Skip to main content
sharethis

ณ วันนี้ไม่ว่าเราจะเรียกตัวเองว่าเป็น กรรมกร เกษตรกร ชาวประมง ก็เป็นเพียงแต่รูปการภายนอกที่อาจจะดูแตกต่าง ... แต่โดยเนื้อแท้แล้วเราทั้งหมดล้วนแต่เป็นชนชั้นกรรมาชีพทั้งสิ้น

เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2550 พรรคแนวร่วมภาคประชาชน กลุ่มองค์กรพันธมิตรซึ่งเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมทั้งจากในส่วนแรงงานและจากชนบทประมาณ 30 คน ได้จัดกิจกรรม "สมัชชาฝ่ายซ้าย" ขึ้น ที่ตึกเกษม อุทยานิน คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี รศ.ดร.สุชาย ตรีรัตน์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นวิทยากรในหัวข้อ    "ทำไมต้องรัฐสวัสดิการ.... ???? ซึ่งมีเนื้อหาในการอภิปรายดังนี้ 

รศ.ดร.สุชาย ได้อธิบายว่ารัฐสวัสดิการเป็นผลพวงจากการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพที่ต่อสู้กับนายทุน หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 ไม่ได้เกิดจากการหยิบยื่นให้ด้วยความปราณีจากรัฐหรือนายทุน ซึ่งตัวทฤษฎีและรูปแบบได้ค่อยๆ สั่งสมและขยายตัวขึ้นโดยมีการกดขี่ขูดรีดของระบบทุนนิยมเป็นตัวกระตุ้น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ระบบรัฐสวัสดิการได้เติบโตจนเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของระบบรัฐสวัสดิการในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือ แต่เมื่อมาถึงช่วงทศวรรษที่ 70 การเกิดลัทธิเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ ของ อดัม สมิต โดยนางมากาเร็ต แธทเชอร์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และนายโรนัลด์ รีแกน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เป็นหัวหอกในการนำมาใช้ โจมตีระบบรัฐสวัสดิการว่าเป็นการทำให้สังคมต้องรับผิดชอบกับคนงอมืองอเท้าทำให้ประสิทธิภาพการผลิตลดลง และการแยกส่วนกลไกต่างๆ ของรัฐสวัสดิการ จึงเป็นการทำให้พลังในการต่อสู้ของระบบรัฐสวัสดิการลดความแหลมคมลง และทำให้ระบบรัฐสวัสดิการในหลายๆ ประเทศทั้งในยุโรปและอเมริกาต้องล่มสลายลง

จนในปัจจุบันเหลืออยู่แต่ในกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย (สวีเดน นอรเวย์ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ค ฟินแลนด์) ซึ่งมีข้อที่น่าสนใจอยู่ว่ากลุ่มประเทศนี้คุณภาพชีวิตของประชาชนถูกจัดอยู่ในระดับที่สูงมาก และส่วนใหญ่ยังมีระบบกษัตริย์อยู่ ซึ่งหากจะโจมตีให้เป็นแนวทางลัทธิคอมมิวนิสต์ก็คงจะดูแปลก

สำหรับประเทศไทยได้รับเอาแนวทางของคู่พระนางแห่งลัทธิเสรีนิยมใหม่ (แธทเชอร์,รีแกน) ความหมายของรัฐสวัสดิการได้ถูกบิดเบือนและถูกลดระดับจากทฤษฎีการต่อสู้ทางชนชั้นลงมาเป็นแค่รูปแบบ "สังคมสงเคราะห์" หรือการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเฉพาะด้าน เช่น กองทุนต่างๆ  และที่สำคัญก็คือ เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ เป็นแค่หน่วยงานราชการใหม่ที่นำเอาหยาดเหงื่อแรงงานของผู้ใช้แรงงานไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่น แต่เมื่อมีวิกฤติเศรษฐกิจเกิดขึ้นเช่นการเลิกจ้างรัฐก็ไม่ได้นำเอากองทุนเหล่านี้มาช่วยเหลือคนงานอย่างที่ควรจะเป็น 

นโยบายประชานิยมเป็นการเริ่มต้นที่ค่อนข้างดีในการที่ทำให้คนชั้นล่างได้มองเห็นถึงสิทธิหรือสิ่งที่ตนเองมีสิทธิที่จะได้รับจากรัฐ  แต่นโยบายประชานิยมไม่เท่ากับระบบรัฐสวัสดิการ การสานต่อแนวทางรัฐสวัสดิการจากต้นทุนที่สังคมมีอยู่ซึ่งก็คือการตื่นตัวของชนชั้นล่างจึงเป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันหาคำตอบ

แต่สำหรับแนวทางในการนำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ในส่วนของงบประมาณนั้น จะต้องไม่ใช่การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม,หรือภาษีบาปที่ได้จากเหล้า บุหรี่ หรือสลากกินแบ่ง มาใช้ในระบบรัฐสวัสดิการ และรูปแบบการจัดระบบสวัสดิการชุมชนที่ถูกสนับสนุนโดยรัฐและ NGOs ส่วนหนึ่งนั้น ไม่ใช่แนวคิดรัฐสวัสดิการ แต่ถือว่าเป็นการเบี่ยงเบนความหมายและเป็นการผลักภาระให้คนยากคนจน  แต่จะต้องนำเอาโครงสร้างอัตราภาษีก้าวหน้ามาใช้

สำหรับคำถามที่ผู้เข้าร่วมประชุมซึ่งถือเป็นผู้ปฏิบัติการทางสังคมจะต้องค้นหาคำตอบก็คือ ระบบรัฐสวัสดิการในสังคมไทยจะต้องมีเนื้อหารายละเอียดในแต่ละส่วนอย่างไร ซึ่งน่าที่จะศึกษาบทเรียนประวัติศาสตร์จากที่อื่นๆ ด้วย และที่สำคัญคือ ทำอย่างไรที่จะไม่ให้แนวคิดรัฐสวัสดิการถูกช่วงชิง ทำลายไปโดยพรรคการเมืองที่ไม่ใช่ตัวแทนของชนชั้นกรรมาชีพ

รศ.สุชาย ตรีรัตน์ ได้กล่าวสรุปดังนี้

1.แม้แต่ในกลุ่มประเทศ แสกนดิเนเวียที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการก็ยังมีการต่อสู้ทางชนชั้นและระบบรัฐสวัสดิการก็ยังยืนหยัดท้าทายต่อสู้กับแนวทางเสรีนิยมใหม่มาโดยตลอด

2.แนวทางต่อสู้เปลี่ยนแปลงให้สังคมนำเอาระบบรัฐสวัสดิการมาใช้นั้นเป็นสิ่งที่มีทางเป็นไปได้เพราะเป็นยุทธศาสตร์ที่คนยากคนจน กรรมกร ชาวนาสามารถยอมรับได้

3.ในกระบวนการต่อสู้จะเป็นกระบวนการในการที่จะเปิดโปงให้ชนชั้นกรรมาชีพได้เห็นถึงการกดขี่ขูดรีดและความโกหกหลอกลวง

4.ชนชั้นชาวนาไม่มีอยู่แล้วในสังคมไทย ผลผลิตทางการเกษตรถูกกำหนดโดยกลไกตลาดทั้งหมด เกษตรกรเป็นเพียงแต่แรงงานในที่ดินและแรงงานไร้ที่ดินในภาคเกษตร และมีความสัมพันธ์กับภาคอุตสาหกรรมอย่างแยกไม่ออก ตอนนี้สังคมไทยก็คงมีแต่กรรมาชีพทั้งสิ้น

รศ.ใจ อึ๊งภากรณ์ ผู้จัดงานได้กล่าวเสริมว่าการต่อสู้เพื่อก้าวไปสู่รัฐสวัสดิการนั้นจะต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนในการสะท้อนปัญหาและข้อเสนอทางการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพ และรัฐสวัสดิการในสังคมไทยจะต้องยึดหลัก การเก็บภาษีในอัตราก้าวหน้า การให้บริการในระบบสวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้าไม่แบ่งแยกแตกต่างและเป็นระบบรัฐสวัสดิการที่ให้กับประชาชนแบบครบวงจร

 

 

 

 

 

 

                                                                                   

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net