Skip to main content
sharethis


 


16 ตุลาคม 50 เวลา 9.00 น. กลุ่มคนงานจากบริษัทเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด ซึ่งตั้งอยู่ที่อ.สามพราน จ.นครปฐม ประมาณ 300 คน รวมตัวกันบริเวณบ้านพิษณุโลก และเดินขบวนไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจดหมายให้รัฐบาลแก้ปัญหากรณีนายจ้างปิดโรงงานโดยไม่ได้รับค่าชดเชยใดๆ โดยมีสุรินทร์ พันทา ผู้ประสานงานโรงงานอ้อมน้อย อ้อมใหญ่เป็นตัวแทนในการกล่าวปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ผ่านเครื่องขยายเสียง


 


บริษัท เจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด จำกัด มี ตระกูล "เจริญสวัสดิ์ศิริ" เป็นเจ้าของ ประกอบกิจการประเภทสิ่งทอ ฟอกย้อม กรอด้าย ก่อนหน้าที่จะมีการปิดโรงงาน ทางบริษัทฯ ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงเวลาในการทำงาน โดยให้พนักงานหยุดงานชั่วคราว คือ ทำงาน 4 วัน หยุด 10 วัน สลับกันไป เริ่มตั้งแต่เดือน กรกฎาคม-กันยายน 2550 และให้พนักงานแผนกไซซิ่ง ฟันหวี กรอได้ จำนวน 25 คนหยุดงานชั่วคราวเป็นเวลา 1 เดือน โดยได้รับค่าจ้างครึ่งหนึ่ง เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนกรกฎาคม ถึงปลายเดือนสิงหาคม และในวันที่ 23 กันยายน บริษัทฯได้สั่งให้พนักงานส่วนของแพ็คกิ้งมาทำงาน เพื่อแพ็คสินค้าล็อตสุดท้ายออกจากบริษัทฯ และในช่วงบ่ายวันเดียวกัน นายยิ้ม เจริญสวัสดิ์ศิริ ได้ขนข้าวของเครื่องใช้จากบ้านพักที่อยู่ภายในโรงงานหนีออกไป และวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมาก็มีการปิดกิจการทั้งหมดของโรงงาน


 


ที่ผ่านมา บริษัท เจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด จำกัด ได้ประสบปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ถูกธนาคารกรุงเทพฯ ฟ้องล้มละลาย และศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550


 


เนื่องจากมีการปิดงานชั่วคราวก่อนหน้าที่จะมีการปิดกิจการ ส่งผลให้หลายเดือนที่ผ่านมาพนักงานมีรายได้ไม่พอกับการเลี้ยงชีพของครอบครัว และเมื่อมีการปิดกิจการพนักงานแทบไม่มีเงินสำรองไว้ใช่จ่ายในครอบครัวเหลือเลย นอกจากนี้พนักงานส่วนใหญ่ได้อาศัยหอพักของโรงงานเป็นที่พักอาศัย แต่ก็ได้ถูกตัดน้ำตัดไฟ เพราะนายจ้างไม่จ่ายค่าน้ำค่าไฟ ซึ่งตอนนี้พนักงานยังไม่ได้รับเงินชดเชยช่วยเหลือจากหน่วยงานใดเลย ซึ่งก่อนหน้านี้พนักงานได้ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชย และให้รัฐบาลช่วยเหลือ ที่แรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงานมาแล้ว แต่ไม่มีความคืบหน้าใดๆ


 


การชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เริ่มต้นประมาณ 9.30 น มีขบวนของกลุ่มผู้หญิงและเด็ก ที่ชูป้ายผ้าข้อความต่างๆ เช่น "ทำงาน 20-30 ปี นายจ้างปิดกิจการหลบหนี ไม่ปราณีคนงาน" ระหว่างการเดินขบวน มีการตะโกน "สู้ขาดใจพวกเรากรรมกร" สลับสับเปลี่ยนกับการร้องเพลง "เราสู้"


 


สุรินทร์ พันทา กล่าวว่า จากการปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก พนักงานที่พักอยู่ในหอพักของบริษัทฯ ถูกตัดน้ำตัดไฟ ลูกจ้างทุกครอบครัวได้รับความเดือดร้อนกันถ้วนหน้า บางครอบครัวไม่มีแม้ข้าวสาร และค่านมลูก และพนักงานของบริษัทฯ ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40-50 ปี ทำให้โอกาสที่จะหางานใหม่ยาก การมาในวันนี้ก็มาขอความเห็นใจ และความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี


 


จากนั้น เวลาประมาณ 11.30 . ทางรัฐบาลให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่งตัวแทนจำนวน 10 คน เพื่อเข้าไปเจรจาและพูดคุยกับนายอาทิตย์ อิสโม ผู้อำนวยการแรงงานสัมพันธ์ เป็นตัวแทนรัฐบาล ใช้เวลาในการเจรจาประมาณครึ่งชั่วโมง ระหว่างที่รอผลการเจรจา กลุ่มผู้ชุมนุมได้ร้องเพลงและมีตัวแทนผลัดเปลี่ยนกันขึ้นไปปราศรัย


 


เมื่อการเจรจาเสร็จสิ้นกลุ่มตัวแทนของกลุ่มแรงงาน นำโดย วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกมาแถลงการณ์ว่า ทางกลุ่มตัวแทนของพนักงานบริษัท เจริญสวัสดิ์ฯ ได้ขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลให้ช่วยเหลือเร่งด่วนในประเด็นดังต่างๆ ได้แก่ เร่งรัดให้พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดนครปฐมออกคำสั่ง (คร.8) สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่าย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉลี่ยตามส่วน และค่าชดเชยให้พนักงานบริษัทเจริญสวัสดิ์ฯ โดยเร็ว, ให้ใช้อำนาจบริหารในการพิจารณาสั่งจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่พนักงานโดยเร็ว, ให้รัฐบาลจัดหางบประมาณในการให้ความช่วยเหลือพนักงานเจริญสวัสดิ์ฯ ที่กำลังเดือดร้อน และประสบปัญหาอยู่ในขณะนี้โดยเร็วที่สุด, ให้รัฐบาลตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือลูกจ้าง จากกรณีการปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง


 


ด้านนายอาทิตย์ อิสโม ผู้อำนวยการสำนักแรงงานสัมพันธ์ กล่าวว่า ตอนนี้คำสั่ง คร.8 ได้ออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะนำไปสู่ขั้นตอนของการพิจารณาและบอกเลิกจ้าง ส่วนในเรื่องของเงินค่าจ้างก็คงต้องรอไปก่อน ทางคณะกรรมการสงเคราะห์ลูกจ้างจะนำกรณีของเจริญสวัสดิ์ฯ ไปพิจารณา และทางกระทรวงพัฒนาสังคมและมูลนิธิเพื่อนพึ่งพายามยากจะเข้ามาให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นในเรื่องของถุงยังชีพ และสินค้าบริโภค


 


 


 


 


 


 


 


 


 


 






 


วันที่ 15 ตุลาคม 2550


 


เรื่อง                  เร่งรัดให้พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดนครปฐมออกคำสั่ง (คร.8)โดยเร็ว


เรียน                  ท่านยายกรัฐมนตรี พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์


สิ่งที่ส่งมาด้วย      1.สำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น


                        2.แถลงการณ์


 


                        เนื่องจากบริษัทเจริญสวัสดิ์ใยเทียมยืด จำกัด ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 13/6 หมู่ที่ 4 ต.ท่าข้าม อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110 ประกอบกิจการประเภทสิ่งทอ ฟอกย้อม กรอด้าย มีผู้ถือหุ้นจำนวน 11 คน (รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่แนบท้ายมาด้วยแล้ว) ซึ่งบริษัทฯ แห่งนี้ได้ประกอบกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ.2514 เป็นระยะเวลา 36 ปี ได้ปิดกิจการลอยแพลูกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2550 ส่งผลให้พนักงานจำนวน 331 คน ตกงานทันที


 


                        จากการปิดกิจการลอยแพลูกจ้างดังกล่าว ทำให้พนักงานได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีพนักงานจำนวนถึง 200 กว่าคน พักอาศัยอยู่ในหอพักพนักงานของบริษัทฯ ต้องถูกตัดน้ำ ตัดไฟ และส่วนใหญ่เป็นคู่สามีภริยาที่ถูกลอยแพพร้อมกัน แล้วก่อนมีการปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2550 ทางบริษัทฯ ได้สั่งหยุดกิจการชั่วคราว ตาม ม.75 แห่งพ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยมิชอบ โดยสั่งให้พนักงานทำงาน 4 วัน หยุด 10 วัน อย่างนี้สลับกันไป เดือนหนึ่งมีเพียง 8 วัน ที่จะได้ค่าจ้างเต็ม 100% จากมาตรการของบริษัทฯ ดังกล่าว ทำให้หลายเดือนที่ผ่านมาพนักงานมีรายได้ไม่เพียงพอเลี้ยงดูครอบครัว ทำให้ไม่มีเงินสำรองที่จะนำมาใช้จ่ายในช่วงเวลาที่ถูกเลิกจ้างอย่างนี้ อีกทั้งพนักงานของบริษัทฯ ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 40-55 ปี ทำให้โอกาสที่จะหางานใหม่ทำ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำได้ในระยะเวลาอันสั้น


 


                        และข้อเท็จจริงของบริษัทฯ ณ ขณะนี้ได้ถูกธนาคารกรุงเทพฯ ฟ้องเป็นคดีล้มละลาย ศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้วเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ทำให้ลูกจ้างไม่สามารถฟ้องเรียกร้องค่าชดเชยจากนายจ้างได้ เนื่องจากอำนาจในการจักการทรัพย์สินของบริษัทฯ อยู่ในอำนาจหน้าที่ของพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ กรมบังคับคดี หนทางที่ลูกจ้างจะได้รับค่าชดเชยจึงมืดมนเต็มที ทางเดียวที่ลูกจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือ เยียวยา ความเดือดร้อนจึงมีทางเดียวคือเงินจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ซึ่งต้องรอคอยให้พนักงานตรวจแรงงาน จ.นครปฐม ออกคำสั่ง(คร.8) ซึ่งในเรื่องนี้พนักงานทั้งหมดได้ไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อพนักงานตรวจแรงงาน (คร.7) เรียบร้อยแล้ว แต่เนื่องจากการพิจารณาวินิจฉัน ออกคำสั่ง และการสั่งจ่าย เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง มีกรอบระยะเวลาที่ยาวนานเป็นตัวบีบคับให้ลูกจ้างต้องจำยอมรอคอย ทั้งที่ความเดือนร้อนและปัญหาของลูกจ้างและครอบครัวไม่เคยอยู่นิ่ง


 


                        จากความเดือดร้อนของพนักงานบริษัท เจริญสวัสดิ์ฯ ที่ต้องเผชิญหน้าโดยลำพังนายจ้างไม่เคยมาดูแลรับผิดชอบ ทั้งที่พนักงานทำงานด้วยความซื่อสัตย์ ไม่เคยมีการเรียกร้องใดๆ บางคนทำงานมา 33 ปี สวัสดิการก็ไม่มี ค่าจ้างก็สูงกว่าค่าแรงงานขั้นต่ำเพียง 3 บาท จึงขอช่วยเหลือมายังท่านนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยเหลือโดยเร่งด่วนในประเด็น ดังต่อไปนี้


 


                  1. เร่งรัดให้พนักงานตรวจแรงงานจังหวัดนครปฐมออกคำสั่ง (คร.8) สั่งให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่าย, สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า, ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเฉลี่ยตามส่วน และค่าชดเชยในพนักงานบริษัท เจริญสวัสดิ์ฯ โดยเร็ว


                 2. ให้ใช้อำนาจบริหารในการพิจารณาสั่งจ่าย เงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างให้แก่พนักงานโดยเร็ว


                  3. ให้รัฐบาลจักหางบประมาณในการให้ความช่วยเหลือพนักงานเจริญสวัสดิ์ฯ ที่กำลังประสบปัญหา ได้รับความเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้โดยเร็ว


                  4. ให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยง เพื่อเป็นกองทุนช่วยเหลือลูกจ้าง จากกรณีการปิดกิจการลอยแพลูกจ้าง


 


                             จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรีเร่งดำเนินการให้มีการช่วยเหลือพนักงาน เจริญสวัสดิ์ฯ โดยเร่งด่วน


 


                                                                                       ขอแสดงความนับถือ


 


                                                          คนงานเจริญสวัสดิ์ 331 ชีวิต


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net