Skip to main content
sharethis


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือองค์การนิรโทษกรรมสากล ออกแถลงการณ์ เรื่อง พม่า : คณะมนตรีความมั่นคง แห่งองค์การสหประชาชาติต้องใส่ใจในปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม ระบุว่า ยินดีกับถ้อยแถลงจากมติของที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคง แห่งองค์การสหประชาชาติ ต่อกรณีพม่าที่เพิ่งมีการเผยแพร่ในวันนี้ ซึ่งในถ้อยแถลงดังกล่าวได้มีการ "ประณามอย่างรุนแรง" ต่อการที่รัฐบาลพม่าได้ใช้มาตรการรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยสันติ  คณะมนตรีความมั่นคงแห่งองค์การสหประชาชาติ ยังได้เน้นย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องมีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง และผู้ที่ยังคงถูกจับกุมคุมขังอยู่โดยเร็ว


 


"แน่นอนที่สุด เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคณะมนตรีความมั่นคงฯ น่าจะพูดได้หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่ และได้เรียกร้องให้มีการปลดปล่อยนักโทษทางการเมือง และนักโทษทางความคิด โดยเฉพาะนางอองซานซูจี และท่านอื่น ๆ อย่างไม่มีเงื่อนไขโดยทันที  "การเจรจาที่ถูกต้องชอบธรรม"  และ "การปรองดองแห่งชาติ"  ย่อมจะเกิดขึ้นได้หากมีความคืบหน้าในการปล่อยตัวนักโทษ ผู้ถูกจับกุมคุมขังให้เป็นอิสระจากการถูกจองจำ ตามที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ กำลังแสวงหาอยู่ในขณะนี้  นอกจากนี้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ยังได้เน้นถึงภาระความรับผิดชอบต่อการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นอุกฉกรรจ์ที่ได้เกิดขึ้นอีกด้วย" ไอรีน คาห์น  เลขาธิการใหญ่ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ระบุ


 


ไอรีน คาห์น ยังกล่าวว่า "แต่นี่ก็เป็นคำแถลงอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ มีต่อกรณีพม่า  ซึ่งได้กล่าวถึงประเด็นสำคัญของการละเมิดสิทธิมนุษยชน และก็ถือเป็นครั้งแรกอีกด้วยที่ได้เห็นพ้องกับมติของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งองค์การสหประชาชาติที่เพิ่งผ่านการรับรองเมื่อเร็ว ๆ นี้"


 


"เราเพิ่งได้รับรายงานล่าสุดจากพม่าว่า รัฐบาลทหารกำลังดำเนินการ "ตามล่า จองล้าง จองผลาญ" ต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการชุมนุมประท้วง  และนี่คงจะเป็นสิ่งที่สะท้อนภาพให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลพม่า ที่ได้ให้คำมั่นว่าจะให้ความร่วมมือกับสหประชาชาติ"


 



 "คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้เรียกร้องให้มีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรม และเห็นผลสัมฤทธิ์เป็นที่ประจักษ์  เราขอเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่เพียงแต่ใส่ใจและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพม่าอย่างใกล้ชิด และต่อเนื่องเท่านั้น  แต่ยังจะต้องจัดวางกรอบเวลา และจังหวะก้าว หรือขั้นตอนของความคืบหน้าให้เห็นอย่างชัดเจน และ บททดสอบแรกก็คือการที่คณะมนตรีความมั่นคงฯ เรียกร้องให้รัฐบาลพม่ามีการปลดปล่อยนักโทษการเมืองหลายพันคนที่เข้าร่วมการชุมนุมเหล่านั้น รวมทั้งอองซานซูจี และนักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังมายาวนานโดยทันทีนั้นจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ อย่างไร 


 


"ส่วนบททดสอบอีกบทหนึ่งก็คือ รัฐบาลพม่าจะยินยอมให้ผู้ตรวจการพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ นายเซอร์จิโอ พินฮิโร เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน แห่งองค์การสหประชาชาติโดยทันทีทันใด และเปิดโอกาสให้ดำเนินการโดยอิสระ ปราศจากการแทรกแซงหรือปิดกั้นของรัฐได้หรือไม่ เพียงใด"


 


แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงฯ ไปแล้วว่า ต้องมีคำสั่งให้ประเทศ หรือบริษัทคู่ค้าต้องยุติการค้าขาย หรือส่งมอบอาวุธให้กับรัฐบาลพม่า อย่างมีประสิทธิภาพ และโดยทันที  เรายังเรียกร้องให้ประเทศคู่ค้าและผู้สนับสนุนอาวุธให้แก่รัฐบาลพม่า อันได้แก่ จีน อินเดีย รัสเซีย เซอร์เบีย ยูเครน และประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้มีการห้ามมิให้สนับสนุนหรือค้าอาวุธยุทธโธปกรณ์ ตลอดจนยุทธปัจจัยต่าง ๆ เพื่อใช้ในด้านความมั่นคงให้กับพม่าอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net