14 องค์กรสิทธิมนุษยชนร่วมต้าน "พ.ร.บ.ความมั่นคง" สับให้อำนาจ กอ.รมน.ล้นฟ้าเป็น "รัฐซ้อนรัฐ"

วันที่ 21 ต.ค.50   องค์กรสิทธิมนุษยชน องค์กรภาคประชาชน 14 องค์กรร่วมกันออกแถลงการณ์และจัดแถลงข่าวคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา และเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้แก้ไขร่างฉบับเดิมที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก

 

ทั้งนี้ ในช่วงก่อนหน้านี้แม้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี และ พล.ท.พิชษณุ ปุจฉาการ โฆษกกระทรวงกลาโหมจะระบุถึงความจำเป็นที่ต้องเร่งออกกฎหมายนี้ให้ทันภายในรัฐบาลปัจจุบันเพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศ แต่ทางคณะกรรมการประสานงานรัฐบาล-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป) กลับมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ครม. รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวกลับไปปรับแก้ใหม่

 

สมชาย หอมลออ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวว่า ในระบอบประชาธิปไตย และตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม ประชาชนต้องทราบชัดเจนว่าสิ่งใดกฎหมายห้ามไม่ให้ทำ เพราะเหตุใด การให้คำนิยาม "ความมั่นคงภายในราชอาณาจักร" ในกฎหมายนี้ให้ดุลพินิจกับรัฐบาล หรือเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจได้กว้างขวางตามอำเภอใจ ประชาชนไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวเองไม่มีสิทธิที่จะทำอะไรได้บ้าง ประเด็นที่ห่วงมากที่สุด คือ การรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หน่วยงานเดียว ภายใต้เหตุผลข้ออ้างเรื่องความมั่นคงของรัฐ ทั้งๆ ที่ไทยมีระบอบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

 

"เราจะมีระบบที่หน่วยงานความมั่นคงมีอำนาจล้นเหลือที่เป็นเหมือนมีเกสตาโป ควบคุม แทรกแซงทุกหน่วยงาน เข้าไปกำกับด้วย หลักการถ่วงดุลเสียหมด ไม่สามารถให้ศาลยุติธรรมตรวจสอบได้ ประชาชนจะพึ่งใครถ้าเกิดเหตุการณ์ละเมิดขึ้น"สมชายกล่าว

 

ไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) กล่าวว่า ร่างฉบับนี้มีการแก้ไขจากฉบับที่แล้วเฉพาะในส่วนที่ถูกคัดค้านมาก ซึ่งแม้จะเปลี่ยนให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) แทนผู้บังคับบัญชาการทหารบก แต่นายกฯ ก็สามารถมอบอำนาจให้ผู้บัญชาการกองทัพบกในฐานะ รอง ผอ.รมน. ใช้อำนาจแทนได้

 

อีกทั้งในมาตรา 14 ยังระบุให้มีการใช้อำนาจในสถานการณ์ปกติ และมีอำนาจจัดตั้งศูนย์บัญชาการในพื้นที่ได้นอกเหนือจากโครงสร้างปกติ นอกจากนี้ยังมีการอนุญาตให้ กอ.รมน.ใช้กฎหมายอื่นๆ ได้ด้วย โดยมาตรา 6 ระบุว่ามติ ครม.อาจตั้งให้เจ้าหน้าที่ กอ.รมน.เป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นได้หมด แม้แต่ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมติ ครม.อาจกำหนดให้ทุกกระทรวงมอบอำนาจให้ กอ.รมน. ทำแทนได้หมด

 

"กฎหมายฉบับนี้ให้ กอ.รมน. คุมงานในประเทศไทยได้ทั้งหมด ทำแทนราชการได้ทั้งหมด เราจึงพูดได้ว่ามันเป็นรัฐซ้อนรัฐ" ไพโรจน์กล่าว

 

เขากล่าวต่อว่า ในร่างกฎหมายนี้ยังระบุให้ กอ.รมน.สั่งหยุดการชุมนุมได้ด้วย ทั้งที่การชุมนุมเป็นเครื่องมือในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ได้รับรองในรัฐธรรมนูญ 2550 การออกกฎหมายนี้จึงทำให้การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหมันทันที นอกากนี้คำสั่งของ ผอ.รมน.ก็ตรวจสอบไม่ได้ เจ้าหน้าที่หากทำตามคำสั่งไม่ต้องรับผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่ง

 

"ถ้าจะอ้างการแก้ปัญหาความมั่นคงเรามีกฎหมายอื่นเพียงพออยู่แล้ว และการเลือกตั้งก็กำลังจะมีขึ้นเร็วๆ นี้ รัฐบาลนี้เป็นเพียงรัฐบาลรักษาการ ไม่ควรออกกฎหมายฉบับใดที่จะมีผลกระทบระยะยาวต่อการบริหารประเทศและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนเช่นนี้" ไพโรจน์กล่าว

 

สุนัย ผาสุก  ตัวแทนจากองค์การสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ Human Rights Watch กล่าวว่า องค์กรระหว่างประเทศจับตามองตั้งแต่ร่างกฎหมายความมั่นคงร่างแรกออกมาแล้ว และเห็นว่าการออกกฎหมายนี้ทำให้เปิดทางให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจกว้างขวาง คลุมเครือครอบจักรวาล โดยไม่มีเงื่อนเวลาและการตรวจสอบ นอกจากนี้การออกกฎหมายลิดรอนสิทธิประชาชนต้องมีการชี้แจงต่อสหประชาชาติ แต่การออกกฎหมายลักษณะนี้ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการชี้แจงต่อนานาชาติ

 

เขาระบุด้วยว่ารายละเอียดของกฎหมายมีปัญหาหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการให้ กอ.รมน.เป็นเจ้าหน้าที่ใดๆ ก็ได้ ซึ่งมีตัวอย่างการแต่งตั้งหรือการจ้างบุคคลอื่นเป็นเจ้าหน้าที่รัฐให้เห็นในต่างประเทศแล้ว เช่น การที่ซีไอเอของสหรัฐจ้างบริษัทเอกชนมาสอบสวนนักโทษ มีการทรมานนักโทษจนเป็นข่าวโด่งดัง

 

นอกจากนี้ยังมีการให้อำนาจจับกุมคุมขังให้ความชอบธรรมกับการจัดตั้งคุกทางการเมืองนานถึง 6 เดือนโดยไม่มีกระบวนการตรจสอบ, การกำกับ แทรกแซง การบริหารราชการในทุกระดับ, การสร้างสภาวะการไม่ต้องรับผิด ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคคลที่ได้รับการแต่งตั้งอยู่เหนือกฎหมาย

 

"ถ้าให้กฎหมายนี้ผ่าน น่าคิดว่าหลังการเลือกตั้งแล้ว ถ้ามีประชาชนบางพื้นที่ บางภาคไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งที่ไม่ยุติธรรม จะมีการใช้กฎหมายนี้กดหัวชาวบ้านให้ยอมรับหรือไม่"

 

อังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมและสันติภาพ ยกตัวอย่างสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของ กอ.รมน.ภาค 4 ว่า มีการสั่งปิดล้อมทุกหมู่บ้าน และควบคุมตัวประชาชนหลายร้อยคนซึ่งไม่มีหลักฐานความผิดชัดเจน แต่ทางการสงสัยว่าเป็นแนวร่วมไปฝึกอบรมอาชีพ 4 เดือนในค่ายทหาร ปัจจุบันผู้ถูกคุมตัวได้ร้องขอต่อศาลให้ไต่สวนและปล่อยตัว จะเห็นได้ว่าชาวบ้านไม่ได้ประท้วงปิดถนน แต่พยายามจะต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม

 

ทั้งนี้ อังคณากล่าวว่า จากกรณีดังกล่าวทนายความได้เบิกความในศาลโดยอ้างคำสั่งแม่ทัพภาค 4 ว่าห้ามบุคคลที่มีรายชื่ออยู่ในค่ายฝึกอบรมอาชีพเข้าหมู่บ้าน หากเป็นเช่นนี้จะให้พวกเขาเหล่านั้นไปไหน จะรับผิดชอบต่อชีวิตพวกเขาและครอบครัวอย่างไร

 

"กฎหมายนี้ได้ทำลายหลักนิติธรรมอย่างสิ้นเชิง ในระบอบประชาธิปไตย อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ ตุลาการ ต้องมีความสำคัญเท่าๆ กัน แต่กฎหมายนี้ให้อำนาจ กอ.รมน. เบ็ดเสร็จเด็ดขาด โดยไม่แยแสตุลาการ หรือคิดว่านั่นคือความยุติธรรมแบบทหาร"

 

สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฎิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า รัฐบาลนี้มีความพยายามจะออกกฎหมายที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายๆ เรื่อง โดยอ้าง "ความมั่นคงแห่งชาติ" ซึ่งเปิดช่องให้เจ้าหน้าที่นำไปใช้ในทางมิชอบ อีกทั้งการออกกฎหมายก็ไม่มีความชอบธรรมทั้งในกรระบวนการและเนื้อหา โดยกฎหมายเกี่ยวกับสื่อที่ผ่าน สนช.มานั้นจะมีเนื้อหาเหมือนกันในการให้รัฐมีอำนาจสั่งเซ็นเซอร์ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอ ภาพยนตร์ คอมพิวเตอร์ รัฐสามารถดำเนินคดีได้ถ้าเห็นว่าขัดกับ 'ความมั่นคงของชาติ' ซึ่งเป็นคำที่หลวมมากจนท้ายที่สุดเท่ากับการขัดผู้มีอำนาจรัฐนั่นเอง

 

บุญแทน ตันสุเทพวีรวงศ์ ผอ.องค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International Thailand) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเดินทางอยู่บนทางสองแพร่งว่าจะไปสู่ประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง หรือไปสู่การสถาปนารัฐทหารแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์ กฎหมายฉบับนี้จะทำให้เกิดปัญหาระยะยาว ทำให้มีระบบคิดแบบทหารมากขึ้นเรื่อยๆ สาธารณชนต้องจับตามองความไม่โปร่งใส และเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท