Silence of the Lamp: เมื่อคนสื่อ (ในสนช.) และโพสต์ทูเดย์ ต้องการปิดกั้นเสรีภาพ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

หมายเหตุ : ชื่อบทความ "เมื่อคนสื่อ (ในสนช.) และโพสต์ทูเดย์ ต้องการปิดกั้นเสรีภาพ: กรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมฯ"

 

 

ประวิตร โรจนพฤกษ์

 

ค่อนข้างไม่น่าแปลกใจ กับการที่สมาชิกที่มาจากสายสื่อมวลชนในสภาโจ๊ก หรือ ที่เรียกว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ถูกแต่งตั้งโดยทหาร ได้พยายามผลักดันแก้กฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14 เพื่อ "คุ้มครอง" ให้บรรดาองคมนตรี อยู่เหนือคำวิพากษ์วิจารณ์ และเพื่อห้ามสื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ที่เพิ่งยูเทิร์นถอยไปชั่วคราว) พยายามทำให้การวิพากษ์วิจารณ์องคมนตรีเป็นความผิดตามกฎหมายมีโทษจำคุกถึง 5 ปี

 

สิ่งนี้ย่อมเป็นสัญญาณร้ายต่อระดับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสนอข่าว หลายคนอาจถามว่า แล้วทำไม สนช. สายสื่ออย่างนายภัทระ คำพิทักษ์ คำนูณ สิทธิสมาน และสำราญ รอดเพชรจึงเป็นหัวหอกในการเสนอกฎหมายนี้ ผู้เขียนไม่ค่อยแปลกใจ เพราะหากมองดูสภาพสื่อมวลชนไทยทุกวันนี้ ก็มิได้ชื่นชม ยอมรับ วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์และแสดงความเห็นอย่างเสรีอย่างแท้จริง

 

ถึงแม้สื่อจำนวนมากมักจะพอใจที่จะวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่น แต่เอาเข้าจริง พอถึงเรื่องตนเอง ก็มิชอบให้ผู้อื่นหรือสาธารณะมาตรวจสอบวิพากษ์วิจารณ์ ดังจะเห็นได้ว่า ไม่มีสื่อฉบับไหน มีระบบผู้ตรวจการภายใน (ombudsmen) ซึ่งมีในหนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าของอเมริกาบางฉบับ โดยที่ผู้ตรวจการจะสามารถใช้พื้นที่ในหนังสือพิมพ์นั้นๆ วิพากษ์วิจารณ์ความบกพร่อง หรือปัญหาของสื่อฉบับนั้นเป็นประจำอย่างถาวร โดยที่ผู้ตรวจการได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการที่ค่อนข้างเป็นกลาง และได้รับเงินเดือนจากหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ส่วนสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็น่าจะมีผู้ตรวจการได้ ซึ่งอาจจะมีอำนาจหน้าที่วิพากษ์วิจารณ์บรรดาสื่อต่างๆ ที่เป็นสมาชิกสมาคม หรืออดีตผู้บริหารสมาคมอย่างเช่น นายภัทระ ผู้ซึ่งลาออกไปเป็นสมาชิกสภาโจ๊ก

 

ในอีกด้านหนึ่ง สื่อหนังสือพิมพ์ไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับการถ่วงดุลอำนาจ (ซึ่งถือเป็นการวิพากษ์วิจารณ์แบบหนึ่ง) ไม่สนับสนุนให้มีสหภาพแรงงานในแต่ละองค์กร และถึงขนาดต่อต้าน จึงเห็นได้ว่า มีเพียงเครือหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่มีสหภาพเท่านั้น (ข้อสันนิษฐานคือ เครือนี้ยอมรับสหภาพได้ เพราะมีประวัติการก่อตั้งโดยฝรั่ง ในขณะที่สื่ออื่นที่มีเจ้าของหรือผู้ก่อตั้งเป็นคนไทยตั้งแต่เริ่มต้น ชอบพอกับระบบบ่าวไพร่มากกว่า) ถึงกระนั้นก็ตาม หลายปีที่แล้วผู้เขียนเคยได้รับคำอธิบายจากคอลัมนิสต์หญิงรุ่นอาวุโสแห่งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ผู้หนึ่ง ตอนที่ผู้เขียนไปบ่นว่า สื่อไทยช่างมีการบริหารจัดการภายในเสมือนองค์กรทหาร และคอลัมนิสต์หญิงผู้นั้นก็บอกผู้เขียนว่า นั่นมันเป็นเรื่องปกติ

 

ความจริงแล้วคนในอาชีพนี้ควรตระหนักถึงข้อดีและความสำคัญต่อวัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการเอื้อให้สังคมโปร่งใส คดโกงน้อยลง ในความเห็นของผู้เขียน วัฒนธรรมการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า การแสดงความเห็น ความรู้สึกอย่างเสรี การวิพากษ์วิจารณ์ และยอมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้อื่น ย่อมช่วยให้สังคมสามารถเรียนรู้ ปรับปรุง ให้ดีขึ้นได้ รวมทั้งช่วยป้องกันมิให้เกิดการโกงกินอย่างมหาศาล ใช้อำนาจในทางมิชอบ และลดปริมาณความประพฤติที่สร้างปัญหาให้กับสังคมโดยรวม รวมทั้งช่วยให้สังคมโปร่งใสตรวจสอบได้ หากทว่า คนใน สนช. ทั้งสายสื่อ และไม่สื่อ แต่โดยเฉพาะสายสื่อ กลับดูเหมือนจะเชื่อในการบูชาตัวบุคคลดุจเป็นเทพเทวา ที่แตะต้องและวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ และฝากความหวังของทั้งสังคม ให้อยู่ในอุ้งมือของคนเพียงหยิบมือเดียว กล่าวคือ คนทั้งประเทศควรเทิดทูน รอรับการชี้แนะและช่วยเหลือจาก "ผู้มีบารมี" เหล่านี้แต่ถ่ายเดียวก็พอ ไม่ต้องวิพากษ์วิจารณ์อะไรทั้งสิ้น

 

หากพวก สนช. สายสื่อเหล่านี้เสนอกฎหมายให้ห้าม "คิด" วิพากษ์วิจารณ์ได้ พวกเขาก็คงทำไปแล้ว เพราะดูเหมือนพวกเขาจะเชื่อว่า คนส่วนใหญ่ในสังคมขาดซึ่งวุฒิภาวะในการขบคิดพูดถึงคณะองคมนตรี (และสถาบันกษัตริย์) อย่างเท่าทันในที่สาธารณะ

 

หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ซึ่งนายภัทระ เป็นบรรณาธิการโต๊ะการเมือง ได้พิมพ์บทบรรณาธิการในวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา ออกมาในทำนองปกป้องการกระทำของกลุ่ม สนช. กลุ่มนี้ พร้อมทั้งขู่สื่อมวลชนอื่นกลับอย่างน่าละอายว่า "ในฐานะสื่อมวลชนไทยเช่นกัน จำเป็นต้องสอบถามถึงเพื่อนร่วมวิชาชีพต่อการแสดงท่าทีดังกล่าวด้วยความเคารพว่า ท่านต้องการเสรีภาพ โฆษณาข้อเท็จจริง พฤติการณ์ต่างๆ การวิพากษ์วิจารณ์หรือความเห็นเกี่ยวกับคดีที่มีการกล่าวหาหรือฟ้องในความ ผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จริงๆ น่ะหรือ หากเป็นเช่นนั้น ก็สมควรที่เข้าชื่อเปิดเผยตัวตนต่อประชาชน เพื่อบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ของความเป็นนักต่อสู้เพื่อเสรีภาพให้ประจักษ์"

 

บทบรรณาธิการยังกล่าวต่อไปว่า "หากแต่เสรีภาพนั้นย่อมมีขอบเขตข้อจำกัดด้วยจารีต ประเพณี หน้าที่ของพลเมืองในแต่ละสังคม"

ปัญหาก็คือจารีตประเพณีในปัจจุบันก็หนักหนาสาหัสมากพออยู่แล้ว มิจำเป็นต้องไปแก้กฎหมายให้สร้างปัญหาเพิ่ม โปรดอย่าลืมว่า โทษจำคุกข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถูกเพิ่มเป็น 15 ปีในยุคเผด็จการทหาร หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มานี้เอง การที่บทบรรณาธิการออกมาท้าว่าคนในวงการสื่อควรเข้าชื่อเปิดเผยตัวตน ก็ย่อมเป็นการยอมรับโดยปริยายว่า มีคนจำนวนหนึ่งในสื่อที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้จริง เพียงแต่จะกล้าเข้าชื่อหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง (กรุณาใส่ชื่อผู้เขียนไปด้วยนะครับ) แล้วหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ไม่คิดบ้างหรือว่าบางคนอาจไม่กล้าเข้าชื่อเปิดเผยเพราะกลัวกฎหมายหมิ่นอย่างที่พวก สนช. พยายามทำให้ครอบคลุมขึ้นนั่นเอง

ในย่อหน้าท้ายสุดของ บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เขียนว่า "หน้าที่ของคนไทย คือ ทำนุบำรุง ปกป้อง รักษาซึ่งสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ หากเสรีภาพจะได้มาด้วยการสูญเสียซึ่งสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสามสิ่งนี้ เราขอยืนหยัดคัดค้านอย่างสุดกำลัง" ผู้เขียนขอแย้งว่า สังคมใดประชาชนไม่มีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สังคมนั้นคงอยู่รอดลำบาก หากอยู่ได้ "ประชาชน" ซึ่งบทบรรณาธิการมิได้เอ่ยถึง หากมีชีวิตอยู่ก็คงเป็นเพียงไพร่ทาสเท่านั้นเอง 

สำหรับผู้สนับสนุนกฎหมายเหล่านี้ที่อ้างว่า กฎหมายเช่นนี้จะช่วยให้คณะองคมนตรีอยู่เหนือการเมือง ให้ความคุ้มครองจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์นั้น ผู้เขียนขอฟันธงว่า มันคงไม่เกิดขึ้น ตราบใดที่คณะองคมนตรียังมีบทบาททางการเมือง หรือผู้คนเชื่อว่า ยังมีบทบาททางการเมืองอย่างมาก เช่น กรณีพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 49

 

การคุ้มครองคณะองคมนตรี ย่อมคล้ายกับการคุ้มครองไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ โดยกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพซึ่งก็ไม่สามารถหยุดยั้งคำซุบซิบติฉินนินทาต่อสถาบันได้ และทุกวันนี้แม้กระทั่งในอินเทอร์เน็ต แชทรูมจำนวนหนึ่ง ความเห็นเชิงเท่าทันสถาบันหรือวิพากษ์สถาบันก็มีให้ชมให้อ่านอยู่ไม่น้อย - ไม่มีใครห้ามมิให้มนุษย์คิดได้ดอก เพราะการคิดวิพากษ์วิจารณ์คือลักษณะธรรมชาติสำคัญอย่างหนึ่งของความเป็นมนุษย์ หากขาดสิ่งนี้ มนุษย์ก็คงหาเป็นมนุษย์ต่อไปไม่ และคงมิต่างจากสัตว์ชนิดหนึ่ง คุณทำได้ก็แต่กดขี่เขาในพื้นที่สาธารณะเท่านั้น

 

ทางการยิ่งห้ามโดยวิธีต่างๆ ไม่ว่ากฎหมาย กฎหมู่ หรือกฎมืด สุดท้ายความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ก็ถูกผลักไปอยู่ใต้ดิน แต่มันไม่ได้หายไป และมีแต่จะกลายพันธุ์เป็นการติฉินนินทาแบบข่าวลือ ซึ่งน่าจะบั่นทอนสถาบันมากกว่าด้วยซ้ำไป เพราะข่าวลือ คำวิพากษ์วิจารณ์เชิงซุบซิบ ตรวจสอบความจริงแทบไม่ได้ แต่แพร่กระจายรวดเร็ว เช่น ข่าวลือที่ว่า สมเด็จพระบรมฯ ทรงประชวรหนัก เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จนเป็นเหตุให้สมเด็จพระบรมฯ ต้องออกมาแก้ข่าวเอง โดยหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่างไทยรัฐ ลงข่าวพาดหัวใหญ่หน้าหนึ่งให้ หรือข่าวลือว่าสุนัขของในหลวงชื่อ คุณทองแดงตายแล้วจนในหลวงต้องออกมาตรัสปฏิเสธผ่านสื่อ (ณ ปัจจุบัน ยังมีอีกหลายเรื่องเกี่ยวกับสถาบันที่มีการซุบซิบ นินทา วิพากษ์วิจารณ์ในทางลบ ในขณะที่คนที่วิพากษ์วิจารณ์ถ่ายทอดข่าวลือบางคนยังใส่เสื้อเหลือง ในระหว่างที่ถ่ายทอดข่าวลือเหล่านั้น)   

 

บทความที่เกี่ยวข้อง :

 

เสรีภาพสื่อ, บทบรรณาธิการ Post Today, วันที่ 11 ตุลาคม 2550

'สื่อ' ที่เสนอให้จำกัดเสรีภาพ?, คอลัมน์ Hit and Run ประชาไท, วันที่ 13 ตุลาคม 2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท