้วมันนับคนไม่ได้ จะสังเกตได้เลยว่า ถ้าเป็นคนที่มาจากพื้นที่ๆ ลำบาก ได้รับผลกระทบจากสงคราม เขาจะเข้ามาเป็นครอบครัวมีคนแก่มีเด็กมาด้วย ไม่ใช่หนุ่มสาวเข้ามาทำงาน


 


คิดว่าประเทศไทยได้ผลกระทบจากคนอพยพอย่างไรบ้าง ?


ในส่วนที่เป็นผู้ลี้ภัยในค่าย ประเทศไทยอยู่บนผืนดินของไทย แต่ความช่วยเหลือเป็นขององค์กรมนุษยธรรมต่างประเทศทั้งหมด องค์กรศาสนาบ้าง เรามีหน้าที่ดูแลจัดการ เป็นงานที่เพิ่มขึ้นด้านการจัดการ ในเรื่องตัวเงินมีคนช่วยเหลืออยู่


 


ในประเด็นแรงงาน เขาจะเข้ามาเรื่อยๆ เราก็จดทะเบียน แต่ก็มีคนเข้ามาใหม่ เรื่องจดทะเบียนแรงงานมันใช้ไม่ได้จริง เนื่องจากมันมีหลักการ กฎเกณฑ์ที่เป็นไปได้ยาก เช่น เปลี่ยนนายจ้างเมื่อก่อนไม่ให้เปลี่ยน หลังๆ มายอมให้เปลี่ยนแต่ก็เปลี่ยนยาก แล้วแรงงานเวลาถูกนายจ้างโกงค่าแรงจะเปลี่ยนนายจ้างทีหนึ่งก็ไม่ได้เพราะต้องให้นายจ้างเก่าเซ็น พอเปลี่ยนนายจ้างไม่ได้ เขาก็หมดสภาพถูกกฎหมาย กลายเป็นคนไม่มีทะเบียนไปอีก


 


จะเห็นว่าจำนวนแรงงานข้ามชาติที่จะจดทะเบียนจะลดลงเรื่อยๆ


 


พี่น้องประชาชนคนไทยควรจะมีความเห็นอกเห็นใจอย่างไรบ้างกับชาวพม่า ?


แรกเริ่มที่สุด พื้นฐานที่สุด เข้าใจว่ามีคนไทยจำนวนเห็นภาพข่าวที่เกิดขึ้นในพม่าแล้วสะเทือนใจ ว่าทำไมโหดร้ายรุนแรงอย่างนี้


 


อยากบอกว่า ถ้าคิดว่าเราสะเทือนใจกับตรงนั้น หลังจากนี้ถ้าเราเห็นคนงานจากพม่า เห็นผู้ลี้ภัยจากพม่าในเมืองไทย อยากให้มองเขาแล้วเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นที่เขา เพราะเขามาที่นี่ด้วยสาเหตุเดียวกันนั่นแหละกับภาพที่เราเห็นในทีวี


 


ถ้ามีสายตาที่ไม่ไว้ใจเขา ลองเอาเหตุการณ์มาเชื่อมโยงกันดู แล้วมองเขาด้วยความเข้าใจมากขึ้นว่าไม่มีใครอยากจากบ้าน ไม่มีใครอยากอยู่หลบๆ ซ่อนๆ แบบนี้มากมายนักหรอก แต่มันมีปัญหา มันมีเรื่องที่เขาต้องมา


 


ถ้าเราอยากมีบทบาทในสังคมของไทยมากขึ้น ขอให้มองในเชิงนโยบายว่ารัฐบาลไทยไปทำอะไรร่วมกับรัฐบาลพม่าไว้บ้าง ล่าสุดเลย อย่างโครงการเขื่อนสาละวินที่เราบอกว่าจะได้ไฟฟ้ามาใช้ แต่น้ำท่วมจะท่วมทั้งฝั่งไทยและพม่า ฝั่งไทยชาวบ้านปกาเกอะญอก็ไม่อยากเสียที่ดินทำกิน แต่พม่าเขาจะยิ่งกว่านี้ เขาจะอาศัยกวาดทหารมาล้างคนออกจากพื้นที่ ซึ่งเราจะได้ไฟฟ้า แต่จะต้องรับผู้ลี้ภัยเข้ามาอีกจำนวนมาก ที่ลี้ภัยไม่ได้คือเขาตาย...คือไฟฟ้าเลือดค่ะ …ได้ไม่คุ้มเสีย


 


หมายความว่า ได้ไฟฟ้าแต่จะสูญเสียชีวิตเพื่อนมนุษย์ ?


ถึงเขาจะไม่ใช่คนไทย ไม่ได้สัญชาติไทย แต่เขาก็เป็นคนเหมือนกัน เราได้ไฟฟ้ามาแต่เราแลกกับอะไรไป


เหมือนตอนทำท่อก๊าซไทย-พม่า ที่ จ.ราชบุรีและ จ.กาญจนบุรี เรารับผู้ลี้ภัยที่ทหารพม่าขับไล่มามาหมื่นกว่าคน ค่ายถ้ำหิน จ.ราชบุรี และค่ายบ้านต้นยางจ.กาญจนบุรี ทุกวันนี้คือคนที่ถูกกวาดล้างจากการวางท่อก๊าซไทยพม่า ส่วนหนึ่งที่เราไม่เห็นเขาแล้ว คือเขาเสียชีวิตแล้ว นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการกระทำของเราเอง ถ้าเรามีส่วนร่วมกับนโยบายกับรัฐหรือสังคมอยากให้ช่วยกันจับตามองด้วย


 


ในพื้นฐานที่สุด ในฐานะคนธรรมดา เราจะช่วยเขาอย่างไร ?


ถ้าเรามองเขาด้วยสายตาที่เปลี่ยนไป อย่างแรกในความรู้สึกของคนเรา ถ้ารู้สึกว่าเป็นเพื่อนกัน เราจะไม่ทำร้ายเขา อย่างที่สองถ้าเขาถูกทำร้าย เราจะไม่นิ่งเฉย ถ้าเราไม่นิ่งเฉย สมมติว่าเรารู้ว่ามีคนจากพม่าอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง แล้วเขาถูกกักไว้ไม่ให้ได้ค่าแรง เราอาจจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ หรือองค์กรเอกชน แทนที่จะมองว่าเขาเป็นคนพม่าแล้วคิดว่าช่างมันเถอะ


 


ก็ต้องดูแลกัน เพราะเขาก็เป็นคนๆ หนึ่งเหมือนกันกับเรา.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net