Skip to main content
sharethis

 เมธา มาสขาว
สำนักข่าวประชาธรรม



แนวรบตะวันตก เหตุการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง


การชุมนุมทางการเมืองในพม่าที่นำโดยพระภิกษุสงฆ์หลายหมื่นรูปและประชาชนนับแสนในกรุงย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของประเทศพม่า และอีกหลายหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศมานานกว่า 2 สัปดาห์ ถือเป็นการชุมนุมครั้งใหญ่ที่สุดของพม่าในรอบ 19 ปีที่ผ่านมา นับจากเหตุการณ์นองเลือดเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2531 หรือเหตุการณ์ 8888


การชุมนุมครั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลพม่าลดราคาน้ำมัน ปล่อยนักโทษการเมือง ให้ฝ่ายทหารผู้ปกครองประเทศตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อความปรองดองแห่งชาติ และออกมากล่าวคำขอโทษ พระสงฆ์ที่ถูกทหารทำร้ายร่างกาย ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องเบื้องต้นที่ผ่านมา1 ต่อมาสถานการณ์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการสนับสนุนการต่อสู้ของประชาชนมากมาย เข้าร่วมเดินขบวนและชุมนุมร่วมกับพระภิกษุสงฆ์ นิสิตนักศึกษา เยาวชน ประชาชน ร่วมด้วย อดีตนักการเมืองฝ่ายค้าน พรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (National League For Democracy : NLD) และนักเคลื่อนไหวกลุ่มต่างๆ ได้รวมตัวกันนับแสนคนในกรุงย่างกุ้งและหลายหมื่นคนตามหัวเมืองใหญ่ เพื่อประท้วงรัฐบาล การลุกฮือจำนวนมากของประชาชนนั้น ทำให้ทางการพม่าข่มขู่ ทุกวิถีทางเพื่อให้ประชาชนยุติการชุมนุมท่ามกลางการกดดันของนานาชาติเพื่อห้ามมิให้ใช้ความรุนแรงต่อประชาชน


แต่จนถึงกระทั่งวันนี้ ดูเหมือนรัฐบาลเผด็จการทหารพม่า มิได้ใส่ใจต่อท่าทีและข้อเรียกร้องของประชาคมโลกแต่เพียงอย่างใด 19 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร ก็ยังคงเป็นเช่นนั้น รัฐบาลทหารพม่า ภายใต้การควบคุมของกองทัพโดย SPDC (The State Peace and Development Council) ได้ใช้กำลังและอาวุธเข้าปราบปรามประชาชนอย่างป่าเถื่อนจนเกิดเหตุการณ์นองเลือดครั้งใหม่เกิดขึ้น นับถึงวันนี้มีพระภิกษุสงฆ์ ประชาชนรวมทั้งผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวญี่ปุ่นเสียชีวิตไปนับ 10 ศพ ขณะที่ทูตานุทูตประจำพม่าจากหลายประเทศคาดว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตน่าจะมีมากกว่าที่ทางการรายงาน และสื่อมวลชนในพื้นที่รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ ประเมินว่า เฉพาะวันที่ 27 กันยายน น่าจะมีผู้เสียชีวิตไปแล้วไม่น้อยกว่า 200 คน2


ขณะที่รัฐบาลทหารพม่า ตัดการสื่อสารทุกรูปแบบเมืองย่างกุ้ง รวมทั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เนต หนังสือพิมพ์และการแจกเอกสารใดๆ เพื่อพยายามปิดการสื่อสารที่เกิดขึ้นต่อโลกภายนอก จะมีก็แต่เพียงการสื่อสารผ่านระบบดาวเทียมที่สถานทูตต่างๆ รวมถึงสำนักข่าวต่างประเทศบางองค์กรเท่านั้นที่สามารถติดต่อโลกภายนอกได้ ไม่นับรวมถึงตามจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ซึ่งมีการชุมนุมและมีการใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปราม แต่เรื่องราวเหล่านั้นไม่สามารถสื่อสารกับโลกภายนอกได้ นอกจากการข่าวเบื้องต้นไม่สามารถยืนยันได้ผ่านเครือข่ายชนกลุ่มน้อยเข้ามายังประเทศไทยตามชายแดนในช่วงที่ผ่านมา


จากเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศเคอร์ฟิวส์ห้ามประชาชนออกนอกบ้านตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึง 6 โมงเช้าในกรุงย่างกุ้ง และเวลา 3 ทุ่ม ถึง ตี 5 ตามหัวเมืองใหญ่ เพื่อสกัดกั้นการชุมนุมประท้วงของประชาชน นอกจากนั้น รัฐบาลทหารพม่ายังได้ทำการจับกุมพระสงฆ์ สมาชิกพรรคสันติบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ดารานักแสดงที่สนับสนุนการชุมนุมประท้วง ประชาชนหลายสาขาอาชีพเป็นจำนวนมากโดยไม่ไม่ได้รับความเป็นธรรมใดๆ ขณะนี้ไม่ทราบชะตากรรมว่า ถูกอุ้มหาย หรือไปจองจำไว้ที่ใดบ้าง หนึ่งในนั้นก็คือ นางอองซาน ซูจี


ขณะที่ประชาคมโลกพากันประณามรัฐบาลพม่า โดยสหรัฐอเมริกา ประกาศระงับวีซ่าและอายัดทรัพย์สินในสหรัฐของบุคคลและผู้นำทหารพม่าอย่าง พล..อาวุโส ตานฉ่วย รอง พล..อาวุโส หม่อง เอ พล..เทียนเส่ง รักษาการนายกรัฐมนตรี พล..ทูร่า ฉ่วยมาน เสนธิการทหารพม่า กับพวกรวม 14 คนและครอบครัว3 ผู้นำอังกฤษและออสเตรเลีย เรียกร้องให้พม่ายุติการใช้ความรุนแรง ขณะเดียวกันรัฐบาลญี่ปุ่นในฐานะที่มีพลเมืองอย่างน้อย 1 ราย ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงโดยเสียชีวิตจากการปราบปรามนั้น นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้ประสานไปยังนายกรัฐมนตรีแห่งประเทศจีนเพื่อให้ร่วมกันกดดันรัฐบาลทหารพม่าด้วยเช่นกัน รวมทั้งท่าทีแข็งกร้าวจากผู้นำในหลายประเทศเรียกร้องให้พม่ายุติการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา


สหภาพยุโรปได้ออกมาประณามการปราบปรามด้วยกำลังอาวุธของทหารพม่า และประกาศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ สมาชิกอาเซียนออกมาเรียกร้องให้เหตุการณ์สงบ และต้องการให้มีการไกล่เกลี่ยในระดับนานาชาติ เพื่อหารือกับรัฐบาลทหารพม่า รวมถึงต้องการให้ปล่อยนางอองซาน ซูจี กับนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ นายนิโคลาส์ ซาร์โกซี่ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เรียกร้องให้บริษัทเอกชนของฝรั่งเศส รวมถึงบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างโทเทลระงับการลงทุนในพม่า และไม่ให้มีการลงทุนในพม่าเพิ่มเติม ส่วนบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่โทเทลของฝรั่งเศส ซึ่งผลิตก๊าซธรรมชาติจากพม่ายังคงจับตาดูเหตุการณ์ความไม่สงบในพม่าและยังไม่มีแผนที่จะถอนออกจากพม่า หากถูกบังคับให้ออกไปก็จะทำให้บริษัทอื่นเข้ามาแทนที่โทเทล


นอกจากนี้ นายซาร์โกซี่ ยังได้ให้คำมั่นกับนายเส่ง วิน ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับนางออง ซาน ซูจี ว่าฝรั่งเศสจะให้การสนับสนุนนายเส่ง วิน ในการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ โดยนายเส่ง วิน เป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลร่วมแห่งชาติของสหภาพพม่า ซึ่งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นของพม่า และเป็นหนึ่งใน ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 25334


ขณะเดียวกัน รัฐสภายุโรป ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัสเซียและจีนซึ่งเดิมได้พยายามคัดค้านขัดขวางมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติที่จะประณามรัฐบาลทหารพม่าต่อการใช้กำลังปราบปรามการประท้วงอย่างสงบในพม่า แต่ต่อมารัฐบาลรัสเซียก็เปลี่ยนท่าที โดยออกมาเรียกร้องให้นานาประเทศดำเนินขั้นตอนเร่งด่วนเพื่อลดความตึงเครียดของสถานการณ์ที่อาจจะลุกลามขยายตัวในพม่า


ส่วนประเทศนอร์เวย์ได้ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลในการใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบในพม่า รวมทั้ง นายเลค วาเลซา เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวโปแลนด์ ได้เรียกร้องให้ผู้นำทหารพม่าเปิดเจรจากับบรรดาผู้ประท้วง ในขณะที่นายจอห์น ฮาวเวิร์ด นายกรัฐมนตรีประเทศออสเตรเลีย ก็ออกมาเรียกร้องให้ประเทศ จีน อินเดีย และอาเซียนร่วมกดดันรัฐบาลทหารพม่า ให้ยุติการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วง และประณามการใช้กำลังปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วง โดยจะมีมาตราการลงโทษทางการเงินแก่พม่า


นอกจากนั้นแล้ว ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาคประชาชนทั่วโลกรวมทั้งชาวพม่าในหลายประเทศ ได้ร่วมชุมนุมประท้วงหน้าสถานทูตพม่า อย่างน้อย 25 ประเทศทั่วโลกเพื่อประณามการกระทำของรัฐบาลเผด็จการดังกล่าวด้วย


ปฐมบทแห่งการต่อสู้


อาจจะกล่าวได้ว่า แท้ที่จริงแล้วการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 19 ปีนี้ ไม่ใช่มีสาเหตุมาจากการที่รัฐบาลพม่าขึ้นราคาน้ำมันแต่อย่างใด การขึ้นราคาน้ำมันครั้งเดียวถึง 500% เป็นเพียงชนวนเหตุของการประท้วงเท่านั้น เพราะสาเหตุที่แท้จริงคือประชาชนไม่สามารถจะอดทนต่อการกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ และ การละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่องรุนแรง ทั้งต่อประชาชนเชื้อสายพม่า และประชาชนเชื้อชาติอื่นๆ โดยระบอบเผด็จการทหารได้อีกต่อไป5


หลังจากเหตุการณ์นองเลือด 8888 ในวันที่ 8 สิงหาคม ปี 2531 ซึ่งประชาชนออกมาประท้วงเผด็จการทหารภายใต้ระบอบเผด็จการเนวิน ซึ่งครองอำนาจมานานถึง 26 ปี ทำให้มีประชาชนเสียชีวิตจำนวนมากหลายพันคน จนนานาชาติออกมาประณาม หลังจากนั้นไม่นานเหตุการณ์ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง จึงนำมาสู่การรัฐประหารครั้งใหม่ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นเพียงการปฏิวัติตนเองของทางการพม่าเท่านั้น มิได้มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มผู้มีอำนาจของประเทศแต่อย่างใด ภายใต้การนำของ นายพลซอ หม่อง ในนามของ "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" หรือ "สลอร์ค" (The State Law and Order Pestoration Council ; SLORC) เดิม ซึ่งได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจเมื่อวันที่ 18 กันยายนปีเดียวกัน และได้ปกครองพม่าด้วยระบอบ "เผด็จการเบ็ดเสร็จ" โดยทหารมากว่า 19 ปี ภายหลังเปลี่ยนชื่อใหม่เพื่อแก้ปัญหาภาพลักษณ์โดยจัดตั้งเป็น "สภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ" หรือ State Peace and Development Council ; SPDC ขึ้นเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.. 2540 ท่ามกลางสถานการณ์ที่นานาประเทศกดดันปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ซึ่งมีทั้งการเข่นฆ่า สังหาร คุกคาม ข่มขืนประชาชนและชนกลุ่มน้อยโดยทหารพม่า มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการกดขี่และผูกขาดทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม อันประกอบไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นมูลฐานด้านต่างๆ และนั่นคือ ปฐมบทแห่งการลุกขึ้นมาต่อสู้กับเผด็จการทหารพม่าในวันนี้


ภายหลังจากเหตุการณ์ 8888 นักศึกษาและผู้รักประชาธิปไตยจำนวนมาก ไม่สามารถอาศัยอยู่ภายในประเทศได้ เพราะรัฐบาล SLORCได้ทำการปราบปราม ตามล่า จับกุมคุมขังผู้มีความแตกต่างทางความคิด และนักโทษการเมืองเป็นจำนวนมาก จนนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจำนวนมากต้องหนีเข้าป่า ร่วมจับอาวุธขึ้นต่อสู้ในเขตป่าเขา จัดตั้งองค์กรในรูปแบบใหม่ตามแนวชายแดน เป็นแนวร่วมกับขบวนการต่อสู้ของชนกลุ่มน้อยขบวนการต่างๆ บ้างก็อพยพลี้ภัยไปยังประเทศโลกที่สาม รวมทั้งจัดตั้งองค์กรและการเคลื่อนไหวใต้ดินในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทยจะมีองค์กรเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในพม่ามากมายหลายกลุ่ม เพราะอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรพรรคสันนิบาติแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) นักการเมือง นักศึกษา ก็ลี้ภัยทางการเมืองมาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน เนื่องจากผลพวงจากการปกครองด้วยระบบทหารแบบ "เผด็จการเบ็ดเสร็จ" นั้น ได้ผลักดันให้พลเมืองพม่าอพยพหนีภัยสงครามเข้ายังประเทศไทยเป็นจำนวนมากมายหลายแสนคนตามแนวชายแดน เนื่องจากมีพรมแดนติดต่อกับประเทศพม่ายาวที่สุด และเป็น "แรงงานข้ามชาติ" ราคาถูกในขณะนี้


แม้ว่า นายพลซอ หม่อง จะถูกกดดันจากประชาชนและประเทศต่าง ๆ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในปี พ.. 2532 และผลการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคสันนิบาตแห่งชาติซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านได้ชนะการเลือกตั้ง โดยได้ที่นั่งในสภาถึง 396 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 485 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 72 ของจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 13 ล้านคน ทำให้รัฐบาลทหารเกรงว่าจะถูกแก้แค้นจึงไม่ยินยอมโอนอำนาจให้แก่รัฐบาลพลเมือง และประกาศให้มีการร่างรัฐธรรมนูญเพื่อถ่วงเวลาการถ่ายโอนอำนาจออกไปโดยไม่มีกำหนด และกักบริเวณนางออง ซาน ซูจี เลขาธิการพรรคสันนิบาตแห่งชาติ ซึ่งเป็นลูกสาวของนายออง ซาน วีรบุรุษกู้ชาติพม่า จนเป็นเหตุให้มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่าตลอดมา แต่รัฐบาลก็ยังคงรักษาอำนาจอยู่ได้ โดยการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดในการปราบปรามอย่างต่อเนื่อง


ในปี 2533 รัฐบาล SLORC ต้องการสร้างภาพพจน์ใหม่ทางการเมืองของตน จึงมีการปลดนายพลซอ หม่อง ออกจากตำแหน่งประธาน SLORC และแต่งตั้ง นายพลตานฉ่วย อดีตผู้บัญชาทหารบกขึ้นมาแทนที่ พร้อมทั้งประกาศนิรโทษกรรมแก่นักโทษการเมืองที่ถูกจับในเหตุการณ์ปี พ..2531 จำนวนกว่า 2,000 คน และประกาศจัดตั้งสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ (National Convention) ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 800 คน ที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาล (The State Law and Order Pestoration Council ; SLORC) ในปี 2535 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาล SLORC กับชนเชื้อชาติต่าง ๆ สงบลงเพียงชั่วคราว


อย่างไรก็ตาม หลังจากที่พม่าได้เข้าเป็นสมาชิกอาเซียน เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ปี 2540 รัฐบาลพม่าได้มีท่าทีอ่อนลง โดยยอมให้มีการหารือกับชนกลุ่มน้อยและพรรคฝ่ายค้าน เพื่อหวังที่จะปรับปรุงภาพลักษณ์ของรัฐบาลให้ดีขึ้น อันจะเป็นการปูทางไปสู่การประนีประนอมทางการเมืองภายในประเทศในอนาคต จึงได้ยุบ SLORC และจัดตั้งสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ (State Peace and Development Council ; SPDC) ขึ้นแทนดังที่ได้กล่าวไปแล้ว


ปัจจุบัน SPDC มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 13 คน และทำหน้าที่เป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารประเทศ กล่าวคือ ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และกำหนดนโยบายที่สำคัญของประเทศให้คณะรัฐมนตรีและกระทรวง ทบวง กรม นำไปปฏิบัติ โดยมี พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย เป็นประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐ และพลเอกอาวุโสหม่อง เอ เป็น รองประธานสภาเพื่อสันติภาพและการพัฒนาแห่งรัฐและผู้บัญชาการทหารบก

วันที่ 6 พฤษภาคม 2545 ทางการพม่าคืนอิสระภาพแก่นางออง ซาน ซู จี ในการดำเนินการกิจกรรมทางการเมือง โดยอนุญาตให้สำนักงานพรรค NLD ในระดับต่าง ๆ ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองอีกครั้งหนึ่ง นางออง ซาน ซู จี ใช้โอกาสดังกล่าวในการรื้อฟื้นการพบปะกับผู้แทนพรรค NLD ในพื้นที่ต่าง ๆ การเจรจาระหว่างรัฐบาลพม่ากับพรรค NLD เมื่อนาง ออง ซาน ซู จี ถูกปล่อยตัว ยังเป็นเพียงในวงแคบ ๆ และไม่ได้เกิดสาระในอันที่จะนำไปสู่กระบวนการปรองดองภายในพม่าที่แท้จริง ทำให้กระบวนการปรองดองแห่งชาติอยู่ในสภาวะหยุดนิ่ง ประชาคมระหว่างประเทศเริ่มมีท่าทีผิดหวังต่อภาวะชะงักงันทางการเมืองในพม่า ขณะที่ นาง ออง ซาน ซู จี ออกไปเยี่ยมสาขาพรรคฯ สมาชิกพรรคฯ การเดินทางไปแต่ละครั้งของนาง ออง ซาน ซู จี มีผู้คนออกมาให้การต้อนรับและฟังการปราศรัย เป็นจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ และเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2546 ขณะที่นางออง ซาน ซู จี และคณะผู้ติดตามได้เดินทางไปเยี่ยมสาขาพรรคฯ และผู้สนับสนุนพรรคในภาคมัณฑะเลย์ และได้เดินทางถึงเมือง Depayin ภาคสะกาย เกิดเหตุปะทะกันระหว่างกลุ่ม Union Solidarity Development Association ; USDA ซึ่งเป็นกลุ่มที่สนับสนุนรัฐบาลพม่า กับกลุ่มผู้สนับสนุนนางออง ซาน ซู จี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง และมีผู้เสียชีวิต 4 คน รัฐบาลพม่าจึงตัดสินใจควบคุมนางออง ซาน ซู จี โดยอ้างว่าเพื่อคุ้มครองความปลอดภัย และต่ออายุการควบคุมจนถึงปัจจุบัน6


โดยสรุปตามข้อเท็จจริงแล้ว "คณะทหาร" ปกครองประเทศพม่าแบบเผด็จการมาเป็นเวลายาวนาน ถึง 45 ปี นับตั้งแต่ปี 2505 โดยอยู่ภายใต้ "ระบอบเนวิน" ถึง 26 ปี และเผด็จการ SLORG และ SPDC ถึง 19 ปีในปัจจุบัน


พม่า : ประชาธิปไตยของวันพรุ่งนี้


จากการปกครองโดยระบอบเผด็จการทหาร ทำให้ประชาชนอยู่ในวิถีที่ถูกละเมิดสิทธิด้านต่างๆ แบบเบ็ดเสร็จไม่ว่าจะเป็นสิทธิทางการเมือง สิทธิพลเมือง หรือสิทธิทางเศรษฐกิจสังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจซึ่งกระจุกตัวอยู่แต่ผู้นำทางทหารและครอบครัวเท่านั้น ขณะที่ประชาชนอดอยาก รวมทั้งพม่าไม่มีรัฐธรรมนูญในการปกครองและไม่มีวี่แววว่ารัฐบาลทหารจะจัดการเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการปะทุของเหตุการณ์ โดยการชุมนุมของพระสงฆ์และประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเนื้อแท้ก็คือการเรียกร้องประชาธิปไตยนั่นเอง แต่ด้วยวัฒนธรรมอำนาจแบบเดิม กองทัพของ SPDC ใช้กำลังอาวุธเข้าปราบปรามอย่างโหดร้ายทั้งในกรุงย่างกุ้งและตามหัวเมืองต่างๆ เหมือนกับเหตุการณ์ 8888 เพื่อสกัดกั้นการลุกฮือของประชาชน


แต่วันนี้ย่อมแตกต่างจาก 19 ปีที่แล้ว โลกก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและไร้พรมแดนมากขึ้น ข้อมูลข่าวเหตุการณ์ที่โหดร้ายและป่าเถื่อนถูกส่งผ่านไปถึงผู้คนทั่วโลก ผ่านการก๊อบปี้และเล่าผ่านนานับ และนำกลับไปสู่เรียกร้องกดดันต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าอย่าหนักหน่วงในขณะนี้


และเป็นสัญญานต่อรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าว่า การตัดสินใจลั่นไกต่อประชาชนและพระสงฆ์ในวันนี้ จะเป็นการนับถอยหลังวันสิ้นสุดระบอบเผด็จการทหารในพม่า


หากว่า.. โลกและมนุษยชาติร่วมเผ่าพันธุ์ในโลกใบนี้ จะไม่ยินยอมให้รัฐบาลเผด็จการทหารพม่า ปกครองด้วยระบอบเดิมอีกต่อไป


ส่งกำลังใจให้เพื่อนประชาชนพม่า
เพื่อเป็นกำลังใจแด่การต่อสู้..
ณ ดินแดนที่ไม่เคยลิ้มรสความหอมหวานแห่งอิสรภาพ
ที่ซึ่งมีการเข่นฆ่า สังหารมาอย่างยาวนานโดยเผด็จการทหาร
การฆ่า-ข่มขืนหญิงสาวยังเล่ายาวไม่รู้จบ
เสียงปืนร้องแผดอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน
ระหว่างกองทัพเผด็จการทหารกับชนกลุ่มน้อย..
การเดินขบวนของพระสงฆ์และประชาชนที่ผ่านมานั้น...
ล้วนมาจากความอึดอัดคับข้องที่สุมทรวงมาอย่างยาวนาน...
ท่ามกลางปลายกระบอกปืนที่จับจ้องอยู่ตลอดเวลา
การลุกขึ้นต่อสู้เรียกร้อง ล้วนเพราะความเจ็บปวดได้ถูกจุดปะทุขึ้นแล้ว..


มาถึงวันนี้ .. ซึ่งเราไม่เคยคิดฝันว่ามันจะเกิดขึ้นอีก..
ไม่รู้ว่ากี่ศพที่ล้มครืนลงตรงต่อหน้าจักรกลสังหาร..
ยังไม่นับรวมตามหัวเมืองต่างๆ ที่ยังไม่มีรายงาน ไม่มีการสื่อสารใดๆ
เพราะแม้กระทั่งย่างกุ้งยังถูกตัดโทรศัพท์และอินเตอร์เนต..

พอแล้ว พอแล้ว เผด็จการทหารพม่า..
ผู้คนมากมายที่ท่านตัดสินใจประหารไปในวันนี้คือเครือญาติของเรา..
และเคยเป็นพี่น้องของท่านมาก่อน..
การตัดสินใจลั่นไกสังหารพี่น้องประชาชนอย่างเลือดเย็นในวันนี้...
จักคือวันแห่งการนับถอยหลังความตายของเผด็จการทหารพม่า...
ขอให้ท่านกินอิ่มนอนอุ่นหลับสบายในวันนี้..
เพราะจะไม่มีวันพรุ่งนี้สำหรับท่านอีกต่อไป...



1 แถลงการณ์ 17 องค์กรประชาชนไทย สนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (25 กันยายน 2550)
2 มติชนรายวัน, 30 กันยายน 2550
3 มติชน, อ้างแล้ว
4 www.burma-info.org
5 สมชาย หอมลออ, บทความ "เผด็จการทหารพม่า เป็นปัญหาของประชาชาติทั่วโลก", สยามรัฐ
6 ข้อมูลจาก www.boi.go.th

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net