Skip to main content
sharethis

ทิพย์อักษร มันปาติ
สำนักข่าวประชาธรรม


ปัญหาตึกสูงในเมืองเชียงใหม่ยังคงเป็นปัญหาคาราคาซัง เฉพาะอย่างยิ่งในซอยวัดอุโมงค์ที่เป็นย่านใกล้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การสร้างตึกสูงแบบไร้ขีดจำกัด ได้สร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนที่อยู่อาศัยดั้งเดิม ทั้งเรื่องน้ำท่วม เสียงดัง การจราจรติดขัด ฯลฯ แม้ว่าชุมชนจะรณรงค์เคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่อง พยายามผลักดันให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา เพื่อกำหนดกฎระเบียบข้อบังคับเพื่อควบคุมการเกิดขึ้นของตึกสูง แต่ก็ก็ไม่มีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด


ล่าสุดปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา ชุมชนที่อยู่อาศัยในซอยวัดอุโมงค์มีการจัดเวทีเพื่อหาทางออกต่อการแก้ปัญหาดังกล่าวอีกครั้ง โดยหารือแนวทางการกำหนดทิศทางการใช้ที่ดินในอนาคต ทั้งนี้เนื่องจากเมื่อมีตึกสูงการจราจรเริ่มพลุกพล่านมากขึ้น และต้องการให้ซอยวัดอุโมงคเป็นพื้นที่อนุรักษ์ตามธรรมชาติเชิงดอยสุเทพอีกด้วย


แหล่งธรรมชาติใกล้เมืองกำลังถูกทำลาย


เดิมทีย่านซอยวัดอุโมงค์เป็นย่านที่อยู่อาศัยเชิงดอยสุเทพที่มีความสงบร่มเย็น สงบเงียบ และสงบสุข เป็นพื้นที่เชิงดอยสุเทพอันเป็นถิ่นกำเนิดของไม้หวงห้าม พืช สัตว์ แมลง และนกหลายชนิด ซึ่งเคยอาศัยอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ทางจิตวิญญาณ ซึ่งมีวัดและแหล่งโบราณสถานที่สำคัญหลายแห่ง แต่ปัจจุบันย่านนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปกลายเป็นย่านที่มีการก่อสร้างอาคารหอพักหลายชั้นจำนวนมาก เกิดความพลุกพล่านแออัด เกิดปัญหารถติด การระบายน้ำ การทำลายภูมิทัศน์ บังแดดบังลม เกิดการแย่งชิงสาธารณูปโภค ทำให้ไฟดับทุกวัน น้ำประปาไม่ไหล ผู้อาศัยในอาคารสูงทำเสียงดังรบกวนการพักผ่อนของประชาชนที่อาศัยอยู่เดิม และขณะนี้ยังมีการก่อสร้างอาคารสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านย่านซอยวัดอุโมงค์ได้รวมตัวกันหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และพบว่าสาเหตุหนึ่งมาจากการกำหนดการใช้ที่ดินในผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ ดำเนินการวางผังโดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ที่กำหนดให้ย่านที่อยู่อาศัยย่านนี้เป็นพื้นที่สีส้ม (ที่อยู่อาศัยความหนาแน่นปานกลาง และบางส่วนเป็นพื้นที่สีแดง (พื้นที่อยู่อาศัยความหนาแน่นมากและพาณิชยกรรม) ซึ่งเปิดโอกาสให้โครงการขนาดใหญ่และอาคารประเภทหอพักขนาดใหญ่ และกิจกรรมอื่นๆสามารถดำเนินการในย่านซอยนี้ได้


รศ. ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ภาควิชาการเมืองและการปกครองท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ย่านวัดอุโมงค์เป็นย่านเก่าแก่ มีวัดเก่าสำคัญอายุหลายร้อยปี เช่น วัดอุโมงค์ วัดป่าแดงหลวง มีโบราณสถานสำคัญหลายแห่ง มีป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์หลากหลาย แบบที่คนที่เข้ามาอาศัยอยู่ในตึกสูงอาจนึกไม่ถึงว่า เพียงห่างออกจากตัวเมืองไม่กี่กิโลเมตรจะยังมีชุมชนที่มีความอุดมสมบูรณ์ และร่มรื่นมากขนาดนี้ แต่ว่าความอุดมสมบูรณ์เหล่านี้ก็ได้รับผลกระทบ เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากมีสิ่งก่อสร้างตึกสูงต่างๆ เข้ามามากขึ้น


"คำว่าประชาสังคมเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างใหญ่หลวงในประเทศเราตอนนี้ ประชาสังคมที่พูดถึงเป็นประชาสังคมที่ไม่ใช่ส่วนของรัฐหรือส่วนราชการ แต่เป็นประชาสังคมที่เป็นพี่น้องประชาชน ซึ่งเป็นผู้เสียภาษีทั่วไป เป็นผู้อยู่อาศัยในท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ที่สุดของสังคมและประเทศ โดยที่ประชาชนเหล่านี้เป็นผู้ที่ได้รับผลสะเทือนจากความเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองของการจัดการของรัฐตลอดมา ในต่างประเทศ ประชาสังคมเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการกำหนดเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองว่าจะชะลอ หรือผลักดันความเจริญ" รศ. ดร. ธเนศวร์ กล่าว


อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา อบต. สุเทพ ได้มีส่วนสำคัญในการทำให้ย่านนี้ไร้ความสุข โดยได้ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงจำนวนมาก สร้างความเดือดร้อนหลายอย่าง เช่น ทำให้การจราจรติดขัด ไฟดับบ่อย น้ำประปาไม่ไหล อาคารสูงบดบังแดดลม และวิวดอยสุเทพ และการไหลเวียนของอากาศ ซ้ำเติมภาวะหมอกควัน เดือดร้อนไปทั้งเมืองเชียงใหม่ เกิดความแออัด อากาศร้อนขึ้นจากการที่ต้นไม้ใหญ่ถูกตัด การคายความร้อนของคอนกรีตและเครื่องปรับอากาศ ผู้อยู่อาศัยในตึกสูงไร้สำนึก ทิ้งขยะลงพื้นที่ข้างเคียง และหีร้องเสียงดังเมื่อชมการถ่ายทอดฟุตบอลยุดรปในยามค่ำคืน ขณะที่ชาวบ้านกำลังพักผ่อนนอนหลับ ทำให้ผู้อาศัยอยู่เดิมเกิดความเครียด อึดอัด บ่ม่วนอกบ่ม่วนใจ๋ ลมบ่จอย เกิดปัญหาสุขภาพกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณ และจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีกฎเกณฑ์ควบคุมการก่อสร้างอาคารสูงในย่านนี้ ซึ่งมีการก่อสร้างอาคารสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ


นอกจากนั้น กรมโยธาธิการและผังเมืองได้กำหนดให้ย่านซอยวัดอุโมงค์เป็นพื้นที่สีส้ม ซึ่งหมายถึง ที่อยู่อาศัยความหนาแน่นปานกลาง และสีแดง ซึ่งหมายถึง พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นมากและพาณิชยกรรม ซึ่งจะทำให้สามารถสร้างอาคารขนาดใหญ่และอาคารสูงได้ ในขณะที่ถนนซอยคับแคบ น้ำไฟไม่พอเพียง


ดร.ดวงจันทร์ อาภาวัชรุฒน์ นักวิชาการเชี่ยวชาญด้านผังเมือง และนักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม ม.เชียงใหม่ กล่าวว่า ย่านซอยวัดอุโมงค์มีสิ่งดีงามมากมาย สิ่งแรกคือเป็นระบบนิเวศน์ที่ต่อเนื่องมาจากดอยสุเทพ มีต้นไม้ธรรมชาติมากมาย จากการสำรวจของคณะทำงานกลุ่มศึกษาเรื่องเมืองสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พบว่าเฉพาะในซอยวัดอุโมงค์หมู่ 8, 10 และ 14 มีไม้หวงห้ามตามคำจำกัดความของกรมป่าไม้มากถึง 700 กว่าต้น ซึ่งต้นไม้เหล่านั้นมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร ขึ้นไป ยังไม่ได้นับรวมต้นไม้ที่มีขนาดเล็กกว่านี้ นอกจากนี้ ยังมีต้นไม้ใหญ่ที่ไม่ได้อยู่ในคำจำกัดความไม้หวงห้าม เช่น ต้นก้ามปู และอื่นๆ ประมาณ 2,000 ต้น ซึ่งหากทำการสำรวจเพิ่มเติมก็เชื่อว่าจะพบมากกว่านี้


"ต้นไม้เหล่านี้เองที่ทำให้เกิดความชุ่มชื้นและความเย็นให้เมืองในแอ่งกระทะเชียงใหม่-ลำพูน ไม่ใช่เฉพาะในย่านนี้เท่านั้น เพราะเชียงใหม่เป็นเมืองในหุบเขา โดยปกติแล้วจะมีลมภูเขา ซึ่งในอดีตมีแต่ยอดไม้สูงเท่านั้น ทำให้ลมสามารถถ่ายเทไปได้ ช่วยเจือจางมลพิษทางอากาศในแอ่งกระทะเชียงใหม่-ลำพูน แต่ในปัจจุบัน มีอาคารสูงจำนวนมากสูงเกินยอดไม้ ทำให้การระบายถ่ายเทอากาศเป็นไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร เกิดการปิดกั้นการไหลเวียนของอากาศ มีมลพิษสะสม" ดร.ดวงจันทร์ กล่าว


ผังเมืองควบคุมตึกสูง


ผลการศึกษาผังเมืองรวม จ. เชียงใหม่ โดย กลุ่มศึกษาเรื่องเมือง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีข้อมูลความเป็นมาของผังเมืองรวมเชียงใหม่ คือ สำนักผังเมืองจัดทำ "ผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ พ.. 2532" ครอบคลุมพื้นที่ 100 ตร.กม. ใน 3 อำเภอ 19 ตำบล (เมือง 16 ตำบล/แม่ริม 1 ตำบล/ และสันทราย 3 ตำบล) บังคับใช้ 5 ปี ตั้งแต่ 2527 - 2532 ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 7 (.. 2527)


ต่อมา มีการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ครั้งที่ 1 .. 2532 โดยขยายพื้นที่จาก 100 ตร.กม. คลุม 3 อำเภอ เป็น 430 ตารางกิโลเมตร คลุม 7 อำเภอ 49 ตำบล ได้แก่ อำเภอเมือง 16 ตำบล/ แม่ริม 4 ตำบล/ สันทราย 7 ตำบล/สารภี 11 ตำบล/ ดอยสะเก็ด 1 ตำบล/ สันกำแพง 2 ตำบล และ หางดง 8 ตำบล ประกอบด้วย ผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน และผังระบบการคมนาคมขนส่ง ประกาศเป็นกฎกระทรวงฉบับที่ 78 (.. 2532) ใช้บังคับตั้งแต่ พ.. 2532 - 2537 รวม 5 ปี ทั้งนี้ หลังจากที่ผังเมืองรวมที่ได้มีการปรับปรุงครั้งที่ 1 ได้มีผลบังคับใช้ 5 ปี ในปี พ.. 2537 และ ได้ยื่นขอต่ออายุอีก 1 ปี จนถึง พ.. 2538 และต่ออายุอีก 1 ปี


หลังจากนั้น ได้มีการทำผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 2) โดยสำนักงานผังเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ประกาศใช้บังคับตามกฎกระทรวงฉบับที่ 431 (2542) ใช้บังคับ 5 ปี (.. 2542 - 2547) และต่ออายุการบังคับใช้อีก 2 ปี จนถึง พ.. 2549


ทั้งนี้ ผังเมืองรวมเชียงใหม่ ฉบับที่ 431 (2542) ให้ใช้บังคับผังเมืองรวมในท้องที่ ทุกตำบล และทุกอำเภอ ภายในขอบเขตจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนา การดำรงรักษาเมือง และบริเวณที่เกี่ยวข้องหรือชนบท ในด้านการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สิน การคมนาคมและการขนส่ง การสาธารณูปโภค บริการสาธารณะ และสภาพแวดล้อม ประกาศใช้ ณ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.. 2542 หมดอายุ ณ วันที่ 19 กรกฎาคม พ.. 2549 โดยการประชุมคณะกรรมการผังเมือง วันที่ 12 .. 2550 และเตรียมปิดประกาศ 90 วัน (กรมโยธาธิการและผังเมือง, 2550)


ดร.ดวงจันทร์ กล่าวว่า ตอนนี้มีการจัดทำผังเมืองรวมเชียงใหม่ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 ซึ่งอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และรับฟังไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม 2550 โดยมีประชาชนเข้าร่วมไม่ถึง 100 คน ทั้งๆ ที่คนในเขตผังเมืองรวมเมืองเชียงใหม่มีประชากรทั้งหมดประมาณ 4-5 แสนคน ครอบคลุมพื้นที่ 430 ตารางกิโลเมตร ใน 7 อำเภอ 49 ตำบล ทั้งพื้นที่ในเมืองและชนบท


นอกจากนี้ยังกล่าวต่อว่า เหตุที่เราต้องมาพูดคุยเรื่องผังเมือง ก็เพราะว่าผังเมืองเป็นสิ่งที่จะทำให้การพัฒนาต่างๆ ดำเนินไป เพราะผังเมืองเป็นแผนแม่บทของการใช้พื้นที่ และแม้ว่าจะมีการวางผังเมืองขึ้นใน จ.เชียงใหม่ มานานแล้ว แต่เชื่อว่าหลายๆ คนยังไม่เคยไปร่วมประชุม หรือทราบว่ามีการวางผังเมืองเกิดขึ้น


"ที่ผ่านมา ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่สีส้ม ย่านซอยวัดอุโมงค์ ได้ส่งข้อเรียกร้องไปยัง อบต.สุเทพ เมื่อตอนที่ยังไม่ได้ยกฐานะเป็นเทศบาล เรียกร้องให้มีการควบคุมการสร้างสิ่งก่อสร้างต้องห่างจากที่ธรณีสงฆ์ อันได้แก่ วัดอุโมงค์ วัดป่าแดง อุโบสถ กู่พ่อเจ้าแม่เจ้า ในระยะ 400 เมตร และห้ามสร้างตึกสูงเกิน 9 เมตร หรือ 2 ชั้น จากพื้นจนถึงจุดสูงสุด แต่ว่าทาง อบต. ได้รับข้อเสนอจากประชาชนแล้วปรับออกมาเหลือเพียง 100 เมตร สูงไม่เกิน 8 เมตร แต่ไม่รวมโครงสร้างหลังคา ซึ่งก็น่าเสียดายว่ากระบวนการทำให้เป็นกฎหมายนั้นมีความล่าช้ามาก จนกระทั่ง อบต. หมดสภาพการเป็น อบต. เปลี่ยนเป็นเทศบาล ซึ่งยังไม่มีการเลือกตั้งผู้บริหาร ตอนนี้จึงเป็นช่องว่างมากที่สุด"


วิสัยทัศน์ผังเมืองเชียงใหม่ มั่งคั่งหรือบ้าคลั่ง?


ดร.ดวงจันทร์ กล่าวว่า ปัญหาของเมืองเชียงใหม่ มาจากการกำหนดให้เชียงใหม่เป็นนครแห่งชีวิตและความมั่งคั่ง ซึ่งแทนที่จะมั่งคั่ง ตอนนี้ก็กลายเป็นบ้าคลั่งไปแล้ว เพราะว่าประชาชนต่างประสบปัญหาเยอะมาก การกำหนดแบบนี้เป็นการดูแค่เรื่องความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเกณฑ์ แต่ไม่ได้ดูเรื่องความอยู่ดีมีสุขของประชาชน


นอกจากนี้ การวางผังเมืองที่ผ่านมาก็ไม่ได้ดูขีดการรองรับของระบบนิเวศน์ อยากทำให้เมืองเชียงใหม่เป็นแหล่งศูนย์กลางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ศูนย์กลางทางการค้า ศูนย์กลางการคมนาคมขนล่ง ศูนย์กลางการลงทุน ศูนย์กลางการบิน ศูนย์กลางสาธารณสุข ศูนย์กลางการศึกษา และอื่นๆ อีกมากมาย ทุกอย่างมากระจุกตัวอยู่ที่เชียงใหม่ โดยไม่ดูขีดจำกัด และความสามารถในการรองรับของระบบนิเวศน์


ทั้งนี้ ปัญหาจากการทำให้เมืองเชียงใหม่กลายเป็นศูนย์กลาง ซึ่งชี้ให้เห็นการเป็นศูนย์กลางนำมาปัญหาต่างๆ มากมาย ระบบนิเวศน์ไม่สามารถรองรับได้ ระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการโภคไม่เพียงพอ กรณีซอยวัดอุโมงค์ เนื่องจากว่ามีการสร้างตึกอาคารสูงขนาดใหญ่ให้คนเข้ามาอยู่มากขึ้น เกิดการแย่งไฟฟ้า น้ำประปา ไฟฟ้าดับบ่อย น้ำไม่ไหลเพราะมีแต่ลมเป่าออกมาตีมิเตอร์ ก็ต้องเสียค่าน้ำมากขึ้น นอกจากนี้ อาคารสูงใหญ่ไม่มีที่จอดรถรองรับผู้เข้ามาอยู่อาศัย รถยนต์ต้องออกมาจอดบนพื้นผิวจราจร


"ข้อเท็จจริงก็คือ พรบ.การผังเมือง 2518 มีช่องโหว่มาก เป็นการกำหนดแบบครอบคลุมทั้งประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นพัทยา กรุงเทพ เชียงใหม่ ก็ใช้กฎหมายเดียวกัน แม้ว่าสภาพภูมินิเวศน์ของแต่ละที่จะแตกต่างกัน กล่าวคือ เชียงใหม่เป็นเมืองประวัติศาสตร์ มีข้อจำกัดในความเป็นเมืองในหุบเขา นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดการสร้างอาคารเป็นอัตราส่วนร้อยละของพื้นที่ ซึ่งตรงนี้เป็นปัญหามาก เพราะหากพื้นที่ไหนที่เปอร์เซ็นต์ยังไม่เต็ม ก็สามารถสร้างอาคารสูงได้อีกจนกว่าจะครบเปอร์เซ็นต์ที่กำหนด"


อีกทั้งยังมีความล้าหลังในกฎหมาย พรบ.ควบคุมอาคาร พ.2522 เพราะกำหนดว่าให้มีพื้นที่จอดรถ 1 คัน ต่อพื้นที่ 240 ตารางเมตร แต่ความเป็นจริงคือ ห้องพักอาศัย 1 ห้องในพื้นที่ 9 ตารางเมตร ก็พบว่ามีรถยนต์ 1 คันแล้ว นอกจากกฎหมายจะไปไม่ถึงสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นแล้ว สำนึกของผู้อนุมัติก่อสร้างยังขาดวิสัยทัศน์ เพราะปัญหาเกิดแล้ว ประชาชนออกมาเรียกร้องแล้ว จะต้องหยุด ต้องมีกฎเกณฑ์ ต่างๆ ให้ดีขึ้น แต่ก็ไม่ทำ


นายประพฤติ ยอดไพบูลย์ ตัวแทนหน่วยงานศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ตนเข้ามาอยู่อาศัยในย่านซอยวัดอุโมงค์เพียงแค่ 2 เดือน แต่ก็ประสบปัญหาเรื่องไฟฟ้าดับบ่อย ทั้งนี้เห็นว่า พื้นที่ ต.สุเทพ มีทรัพยากรอย่างจำกัดด้านสาธารณูปโภค เช่น น้ำ ไฟฟ้า เมื่อทรัพยากรอยู่อย่างจำกัดเท่าเดิม ในขณะที่มีการก่อสร้างเพิ่มขึ้น ประชากรเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ย่อมเกิดปัญหาในการในการส่งข้อมูลข่าวสารเตือนภัยธรรมชาติ เพราะไฟฟ้าดับบ่อย ขาดช่วงในเวลาที่มีฝนตก น้ำท่วม ดินถล่ม


"ผมเข้ามาที่ซอยครั้งแรกก็พบว่าย่านนี้มีถนนแคบมาก ดังนั้นหากเกิดปัญหาอัคคีภัยขึ้น จะเป็นปัญหาต่อการนำรถยนต์ดับเพลิงขนาดใหญ่เข้ามาให้การช่วยเหลือได้ รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ก็มีพื้นที่ส่านน้อย ทำให้การเข้ามาช่วยเหลือจะเป็นไปอย่างลำบาก และไม่ทันการ" นายประพฤติ กล่าว


นายประพฤติ กล่าวเสริมว่า การปลูกสิ่งก่อสร้างจำนวนมาก จะทำให้เกิดคลื่นความร้อนในระบบนิเวศน์สูงมากขึ้น จะมีการยกตัวของอากาศอย่างรุนแรง ถ้าหากไม่หยุดสร้างสิ่งปลูกสร้างอาคารขนาดใหญ่ ก็จะเกิดปัญหามากขึ้น แม้ว่าในตอนนี้จะยังไม่มีปัญหามากนัก แต่ในฤดูร้อนจะเกิดปัญหาทำให้เกิดพายุฤดูร้อนในเขตเมืองมากขึ้น แต่สิ่งที่จะช่วยได้และลงทุนถูกมากที่สุดคือต้นไม้ โดยที่ต้นไม้กินก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นอาหาร เมื่อมีต้นไม้เยอะก็จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วย


จี้ท้องถิ่นหยุดโบ้ยความผิดคนอื่น เร่งออกข้อบังคับตึกสูงด่วน


แม้ว่าที่ผ่านมา กลุ่มประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการก่อสร้างอาคารสูงโดยเฉพาะในหมู่ที่ 8, 10 และ 14 ได้เคยเสนอร่างข้อบังคับตำบลเรื่องการควบคุมความสูงของอาคาร และกำหนดให้มีอายุการบังคับใช้เพียงแค่ 5 ปี โดย อบต. สุเทพ รับข้อเสนอไว้ เมื่อปี พ.. 2539 แต่ภายหลังปรากฏว่าร่างข้อบังคับตำบลฯ ที่ประชาชนเสนอต่อ อบต. กลับไม่ได้รับการอนุมัติเพื่อผ่านออกมาเป็นข้อบังคับ


นอกจากนี้ ในปี พ.. 2547 ตัวแทนสมาชิก อบต. สุเทพ ได้ยื่นเสนอร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบลสุเทพ อีกครั้ง เรื่องควบคุมอาคารอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.. 2522 และมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.. 2537 แต่สภา อบต. ไม่เห็นชอบ ข้อเสนอดังกล่าวจึงไม่ถูกหยิบยกนำมาพิจารณา จนกระทั่งปัจจุบันประชาชนได้รวมกลุ่มเสนอร่างข้อบัญญัติตำบลเพื่อควบคุมการสร้างอาคารสูง ต่อ อบต.สุเทพ อีกครั้ง โดยร่างข้อบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านมติเห็นชอบจากสภา อบต. แล้ว และขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาในระดับจังหวัด


นายธัญศักดิ์ แสงศรีจันทร์ ปลัดเทศบาลตำบลสุเทพ กล่าวว่า อบต.สุเทพ ได้รับการยกฐานะเป็นเทศบาลตำบลสุเทพ เมื่อวันที่ 24 .. 2550 ที่ผ่านมา ในสายตาประชาชนหลายคนยังมีข้อกังขาว่าเจ้าหน้าที่ดูกฎหมายการก่อสร้างอาคารสูงดีแล้วหรือยัง ซึ่งบางครั้งเทศบาลก็อยู่ระหว่างตรงกลาง จะไปซ้ายก็โดนจะไปขวาก็โดน ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือ การอนุญาตให้ก่อสร้างตึกสูงในพื้นที่ ต.สุเทพ ที่เป็นไปอย่างถูกต้องตามกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง คือ เขตการปลอดภัยทางการบิน ตาม พรบ. การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย 2. เขตปลอดภัยทางทหาร และ 3. พรบ. การควบคุมการก่อสร้างอาคาร นอกจากนี้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างยังได้รับการอนุมัติจากพื้นที่ข้างเคียงด้วย


อย่างไรก็ตาม ข้อบัญญัติเรื่องการควบคุมอาคารสูง ที่ประชาชนที่เสนอมาเมื่อครั้งยังเป็น อบต.สุเทพ นั้น ตอนนี้แม้ว่า อบต. ได้ยกฐานะเป็นเทศบาลแล้ว แต่ข้อบัญญัติก็จะดำเนินต่อไปได้ ทั้งนี้ เรื่องการผลักดันข้อบัญญัติอยู่การขั้นตอนของจังหวัดแล้ว โดยในแต่ละเดือนคณะกรรมการโยธาธิการผังเมืองจะประชุมประมาณเดือนละครั้ง คงต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่ตรงนี้เราก็พยายามจะไปเร่งรัดให้มีการเร่งดำเนินการออกข้อบัญญัติตำบลเร็วๆ


นายธัญศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารทำถูกต้องตามกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว หากเทศบาลตำบลสุเทพ ไม่ทำการอนุมัติ เราก็จะถูกครหาว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญาได้ ส่วนการควบคุมไม่ให้มีการสร้างตึกสูงในขณะที่ยังไม่มีข้อบังคับตำบลออกมาบังคับใช้ ก็เป็นปัญหา (มาตรา 157 ตามประมวลกฎหมายอาญาบัญญัติว่า ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุก ตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ)


"เราคิดว่าจะชะลอหมดเลย โดยจะให้ผู้ประกอบการไปฟ้องเอาได้หรือไม่ แต่ผมก็คิดว่าถ้าให้ผู้ประกอบการทำอย่างนั้น ส่วนตัวจะทำอย่างไรเพราะถ้าเราไม่เซ็นต์ใบอนุมัติให้ผู้ประกอบการ ซึ่งเขาผ่านกฎหมายทุกฉบับที่เกี่ยวข้อง เมื่อผู้ประกอบการทำถูกกฎหมายแบบนี้ ถ้าคนทำงานราชการไม่อนุมัติก็ต้องถูกไล่ออก ตามมาตรา 157 ได้" นายธัญศักดิ์ กล่าว


"เราก็มีข้อจำกัดในทางกฎหมาย ก็มีอย่างเดียวที่ทำได้ตอนนี้คือการร้องขอผู้ประกอบการว่าให้มีจิตสำนึก ให้มีคุณธรรมได้หรือไม่ เพราะคนอื่นเขาเดือดร้อน สถาปนิกมีจิตสำนึกหรือไม่ รวมทั้งต้องดูกฎหมายกับสังคมว่าสังคมจะสามารถหมายคุ้มครองเจ้าหน้าที่ปฏิบัติราชการได้หรือไม่ ผมก็ไม่แน่ใจ เราก็ต้องชั่งน้ำหนัก เมื่อปฏิบัติตมกฎหมายแล้ว แต่สังคมไม่ยอมรับเราก็คงต้องหยุด" นายธัญศักดิ์ กล่าว


ในขณะที่ นายดำรงค์ สงแก้ว ชาวบ้านซอยวัดอุโมงค์ หมู่ที่ 8 กล่าวว่า ได้ข้อสรุปว่า อบต.โบ้ยความผิดไปให้คนอื่น ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างตึกสูงในเขต ต.สุเทพ คือ การท่าอากาศยานเชียงใหม่ ในด้านความปลอดภัยทางการบิน, กองบิน 41 เรื่องความปลอดภัยทางการทหาร และ พรบ.ควบคุมอาคาร


"ที่ผ่านมาชาวบ้านก็เคยไปพบผู้การกองบิน 41 เมื่อปี พ.. 2539 เพื่อถามความจริงว่า หากกองบิน 41 อนุญาตเรื่องความสูงของอาคารสูงแล้ว ทางอบต.จำเป็นจะต้องอนุญาตให้ก่อสร้างอาคารสูงตามด้วยหรือไม่ ซึ่งผู้การกองบินในครั้งนั้นให้เหตุผลว่า กองบิน 41 มี พรบ.ความปลอดภัยทางการทหาร ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องความสูงที่เกี่ยวข้องกับการบินเพื่อความปลอดภัยเท่านั้น แต่ในด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลสาธารณูปโภคในท้องถิ่นเป็นหน้าที่ของ อบต. ที่ อบต. ต้องพิจารณาว่าการสร้างอาคารมีความเหมาะสมหรือไม่" นายดำรงค์ กล่าว


นายปกรณ์ อุดมธนะสารสกุล ผู้อยู่อาศัย หมู่ที่ 14 .วัดอุโมงค์ ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า อยากจะทราบว่าอาคารสูงทั้งหอพัก โรงแรม สปา ที่เกิดขึ้นมาแล้วหลายแห่งแถบนี้ สร้างขึ้นอย่างถูกต้องหรือไม่ ตามกฎกระทรวงเก่าระบุระเบียบการก่อสร้างตรงนี้เอาไว้ว่าอย่างไร มีคณะกรรมการเคยเข้าไปตรวจสอบอาคารต่างๆ ดังกล่าวหรือไม่ เพราะเท่าที่ประเมินจากสายตาแล้วการก่อสร้างอาคารน่าจะไม่ได้กำหนดระยะถอยร่นให้ห่างจากที่ถูกต้องตามกฎหมาย


"อยากให้กลับไปเช็คดูอาคารที่สร้างมาแล้วด้วยว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ เพราะขณะนี้เรากำลังพูดถึงร่างข้อบัญญัติตำบล ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคต กว่าข้อบังคับจะออกมาก็ต้องผ่านกระบวนการเป็นขั้นตอนต่างๆ มากมาย ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร ถ้าแบบนี้เจ้าของที่ดิน ผู้ประกอบการที่ยังไม่สร้าง หรือกำลังคิดสร้างอยู่ก็อาจจะยึดตามข้อกฎหมายเดิม มันก็ไม่ได้ช่วยอะไร อาจทำให้มีการเร่งสร้างอาคารใหม่ให้เกิดขึ้นโดยยึดตามกำเดิมก่อนที่กฏใหม่จะออกมา ดังนั้น จะมีวิธีการควบคุมตรงนี้อย่างไร พร้อมกับการไปตรวจดูสิ่งที่ก่อสร้างมาแล้วว่าถูกต้องหรือไม่ ถ้าถูกต้องแล้วก็ยอมรับได้ แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องจัดการ โดยต้องมีการประกาศให้ประชาชนเข้าไปร่วมตรวจสอบด้วย" นายปกรณ์ กล่าว


เมืองยั่งยืน ประชาชนต้องกำหนดเอง


นายสมชัย ศรีวิบูลย์ ผู้อำนวยการกองผังเมืองเฉพาะ กรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า ผังเมืองรวมเป็นผังนโยบาย กล่าวคือ เป็นการจัดระเบียบให้เห็นว่า พื้นที่สีนี้ใช้เพื่อประโยชน์อะไร ทำกิจกรรมอะไรได้บ้าง แต่ผังเมืองรวมไม่ได้บอกขนาดพื้นที่ที่อนุญาตให้ดำเนินกิจกรรมในพื้นสีนั้นๆ


สำหรับกรณีซอยวัดอุโมงค์ เป็นพื้นที่ที่รวมอยู่ในการกำหนดให้เป็นพื้นที่สีส้มตามแผนผังเมืองรวมเชียงใหม่ หรือเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพาณิชยกรรม ทั้งนี้ ในการจัดทำผังเมืองนั้น มีการจัดลำดับชั้นของผังเมืองมีอยู่แล้ว โดยใน พรบ. ผังเมือง บอกว่าเมื่อมีผังเมืองรวมแล้ว ควรจัดให้มีผังเมืองรวมเฉพาะด้วย เพราะอยากจะให้ท้องถิ่นไปสานต่อแนวนโยบาย ซึ่งภาครัฐให้เพียงหลักการนโยบายว่าเป็นพื้นไหนเป็นสีอะไร แต่ชุมชนท้องถิ่นจะอยู่อย่างไรก็สามารถกำหนดผังเมืองที่เฉพาะเจาะจงลงไปในรายละเอียดอีกที


"ผังเมืองเฉพาะจะกำหนดรายละเอียดว่า บริเวณไหนเราอยากให้เป็นแบบไหน เช่น อยากได้รูปแบบลักษณะสถาปัตยกรรมของตัวอาคาร สีอาคาร ความสูงอาคาร ระยะถอยร่นของอาคาร พื้นที่คลุมดินของอาคาร อยากอยู่แบบไหนก็เจาะจงเอาเอง ซึ่งการกำหนดผังเมืองเฉพาะตรงนี้จะเป็นผังแนวทางการพัฒนาที่ชุมชนสามารถกำหนดรายละเอียดเจาะจงลงไปได้อีก ในขณะที่ผังเมืองรวมเป็นผังนโยบายใหญ่เท่านั้น ไม่สามารถระบุรายละเอียดได้


ข้อแตกต่างระหว่างผังเมืองรวมกับผังเมืองเฉพาะ















ผังเมืองรวม


ผังเมืองเฉพาะ






  1. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น Block ซึ่งมีขนาดค่อนข้างใหญ่



  2. ข้อกำหนดในการใช้ทำได้เพียงกำหนดกิจกรรมที่ไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดการใช้อาคาร



  3. เปิดโอกาสให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทอื่นๆ นอกเหนือจากการใช้ประโยชน์หลักได้อีกร้อยละ 10-15 ของ Block



  4. ไม่สามารถกำหนดโครงการในการพัฒนาพื้นที่ที่เป็นสาธารณะประโยชน์ได้






  1. กำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น ย่าน ซึ่งมีขนาดเล็ก



  2. ข้อกำหนดในการใช้ประโยชน์ที่ดิน สามารถกำหนดในเชิงลึกได้ถึง อาคาร รูปแบบสถาปัตยกรรม หรือกระทั่งสีของอาคาร



  3. สามารถกำหนดความหนาแน่น ขนาด ความสูงและระยะถอยร่นต่างๆ ได้ ทำให้สามารถควบคุมความหนาแน่นในแต่ละย่านได้



  4. สามารถกำหนดพื้นที่ที่จะนำมาพัฒนาเพื่อใช้เป็นสาธารณะประโยชน์ โดยออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเวนคืนได้



  5. การกำหนดพื้นที่เพื่อออกเป็น พรบ.ผังเมืองเฉพาะ มีความยืดหยุ่น ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ก็ได้


ดร. ดวงจันทร์ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา สถาปนิกที่เป็นผู้ออกแบบก่อสร้างขาดจิตสำนึกที่ดี เพราะเป็นคนที่รู้กฎหมายมากแต่ก็ชี้นำให้ผู้ประกอบการเลี่ยงกฎหมาย มีอาคารหลายหลังที่สร้างขึ้นมาแบบผิดกฎหมาย โดยไม่มีการตรวจสอบ คำถามคือต่อมาคือ สำนึกของผู้ประกอบการเองอยู่ตรงไหน? ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มาลงทุนสร้างอาคาร ไม่เคยรับรู้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน รวยแต่สร้างปัญหาให้กับสังคม ไม่ต้องสร้างที่จอดรถให้เพียงพอ แต่กลับมาแย่งระบบสาธารณูปโภคของชาวบ้าน ไม่ได้คิดว่าสังคมต้องอยู่ดีมีสุข หรือทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน"


"สำนึกของพลเมือง เป็นสิ่งที่เราต้องผลักดันให้เกิดขึ้น ไม่มีใครจะผลักดันได้ถ้าพลเมืองไม่ลุกขึ้นมา เพราะสังคมดี เมืองดีไม่มีขาย จะมาผลักดันให้ใครคนใดคนหนึ่งทำไม่ได้ หลายคนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ปัญหาตอนนี้คือ ท่านอยากจะให้ย่านซอยวัดอุโมงค์เป็นอย่างไร เป็นย่านอยู่อาศัยที่สงบเงียบ หรืออยากให้เป็นย่านที่เมื่อตื่นนอนมาแล้ว เห็นดอยสุเทพผ่านรูเล็กๆ ของตึกสูง?" ดร.ดวงจันทร์ กล่าวทิ้งท้าย


จิตสำนึกและพลังพลเมืองที่ออกมาผลักดันคัดค้านการสร้างตึกสูงในย่านซอยวัดอุโมงค์อย่างต่อเนื่อง แสดงถึงวิสัยทัศน์อันยาวไกลในการสร้างสังคมชุมชนให้เป็นแบบอย่างที่น่าอยู่สำหรับทุกคนในอนาคต ตามกระบวนการการมีส่วนร่วมแบบประชาธิปไตย


แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นกับซอยวัดอุโมงค์ จะแก้ไขได้อย่างจริงจัง ก็ต่อเมื่อจิตสำนึกในการสร้างสังคมที่น่าอยู่นั้น ก่อเกิดขึ้นกับทุกๆ ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของที่ดินผู้ประกอบการ ผู้เข้ามาอยู่อาศัย รวมทั้งผู้มีอำนาจในการอนุมัติก่อสร้าง ล้วนต้องมีจิตสำนึกและมีวิจารณญาณอันลึกซึ้งอย่างยิ่งในการอนุมัติการก่อสร้างด้วย อย่ามามัวยืนบอกปาวๆ ว่า ที่อนุมัติให้ก่อสร้างได้นั้น เป็นการยึดมั่นในหลักกฎหมายที่ถูกต้อง ในขณะที่ความเป็นจริงกลับเห็นกันอยู่โทนโท่ว่า มีการปล่อยให้ตึกสูงใหญ่ สร้างขึ้นได้แบบไม่ดูตาม้าตาเรือ


เชื่อว่า พลังประชาชนที่ค่อยๆ ปรากฏเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ กับการผลักดันชุมชนน่าอยู่ในวันนี้ จะเป็นบทเรียนสำคัญยิ่งในการสร้างหน่วยงานท้องถิ่นในอนาคตให้มีความเข้มแข็ง และไม่นั่งนิ่ง หรือเพิกเฉย ต่อปัญหาที่เห็นกันอยู่ตำตา


ข้อมูลอ้างอิง




  • เอกสารการประชุม "สามัคคีรวมใจ ย่านซอยวัดอุโมงค์ ครั้งที่ 2 - ผังเมืองกับความอยู่ดีมีสุขของย่านซอยวัดอุโมงค์" , 30 กันยายน 2550



  • ผังเมืองกับความอยู่ดีมีสุขของย่านซอยวัดอุโมงค์ โดย กลุ่มศึกษาเรื่องเมือง สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 30 กันยายน 2550

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net