Skip to main content
sharethis


วานนี้ (16 ต.ค.50) ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดน (REPORTER WITHOUT BORDERS) ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝรั่งเศส ตีพิมพ์รายงานการจัดอันดับเสรีภาพสื่อของ 169 ประเทศทั่วโลก ภายหลังใช้เวลาจัดทำรายงาน 6 เดือนเต็ม พบอิริเทรียรั้งท้ายแทนเกาหลีเหนือ ขณะที่ประเทศไทยร่วงมาอยู่อันดับ 135


 


ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า กองทัพซึ่งถูกคาดหวังว่าจะเข้ามาฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในไทย (อันดับ 135)  และฟิจิ (อันดับ 107) นั้นแท้ที่จริงแล้วกลับก่อให้เกิดสถานการณ์ความตกต่ำในแวดวงสื่อใหม่ สื่อมวลชนที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ นั้นค่อนข้างเป็นอิสระ แต่ทางกองทัพก็ยังคงขัดขวางกลุ่มผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีคนก่อนซึ่งถูกขับไล่ออกไปไม่ให้ได้ปรากฏในสถานีโทรทัศน์มากนัก และบรรณาธิการของเว็บไซต์บางแห่งหรือบรรดาบล็อกเกอร์ก็ถูกจับกุม ขณะที่ในประเทศฟิจิ สถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างกองทัพและผู้สื่อข่าวมีมาตลอดหลายสัปดาห์ นักข่าวต่างประเทศถูกขับไล่ออกไป และหลังจากนั้น แรงกดดันได้ไปเพ่งเล็งที่เสียงการวิพากษ์วิจารณ์ในอินเตอร์เน็ต


 


ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังได้ระบุถึงเสรีภาพในอินเตอร์เน็ตว่า สื่ออินเตอร์เน็ตได้รุกคืบมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อต่อต้านการละเมิดเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ แต่ในหลายประเทศที่อันดับลดลงในปีนี้ก็เพราะมีการละเมิดเสรีภาพของสื่ออินเตอร์เน็ตอย่างรุนแรงและบ่อยครั้ง


 


ตัวอย่างในมาเลเซีย (อันดับ 124) ประเทศไทย (อันดับ 135) เวียดนาม (อันดับ 162) และอียิปต์ (อันดับ 146) นั้น บลอกเกอร์ถูกจับกุมหลายคนและเว็บไซต์ใหม่ๆ ถูกปิดหรือถูกทำให้เข้าไม่ได้


 


"เรากังวลกับการเซ็นเซอร์ในอินเตอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น" ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุและว่า "รัฐบาลหลายประเทศเริ่มตระหนักว่าโลกไซเบอร์สามารถมีบทบาทหลักในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย และรัฐบาลก็กำลังหาวิธีการใหม่ในการเซ็นเซอร์มัน"


 


รายงานนี้ระบุว่ามีผู้คนอย่างน้อย 64 คนทั่วโลกที่ถูกคุมขังเมื่อเร็วๆ นี้จากการที่พวกเขาเข้าไปโพสต์ข้อความในอินเตอร์เน็ต ประเทศจีนยังคงรักษาตำแหน่งผู้นำในการปราบปรามแบบนี้ด้วยการจับกุมผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐไปราว 50 คน ขณะที่เวียดนามจับกุมไป 8 คน ที่อียิปต์มีการพิพากษาให้เด็กหนุ่มที่รู้จักกันในนาม "Kareem Amer" ถูกคุมขังเป็นเวลา 4 ปี ฐานที่โพสต์ความเห็นในบลอกของเขาในทางวิพากษ์วิจารณ์ประธานาธิบดีและการควบคุมชาวมุสลิมของมหาวิทยาลัยหลายแห่งภายในประเทศ



ทั้งนี้ ประเทศไทยมีอันดับลดลงต่อเนื่อง จากปี 2548 อยู่ที่อันดับ 107 ในปี 2549 หล่นมาอยู่ที่อันดับ 122 ซึ่งผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนระบุว่า ปี 2549 นั้นวัดจากช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 - 1 กันยายน 2549 เท่านั้น แต่ไม่ได้นับรวมถึงสถานการณ์สื่อภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ( อ้างจากบทความ ภาพลวงตาแห่ง "เสรีสื่อ" - พันธนาการที่ยังคงอยู่ ) 
 


 


 


 


-------------------------------------------------


หมายเหตุ - ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนจัดทำรายงานนี้โดยส่งแบบสำรวจไปยังองค์กรด้านเสรีภาพในการแสดงออก 15 แห่งทั่วโลกซึ่งเป็นผู้ร่วมทำงานด้วยกันโดยเชื่อมโยงกับเครือข่ายนักข่าวอีก 130 แห่ง รวมไปถึงนักวิจัย นักกฎหมาย และนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน โดยแบบสอบถามนี้มีคำถาม 50 ข้อเกี่ยวกับเสรีภาพสื่อในประเทศของพวกเขา ดัชนีนี้ครอบคลุมประเทศ 169 ประเทศทั่วโลก ส่วนประเทศที่เหลือไม่ได้รวมไว้เนื่องจากขาดข้อมูล


 




เอกสารประกอบ

ตารางการจัดอันดับเสรีภาพสื่อทั่วโลก 169 ประเทศ ประจำปี 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net