Skip to main content
sharethis


ชำนาญ จันทร์เรือง

 


 


 


เมื่อ 30..50 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอโดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ได้มีความก้าวหน้าอย่างมาก ซึ่งสามารถจะช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะมีบุตรยากให้สามารถตั้งครรภ์ รวมถึงการตั้งครรภ์แทนได้ ซึ่งส่งผลทำให้เกิดความสับสนระหว่างความสัมพันธ์ในความเป็นจริงของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะทางพันธุกรรมของเด็กเอง หรืออาจเกิดความขัดแย้งระหว่างหญิงที่รับตั้งครรภ์กับคู่สมรสที่ขอให้ตั้งครรภ์แทน


 


สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นการควบคุมไม่ให้มีการดำเนินการโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ในทางที่ไม่ถูกต้องในหลายประการ อาทิ การกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ การกำหนดให้ในกรณีที่เด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์แทนไม่ว่าจะเป็นการใช้เซลล์สืบพันธุ์ของสามีภรรยาที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์หรือของบุคคลอื่นก็ตาม ให้สามีภรรยาที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทนเป็นบิดามารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กนั้น ซึ่งกฎหมายปัจจุบันยังคงถือว่าเด็กที่คลอดจากหญิงใดเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น ทำให้คู่สมรสซึ่งเป็นเจ้าของเซลล์สืบพันธุ์ตัวจริงต้องรับเด็กที่คลอดออกมาในฐานะบุตรบุญธรรม


 


ในทางปฏิบัติแล้วการรับตั้งครรภ์แทนหรือ"อุ้มบุญ" ให้แก่กันมีหลายรูปแบบ เช่น การที่แพทย์นำอสุจิของสามีผสมกับไข่ของภริยา (นอกมดลูก) จนเกิดเป็นตัวอ่อน แล้วนำตัวอ่อนไปฝากใส่ไว้ในครรภ์ของหญิงซึ่งตกลงรับตั้งครรภ์ให้


 


บางกรณีอาจมีการนำเชื้ออสุจิของฝ่ายชายไปฉีดใส่มดลูกของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนโดยตรงหรือที่เรียกว่า "การผสมเทียม" โดยที่สามีของหญิงผู้รับตั้งครรภ์แทนให้ความยินยอม (กรณีมีสามี) ซึ่งกรณีนี้ก็เท่ากับว่าเป็นไข่ของหญิงที่รับอุ้มบุญเองหรือหญิงที่รับอุ้มบุญให้มีส่วนเป็นเจ้าของด้วยครึ่งหนึ่ง และยังต้องอุ้มท้องให้อีกถึง 9 เดือน จึงอดไม่ได้ที่จะมีความรู้สึกผูกพันกับเด็กในท้อง ในต่างประเทศมีการฟ้องร้องกันมากมายเพราะหญิงรับรับตั้งครรภ์ให้ จะเอาเด็กไว้เลี้ยงเสียเอง


 


จะเห็นได้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนอกจากปัญหาทางกฎหมายแล้ว ยังมีปัญหาอีกมากมายที่จะต้องพิจารณา ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสิทธิและหน้าที่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์ สิทธิและหน้าที่ของคู่สมรสที่ขอให้ตั้งครรภ์ ตลอดจนปัญหาทางจริยธรรมที่ตามมา


 


ล่าสุดมีบางเว็บไซต์ในอินเตอร์เน็ต ลงโฆษณาอย่างโจ่งแจ้งว่า ต้องการรับจ้างอุ้มบุญ แลกค่าจ้าง 200,000บาท คิดค่าเดินทาง ค่าบำรุงครรภ์ และค่าใช้จ่ายอื่นต่างหาก ซึ่งน่าเป็นห่วงว่า หากกฎหมายที่ได้รับการผลักดันออกมา ไม่กำหนดคุณสมบัติให้รัดกุมพอ อาจเปิดช่องให้มีการเสนอตัวรับจ้างในหมู่นักศึกษา หรือผู้หญิงตกงาน จนกลายเป็นการอุ้มบุญเชิงการค้า โชคดีที่เวลานี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการยกร่างกฎหมาย จึงพอมีโอกาสที่จะแสดงความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อให้เกิดความถูกต้อง และสมบูรณ์แบบมากขึ้น


 


ประเด็นของสิทธิของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน นั้น เห็นว่าควรมีสิทธิที่จะได้รับทราบข้อมูลทางการแพทย์ จริยธรรม และกฎหมาย ที่จำเป็นและเพียงพอ ก่อนจะตัดสินใจตกลงรับตั้งครรภ์แทน อีกทั้งควรมีสิทธิจะได้รับบริการตามมาตรฐานทางการแพทย์ ทั้งนี้ เพราะการตั้งครรภ์ตามปกติของหญิงทั่วไป เป็นการตั้งครรภ์เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ต่างกับกรณีนี้ที่เป็นการตั้งครรภ์เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ดังนั้น หญิงผู้รับตั้งครรภ์แทน และควรมีสิทธิจะได้รับค่าตอบแทน หรือสิทธิประโยชน์อื่น ตามจำเป็นและสมควร แต่ต้องไม่มีลักษณะเพื่อความประสงค์แห่งการค้า ไม่เช่นนั้นการอุ้มบุญก็จะกลายเป็นการอุ้มบาป หรือมีลักษณะส่อไปในทางให้เช่ามดลูกทำธุรกิจ ซึ่งล่อแหลมต่อศีลธรรมอันดี


 


นอกจากนั้นยังควรได้ทราบถึงผลกระทบทั้งในแง่สุขภาพกาย และจิต ที่อาจเกิดกับตัวเองจากการรับตั้งครรภ์แทน เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากตั้งครรภ์แทน แล้วตัวเองอาจต้องตาย รวมทั้งสถานะทางกฎหมายของเด็กซึ่งตนอุ้มท้องมา แต่ไม่ถือว่าเป็นลูกของตัวเอง เป็นต้น


 


อย่างไรก็ตาม ยังควรกำหนดถึงหน้าที่ของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนไว้ด้วย อาทิ กรณีที่หญิงรับตั้งครรภ์แทน รู้ว่าตนเองมีโรคประจำตัว หรือโรคทางพันธุกรรมที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ แต่ปกปิดไม่ยอมแจ้งความเสี่ยงให้ผู้เกี่ยวข้องทราบ หรือกรณีเมื่อตั้งครรภ์แล้ว ควรมีหน้าที่ต้องไปรับการตรวจครรภ์ตามนัดของแพทย์ แต่ไม่ยอมไป หรือบางราย ขณะที่รับตั้งครรภ์ให้ มีพฤติกรรมดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ หรือเมื่อคลอดเด็กออกมาแล้ว หญิงที่รับตั้งครรภ์ไม่ยอมให้น้ำนมของตนแก่เด็ก เพื่อปิดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้น ควรระบุหน้าที่รับผิดชอบตามกฎหมายของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนไว้ให้ชัดเจนเพราะโอกาสที่จะเกิดเรื่องแบบนี้มีความเป็นไปได้ค่อนข้างมาก


 


กรณีกลับกัน ในแง่ คู่สมรสที่ขอให้ตั้งครรภ์ ก็ควรมีทั้งสิทธิและหน้าที่ด้วยเช่นกัน อาทิ หญิงที่รับตั้งครรภ์แทนคลอดเด็กออกมาเป็นฝาแฝดหรือพิการ หากหญิงนั้นได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนโดยไม่บกพร่อง กรณีเช่นนี้คู่สมรสจะปฏิเสธไม่ยอมรับเด็กฝาแฝด โดยอ้างว่าต้องการลูกเพียงคนเดียว หรือไม่อยากได้เด็กพิการเป็นลูก หากกฎหมายไม่ล้อมคอกกรณีเช่นนี้ไว้ ย่อมเกิดปัญหาตามมาอย่างแน่นอน


 


ปัญหาอีกประการหนึ่งที่เราจะมองข้ามไปไม่ได้ ก็คือ ปัญหาทางจริยธรรม ที่นอกเหนือจากการรับจ้างอุ้มบุญที่ไม่สุจริตเพราะกระทำเยี่ยงการค้ามนุษย์แล้ว ลูกที่เกิดมาอาจเกิดความสับสนว่าควรจะรักหรือผูกพันกับ "แม่" คนไหนดี ยิ่งวัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับความผูกพันและหน้าที่ที่ลูกพึงมีต่อแม่ด้วยแล้ว ไม่ว่าจะเลือกใครเป็นแม่ เด็กก็ไม่อาจหนีปัญหาทางความรู้สึกไปได้ง่ายๆ


 


ปัญหาที่เป็นผลพวงอีกประการหนึ่ง โดยเฉพาะในกรณีเด็กหลอดแก้วก็คือ ในกระบวนการดังกล่าว เมื่อแพทย์นำตัวอ่อนย้ายเข้าไปในโพรงมดลูกไปแล้ว แต่ก็มักจะมีตัวอ่อนเหลืออยู่อีกซึ่งจะต้องถูกทำลายทิ้งเสีย ปัญหาก็คือว่าเจ้าของชีวิตตัวอ่อนก็คือตัวอ่อนเอง มิใช่แพทย์หรือพ่อแม่ การทำลายตัวอ่อนโดยเจตนาจึงเท่ากับเป็นการทำลายชีวิตมนุษย์ ซึ่งถือว่าเป็นบาปในทุกๆ ศาสนา


 


ปัญหาจริยธรรมนั้นไม่อาจแก้ได้ด้วยการออกกฎหมายเท่านั้น ทางแก้จึงอยู่ที่การหามาตรการควบคุมไม่ให้ก่อผลเสียทางจริยธรรมเกินขอบเขต ขอบเขตนั้นอยู่ที่ไหน และมาตรการใดที่จะควบคุมให้อยู่ในขอบเขตได้ เป็นเรื่องที่เราจะต้องร่วมกันหาคำตอบ มิใช่ปล่อยให้เป็นเรื่องของรัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติเท่านั้น เพราะในที่สุดมักจะหนีไม่พ้นการแทรกแซงครอบงำของธุรกิจเอกชนที่มีผลประโยชน์ผูกพันกับเทคโนโลยีดังกล่าว ผู้ที่เดือดร้อนที่แท้จริงก็หนีไม่พ้นผู้ที่อยากมีบุตรด้วยใจบริสุทธิ์และสังคมที่ต้องรับภาระจากผลผลิตที่ไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทั้งๆที่ยังมีเด็กกำพร้าที่ต้องการการเอาใจใส่เลี้ยงดูและพร้อมที่จะเป็นบุตรบุญธรรมอีกมากมาย


           


ฉะนั้น เราจึงไม่ควรมองข้ามร่างกฎหมาย "อุ้มบุญ"ที่ดูเหมือนจะเป็นกฎหมายเล็กๆ แต่แท้ที่จริงแล้วมีผลกระทบต่อลูกหลานของเราภายภาคหน้าอย่างมาก ดังเหตุผลที่ได้กล่าวมาแล้วนั่นเอง


                       


 


 


 


-----------------------------


หมายเหตุ      เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน 2550


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net