อาเซียนภาคประชาชน : วันที่ "อาเซียน" ไม่เกี่ยวกับประชาชนคนตัวเล็ก

 

ซีตา สินาพัน-ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา-จ๋ามตอง-มาร์ลีน รามิเรช-เรเน โอเฟรนนีโอ

 

 

 

ช่วงบ่ายของการประชุมภาคประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ 3 วันแรกที่ประเทศสิงคโปร์ มีการประชุมเรื่อง ภูมิภาคนิยมของประชาชน: การสร้างอาเซียนเพื่อสังคม ดำเนินรายการโดย มาร์ลีน รามิเรช จาก Asia-DHRRA

 

 

"แล้วเราจะพูดได้อย่างไร

ว่าอาเซียนกำลังส่งเสริม

ชุมชนประชาชาติที่เอื้ออาทร

และแบ่งปันซึ่งกันและกัน

ในขณะที่ประเทศสมาชิก

อย่างรัฐบาลทหารพม่า

กำลังปราบปรามประชาชน"

 

 

จ๋าม ตอง จากเครือข่ายผู้หญิงในรัฐฉาน พม่า กล่าวว่า พวกเราได้เห็นว่ารัฐบาลทหารพม่าปราบปรามประชาชนที่เดินขบวนอย่างสันติ และพระสงฆ์หมื่นกว่าคนทั่วพม่า เห็นตำรวจปราบปรามประชาชนและฆ่านักข่าวญี่ปุ่น หนึ่งคน มีการเตะทุบตีผู้ประท้วง และจับขึ้นรถ ทั้งยังมีคนที่เห็นว่ามีการทำร้ายผู้เดินขบวนอย่างเลือดเย็น เมื่อสองวันที่ผ่านมาก็มีพระสงฆ์ร้อยคนออกมาเดินประท้วงอย่างสันติ

 

เธอหวังว่า ประเทศเพื่อนบ้านของพม่าจะมองตรงนี้เป็นแรงบันดาลใจ ว่ามีคนออกมาต่อต้านรัฐบาลทหาร แต่แทนที่หลายประเทศจะออกมาช่วยประชาชนต่อสู้กับรัฐบาลทหาร แต่กลับเป็นห่วงการลงทุนด้านทรัพยากรของตัวเองในพม่า นี่เป็นการ์ตูน (โชว์การ์ตูน) นี่เป็นรูปหลังเกิดเหตุการณ์ปราบปรามที่ทหารพม่าแบนความสนใจด้วยการพากัมบาลี ผู้แทนของสหประชาชาติไปเมืองหลวงใหม่ ขณะที่เหตุเกิดในย่างกุ้ง

 

จ๋าม ตอง กล่าวว่า แล้วเราจะพูดได้อย่างไรว่าอาเซียนกำลังส่งเสริมชุมชนประชาชาติที่เอื้ออาทรและแบ่งปันซึ่งกันและกัน ในขณะที่ประเทศสมาชิกอย่างรัฐบาลทหารพม่ากำลังปราบปรามประชาชน และส่งเสริมโครงการต่างๆ เช่น การสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ทำให้คนจำนวนมากต้องโยกย้ายออกจากพื้นที่และพลัดถิ่นจำนวนมาก และรัฐบาลนำประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาแสดงละครตบตา เพื่อแสดงว่าต้อนรับการลงทุน

 

แล้วอาเซียนจะยืนเฉยได้อย่างไรในเมื่อผู้หญิงพม่าถูกกระทำ ถูกใช้ความรุนแรง ข่มขืน ประชาชนของพม่าต้องการให้อาเซียนเข้ามาช่วย เมื่อแม่ชีตกเป็นเป้าการใช้ความรุนแรงของรัฐบาล ผู้หญิงที่ถูกจับกุมก็ถูกทารุณกรรม แม่ชีผู้ถอดชุด ทั้งที่อาเซียนบอกว่าจะไม่เลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง สุดท้าย เธอต้องการให้ชุมชนอื่นๆ ส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่า

 

ซีตา สินาพัน Dengkil Community Center -DHRRA จากมาเลเซีย เล่าเรื่องของผู้หญิงอินเดียในมาเลเซียว่า ในปี 1970 คนอินเดีย 47% อยู่ในภาคเกษตร โดยทำงานในสวนป่าขนาดใหญ่และมีรายได้จากส่วนนี้ จากนั้น เมื่อภาคเกษตรค่อยๆ ลดลง และมีภาคการผลิตเข้ามาแทนที่ ตอนหลังมีพื้นที่เกษตร ถูกใช้ทำถนนและสนามกอล์ฟ ช่วงปี 1980-2000 มีคนอินเดีย 300,000 คนถูกบังคับออกจากสวนป่าขาดใหญ่ ทำให้คนจำนวนมากเสียอาชีพและที่อยู่อาศัย เข้าไม่ถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน ไม่สามารถทำกิจกรรมทางสังคมเศรษฐกิจได้ การที่ไม่ได้ทำงานในสวนป่า ไม่มีโครงสร้างทางสังคมสนับสนุนความเป็นอยู่ของเขา เสียที่ดินปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ คนอินเดียประสบความยากลำบากต้องผันตัวเองจากภาคเกษตรมาในเมือง ทำให้พวกเขาปรับตัวไม่ได้ รู้สึกแปลกแยก และไม่มีทักษะหรือทุนสนับสนุนในการทำมาหากิน

 

การที่ต้องถูกบังคับให้ย้ายถิ่นเนื่องจากการเปลี่ยนสภาพของที่ดิน ทำให้ โครงสร้างครอบครัวเปลี่ยน ต่างคนต่างอยู่ ทำให้การพึ่งพิงในชุมชนหายไป ผู้หญิงต้องทำงานข้างนอกเพื่อเลี้ยงครอบครัว เพราะรายได้ก็หดหายไปเรื่อยๆ

 

และเนื่องจากผู้ชายอพยพย้ายถิ่นไปหางานทำ ทำให้ผู้หญิงเป็นหัวหน้าครัวเรือนมากขึ้น แต่เนื่องจากสังคมผู้ชายเป็นใหญ่ ผู้ชายที่ออกไปทำงานเมื่อไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไปกินเหล้า ตีลูกเมีย ล่วงละเมิดทางเพศและปฏิบัติต่อผู้หญิงไม่ดี

 

ทางออกหนึ่งของแก้ มีศูนย์ชุมชนของผู้หญิงอินเดีย ที่ช่วยฟื้นฟูชุมชน ให้ความช่วยเหลือฝึกอบรมทักษะต่างๆ ให้ เพิ่มความตระหนักถึงปัญหาและสิทธิของตนเอง ทำให้พวกเธอเริ่มมีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น และสามารถคุ้มครองสิทธิตัวเองและคนอื่นได้

 

ข้อเรียกร้องให้รัฐบาลต้องตอบสนองต่อปัญหาที่เราเผชิญอยู่ และเรียกร้องให้อาเซียน พิจารณาและประเมินนโยบายต่างๆ ที่กระทบต่อประชาชน

 

ศุกาญจน์ตา สุขไผ่ตา จากเครือข่ายแรงงานกลุ่มย่านรังสิตและใกล้เคียง ประเทศไทย กล่าวว่า คนงานส่วนใหญ่ในไทยมีไม่มากนักที่รู้จักชื่อเสียงของอาเซียนและคนงานเองไม่เคยได้รู้เลยว่าผลกระทบที่ได้รับเกิดจากอะไรบ้าง เกิดจากการประชุมของคณะกรรมการอาเซียน เช่น การทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างไทยกับจีนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

 

หลายสถานประกอบการต้องปิดตัวลงเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ มีการนำสินค้าเข้าจากจีน และขายในราคาถูกมากมาย ปัจจุบันมีการย้ายฐานการผลิตจากพื้นที่ที่มีอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต่ำกว่ามาตรฐานการครองชีพของมนุษย์ที่จะดำรงชีพอยู่ได้ มีการกำหนดอัตราขั้นต่ำอย่างไม่เป็นธรรมในสังคมไทย ละเลยการบังคับกฎหมายต่างๆ ที่มีผลกระทบแรงงานทั้งระบบ และรวมทั้งเรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงานของคนงานด้วย คนงานที่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้นยังมีอีกมาก เช่น คนงานที่รับงานไปทำที่บ้าน คนงานข้ามชาติ

 

นอกเหนือไปกว่านั้น ในประเทศไทยปัจจุบัน มีการนำเข้าแรงงานข้ามชาติผิด กฎหมาย เพื่อขูดรีดได้มากขึ้น ปกติไม่ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว เพราะพวกเขาไม่สามารถรวมตัวกันจัดตั้งองค์กรของตนเองได้ ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น และที่รุนแรงไปกว่านั้น คือ มีการละเมิดสิทธิต่างๆ ของคนงานโดยนโยบายรัฐ เช่น มีการประกาศในบางพื้นที่ห้ามมิให้มีโทรศัพท์มือถือ ห้ามมีรถจักรยานยนต์เป็นของตนเอง ซึ่งเป็นนโยบายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างรุนแรง ดังนั้น เครือข่ายแรงงานขอเสนอต่อเวทีนี้ว่า หนึ่ง ภายใต้หลักการเคารพสิทธิมนุษยชนของประชาชน ประชาชนในประเทศกลุ่มอาเซียนทั้งหมดต้องได้รับการดูแลคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติ

 

สอง ประชาชนแรงงานในประเทศกลุ่มอาเซียนต้องมีสิทธิและเสรีภาพในการเดินทางไปทำงานในประเทศใดๆ ก็ได้ในกลุ่มอาเซียน และได้รับการคุ้มครองอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ห้ามมิให้มีการเลือกปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น

 

สาม ในการประชุมร่วมกันเพื่อกำหนดทิศทางของประเทศในกลุ่มอาเซียน แต่ละประเทศต้องทำความเข้าใจและรับฟังความเห็นจากประชาชนในประเทศของตนเองก่อนอย่างน้อย 60%

 

สี่ ให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนร่วมกันรณรงค์ให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ละเมิดสิทธิประชาชนอย่างรุนแรงหยุดการกระทำดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

 

ห้า ประเทศในกลุ่มอาเซียนต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ทั้งหมดคือเสียงที่ไม่เคยดังเลยจากประเทศไทย ทั้งนี้ หวังว่าในอนาคต พวกเราจะมีโอกาสมากขึ้นในการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่างๆ มากขึ้น

 

 

"หลักการที่จะรักษาซึ่งสิทธิมนุษยชนของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้น

เป็นความร่วมมือกันเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า"

 

 

ศุกาญจน์ตา กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติแต่ละประเทศมีปัญหาไม่ต่างกัน ไม่ว่าเรื่องค่าจ้าง เวลาทำงาน เสรีภาพในการจัดตั้งองค์กรของตัวเอง ล่วงละเมิดทางเพศ โดยจากการแลกเปลี่ยนกับคนงานในพม่าในจังหวัดภาคใต้ บางคนตายโดยไม่มีใครรับผิดชอบ ไม่ได้รับความช่วยเหลือจากญาติของตัว เพราะไม่มีใครกล้าบอกว่า นั่นเป็นญาติของตนเอง เพราะพวกเขาเข้ามาทำงานในไทยโดยไม่มีเอกสาร ตำรวจไทยเพียงแค่เอาเขาไปเผา

 

ผู้หญิงไทยในฮ่องกงซึ่งทำงานแม่บ้านถูกบังคับให้กินอ้วกของลูกนายจ้าง ผู้หญิงไทยที่เป็นแม่บ้านในอิรักถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยถูกนายจ้างและลูกของนายจ้างข่มขืน จะเห็นว่ามาตรการดูแลรักษาของรัฐบาลแต่ละประเทศไม่ตามไปปกป้องตนของตัวเอง

 

ดังนั้น ในนามนักสหภาพ เห็นว่าแรงงานในกลุ่มประเทศอาเซียนควรร่วมมือกันในทุกรูปแบบ เพื่อปกป้องช่วยเหลือซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ตั้งข้อสังเกตว่า ยังไม่เห็นประเทศไหนในภูมิภาคเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงเลย ดังนั้น จึงไม่แน่ใจว่า หลักการที่จะรักษาซึ่งสิทธิมนุษยชนของกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นเป็นความร่วมมือกันเพื่อละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือเปล่า

 

 

"คนตัวเล็กตัวน้อยไม่สามารถผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่ง

ของระบบอาเซียนหรือระบบโลกได้"

 

 

การรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน: ประชาชนอยู่ที่ไหน?

ดร.เรเน โอเฟรนนีโอ ภาคีการค้าเสรี (Fair Trade Alliance) จากฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ข้อเสนอสู่กรรมาธิการของอาเซียนให้อาเซียนทำงานเพื่อสังคมมากขึ้น ในปี 2546 เคยมีข้อตกลงที่บาหลี ซึ่งผมเห็นว่าเป็นวิสัยทัศน์ที่เป็นประวัติศาสตร์ โดยมีการพูดถึงเป้าหมายของอาเซียนในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เท่าเทียมกัน ลดความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ พัฒนาสังคมที่เอื้ออาทรและแบ่งปันซึ่งกันและกัน

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจะเห็นว่า มีความไม่สอดคล้องกัน โดยสิ่งที่เราเห็นก็คือ อาเซียนเป็น็็็ฌ็ชามก๋วยเตี๋ยวที่พูดแต่เรื่องการเปิดเสรีทางการค้า เช่น เปิดเสรีภาคการลงทุน ภาคบริการให้สอดคล้องกับ WTO และมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ อาเซียนตั้งเป้าว่าปี 2015 จะรวมตัวทางเศรษฐกิจคล้ายระบบของสหภาพยุโรป

 

ขณะเดียวกัน มีการเปิดเจรจากับประเทศนอกภูมิภาคอาเซียน คือ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี พยายามหาข้อสรุปให้เกิดข้อตกลงทางการค้าระหว่างภูมิภาค รวมทั้งข้อตกลงการค้าแบบทวิภาคี และมีการเร่งให้มีการเจรจาอาเซียนบวกสาม คือบวกเอเชียตะวันออกเข้ามาด้วย นี่คือชุมชนเศรษฐกิจของอาเซียนที่ขยายตัว

 

ขณะเดียวกัน อาเซียนยังไปโยงกับสหรัฐ สหภาพยุโรป นิวซีแลนด์ รัสเซีย อินเดีย ให้เข้ามาเจรจาการค้าเสรีร่วมกัน และสหรัฐก็พยายามผลักดันให้มีเขตการค้าเสรีในเอเชียและแปซิฟิก ภายใต้กรอบของเอเปกด้วย นอกจากนี้ อาเซียนเองยังทำงานอย่างแข็งขันใน WTO เช่น ข้อตกลงด้านการเกษตร ภาคบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา อาเซียนพูดว่าจะเปิดเสรีเต็มไปหมด

 

 

 

 

นี่เป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว นี่คือภาพจากเอดีบี (ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย) ว่าไปแล้ว แต่ละประเทศในอาเซียนยังมีทิศทางพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ชัดเจน โดยมีการค้ากันในหมู่ประเทศสมาชิก ต่ำกว่า 20% ส่วนการค้านอกอาเซียนพัฒนาเร็วกว่าในอาเซียนด้วยกันเอง เช่นการค้ากับประเทศจีน

 

จากการจัดภาษีศุลกากร จะเห็นว่า การค้าระหว่างอาเซียนด้วยกันจะเป็นการประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณ 40% และค้ากับสิงคโปร์มากที่สุด ทั้งจะเห็นว่าการค้าไม่สม่ำเสมอกัน และรายได้เหลื่อมล้ำกันมาก โดยรายได้ในบรูไนกับสิงคโปร์สูงกว่ารายได้ในพม่าและลาว

 

ถ้าพูดเรื่องการจ้างงาน การจ้างของเอเชียแปซิฟิกและเอเชียตะวันออกมีการจ้างงานน้อย ไม่มีการขยายตัวของจ้างงานอีกต่อไป ยูเอ็นดีพีหรือองค์กรพัฒนาของสหประชาชาติ พูดว่าการค้าเสรีตอนนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์เพื่อคนจน

 

ทั้งนี้หากถามว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีอะไรบ้างที่ก่อให้เกิดการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ก็คือ บริษัทใหญ่ๆ ที่เข้าไปลงทุนในอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีบริษัทญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนผลิตรถ เช่น โตโยต้า นิสสัน ฟอร์ด นับว่าเป็นภูมิภาคที่ผลิตสินค้าป้อนประเทศอื่น ด้านการเกษตรก็พยายามบูรณาการเป็นเนื้อเดียวกัน โดยมีธุรกิจการเกษตรที่ขยายตัวอย่างมาก เช่น ซีพีของไทย บ.ปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซีย
รวมทั้งเป็นภูมิภาคนี้ป้อนวัตถุดิบให้เกาหลีใต้ จีน และกลายเป็นตลาดให้กับปัจจัยทางการผลิต แก่สหรัฐ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป

 

ด้านงานภาคบริการมีธนาคารเข้ามาประสาน มีการแลกเปลี่ยนเงินข้ามชายแดนโดยบริษัทข้ามชาติ มีเครือข่ายการผลิตระดับโลก โดยมีสำนักงานแม่อยู่ต่างประเทศ แต่มีเครือข่ายอยุ่ที่เอเชีย มีการเปิดเสรีภาคบริการต่างๆ

 

แล้วประชาชนอยู่ตรงไหนของกระบวนนี้ เช่น แรงงานในสวนป่าขนาดใหญ่อยู่ที่ไหน แรงงานภาคการผลิตนอกระบบอยู่ที่ไหน ธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดย่อยที่ไม่เชื่อมโยงกับตลาดภูมิภาค และระดับโลก ยังมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ชุมชนที่ทำการเกษตร เกษตรกรที่เป็นชนพื้นเมือง เจ้าของที่ดินขนาดเล็กไปอยู่ไหนกัน

 

ความจริงที่เกิดขึ้นคือ คนตัวเล็กตัวน้อยไม่สามารถผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาเซียนหรือระบบโลกได้ มีปัญหาที่กำลังเผชิญกันคืออุตสาหกรรมครัวเรือนไม่สามารถแข่งขันกับบรรษัทข้ามชาติได้ เกษตรกรรายย่อยก็รายได้ลดลง เพราะการเกษตรก็ไม่มีหวัง แรงงานผลิตของที่บ้านกลายเป็นคนชายขอบ ตลาดแรงงานยืดหยุ่นสูง มีการย้ายงานกันบ่อย

 

เราคงต้องคิดใหม่ว่ารูปแบบการผนวกรวมตัวกันจะเป็นอย่างไร เพราะลักษณะเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยวมันคับแคบ เน้นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ทำให้ภูมิภาคมีความเปราะบาง ไม่มั่นคง เนื่องจากไม่ได้สนับสนุนกัน เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องท้าทายบทบาทของอาเซียนว่าทำอย่างไรกับชนชั้นแรงงาน เกษตรรายย่อย จะจัดการการพัฒนาที่เหลื่อมล้ำอย่างไร นอกจากนี้ยังมีเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร สิทธิแรงงาน เช่น ไม่ใช้แรงงานที่ถูกบังคับ แรงงานเด็ก เรื่องกฎบัตรอาเซียน ที่จะออกในอีกสองอาทิตย์นี้ ปัญหาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม และจริยธรรมของบรรษัทข้ามชาติ

 

ดังนั้น สิ่งที่ท้าทายภาคประชาชน คือ ต้องพยายามเข้าไปมีเสียงในกระบวนการปรึกษาหารือ สร้างวิสัยทัศน์การพัฒนาที่สมดุล เสมอภาค ครอบคลุมทุกฝ่าย และควรให้ผู้ผลิตรายย่อย เช่น แรงงานที่บ้าน ได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท