บทความ : มองต่างมุม กรณี ยุทธการพิทักษ์แดนใต้ภายใต้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน

อับดุชชะกูร์ บิน ชาฟิอีย์ ดินอะ (อับดุลสุโก ดินอะ)
Shukur2003@yahoo.co.uk

ด้วยพระนามของอัลลอฮฺผู้ทรงเมตตาปรานีเสมอ ขอความสันติและความจำเริญแด่ศาสดามุฮัมมัดและผู้เจริญรอยตามท่านและสุขสวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

ปัญหาภาคใต้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเด็นที่มีมุมมองในมิติที่แตกต่างกันไป อย่างไรก็ตามประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น มิได้เกิดจากปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นการเชื่อมโยงมิติประเด็นปัญหาหลากหลายเข้าด้วยกัน ดังนั้นการกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาให้เกิดสัมฤทธิผลอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นอย่างยิ่งต้องวิเคราะห์ปัญหาเหล่านี้อย่างเชื่อมโยงเป็นองค์รวม ซึ่งจะทำให้การกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหามีความลุ่มลึกและเข้าใจถึงรากเหง้าของปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ดียิ่งขึ้น

ปัจจุบันรัฐที่มีอำนาจเต็มมือและคิดว่ามีเอกภาพมากที่สุดได้ใช้ยุทธการพิทักษ์แดนใต้ ภายใต้ พ...การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินใน 3 จังหวัดใต้ในการยุติไฟใต้ โดยเฉพาะเหตุร้ายรายวัน (ซึ่งใช้ พ.ร.ก.นี้ใช้กว่า สองปีแล้ว และยังขยายการใช้ พ...ดังกล่าวออกไปอีก 3 เดือนข้างหน้า)

เป็นที่ทราบกันดี (โดยเฉพาะคนในพื้นที่) ว่า ยุทธการพิทักษ์แดนใต้ได้ระดมกำลังทหาร ตำรวจตรวจค้นจับกุมอย่างหนักหน่วงต่อเนื่องกันมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 เป็นต้นมา ทางฝ่ายรัฐแถลงการณ์ว่า มีการจับกุม "สมาชิกกลุ่มอาร์เคเค" ได้กว่า 2,000 คน และยึดอาวุธปืนที่ถูกปล้น-ชิง จากทหาร ตำรวจ พลเรือน ได้กว่า 40 กระบอก

ที่สำคัญมีการยึดเงินกว่าสามสิบล้าน (ซึ่งปัจจุบันกำลังเป็นทอล์กออฟเดอะทาวหรือวิจารณ์ไปทั่วว่าอาจมีเงินโดนฉกไปหลายล้านจากเจ้าหน้าที่) มีการเข้าปฏิบัติการในพื้นที่ "สีแดง" หลายพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ "ปลดปล่อย" ของขบวนการแบ่งแยกดินแดน และมีการ "ปะทะ" ด้วยอาวุธ จนกลุ่ม อาร์เคเค (รัฐคิดว่า) เสียชีวิตมากว่า 10 คน โดยผู้ที่ถูกจับ ได้กว่า 2,000 คน นั้นส่วนใหญ่จะถูกควบคุมตัวในค่ายต่างๆ ในภาคใต้ตอนบน และ ส่งเข้าร่วมโครงการฝึกอบรมอาชีพระยะเวลา 4 เดือนแกมบังคับ (โปรดดู ผลกระทบจากการควบคุมตัวใน

1. 4 ผู้ถูกคุมถอนคำร้องปล่อยตัว เปิดคำสั่งแม่ทัพ 4 ห้ามเข้าชายแดนใต้ 6 เดือน
2. ทหารยันเชิญชาวบ้านเข้าค่ายฝึกอาชีพเพราะเอี่ยวเหตุป่วนใต้ ถ้าปล่อยกลับจะไม่รับรองความปลอดภัย
3. นักสังเกตการณ์ (The Observers) : บันทึกการยื่นคำร้อง กรณีควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ตอน 3)

คุณมูฮำมัดอายุบ ปาทาน ผู้คร่ำหวอดด้านการข่าวในชุมชนมุสลิมตลอดระยะเวลากว่าสิบปี ได้แสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่เกิดขึ้นถ้ามองเพียง "พื้นผิว" ต้องบอกว่าเป็น "ความสำเร็จ" ของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าหรือสถานการณ์ชายแดนภาคใต้ดูท่าจะบรรเทาเบาลงได้มาก แม้จะมีการก่อเหตุขึ้นบ้างประปราย แต่ก็ไม่หนักหนาอย่างก่อนหน้านี้ สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ เหตุการณ์ที่เบาบางลงไป เป็นเพราะขบวนการใต้ดินอ่อนกำลังลง หรือมาจากการที่ฝ่ายรัฐทุ่มกำลังจำนวนมากลงไปในพื้นที่ ปิดกั้น จำกัดการเคลื่อนไหวของฝ่ายใต้ดิน...

วันนี้ภาพเด็กวัยรุ่นนั่งกันอยู่บนราวสะพานในหมู่บ้านหายไป คงมีแต่ทหารเฝ้าคุมเชิงสังเกตการณ์ทั่วทุกจุด หากการควบคุมพื้นที่ความรุนแรงสูง กวาดแนวร่วมเข้าค่าย และถอนแกนปฏิบัติการในพื้นที่ เป็นมาตรการร่นเวลาของสงครามให้สั้นลง ซึ่งในระยะต่อจากนี้ไปน่าเป็นห่วงว่า รัฐจะอ่อนล้ากับเกมสงครามนี้ไปเสียก่อนหรือไม่...

หากพิจารณาจากรูปแบบการก่อเหตุที่ผ่านมา พอจะเห็นได้ว่ายุทธศาสตร์ของขบวนการใต้ดินมิใช่การรบแตกหัก แต่เป็นการก่อสงครามยืดเยื้อ หาโอกาสซึ่งได้เปรียบที่สุด สร้างสถานการณ์กดดันทั้งภายใน และระดับสากล รัฐอาจได้เปรียบในการควบคุมพื้นที่ แต่การรุก-รับทางการทหาร หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่อาจกำชัยเด็ดขาด ยิ่งนานวันไปผลเสียก็จะตกอยู่กับรัฐ กำลังจำนวนมากซึ่งควบคุมพื้นที่ ล้วนเป็น "กำลังรบ' ในขณะที่กลไกรัฐอื่นๆ ไม่สามารถเชื่อมประสาน เข้าถึงพื้นที่ เข้าถึงมวลชนได้ อาจกลายเป็นชนวนปัญหา ซึ่งจะเป็นการตอกย้ำจุดอ่อนเรื่องความรุนแรงในอดีตที่รัฐไทยยังไม่อาจแก้ให้พ้นไปได้อย่างหมดจด รวมทั้งโจทย์ใหม่ที่เกิดขึ้นคือความรู้สึกที่ชาวบ้านมองเจ้าหน้าที่รัฐในแง่ลบ และความแตกแยกระหว่างไทยพุทธและไทยมลายูมุสลิม…

การที่ทหารควบคุมได้เฉพาะพื้นที่ แต่ภายใต้โลกซึ่งถูกย่นย่อลงด้วยช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้าง สถานการณ์ภายใน ที่จะถูกถ่ายทอดออกไปสู่ระดับสากล ยังเป็นสิ่งที่ควรให้ความใส่ใจระมัดระวังอย่างสูง ถึงที่สุดแล้ว รัฐกำหนดเกมสงครามนี้ได้จริงหรือไม่ สถานการณ์ที่สงบนิ่ง อาจสะท้อนว่า ฝ่ายขบวนการใต้ดินไม่ยอมเล่นตามเกมที่รัฐเป็นผู้กำหนด สถานการณ์ยิ่งยืดนานไปเท่าใด โอกาสที่รัฐจะสร้างจุดโหว่ก่อความผิดพลาดก็มีมากขึ้นเท่านั้น ขณะเดียวกันก็เอื้อให้ขบวนการใต้ดินเพาะตัว รอจังหวะเวลาที่เหมาะสมและได้เปรียบ รุกโต้กลับคืน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องระวังก็คือ ภายใต้การรุกทางทหาร แต่งานการเมืองของรัฐยังมิอาจเดินหน้าไปได้ไกล ถึงที่สุดแล้ว รัฐเองอาจถูกบีบให้เป็นฝ่ายตั้งรับทางการเมืองก็เป็นได้

สิ่งที่ผู้เขียนพบข้อมูลอีกด้านหนึ่ง จากการรายงานของนักข่าวในพื้นที่ พบว่าสถิติไม่ได้ลดลงตามรัฐกล่าวอ้าง (โปรดดู ปกรณ์ พึ่งเนตร.เปิดข้อมูลไฟใต้ VIS สวนทางสถิตินายกฯ เหตุรุนแรงไม่ลด.สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2550 จาก http://www.deepsouthwatch.org/index.php?l=content&id=156 และ http://www.tjanews.org/cms/index.php?option=com_content&task=view&id=2724&Itemid=47&lang=)

และความรู้สึกที่รัฐมองว่าการมีทหารและตำรวจถืออาวุธครบมือจะช่วยป้องกันเหตุร้ายให้กับประชาชนส่วนใหญ่นั้นไม่จริงเพราะหากท่านลองสำรวจแบบสอบถามคนในพื้นที่ดูว่าประชาชนมั่นใจหรือไม่ถ้าเขาต้องเดินท่ามกลางทหารและตำรวจหรือขับรถตามหลังรถทหารและตำรวจ ในร้านที่เต็มไปด้วยทหารและตำรวจ  ประชาชนส่วนใหญ่จะตอบว่าเขาจะพยายามหลีกห่างสถานที่ดังกล่าว (ไม่นับรวมคนส่วนน้อย)

ท้ายสุดตามทัศนะของผู้เขียน (ถึงแม้ไม่ใช้นักการทหารเป็นเพียงนักวัฒนธรรมตัวเล็กๆ ในพื้นที่) ยุทธการพิทักษ์ใต้ของรัฐภายใต้กฎอัยการศึกหรือ พ...การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่ประกาศใช้มาหลายปีนั้นรัฐเพียงควบคุมพื้นที่แต่ไม่สามารถควบคุมใจของมวลชนส่วนใหญ่ได้

สำหรับผู้เขียน (กรรมการสิทธิฯ และข้อเสนอแนะของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ตลอด 3 ปีที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมประชุมสัมมนาแก้ปัญหาใต้ทั้ง 4 จังหวัด จะวอนขอให้รัฐบาลยกเลิก พ...การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โปรดดูhttp://siangtai.com/TH/newssouth_detail.php?News_ID=3678)

ผู้เขียน ยังมีความมั่นใจว่าหากรัฐกล้าประกาศยกเลิกกฎดังกล่าวรัฐจะสามารถ ลด ความรุนแรงรายวันโดยไม่ต้องรบและสูญเสียทั้งคนและงบประมาณมากมายขนาดนี้ และยังรักษามวลชนโดยเฉพาะไทยมลายูมุสลิม

โดยผู้เขียน มีข้อเสนอขั้นตอนการยกเลิกดังนี้

มอบหมายให้คนในพื้นที่ดูแลกันเองดูสัก 3 เดือน

ใช้ระบบชูรอ (ปรึกษาหาหรือตามวิถีภูมิปัญญาชุมชน) ในชุมชนทำข้อตกลงด้วยวิถีวัฒนธรรมเป็นสัญญาประชาคมว่าหากเหตุการณ์ความไม่สงบไม่ลด รัฐจะนำกฎดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ดังกล่าวทันที

(โปรดดูความสำเร็จของระบบชูรอที่ชายแดนใต้ใน รายงาน : "สภาชูรอ" ที่ชายแดนใต้ : ศีลธรรมกับการมีส่วนร่วม)

อาจจะมีผู้แย้งว่าจะนำไปสู่การเสียดินแดนได้ในที่สุด ซึ่งผู้เขียนมีทัศนะว่าจะเป็นการดีเสียอีกสำหรับรัฐที่มีทั้งกองทัพอันมหึมาและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัย จะสามารถทราบตัวตนที่แท้จริงว่าแกนนำเป็นใคร หลังจากรบกับเงามืดมายาวนาน และคงไม่ยากที่จะเอาดินแดนคืน

ใช้ยุทธศาสตร์ของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เป็นหัวหอก ในการพัฒนาความมั่นคงของมนุษย์อย่างจริงใจและจริงจัง พร้อมกันห้าด้าน

1. ความมั่นคงทางสุขภาพ คือ การส่งเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ไม่เป็นโรคร้ายแรง อันเป็นอุปสรรคต่อการประกอบอาชีพหรือการดำเนินชีวิตตามปกติ รวมทั้งการส่งเสริมในการสร้างบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขใหม่จากคนในพื้นที่ ที่สำคัญควรร่วมมือกับองค์กรเอกชนต่างๆ เช่นสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยที่ทำงานการป้องกัน และดูแลผู้ป่วยโรคเอดส์และยาเสพติดในชุมชนตลอดสิบกว่าปี

2. ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ คือ มีช่องทางเลี้ยงชีพหรือมีรายได้เพียงพอแก่ความจำเป็นพื้นฐานของตนเองและครอบครัวอันประกอบด้วยปัจจัย 4 เป็นอย่างน้อย โดยไม่มีหนี้สินที่เป็นภาระเกินกำลังส่งคืน รวมทั้งมีหลักประกันความมั่นคงของรายได้ในอนาคตตามสมควร พร้อมทั้งใช้มาตรการแก้ไขปัญหาความยากจนด้วย กัน 13 วิธีดังนี้
        (1) กระบวนการเพิ่มรายได้
        (2) กระบวนการขยายโอกาส
        (3) กระบวนการลดรายจ่าย
        (4) เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน
        (5) การพัฒนาฐานข้อมูลครัวเรือน/ผู้ลงทะเบียนปัญหาสังคม เชิงบูรณาการ
        (6) กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้
        (7) การจัดสรรที่ดินทำกิน
        (8) การขยายงานภาครัฐ
        (9) การส่งเสริมการลงทุนขนาดใหญ่แต่ต้องไม่ให้กระทบทุนชุมชน
        (10) กระบวนการมีส่วนร่วม
        (11) บ้าน/บ้านเช่าเอื้ออาทร
        (12) การเข้าถึงแหล่งทุน
        (13) การปรับปรุงแก้ไขระเบียบกฎหมายที่เป็นอุปสรรค

3. ความมั่นคงทางสังคมในที่นี้รวมถึงความมั่นคงของครอบครัวและชุมชน ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคม เป็นต้น

ความมั่นคงทางการเมืองการปกครอง ซึ่งจะขึ้นอยู่ที่ปัจจัยว่าประชาชน มีสิทธิเสรีภาพเพียงพอ ไม่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน มีความยุติธรรมเสมอภาคในสังคมหรือไม่ ดังนั้นสังคมที่อยู่ภายใต้ พ...การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือร่างพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในนั้นเป็นการขยายบทบาทให้ทหารหรือหน่วยงานของรัฐ เข้ามามีบทบาทครอบงำสังคมมากขึ้น และอาจมีการใช้อำนาจล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อันเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ด้วยเหตุผล ดังนี้

ประการแรก เป็นการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในให้มีอำนาจแทนหน่วยงานของรัฐ เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงของชาติ โดย กอ.รมน. สามารถเป็นเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่นๆ ทุกฉบับ หรือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบ ให้ กอ.รมน.ดำเนินการแทนได้ในทุกสถานการณ์ ตลอดจนการให้อำนาจ กอ.รมน.จัดตั้งหน่วยงานระดับภาคและระดับจังหวัดให้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับ กอ.รมน.ระดับชาติ จึงถือเป็นการถ่ายโอนอำนาจให้กองทัพหรือทหารมีอำนาจเหนือหน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงาน ซี่งเป็นการรวบอำนาจให้ทหาร หรือกองทัพ ย่อมส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

ประการที่สอง เป็นการให้อำนาจกับผู้อำนวยการ กอ.รมน.สามารถออกข้อกำหนดที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การยุติการชุมนุมในที่สาธารณะ การห้ามใช้เส้นทาง การค้นอาคาร สถานที่ เป็นต้น

ประการที่สาม การออกข้อกำหนด คำสั่งของผู้อำนวยการ กอ.รมน.ตามกฎหมายฉบับนี้ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่ต้องถูกตรวจสอบโดยศาลปกครอง อันเป็นการขัดกับหลักการทั่วไปของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่การใช้อำนาจของฝ่ายบริหารจะต้องถูกตรวจสอบจากฝ่ายตุลาการอยู่เสมอ อันเป็นการขัดต่อหลักนิติธรรม

ประการที่สี่ การยกเว้นความผิดของเจ้าหน้าที่ ที่ไม่ต้องรับผิดทางอาญา ทางแพง หรือทางใดๆในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายนี้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการลุแก่อำนาจและทำให้คนทำผิดลอยนวลดังเป็นที่ประจักษ์อยู่ในขณะนี้ (ทั้ง 5 ข้อเป็นข้อสังเกตของ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน  คณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพ และคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน โปรดดูเหตุผลแย้งของนายกรัฐมนตรีได้ที่ ข่าวนายกฯหนุนพรบ.มั่นคงชี้ป้องกันรุนแรง-ไม่ต้องประกาศอัยการศึก)

ความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คือ มีทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยอย่างต่อเนื่องต่อการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต โดยไม่เกิดการเสื่อมโทรมจนเป็นปัญหาหรืออุปสรรคต่อความมั่นคงด้านอื่นๆ เพราะในอดีตจะพบว่าการพัฒนาชายแดนใต้ที่มาจากรัฐโดยเฉพาะ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติซึ่งการเปลี่ยนแปลง (ส่วนใหญ่) ล้วนมาจากข้างนอกทั้งสิ้น คนในรับรู้เพียงน้อยนิด นโยบายจากส่วนกลางในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมจังหวัดชายแดนใต้ดังกล่าวได้ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างคน 2 กลุ่ม 2 สังคม คือสังคมใหญ่กับสังคมย่อย สังคมใหญ่เป็นสังคมมหาชนที่มีรัฐเป็นองค์กรใหญ่กับสังคมท้องถิ่นที่เป็นสังคมเล็กๆ จนนำไปสู่ปัญหาความมั่นคงทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น การพัฒนาของภาครัฐเพื่อตอบสนองตลาดการพาณิชย์ได้ทำให้ระบบนิเวศน์อ่าวปัตตานีและนิเวศน์ชายฝั่งมีปัญหา เรื่อง ซีฟู๊ดแบงค์
(Sea Food Bank) ซึ่งเป็นโครงการของรัฐที่อยากเปลี่ยนแปลงอ่าวปัตตานี เป็นความคิดที่อยากให้มีความทันสมัยระดับโลก

เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนได้อ่านการวิจัยเรื่อง เสียงสะท้อนจากหมู่บ้านประมงอ่าวปัตตานี พบว่า คณะวิจัย  ได้สรุปผลงานวิจัย เป็นแผนภูมิของอ่าวปัตตานีได้อย่างลุ่มลึกโดยการวาดภาพอ่าวปัตตานีและ ระบายสีให้เป็นสีแดงและสีเขียวคนละซีก ซีกสีเขียวคือแหลมตาชี อันเป็นถิ่นฐานของคนปัตตานี ที่มีวิถีชีวิตแบบพอเพียงในการใช้ทรัพยากรจากธรรมชาติเพื่อการอยู่ร่วมกัน ซึ่งก็เห็นได้จากการใช้เครื่องมือจับปลาแบบประเพณี ในขณะที่ซีกสีแดงคือแหลมนก ซึ่งปัจจุบันคงไม่มีนก เป็นย่านอุตสาหกรรมนานาชนิดที่มีคนจากนอกพื้นที่ ไปอยู่ทำกินด้วยเครื่องมือหากินที่ทันสมัย และทำลายสภาพแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างสุดโต่ง คนในพื้นที่ได้คาดว่า ในไม่ช้าอ่าวปัตตานีจะเป็นทะเลปิดหรือทะเลสาบอันเนื่องจากการทับถมของโคลนตะกอนและสิ่งปฏิกูลอันมากด้วยมลพิษจากแหล่งอุตสาหกรรมและ ความรุนแรงและความขัดแย้งที่ไม่ยุติในสามจังหวัดภาคใต้นั้น มีมาจากการแย่งทรัพยากรของคนจากภายนอกที่มีต่อคนภายในคือ เป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่สำคัญ (โปรดดู เสียงสะท้อนจากหมู่บ้านประมงอ่าวปัตตานี. สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม2550 จากhttp://www.lek-prapai.org/south/index_south_education1.htm)

นี่เป็นการมองต่างมุมของผู้เขียน ต่อกรณี ยุทธการพิทักษ์แดนใต้ภายใต้ พ...การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินที่รัฐประกาศใช้มายาวนานและจะต่ออีกสามเดือน...ซึ่งนับวัน รัฐ ชนะเพียงยุทธการด้านพื้นที่ แต่ไม่สามารถกุมหัวใจของคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ กล่าวคือรัฐควบคุมพื้นที่แต่ไม่สามารถควบคุมใจของมวลชนเพราะคนที่ตายไปและโดนจับคือลูกหลานของพวกเขาซึ่งเขาไม่มองดอกว่าลูกเขาทำผิดอะไร เพราะนี่คือธรรมชาติของคนเป็นพ่อ และแม่หรือผู้ปกครองในโลกนี้ (โลกแห่งความเป็นจริงดูตัวอย่างได้จาก ดร.เฉลิม อยู่บำรุงกับลูกชาย) ท้ายสุดอาจจะนำไปสู่การก่อการร้ายสากล...ซึ่งทุกคนไม่อยากให้เกิดเช่นนั้น

หมายเหตุ
อ่านผลการวิจัยเรื่องความคิดเห็นต่อนโยบายชายแดนใต้หรือความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนใต้   ได้ที่
http://www.geocities.com/policysbp/activity/020423.html และ http://www.budutani.com/policysbp/staff.html

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท