Skip to main content
sharethis

นายเมธา มาสขาว


เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.)


 


 


 


หลังจากวิปรัฐบาล-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตีกลับ ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ ไปให้รัฐบาลพิจารณาใหม่อีกครั้งหลังผ่านการปรับแก้จากคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่เมื่อวันอังคารที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติยืนยันเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ ส่งกลับซ้ำไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แล้ว โดยมิได้มีการแก้ไขมาตราใดๆ เพิ่มเติม ซึ่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะพิจารณากฏหมายฮิตเล่อร์ดังกล่าว ในวันพุธที่ 7 พฤศจิกายนนี้


 


เรื่องนี้เหมือนกับว่า รัฐบาลกำลัง อุ๊บอิ๊บ เร่งรัด ยืนยัน ตีกลับสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีกครั้ง ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้แก้ไขโครงสร้างอำนาจหน้าที่ ซึ่งหลายฝ่ายห่วงว่าเป็น "ยาเกินขนาด" ตามอำนาจที่ระบุไว้แต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังปกปิดข่าวสารไม่ให้ประชาชนรู้ หรือติดตามได้ทัน เพราะจนกระทั่งวันนี้ ประชาชนจำนวนมากไม่รู้ว่ารัฐบาลผ่านกฏหมายสำคัญยิ่งกว่ากฏหมายรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะเนื้อหาของกฏหมายนี้ เท่ากับการล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยปริยายนั่นเอง และเท่ากับว่าเป็นการแหกตาประชาชนทั้งประเทศที่จัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ขึ้นมา 


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ขอคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ ดังกล่าว ซึ่งเนื้อหาหลักของ พ.ร.บ.นี้นั้น เป็นภัยต่อความมั่นคงในอธิปไตยของไทยอย่างยิ่ง ดังนี้


 


1. ให้อำนาจครอบจักรวาล ตามมาตรา 15 และสามารถออกข้อกำหนดห้ามเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการหรืองดการปฏิบัติการได้ ห้ามเข้าหรือให้ออกจากบริเวณพื้นที่ที่กำหนดได้  ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลาที่กำหนด ห้ามการใช้เส้นทางคมนาคมหรือการใช้ยานพาหนะได้ตามมาตรา 17 ซึ่งเท่ากับว่า อนุญาตให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สามารถออกกฏหมายนิติบัญญัติได้ในตัว หรือ กอ.รมน. สามารถทำหน้าที่แทนฝ่ายนิติบัญญัติได้นั่นเอง


 


2. แม้กฤษฎีกาจะแก้ไขให้ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร (ผอ.รมน.) เป็นนายกรัฐมนตรีโดยตำแหน่งแทนผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) แล้วก็ตาม แต่มาตรา 10 ยังคงให้แม่ทัพภาคเป็น "ผอ.รมน.ภาค" เหมือนเดิม ซึ่งมีอำนาจแต่งตั้งข้าราชการและลูกจ้างของกองทัพภาค รวมทั้งข้าราชการ พนักงาน และยังสามารถเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างที่ได้รับคำสั่งให้มาปฏิบัติงานใน กอ.รมน.ภาค และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของ กอ.รมน.ภาคได้ ซึ่งเท่ากับทำให้เกิดอำนาจรัฐซ้อนอำนาจรัฐ โดยรัฐทหารนั่นเอง


 


3. บรรดาข้อกำหนด ประกาศ คำสั่ง หรือการกระทำตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองและกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ตามมาตรา 22  ซึ่งเท่ากับว่า อนุญาตให้ กอ.รมน. มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหาร หรือรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งนั่นเอง


 


4. ในการปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางวินัยตามมาตรา 23 ซึ่งเท่ากับอนุญาตให้ กอ.รมน. ทำหน้าที่แทนฝ่ายตุลาการ


 


ซึ่งทั้ง 4 ข้อดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า กฏหมายความมั่นคงนี้จะทำลายระบบ 3 อธิปไตยของชาติอย่างแท้จริง เพราะการอนุญาตให้การตีความความหมายของความมั่นคงไว้ที่ กอ.รมน. หรือกองทัพเป็นหลักแต่เพียงผู้เดียวนั้น เป็นปัญหาแก่การสร้างความมั่นคงของชาติต่อส่วนรวม และไม่สามารถแก้ปัญหาการเมืองที่เป็นอยู่ได้นอกจากจะซ้ำเติมให้เลวร้ายลง


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาล และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หยุดการผลักดันและพิจารณาเรื่องดังกล่าวโดยทันที


 


หยุดทำให้ปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบของกองทัพ ที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ลุกลามมายังกรุงเทพฯ และภาคอื่นๆ ตามอำนาจ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ ซึ่งไม่ต่างจาก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด ซ้ำร้ายยังให้อำนาจถาวรแก่ กอ.รมน. ประกาศใช้ทั้งในสถานการณ์ปกติและไม่ปกติทั่วประเทศอีกด้วย


 


ขอเรียกร้องให้ฝ่ายตุลาการ พรรคการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ ประชาชนและนักกฎหมายทั่วประเทศ คัดค้าน พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฯ จนถึงที่สุด


 


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net