Skip to main content
sharethis

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 30 ต.ค. ณ ทำเนียบรัฐบาล มีมติอนุมัติมติของคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เกี่ยวกับพลังงานจำนวน 5 เรื่องด้วยกัน เรื่องหนึ่งคือ การอนุมัติร่างแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าโรงงานนิวเคลียร์ด้วย


 


ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การอนุมัติดังกล่าว จะเป็นเพียงการวางรากฐานด้านพลังงานนิวเคลียร์ในประเทศไทยสำหรับอนาคตเท่านั้น อาทิ การเตรียมการด้านกำลังคน และการจัดตั้งสำนักงาน โดยจะไม่ตัดสินว่าจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แน่นอน ซึ่งจะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดหน้าที่จะพิจารณาต่อไป


 


ทั้งนี้ ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบในหลักการแผนจัดตั้งโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการผลิตไฟฟ้าโรงงานนิวเคลียร์ในเบื้องต้นแล้ว ซึ่งมอบหมายให้มีคณะกรรมการเพื่อเตรียมการศึกษาความเหมาะสมด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ ตามที่ปัจจุบันได้มี "คณะกรรมการศึกษาความเหมาะสมเพื่อเตรียมความพร้อมการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย" อยู่แล้ว โดยมี ดร.กอปร กฤตยากีรณ ที่ปรึกษา รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน


 


ที่ประชุม ครม. ยังมีมติให้จัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ในสังกัดกระทรวงพลังงาน พร้อมกันนั้นจะมีการดำเนินโครงการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านการประชาพิจารณ์อย่างน้อย 8 ครั้งใน 6 เดือน อีกทั้ง ยังเห็นชอบให้การดำเนินการ 3 ปีแรก (พ.ศ.2551 -2553) ใช้งบประมาณจำนวน 1,800 ล้านบาทจากกองทุนอนุรักษ์พลังงานแห่งชาติ เพื่อใช้ในการจัดตั้งสำนักงานพัฒนาโครงการไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ การดำเนินงานแผนตามกฎหมาย ระบบกำกับและข้อผูกพันระหว่างประเทศ แผนงานด้านโครงสร้างอุตสาหกรรมและการพาณิชย์ รวมถึงแผนงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม แผนงานด้านสาธารณะ และการยอมรับจากประชาชน


 


ส่วนภาคการกำกับดูแล มติ ครม. อนุมัติให้มีการปรับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะพิจารณาเร็วๆ นี้เป็นการชั่วคราวไปก่อน ที่กระทรวงพลังงานและกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ จะได้ร่วมกันยกร่างกฎหมายกำกับดูแลด้านมาตรฐานและความปลอดภัย ตลอดจนประเด็นที่เกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป


 


"ตอนนี้เรามีหลักการหลักๆ ของกฎหมายแล้ว เช่นเรื่องระบบเตือนภัย แต่ที่ต้องพิจารณากันต่อ เช่น เรื่องของเทคโนโลยีและทำเลก่อสร้าง ส่วนกฎหมายสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ แม้จะมีการพูดถึงทั้งเรื่องวัตถุรังสี การนำเข้า -ส่งออก และการกำกับความปลอดภัยแล้ว แต่ก็คงจะใช้อะไรไม่ได้ รัฐบาลหน้าจึงต้องทำกฎหมายใหม่ให้มีความแข็งแรงขึ้น สาเหตุที่ไม่ทำตอนนี้ก็เพราะการตัดสินใจเป็นเรื่องของรัฐบาลหน้าซึ่งอาจไม่ใช้นิวเคลียร์ ก็ไม่รู้จะทำไปทำไม" รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ทิ้งท้าย


 


ทั้งนี้ ในวันนี้ (31 ต.ค.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ ซึ่งเสนอโดยพลเรือเอกสุชาต ญาโนทัย สมาชิกสนช.


 


 


ครม.เห็นชอบตั้งบริษัทกฟผ.อินเตอร์ฯ ลงทุนตปท.-ทำแผนผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์


นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษก ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในการจัดตั้งบริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เพื่อลงทุนในต่างประเทศ และขยายประมาณการรับซื้อ ไฟฟ้าจากประเทศลาวเพิ่มเติม จาก 5,000 เมกะวัตต์ เป็น 7,000 เมกะวัตต์


 


นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ยังเห็นชอบ แผนพัฒนาโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กำลังการผลิตรวม 81.7 เมกะวัตต์ วงเงินลงทุน 4,826 ล้านบาท


 


ครม.ยังอนุมัติร่างสัญญาซื้อขายโครงการน้ำเทิน 1 น้ำงึม 3 น้ำเงี่ยบ และเทินหินปูนส่วนขยาย โดยเห็นชอบหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการดังกล่าว และอนุมัติแผนการเปลี่ยนสายอากาศเป็นสายใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง โดย ครม.เห็นชอบแผนแม่บทโครงการเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวง โดยมอบหมายให้สภาพัฒน์เป็นผู้พิจารณาวงเงินลงทุนรวม 77,678 ล้านบาท และให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาในการจัดหาแหล่งเงินกู้ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ โดยให้การไฟฟ้านครหลวงเสนอโครงการเปลี่ยนระบบสายอากาศเป็นสายใต้ดินควบคู่ไปกับแผนการปกติเสนอต่อต่อสภาพัฒน์พิจารณาอนุมัติต่อไป


 


 


 


 


ที่มา : ผู้จัดการออนไลน์, ไอ.เอ็น.เอ็น.


ข้อมูลเพิ่มเติม : ร่างพ.ร.บ.พลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (ฉบับที่..) พ.ศ. ...


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net