บทความ : สิทธิผู้หญิง: เรื่องที่ไม่เคย "เก่า" เลย

จิตต์ปภัสสร์ บัตรประโคน

โครงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนผู้หญิง
ตามอนุสัญญาผู้หญิงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(
CEDAW-SEAP)

 

ฟังแล้วอาจชวนหัวเราะเยาะเพราะความเชยเฉิ่มที่จะพูดเรื่องของ "สิทธิผู้หญิง" ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้หญิงได้รับสิทธิและโอกาสอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมในปัจจุบัน เมื่อผู้หญิงก้าวสู่การเป็นผู้นำในระดับต่างๆ การเข้าร่วมในเวทีสาธารณะเพื่อต่อสู้ ปกป้อง และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มและชุมชน ในสถานการณ์ความขัดแย้งและความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ กลุ่มผู้หญิงก็ยังเป็นแนวหน้าอย่างแข็งขันในการยุติความรุนแรง การเรียกร้องความเป็นธรรม และการสร้างสันติภาพ กระทั่งในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ระบุว่า "ชายหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน"  โดยความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกเหล่านี้ ทำให้ดูเหมือนว่า ความฝันที่จะเห็นโลกซึ่งชายหญิงเท่าเทียมกันกลายเป็นจริงหรือ "มาถึง" แล้ว แต่นี่จะเป็น "ฝันร้าย" เสียมากกว่า หากความเท่าเทียมดังกล่าวเป็นไปในเชิงปริมาณมากกว่าคุณภาพ หรือไม่อาจ "รื้อถอน" ความไม่เท่าเทียมระหว่างชายหญิงทางวัฒนธรรมได้

 

คำถามที่แหลมคมว่า จริงหรือไม่ที่จะไม่มีการเลือกปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบ และการแสวงหาผลประโยชน์จากผู้หญิงอีกต่อไป ซึ่งคำตอบที่ได้มานอกจากว่า "ไม่จริง" แล้ว ยังเผยให้เห็นถึงความซับซ้อน ความยอกย้อน และเงื่อนปมของปัญหาความไม่เป็นธรรม และความไม่เท่าเทียมที่ผู้หญิงต้องเผชิญ ซึ่งหนักหนาสาหัสมากขึ้น  

 

จากการจัดอบรมเรื่อง "อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ในบริบทเพศสภาพ ความขัดเเย้ง เเละการสร้างสันติภาพ" โดยเครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงที่มี "รากเหง้า" มาจากความแตกต่างระหว่างหญิงชายทางวัฒนธรรม โดยความแตกต่างอันนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิต ไม่ใช่เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น แต่มีผลกับผู้ชายด้วย และการทำความเข้าใจถึงความแตกต่างอันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นอย่างสำคัญต่อการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง สร้างให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ทัศนคติในเชิงบวก และการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่คนทุกเพศ

 

อุษา เลิดศรีสันทัด ผู้อำนวยการโครงการมูลนิธิผู้หญิง หนึ่งในคณะจัดการอบรมของเครือข่ายฯ  อธิบายว่า หลักสูตรการจัดอบรมที่ผู้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ถึงแนวคิดการจัดการปัญหาความขัดแย้ง ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเพศภาวะ  ความสำคัญในการใช้แนวทางสันติวิธีในการแก้ไขปัญหา การเยียวยา และการป้องกันมิให้เกิดปัญหาขึ้น (สามารถนำไปใช้ได้จริง ทั้งที่เป็นกรณีที่เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงทั้งในชีวิตส่วนตัว และชีวิตสาธารณะ

 

"เราเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจประเด็นความเป็นหญิง ความเป็นชายที่มาจากประสบการณ์ของผู้เข้าร่วมอบรม เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ความเข้าใจและความคาดหวังทางสังคมที่มีต่อผู้หญิงผู้ชายได้กำหนดบทบาท หน้าที่ความรับผิดชอบแต่ละเพศ และความสัมพันธ์ระหว่างเพศอย่างไร แล้วความสัมพันธ์นั้นดำรงอยู่อย่างเหลื่อมล้ำ ไม่เท่าเทียมอันทำให้ผู้หญิงเสียเปรียบ ถูกกระทำ ถูกใช้ความรุนแรง และถูกเลือกปฏิบัติอย่างไรบ้าง"

 

ต่างวัฒนธรรม ร่วมความรุนแรง

นอกจากประสบการณ์ที่ได้แบ่งปันออกมาเล่าสู่กันฟังของแต่ละคนแล้ว ก็มีการอภิปรายถึงความรุนแรงในระดับที่ลงลึกในชั้นของโครงสร้างทางสังคม และวัฒนธรรมบางประการ ซึ่งเอื้อให้เกิดการกระทำความรุนแรงต่อชีวิตและจิตใจของผู้หญิง โดยเป็นการร่วมกันอภิปรายผ่านกรณีศึกษา 3 เรื่อง ประกอบด้วยเรื่องเด็กหญิงบาตู เจ้าสาวศพ และระเบียบการตำรวจเกี่ยวกับคดี ลักษณะ 18 กรณีบางเรื่องที่มีวิธีปฏิบัติเป็นพิเศษ บทที่ 13 สามีภรรยาวิวาทกัน

 

เนื้อหาโดยสรุปเรื่องแรกเป็นข่าวการเสียชีวิตของเด็กหญิงบาตู ชาวอียิปต์ ด้วยวัยเพียง 12 ปี จากการผ่าตัดตามพิธีขลิบอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นพิธีกรรมตามความเชื่อที่ปฏิบัติกันในกลุ่มชาวมุสลิมและคริสเตียนแถบลุ่มแม่น้ำไนล์ และบางส่วนของแถบทะเลทรายซาฮาร่า เพื่อควบคุมความต้องการทางเพศของหญิง และสามารถจะรักษาเกียรติยศของตัวเธอเองได้ ทางรัฐบาลอียิปต์ได้ออกระเบียบห้ามการขลิบอวัยวะทันที แต่ยังมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้และการลงโทษอย่างจริงจัง

           

กรณีต่อมาเรื่องเจ้าสาวศพเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศจีน ซึ่งเป็นผลจากการรื้อฟื้นประเพณี "แต่งงานให้ศพ" ตามประเพณีจีนจะต้องให้ภรรยาและสามีร่วมหลุมศพเดียวกัน บางครั้งเมื่อลูกชายเสียชีวิตโดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน พ่อแม่จะจัดหาร่างของหญิงสาวเพื่อจัดพิธีแต่งงาน แล้วฝังศพทั้งคู่ไว้ในหลุมเดียวกัน ผลคือทำให้การค้า "ศพหญิงสาว" กลายเป็นธุรกิจที่ทำรายได้อย่างดี และเกิดธุรกิจการจัดหา "ศพหญิงสาว" เพื่อสนองต่อความต้องการตามประเพณี แต่จำนวนศพที่ไม่เพียงพอ และต้องใช้เวลามากในการจัดหา นายซอง เทียนตังได้ลงมือฆาตกรรมผู้หญิงเพื่อนำศพไปขาย เขาถูกจับและรับสารภาพ โดยกล่าวว่า "ฆ่าผู้หญิงเอาร่างไปขายง่ายกว่าต้องไปขุดศพออกจากหลุมฝังศพ"

           

สำหรับกรณีสุดท้ายเป็นกรณีศึกษาที่ต่างออกไป นอกจากเป็นประสบการณ์ในประเทศแล้ว ก็จะใช้เป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงการยุติความรุนแรง ซึ่งคนส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเป็นหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง นั่นคือตำรวจเท่านั้น และมีวิธีการเพียงการตักเตือน จับกุม คุมขัง และลงอาญาผู้กระทำความรุนแรง ดังมีรายละเอียดตามระเบียบฯ ว่า ข้อ 583 ในกรณีที่สามี หรือภริยากล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่า ทำร้ายร่างกายนั้น หากมิได้ใช้อาวุธหรือบาดเจ็บไม่ถึงสาหัส หรือเหตุมิได้เกิดบนทางหลวง ประกอบกับการกระทำนั้นได้กระทำไป โดยไม่ได้มีเจตนาชั่วร้าย เช่น ทำเพื่อตักเตือน สั่งสอน เป็นต้น ให้พนักงานสอบสวนพยายามชี้แจงตักเตือนให้เรื่องยุติกันเสีย...

           

อุษาอธิบายว่า ทั้งสามกรณีสะท้อนความรุนแรงต่อผู้หญิงที่มี "รากเหง้า" มาจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมที่อนุญาตให้กระทำความรุนแรงต่อผู้หญิงได้ กรณีระเบียบฯ ของตำรวจนั้น แสดงให้เห็นว่า หญิงผู้เป็นภรรยาแต่งงานแล้วเหมือนเป็นสมบัติ หรืออยู่ในอารักขาของสามี เขาสามารถตักเตือนและสั่งสอนได้ แม้ตำรวจจะสามารถแทรกแซงได้เมื่อมีการใช้อาวุธก็ตาม แต่ความรุนแรงต่อผู้หญิงในกรณีนี้กลายเป็นเรื่องผัวๆ เมียๆ ประเภทลิ้นกับฟันกระทบกัน ทั้งที่การทำร้ายอาจจะรุนแรงต่อชีวิตและจิตใจของผู้หญิง ก็พยายามไกล่เกลี่ยและเรื่องยุติลงเสีย  

           

"เราทำงานในเชิงความคิดด้วยการเสนอแนวคิดใหม่เรื่องการยุติความรุนแรง เปรียบเหมือนกับการเผยให้เห็นถึงรากเหง้า ลำต้น กิ่งก้านใบ และดอกผลของความรุนแรง ซึ่งเพียงแต่ตัดดอกผลและลิดใบออกยังไม่เพียงพอ หากไม่มีการขุดรากถอนโคนความคิด ความเชื่อ และวัฒนธรรมที่หล่อเลี้ยงความรุนแรงเหล่านี้เอาไว้"

 

            สำหรับแนวทาง วิธีการ และกระบวนการที่จะไม่ใช่แค่ "หยุด" ความขัดแย้งและความรุนแรงต่อผู้หญิง ในการอบรมครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination against Women: CEDAW) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "อนุสัญญาผู้หญิง"  ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่ประกันเรื่องสิทธิต่างๆ ของผู้หญิง ยืนยันสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน ศักดิ์ศรี และความเสมอภาคหญิงชาย ครอบคลุมมิติเรื่องสถานภาพของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับสิทธิพลเมือง สถานภาพทางกฎหมายของผู้หญิง สิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ และปัจจัยทางด้านวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์หญิงชาย

 

            โดยมิติปัจจัยทางวัฒนธรรมนี้ได้ขยายให้เห็นถึงการเลือกปฏิบัติ การกระทำความรุนแรง และการล่วงละเมิดต่อสิทธิผู้หญิงอันเนื่องมาจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม โดยทำให้เรื่องส่วนตัวกลายเป็นประเด็นสาธารณะ เช่น เรื่องความรุนแรงภายในบ้าน ไม่ใช่เรื่องผัวๆ เมียๆ แต่เป็นเรื่องสาธารณะที่ต้องให้ความสำคัญ เป็นการกระทำความรุนแรงที่ผู้ถูกกระทำต้องได้รับความช่วยเหลือ ความคุ้มครองและเยียวยาความเสียหายที่กิดขึ้น หรือภาพเหมารวมที่มีต่อผู้หญิงผู้ชาย ซึ่งเป็น "อุปสรรค" ต่อการได้รับโอกาส สิทธิ และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างเสมอภาคระหว่างหญิงชาย เช่น ทัศนคติต่อผู้หญิงว่าเป็นเมียและแม่ที่ดีมากกว่าจะเป็น "ผู้ใหญ่บ้าน" ที่ได้ เท่ากับจำกัดผู้หญิงไว้แต่ในพื้นที่ส่วนตัว พื้นที่ในบ้าน เป็นเหตุให้ผู้หญิงขาดโอกาสและการมีส่วนร่วมทางการเมือง การตัดสินใจในพื้นที่สาธารณะอันเกี่ยวพันและส่งผลกระทบต่อชีวิต

 

อนุสัญญาผู้หญิงเพื่อสิทธิผู้หญิง   

            อุษาเล่าว่า ในการอบรมฯ จะมีการเชื่อมโยงกรณีศึกษาที่ได้ร่วมกันอภิปรายเข้ากับอนุสัญญาผู้หญิง โดยดูว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเข้าข่ายการละเมิดอนุสัญญาประเด็นใดบ้าง ซึ่งก็จะพบว่า ทั้งสามกรณีเกี่ยวข้องกับกฎหมาย ข้อบังคับ ประเพณีและแนวปฏิบัติที่ก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง ดังนั้นหากความรุนแรงเกิดขึ้นในประเทศที่เป็นรัฐภาคีของอนุสัญญานี้ รัฐบาลจะต้องปรับปรุงแผนความประพฤติทางสังคมและวัฒนธรรมของผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อขจัดความเดียดฉันท์ และวิธีปฏิบัติอันเป็นประเพณีและอื่นๆ ทั้งปวง ซึ่งอยู่บนพื้นฐานของความคิดเกี่ยวกับความต่ำต้อย หรือความสูงส่งของอีกเพศหนึ่ง

 

            สำหรับการดำเนินการของประเทศไทยในฐานะเป็นรัฐภาคีของอนุสัญญาผู้หญิง นอกจากรัฐมีหน้าที่เเก้ไขกฎหมายเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติ กำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองผู้หญิงจากความรุนเเรงในบ้าน เเละพื้นที่สาธารณะ ทั้งยังต้องรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของอนุสัญญาฯ ดังกล่าวต่อคณะกรรมการอนุสัญญาฯ ซึ่งจะเป็นผู้ให้คำเเนะนำ เเละข้อเสนอ เพื่อให้รัฐทำงานได้ดีขึ้น

            ส่วนของภาคเอกชนก็สามารถมีส่วนร่วมในการสังเกตเเละรายงานเหตุการณ์เกี่ยวกับผู้หญิง เพื่อนำเสนอในรายงานทางเลือก (Alternative Report) ที่นำประเด็นใหม่ๆ ที่รัฐอาจมิได้นำเสนอเเก่คณะกรรมการอนุสัญญาฯ รวมทั้งสามารถร้องเรียนประเด็นที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐ หรือร้องเรียนเมื่อรัฐละเลยไม่ปฏิบัติเเก่คณะกรรมการอนุสัญญาฯ โดยตรง

 

            การสร้างเครือข่ายของผู้ที่มีประสบการณ์กับผู้หญิงหลายๆ กลุ่ม จะนำข้อเสนอ เรื่องราวที่เเตก ต่าง เเละสื่อความต้องการของผู้หญิงเหล่านั้นให้เป็นที่รับรู้ เนื่องจากรายงานของภาครัฐ ไม่ได้คำนึงถึงความแตกต่างหลากหลายของผู้หญิง มักมองผู้หญิงเป็นกลุ่มประชากรที่ไม่มีความเเตกต่าง ทำให้นโยบาย มาตรการและการปฏิบัติที่เกี่ยวมีลักษณะเหมารวม ในขณะที่ผู้ที่ทำงานใกล้ชิดกับผู้หญิงพิการ ผู้หญิงชนเผ่าสามารถมองเห็นประเด็นปัญหาเฉพาะกลุ่ม ที่ทำให้ผู้หญิงเเต่ละกลุ่ม ต้องการมาตรการเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติเฉพาะตัว  อันเป็นสิ่งที่มักถูกกลืนหายไป จากการมุ่งเน้นประเด็นผู้หญิง ที่ไม่นำเสนอความเเตกต่างหลากหลายภายในกลุ่มผู้หญิงของรัฐ

 

            "ในรายงานของรัฐที่ไปนำเสนอระบุว่า ผู้หญิงได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค แต่ไม่ได้มีการแยกแยะกลุ่มผู้หญิง ซึ่งพบว่า ผู้หญิงชายขอบอย่างผู้หญิงพิการ ผู้หญิงชนเผ่า ยังขาดโอกาสทางการศึกษา หรือการจัดการศึกษาไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของชุมชน เช่น กรณีการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนแต่ส่งผลต่อสิทธิทางการศึกษา และสิทธิอื่นๆ ด้วย ดังนั้นนอกจากจะเสนอให้รัฐต้องพิจารณากลุ่มผู้หญิงอย่างแยกแยะแล้ว ภาคเอกชนหรือภาคประชาชนที่ต้องทำรายงานคู่ขนานก็จะต้องสร้าง "แนวร่วม" ในกลุ่มผู้หญิงต่างๆ เพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบ การละเมิดสิทธิผู้หญิง เพื่อสะท้อนภาพปัญหาที่ใกล้เคียงกับความจริงที่สุด"

 

ผู้สนใจ กลุ่มองค์กร หรือหน่วยงานใดที่ต้องการเข้าร่วมเป็น "เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ" ซึ่งมีภารกิจหนึ่งในการติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาผู้หญิงของภาครัฐ และการจัดทำรายงานทางเลือกสามารถแสดงความจำนงร่วมกันทำงานได้ที่ มูลนิธิผู้หญิง หมายเลขโทรศัพท์ 02-433-5149 สำหรับผู้สนใจเข้าร่วมการอบรมเรื่อง "อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี ในบริบทเพศสภาพ ความขัดเเย้ง เเละการสร้างสันติภาพ" ก็สามารถติดต่อตามที่อยู่เดียวกัน

 

สิทธิผู้หญิงก็ยังเป็นเรื่องที่ไม่เคย "เก่า" เลย และต้องร่วมกันใฝ่ฝันถึงโลกที่จะเกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันอย่างแท้จริงต่อไป

 




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท