Skip to main content
sharethis

 


 


เขื่อนปากมูล ปัญหาอมตะที่ยังไม่จบสิ้น


 


วันนี้ (31 ต.ค.50) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มชาวบ้านตัวแทนสมัชชาคนจนได้เข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อติดตามการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน


 


สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 นายกรัฐมนตรีได้เดินทางไปราชการ ณ จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อประชุมพบปะหารือพิจารณาข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมีหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและผู้แทนกลุ่มองค์กรต่างๆ เข้าร่วมประชุม และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาแก้ไขปัญหาต่างๆ ของประชาชนในพื้นที่


 


ต่อมา เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2550 นายกรัฐมนตรีได้เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาของกลุ่มสมัชชาคนจนที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐเข้าร่วมด้วยคือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่งคงของมนุษย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณะสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง


 


ทั้งนี้ในการหารือดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป นายกรัฐมนตรีจึงได้นัดกลุ่มสมัชชาคนจนเข้าหารืออีกครั้งในวันนี้ ( 31 ต.ค. 50 )


 


นายปฏิภาณ วิริยะวนา ตัวแทนพ่อครัวใหม่สมัชชาคนจนจากเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) กล่าวว่าวันนี้ มีกรณีสำคัญ 4 เรื่องที่ได้พูดคุยกันได้แก่


 


1. เรื่องของเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ซึ่งเรียกร้องให้รัฐจัดให้ผู้ใช้แรงงานเข้าถึงบริการด้านสุขภาพแบบอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อม และให้ผู้ใช้แรงงานใช้สิทธิตามกองทุนเงินทดแทนโดยไม่มีเงื่อนไขแบบในปัจจุบัน โดยต้องแยกอำนาจการวินิจฉัยโรคและอำนาจการจ่ายเงินทดแทนของกองทุนทดแทนออกมา และมีคณะกรรมการการแพทย์ที่เป็นกลาง รวมไปถึงการคัดค้าน พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อในการทำงาน (ฉบับกระทรวงแรงงาน)  ซึ่งทางนายกฯ ได้รับพิจารณาปัญหา และจะผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ไม่ได้ระบุว่าจะเข้าเมื่อใด ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับปากจะผลักดันให้เร็วที่สุด  


 


2.กรณีของเกษตรทางเลือกซึ่งยังไม่ข้อตกลงที่ชัดเจน ทั้งนี้ ทางกลุ่มสมัชชาคนจนได้เสนอให้มีการยกเลิกการค้าขายสารเคมี แต่ทางฝ่ายรัฐระบุว่าหากยกเลิกการขายสารเคมี รัฐจะสูญเสียเงินจากการเก็บภาษีสารเคมีกว่า 60,000 ล้านบาท


 


3.เรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น กรณีป่าอนุรักษ์ทับที่ทำกินชาวบ้าน ในหลายกรณีมีความคืบหน้า แต่อีกหลายกรณีก็ถอยหลัง เช่น กรณีโค่นยางพาราของชาวบ้านในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งหมดอายุการใช้งานแล้ว รัฐกลับมองว่าผิดกฎหมายเพราะเป็นการตัดไม้ในพื้นที่อนุรักษ์


 


4.กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่งก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยชาวบ้านเรียกร้องให้มีการเปิดประตูระบายน้ำเขื่อนปากมูลเป็นการถาวร หากไม่ดำเนินการให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่ราษฎรผู้ได้รับผลกระทบจากการปิดเขื่อน ครอบครัวละ 500 บาทต่อวันโดยนับตามจำนวนวันที่ปิดประตู นอกจากนี้ให้ดำเนินการฟื้นฟูชีวิตและชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล


 


สำหรับกรณีเขื่อนปากมูล เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2550 ชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจน จาก อ.พิบูลมังสาหาร และโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ประมาณ 100 คน นำโดยนายทองเจริญ สีหาธรรม ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ชุมนุมกันที่หน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ยื่นหนังสือต่อนายสุธี มากบุญ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี โดยสมัชชาคนจนจะไม่เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการการบริหารจัดการน้ำเขื่อนปากมูล เนื่องจากเห็นว่าเป็นคณะกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นโดยกระทรวงมหาดไทย ไม่มีความชอบธรรมต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูล


 


โดยทางกลุ่มสมัชชาคนจนมีความเห็นว่าว่า แม้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นจะมีรายชื่อตัวแทนชาวบ้านอยู่ด้วย แต่ตัวแทนดังกล่าวมาจากการที่กระทรวงมหาดไทยสั่งการให้นายอำเภอแต่ละอำเภอเป็นผู้คัดเลือก ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วม ไม่สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบ สมัชชาคนจนจึงไม่ขอเข้าร่วมกับคณะกรรมการชุดนี้


 



ทั้งนี้นายปฏิภาณกล่าวว่า ทั้ง 4 กรณีที่คุยกันในวันนี้ กรณีเขื่อนปากมูลเป็นปัญหาหนักสุดที่รัฐยังไม่มีการแก้ไข รวมทั้งนายกฯ ได้ให้กลุ่มผู้เรียกร้องไปคุยรายละเอียดกับทางจังหวัดแล้วค่อยนำมาเสนอรัฐบาลใหม่ ทั้งนี้ กลุ่มสมัชชาคนจนจะประชุมกันอีกครั้งเพื่อผลักดันการแก้ปัญหาต่อไป


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net