Skip to main content
sharethis

สัมภาษณ์โดย : ศรายุทธ ตั้งประเสริฐ


 


 



 


 


หลังรัฐประหาร 19 กันยายน ในการชุมนุมคัดค้านการรัฐประหารที่เริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ในช่วงวันหยุดราชการ เรามักพบชายที่มีบุคลิกแปลกๆ มาร่วมชุมนุมกับเขาอย่างสม่ำเสมอและตลอดมา


 


การแสดงความคิดเห็นของเขาค่อนข้างต่างจากบุคลิก เรียบง่าย ไม่ก้าวร้าว ชัดเจน และไม่มีลีลาทั้งในแบบของนักการเมือง นักเคลื่อนไหว หรือนักวิชาการ


 


นอกจากท่วงทำนองแล้ว ทัศนะทางการเมืองของเขา ก็มีมุมมองและข้อเสนอบางอย่างที่แตกต่างและน่าสนใจ และนี่คือทัศนะบางส่วนของ "ขาประจำ" นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ข้าราชการประจำจาก รพ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ


 


 


 



 


 


ถาม : จริงหรือเปล่าครับที่มีคนพูดว่าคุณเป็นข้าราชการพลเรือนคนเดียวที่ออกมาต่อต้าน คมช.ในที่สาธารณะ


กิติภูมิ:  พูดตรงๆ ผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน แต่เท่าที่เห็น นอกจากอาจารย์มหาวิทยาลัย (ซึ่งมีภูมิคุ้มกันทางวิชาการ) แล้ว ผมก็ไม่เห็นมีข้าราชการพลเรือนคนไหนออกมาคัดค้านการรัฐประหาร 19 กันยา 49 ผมอาจจะคิดไม่เหมือนคนอื่น คือผมเชื่อว่า เจ้านายของข้าราชการคือประชาชน และที่สำคัญต้องรับผิดชอบต่อประชาชนด้วย ข้าราชการบางคนก็อาจไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารเหมือนผม แต่วิธีการในการต่อสู้อาจแตกต่างกันไป


 


ถ้าพูดแบบไม่เกรงใจ หลังการรัฐประหาร 19 กันยา ข้าราชการนอกจากจะไม่ได้เสียประโยชน์แล้ว ยังได้ประโยชน์เป็นชิ้นเป็นอัน เป็นกอบเป็นกำจาก คมช. ด้วยซ้ำ เช่น ข้าราชการครู ก็ไม่ต้องถูกข่มขู่โดยการต้องไปสังกัดกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้ทำงานเช้าชามเย็นชามต่อไป ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ต่อชุมชนต่อไป


 


หรือในส่วนของหมอเอง ตอนนี้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนก็กำลังจะได้เป็น ซี 9 กันถ้วนหน้า


 


ผลประโยชน์ที่รัฐบาลทักษิณเพิ่มให้ราชการ ปรากฏว่าแม้รัฐบาล "ขิงแก่" จะล้มโครงการประชานิยมที่เป็นประโยชน์กับคนยากคนจนจนเกือบเรียบ แต่รัฐบาล "ขิงแก่" กลับไม่ยอมตัดผลประโยชน์ของข้าราชการที่ทักษิณเพิ่มให้เลยแม้แต่น้อย (แม้จะเก็บภาษีได้ต่ำลงเพียงใด) ไม่ว่าจะเป็นเงินเติมให้เต็ม 10,000 บาท, เงินประจำตำแหน่งที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เป็นต้น


 


เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่ารายการเขมือบประเทศไทยโดย คมช.ครั้งนี้ ข้าราชการไม่ได้เพิ่มแค่ "เศษกระดูก" แต่ได้ "เนื้อ" ไปกินจนอิ่มเอมไปตามๆ กัน


 


สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ "ระบอบทักษิณ" ทำให้ข้าราชการต้องทำงานหนักขึ้น ต้อง "รับใช้" ประชาชนมากขึ้น ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่ทำไมข้าราชการจึงชื่นชมโสมนัส 19 กันยา เหมือนๆ กับชนชั้นกลาง, ทหาร, ราชนิกุล, รัฐวิสาหกิจ, เอ็นจีโอ ฯลฯ


 


 


แล้วไม่มีปัญหาการถูกสอบสวนทางวินัยบ้างหรือครับ แปลกนะครับ


นับจาก 19 กันยา ผมได้คัดค้าน คมช. ในที่สาธารณะถึง 13 ครั้ง ส่วนมากเป็นวิทยากรในหลายๆ ที่ เวลาเข้าอินเตอร์เน็ต ผมก็ใช้ชื่อจริงตลอด แต่ก็ไม่เคยถูกสอบสวนหรือเล่นงานไม่ว่าทางใดทางหนึ่งเลย ที่จริงผมก็ยังงงๆ อยู่นะครับ ว่าเป็นไปได้อย่างไร


 


เป็นไปได้ว่า บางทีเขาอาจจะสงสารผมก็ได้ เขาคงเห็นว่าผมคัดค้านโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไร เลยไม่อยากให้เรื่องอื้อฉาว


 


อีกอย่างเขาก็คงเห็นว่า ผมทำงานในพื้นที่ทุรกันดารมา 20 ปีแล้ว บ้านก็ไม่มี รถก็ไม่มี ปูเสื่อนอนอยู่ทุกคืน การงานก็หนักสุดๆ แทบจะไม่เคยมีพักกลางวันเลย อีกอย่างหนึ่งก็คือ ผมค่อนข้างจะยึดมั่นในเหตุและผล และสันติวิธีนะครับ


 


ปล่อยเอาไว้ดูเล่นสักคนก็คงไม่ทำให้เขากระทบกระเทือนอะไรมั้ง ผมว่านะ แต่ถ้าหากว่าเขารู้แต่ไม่ปฏิบัติ นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ที่ชัดแจ้งนะครับ เพราะในขณะที่ผมเข้าร่วมชุมนุมต้านรัฐประหารในกรุงเทพฯ ในช่วงกฎอัยการศึก กลับไม่มีหน่วยเหนือคนใดแสดงอาการรู้เห็น และยังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยดูแลอำนวยความสะดวกในการชุมนุมด้วย เขาไม่ได้กลัวพวกเรานะครับ ให้อภิสิทธิในการละเมิดกฎหมายด้วย แต่คนอีสานแถวบ้านผมเดินทางเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ กลับถูกไล่ให้กลับบ้านครับ แต่เขากลัว และอาจจะเกลียด (หัวเราะ) คนยากคนจนนะครับ กับอภิชนคณะนี้


 


 


รัฐประหาร 19 กันยา ให้บทเรียนอะไรกับประชาชนและสังคมไทยบ้าง


จุดสำคัญ 2-3 ประการที่ต้องเน้นก็คือ มันคือ 6 ตลา 19 ภาค 2 ห่างกัน 30 ปีพอดี แต่จุดมุ่งหมาย, วิธีการเอามวลชนนำรัฐประหาร, และผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย แม้จะไม่มีคนตาย แต่นั่นเป็นเพราะไม่มีคนกล้าออกมาต่อต้านคัดค้าน


 


ประการต่อมา ก็คือ ปัญหาเรื่องบทบาทของชนชั้นกลางกับประชาธิปไตย ที่ผ่านมา เราถูกโฆษณาชวนเชื่อว่า ประชาธิปไตยถูกสร้างและธำรงรักษาโดยชนชั้นกลาง แต่ความจริงได้เปิดเผยให้เห็นแล้วว่า ประชาธิปไตยเป็นคุณกับคนยากคนจนมากกว่าชนชั้นกลาง (เน้นเสียง) และกลายเป็นว่า ขณะที่ ชนชั้นกลางกำลังทำลายประชาธิปไตย โดยการไปร่วมมือกับอำมาตยาธิปไตยและศักดินาก่อรัฐประหาร ชนชั้นล่างกลับยังคงพิทักษ์ประชาธิปไตยต่อไปอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะโดยการดื้อแพ่งต่อระบบราชการ และการพร้อมใจกันไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการ 2550


 


ประการสุดท้ายก็คือ อย่าตัดสินใครที่ชื่อ เพราะที่ผ่านมา เราได้เห็นคนแอบอ้างชื่อ "ภาคประชาชน" บ้าง, "เพื่อประชาธิปไตย" บ้าง, "กรรมาชีพ" บ้าง, "สื่อ" บ้าง ชื่อเหล่านี้ ใครๆ ก็ใช้ได้ แต่ต้องดูการกระทำถึงจะบอกได้ว่ามันเป็นจริงหรือเปล่า?


 


ยกตัวอย่างเช่น รัฐวิสาหกิจ โดยท่านผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจมักจะป่าวประกาศต่อสาธารณชนเสมอว่าเป็น "กรรมกร" หรือ "กรรมาชน" ทั้งๆ ที่ความเป็นจริง พวกเขาคือ "ข้าราชการ" รูปแบบหนึ่ง


 


หรือเอ็นจีโอที่รักทั้งหลาย ผมกล้าท้าได้ว่า ส่วนใหญ่ได้กลายเป็นหรือทำงานในแบบ "ระบบราชการ" ไปแล้ว และนั่นหมายความว่า เอ็นจีโอได้กลายเป็นหนึ่งในบรรดา "เจ้านาย" ของประชาชนด้วย


 


จริงๆ "เจ้านาย" เหล่านี้ มีไม่น้อยที่หวังดีต่อประชาชน และพวกเขาพร้อมที่จะช่วยเหลือหรือรับใช้ประชาชนในทุกๆ ด้าน ยกเว้นประการเดียว นั่นคือ พวกเขาไม่ยอมให้ประชาชนมีอำนาจกำหนดชะตากรรมของตัวเองเป็นอันขาด (ขอให้ทำตัวเน้น) ซึ่งสวนทางกันโดยสิ้นเชิงกับคำประกาศของพวกเขาต่อสาธารณะว่า "ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตัวเอง"


 


 


หลายครั้งที่คุณเคยพูดว่า "ระบอบทักษิณ" ถูกทำลายแล้วในวันที่ 19 สิงหาคม 50 ช่วยขยายความหน่อย


ผมขอบอกอย่างนี้นะครับว่า ในบรรดาชนชั้นสูง เขาไม่ได้ใส่ใจตัวทักษิณในฐานะตัวบุคคลสักเท่าไหร่หรอกครับ แต่แน่นอนในการโฆษณาชวนเชื่อ เขาต้องสร้างตัวผู้ร้ายขึ้นมา...ก็เท่านั้น


 


สิ่งที่พวกเขาต้องการทำลายจริงๆ คือ "ระบอบทักษิณ"


 


"ระบอบทักษิณ" คืออะไร


 


"ระบอบทักษิณ" แยกไม่ออกจากรัฐธรรมนูญ 2540 ครับ หากไม่เคร่งครัดรูปแบบให้เปะมากเกินไป ยอมรับความจริงกันเถอะครับว่า รัฐธรรมนูญ 2540 นั้น คือ Presidential System และนั่นเป็นอะไรที่ชนชั้นสูงของไทยรับไม่ได้


 


การเลือก Party List โดยแต่ละพรรคเสนอนโยบายให้ประชาชนเลือกนโยบาย, การกำหนดผู้ที่จะเป็นนายกฯ และรัฐมนตรีไว้ในอันดับต้นๆ ของ Party List มันก็คือ ระบอบประธานาธิบดีหรือกึ่งประธานาธิบดีกลายๆ นั่นเอง


 


การใช้ระบบเขตเดียวคนเดียว หรืออาจจะเรียกว่า One Man One Vote ทำให้สิทธิของทุกผู้คนเท่าเทียมกัน และทำให้ผู้แทนเป็นของประชาชนเป็นครั้งแรก จากเดิมที่ผู้แทนจะแว็บมาเฉพาะตอนเลือกตั้ง พอเป็นระบบ One Man One Vote ปรากฏว่า ส.ส.ต้องหมั่นมาดูแลและรายงานความคืบหน้าให้ประชาชนโดยตลอด


 


ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการเลือกตั้ง ส.ว.โดยประชาชนอีก....!


 


"ระบอบทักษิณ" จึงเท่ากับ "รัฐธรรมนูญ 2540" และเท่ากับ การที่ประชาชนมีสิทธิที่จะเลือกนโยบายในการบริหารประเทศ - การที่ประชาชนเลือกนายกฯ โดยตรง - การที่ประชาชนทุกชนชั้นมีสิทธิเท่าเทียมกัน - การที่อำนาจมาอยู่ในมือประชาชน - การกระจายงบประมาณแผ่นดินมาเพื่อประโยชน์ของชนชั้นล่างอย่างเป็นธรรมมากขึ้น


 


ที่ผ่านมาเรามักจะคิดว่า คมช. เมื่อรัฐประหารแล้วก็ฉีกรัฐธรรมนูญเก่าแล้วร่างรัฐธรรมนูญใหม่ตามธรรมเนียม แต่กรณี 19 กันยานี้ ไม่ใช่ การฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 คือการทำลาย "ระบอบทักษิณ" อย่างแท้จริง เห็นชัดๆ ว่า รัฐธรรมนูญ 2550 จงใจทำลายอำนาจของประชาชนที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540 ทั้งหมดโดยไม่เหลือซาก ดังนั้น "ระบอบทักษิณ" จึงถูกทำลายลงอย่างสิ้นเชิงเมื่อรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติในวันที่ 19 สิงหาคม 2550


 


ผมอยากให้พวกเราจำเอาไว้ว่า ศัตรูของพวกเขา (คณะรัฐประหาร, ข้าราชการ, ชนชั้นกลาง, ทหาร, ราชนิกุล, รัฐวิสาหกิจ, เอ็นจีโอ ฯลฯ) ไม่ใช่ทักษิณ แต่ศัตรูของพวกเขาคือ ประชาชน


 


 


มีข้อเสนออย่างไรต่อการเคลื่อนไหวทางสังคมต่อไป


ผมมีความเชื่อที่อาจไม่เหมือนคนอื่น คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน คือสิทธิในการเลือกผู้แทนในการเข้าไปทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ และบริหารประเทศ ถ้าเราไม่มีมีสิทธิตรงนี้แล้ว ก็ไม่ต้องพูดถึงสิทธิในด้านอื่นๆ แต่ก็อย่างที่ผมพูดไปแล้ว รัฐธรรมนูญปี 2550 ทำลายอำนาจประชาชน และลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานอันนี้ไป ถึงแม้ว่าเรายังมีสิทธิเลือกผู้แทนอยู่ แต่ผู้แทนก็ไม่อาจทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติและบริหารได้อย่างเต็มที่


 


ก่อนการลงประชามติ มีนักประชาธิปไตยหลายคนออกมาพูดในทำนอง "รับไปก่อน แล้วค่อยแก้" แต่หลังจากรัฐธรรมนูญ 2550 ผ่านการลงประชามติแล้ว คนพวกนี้ไม่รู้หายหัวไปไหนหมด ไม่มีใครพูดถึงการแก้รัฐธรรมนูญกันอีก สงสัยต้องใช้กันไปก่อนสัก 2 ปี แต่ในความเห็นของผม ประเด็นที่ผมพูดถึงต้องเสนอให้เป็นการทำสัญญาประชาคม ให้พรรคการเมืองแก้ไขทันทีหลังการเลือกตั้งเลยครับ


           


เพราะฉะนั้น ข้อเสนอของผมในตอนนี้ก็คือ


 


1.ให้พรรคการเมือง แก้ไขรัฐธรรมนูญให้การเลือกผู้แทนกลับมาใช้ระบบ One Man One Vote, ให้คะแนนParty List มาจากการเลือกนโยบายการบริหารประเทศของพรรคการเมือง และ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งให้เหมือนเดิม เสียก่อน


 


2.ให้มีการทบทวนในระดับโครงสร้างและเนื้อหาทางกฎหมายที่มาจากการรัฐประหารทั้งหมด ว่าขัดต่อสิทธิเสรีภาพหรือไม่ ส่งผลให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคมหรือไม่    


 


หากกฎหมายใดส่งผลกระทบต่อประชาชน ให้มีการทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเพื่อแก้ไขกฎหมายนั้นหลังการเลือกตั้งทันที


 


แต่อาจจะมีข้อโต้แย้งว่า กฎหมายบางฉบับเป็นกฎหมายที่ดี เช่น พ.ร.บ.สุขภาพ ฯลฯ ซึ่งผมเห็นด้วยหากพิจารณาแค่เพียงเนื้อหา แต่ที่มาและกระบวนการที่ขาดการมีส่วนร่วมและยึดโยงกับประชาชนทำให้มันหมดคุณค่าลง


 


3.ปัจจุบันนี้ผมเชื่อว่าประชาชนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วครับว่า การรัฐประหารไม่ใช่คำตอบในการแก้ไขปัญหาให้กับประเทศชาติได้ แต่ที่ผ่านมาได้เกิดขึ้นเพื่อสนองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ลองพิจารณาดูจากรัฐธรรมนูญ กฎหมายต่างๆ หรือ พ.ร.บ.งบประมาณ ในหมวดความมั่นคงเอาเองนะครับ ประเด็นมีอยู่ว่า พรรคการเมืองจะมีนโยบายหรือท่าทีอย่างไรต่อการรัฐประหารหรือการแทรกแซงคุกคามจากกองทัพที่น่าจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต                                                                                                                                                                                                                                      


คุณเคยพูดว่า หลัง 19 กันยายน 2549 เป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้เห็นว่า คนชั้นกลางเป็นศัตรูกับคนยากจน พอจะให้ที่มาหรือรูปธรรมของปัญหาได้ไหมครับ


ประเด็นนี้มีผู้รู้หลายท่านได้นำมาพูดแล้วครับว่า การจัดสรรทรัพยากรของทักษิณเป็นการนำเอางบประมาณที่ปกติเคยใช้กับคนชั้นกลางในเมืองมากระจายสู่ชนบท


 


ผมยกรูปธรรมในพื้นที่ที่ผมรับราชการอยู่ก็พอมองเห็นได้ ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะมีนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค คนจนที่เข้ารับบริการจากโรงพยาบาลรัฐมีน้อย เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูง แต่หลังจากนโยบาย 30 บาท คนจนเข้ารับบริการในโรงพยาบาลรัฐมีเพิ่มมากขึ้นในอัตราที่สูง ทำให้คุณภาพในการให้บริการลดลง และการเข้าถึงบริการของคนชั้นกลางลำบากขึ้น พูดให้เห็นชัดๆ ก็คือ คนชั้นกลางต้องรอคิวนานขึ้น และเมื่อหมอต้องตรวจคนไข้มากๆ หมอก็เบลอมั่ง อารมณ์เสียมั่ง ยาที่ใช้ก็คุณภาพต่ำลง อันนี้ คนชั้นกลางก็เลยรู้สึกว่า สิทธิของตัวเองถูกกระทบกระเทือนโดยคนจน โดยนโยบายที่เอาใจคนจนของทักษิณ เพราะฉะนั้นไม่เป็นที่น่าแปลกใจหรอกครับว่า ทำไมพวกเขาถึงสนับสนุนการรัฐประหาร


 


มีเพื่อนบางคนเคยพูดว่า คนชั้นกลางเกลียดหรืออิจฉาคนรวยนะครับ และเขาก็รังเกียจและดูถูกคนชั้นล่างด้วย


 


 


ในหลายเวทีเสวนา คุณประกาศตัวเองอยู่เสมอว่าเป็น Royalist


ผมยังขอยืนยันอยู่ว่ายังเป็น Royalist อยู่นะครับ แต่ไม่ใช่ Royalist ในรูปแบบเก่าๆ และอาจไม่เป็นที่ยอมรับของ Royalist อนุรักษ์นิยมด้วย


 


อาจจะเรียกเป็น Unconventional Royalist ก็คงจะได้มั้งครับ


 


แต่ถ้าจะถามว่า ต่างจาก Royalist แบบเก่าๆ อย่างไร คงต้องอธิบายว่าต่างกันมากครับ ก่อนอื่นผมคิดว่าสังคมไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่การเป็นสังคมในรูปแบบสาธารณรัฐ ไม่พร้อม ไม่ใช่เพราะประชาชนโง่ หรือขาดการศึกษา แต่ไม่พร้อมเพราะนี่เป็นปัญหาในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งข้อเสนอ "สาธารณรัฐ" เลี่ยงไม่พ้นที่จะทำให้เกิดความรุนแรงและความแตกแยกในสังคม อาจส่งผลให้เกิดสงครามกลางเมืองก็ได้


 


ดังนั้นผมจึงคิดว่า "สถาบันกษัตริย์" ยังคงจำเป็นต่อสังคมไทยต่อไป อย่างน้อยๆ ก็คงไม่ต่ำกว่า 20 ปี แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่สถาบันจะต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง และสังคมไทยก็จะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสถาบันเป็นอย่างมากเช่นกัน


 


ปัจจุบันผมเห็นว่ามีการนำเอาสถาบันฯมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเยอะนะครับ อย่างในกรณีของเหตุผลในการทำการรัฐประหารหลายครั้งที่ผ่านมา หรือการใช้กฎหมายหมิ่นฯ


 


หรืออย่างในพื้นที่ที่ผมทำงานอยู่ โครงการพระราชดำริฯ ประเมินทุกครั้งต้องสัมฤทธิผลทุกครั้งนะครับ แต่ผลกับชาวบ้านเป็นอย่างไร อยากรู้ให้มาดูเอาในพื้นที่นะครับ ถ้าไม่ชอบกินผักชีก็นั่งรถประจำทางเข้ามานะครับ ไม่ต้องแต่งตัวหรูหรามากับเจ้าหน้าที่ และมีเวลามากินนอนพูดคุยในพื้นที่มากๆ แล้วช่วยนำไปเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่ใช้ไปในโครงการนี้ด้วย


 


ผมมีข้อเสนอในประเด็นสถาบันฯ หลายข้อให้พวกเราช่วยพิจารณานะครับ


 


1. การผูกพันธมิตรระหว่าง สถาบันกษัตริย์ ทหาร ข้าราชการ จำเป็นที่จะต้องสลายตัวลง จากเหตุผลข้างต้นนะครับ และควรเกิดการผูกพันธมิตรใหม่ระหว่าง สถาบันกษัตริย์ ประชาสังคม คนยากคนจน ไม่ได้หมายความว่าให้มารอรับเครื่องราชย์ฯหรือรับของแจกนะครับ


 


2. มาตรการเดิมที่สร้างความหวาดกลัวและผลักประชาชนออกจากสถาบันฯ ควรจะพิจารณาแก้ไข หรือยกเลิก เช่น หลายๆ มาตราในรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 2, กฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นต้น


 


3. การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ควรถือเป็นกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ แน่ละครับ ต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในฐานะ สถาบันฯ ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องส่วนบุคคล หรือวิจารณ์แบบหาเรื่อง


 


4. นักวิชาการ ทุกสาขา จะต้องมีความซื่อตรงทางวิชาการที่จะศึกษาสถาบันฯจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ และกล้าวิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่มีอคติ โดยต้องได้รับการสนับสนุนให้ทำเช่นนั้นได้


 


5.ในปัจจุบัน กฎหมายหมิ่นฯ ถูกหยิบยกมาใช้อย่างฟุ่มเฟือยโดยใครก็ได้ สังคมจึงควรมีกลุ่ม/องค์กรด้าน กฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญด้านนี้ ให้คำปรึกษากับบุคคลที่ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหา


 


ยังมีข้อเสนออีกเยอะนะครับแต่ขอยกตัวอย่างเท่านี้ก่อน


 


 


ในกรณีที่มีการงดการแสดงความคิดเห็นในบทความ หรือบทสัมภาษณ์ของนักวิชาการบางคนในเว็บไซท์การเมืองหลายๆ แห่ง ซึ่งตอนนี้ก็รวมประชาไทด้วย คุณมีความเห็นอย่างไร


ผมขอพูดในฐานะของคนที่ติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ท สิ่งที่ทำให้อินเตอร์เน็ทต่างจากหนังสือก็คือ อินเตอร์เน็ทเป็นการสื่อสารแบบสองทางระหว่างผู้เขียนกับผู้อ่าน ผู้อ่านจะได้ประโยชน์ทั้งจากบทความและทัศนะจากผู้อ่านคนอื่น การแสดงทัศนะความคิดเห็นต่อบทความหรือบทสัมภาษณ์ ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นคนดี คนเลว คนโง่ คนฉลาด คนที่อ่านจะเป็นผู้คิดวิเคราะห์และตัดสิน การไม่รับฟังความเห็นของผู้อ่านก็เป็นสิ่งที่แย่อยู่แล้ว แต่ที่แย่ที่สุดก็คือ การจำกัดให้คนอ่านไม่มีสิทธิได้แสดงความคิดเห็นเลย หรือรับรู้ความคิดเห็นของคนอื่นเลย


 


ความจริง บทความ หรือแม้แต่ บท บก.ของประชาไท หลายบทก็ถูกด่าเละไปเลยนะครับ และในบางบทความก็อาจถูกพวกเดียวกันชื่นชมจนเกินจริง แต่ความเห็นเหล่านี้ไม่ได้ทำให้คุณค่าของบทความลดลงหรือเพิ่มขึ้นนะครับ


 


แต่ผมพอจะเข้าใจได้ เพราะอาชีพหลักของนักวิชาการก็คือ การบรรยายให้นักศึกษาฟังในชั้นเรียน การซักถามหรือแสดงความคิดเห็นของนักศึกษาก็ต้องได้รับอนุญาตจากผู้สอนเท่านั้น แต่ผมสงสัยว่า ถ้าเขาชอบแบบนั้น ทำไมพวกเขาไม่พิมพ์หนังสือมาขายแทนนะครับ


 


นักวิชาการทางสังคมศาสตร์ สมควรที่จะยืนยันในหลักการทางวิชาการที่ตัวเองใช้สั่งสอนลูกศิษย์นะครับ เช่นถ้าเขาสอนให้เคารพและอยู่ร่วมกันในความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย ฯลฯ ก็ควรประพฤติปฏิบัติให้ได้อย่างที่พวกเขาสอนลูกศิษย์ก็ดีนะครับ


 


 


หลังการรัฐประหารคุณพอมองเห็นอะไรที่พอเป็นความหวังให้กับสังคมไทยบ้างไหมครับ


ที่เห็นอยู่มีแค่ 2 เรื่องครับคือ


 


1.ผมเคารพความกล้าหาญในการแสดงความคิดเห็นในฐานะปัจเจกชนของคุณนวมทอง ไพรวัลย์ และ การที่ประชาชนซึ่งน่าจะเป็นคนชั้นล่างเป็นส่วนใหญ่ ได้แสดงความเห็นไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถึง 10 ล้านเสียง ซึ่งผมเชื่อว่าเกิดจากกระบวนการวิเคราะห์และตัดสินใจที่เป็นอิสระของพวกเขาเอง ผมไม่ได้มองว่าความนิยมในพรรคไทยรักไทยเป็นปัจจัยหลัก หรือการรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหารล้มเหลวนะครับ


 


2.ผมมีความหวังกับชุมชนเสมือนจริง หรือกลุ่มคนที่ใช้การสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ต ปรากฏการณ์ที่เห็น คือ กลุ่มคนเหล่านี้มีความตื่นตัวทางการเมืองเป็นอย่างสูง มีความคิดเห็นที่ก้าวหน้าและเป็นอิสระ มีการนำเสนอข้อมูลและการแสดงทัศนะที่พวกเขาคิดและเชื่ออย่างแตกต่างหลากหลาย ถึงแม้การใช้กำลังจับกุมผู้ที่ถูกเข้าใจว่าเป็น "พระยาพิชัย" และ "ท่อนจัน" จะค่อนข้างทำให้ผมตกใจกับการล่วงละเมิดของรัฐ และการปิดกั้นการเสนอข่าวของสื่อมวลชน แต่ผมก็ยังมีความหวังครับ


 


 


มีอะไรอยากเสนอนอกจากนี้อีกไหมครับ


ผมอยากเล่าเรื่องที่ผมได้รับรู้มาให้ฟังสัก 2 เรื่อง อาจจะดูไม่ต่อเนื่องกับประเด็นที่ได้พูดคุยมาข้างต้น


 


1. หลังการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว ในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดย อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นผู้นำที่มาจากระบบการเลือกตั้ง คนเยอรมันไม่ได้มอบความผิดบาปที่ผู้นำประเทศของพวกเขาต้องรับผิดชอบคนเดียว แต่ถือว่าเป็นความผิดหรือบาปที่พวกเขาต้องร่วมกันรับผิดชอบทุกคน


 


2. ชาวเกาะบอร์เนียวเชื่อว่า ลิงอุรังอุตังเป็นคนที่อยู่บนต้นไม้ เขาไม่ได้ถือว่ามันเป็นลิง เช่นกัน ถ้าพวกเขา (ผู้ปกครอง) มีทัศนะว่าประชาชนเป็นเพียงแค่ไพร่ฟ้า ประชาชนก็เป็นแค่ไพร่ฟ้า แต่ถ้าพวกเขามีทัศนะต่อประชาชนเหมือนกับทัศนะของชาวเกาะบอร์เนียวต่อลิงอุรังอุตัง ประชาชนก็มีศักดิ์ศรีเป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเขา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net