Skip to main content
sharethis

วารสารฉลาดซื้อระบุความรับผิดตอบต่อสังคม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน การสรรหาวัตถุดิบ การดูแลลูกค้า ของบริษัทฟาสต์ฟู๊ดในประเทศไทย ยังแค่เริ่มต้น ด้านนักวิชาการและนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมชี้เป็นเรื่องสำคัญ บริษัทควรจะใส่ใจมากขึ้น

วารสารฉลาดซื้อร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีเสวนา เปิดเผยข้อเท็จจริงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR ขึ้นที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 6 พ.ย.ที่ผ่านมา

ผลการสำรวจของวารสารฉลาดซื้อ ฉบับที่ 80 โดยได้ทำการสำรวจการทำ CSR ของบริษัทฟาสต์ฟู้ด 4 บริษัทได้แก่ บริษัท แมคไทย จำกัด, บริษัท ยัม เรสเตอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด (เค เอฟ ซี, พิซซาฮัท), บริษัท เชสเตอร์ฟู้ด และเดอะ ไมเนอร์ ฟู้ดกรุ๊ป (เดอะ พิซซา คัมปะนี) โดยสอบถามข้อมูลความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทดังกล่าวในด้านสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน การสรรหาวัตถุดิบ และการดูแลลูกค้า ซึ่งแบบสอบถามดังกล่าว เป็นฉบับเดียวกับที่ใช้สำรวจความรับผิดชอบต่อสังคมของร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในยุโรป โดยองค์การทดสอบระหว่างประเทศ International Consumer Research and Testing Association (ICRT) ในช่วงเดือนตุลาคม 2549 โดยส่งแบบสอบถามให้กับบริษัทไปตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 แต่จนกระทั่งถึงเดือนกันยายน 2550 ได้รับการตอบกลับเพียง 2 รายคือ บริษัท แมคไทย จำกัด และบริษัท เชสเตอร์ฟู้ด

นางสาวศศิวรรณ ปริญญาตร หัวหน้าฝ่ายทดสอบ กองบรรณาธิการวารสารฉลาดซื้อ กล่าวว่าจากผลการสำรวจนั้นทำให้เราได้ทราบว่าการทำ CSR ของบริษัทฟาสต์ฟู้ดในประเทศไทยนั้นเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

"จากการโทรสอบถามกลับไปที่บริษัทพบว่าบางบริษัทยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่อง CSR และจากการสำรวจครั้งนี้เป็นการสำรวจครั้งแรกของวารสารฉลาดซื้อ ซึ่งจะทำการสำรวจอีกในเรื่องเกี่ยว CSR หรือความรับผิดต่อสังคมของบริษัทคอมพิวเตอร์ บริษัทเสื้อผ้าสำเร็จรูป" หัวหน้าฝ่ายทดสอบ กองบรรณาธิการวารสารฉลาดซื้อกล่าว

ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ไกรสรสุธาสินี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงว่าคนส่วนใหญ่เข้าใจ CSR ว่าเป็น PR องค์กร ทั้งที่ความจริงแล้ว CSR หรือ Corporate Social Responsibility เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะนี้กำลังเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ได้รับความสนใจกันมากทั้งทางภาครัฐและภาคธุรกิจ โดยมีที่มาจากการที่องค์กรธุรกิจผู้ซึ่งมีส่วนในการสร้างความเจริญทางวัตถุและสุขภาวะที่ดีของสังคม แต่ก็เป็นผู้มีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้สังคมเสื่อมลงทั้งกายภาพและจิตวิญญาณ รวมถึงสิ่งแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในองค์กร CSR จึงเป็นการเรียกร้องจากทุกฝ่ายนั่นก็คือ รัฐ เอกชน ผู้บริโภค และเอ็นจีโอ ให้มีการประกอบธุรกิจโดยมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น

"ผู้ผลิตต้องการกำไร คนซื้อต้องการราคาถูก แรงงานต้องการค่าแรง ซึ่งทั้งหมดต้องมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ สื่อมวลชน และในส่วนของผู้บริโภค ก็ต้องเลือกด้วยว่าผู้ผลิตรายใดทำ CSR ที่ดีก็ควรที่จะเลือกผู้ผลิตรายนั้น" ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ กล่าว

ด้านนายสุทธิชัย เอี่ยมเจริญยิ่ง ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าหลักในการประกอบธุรกิจเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมนั้นต้องคำนึงถึงพื้นฐานหลักๆ 3 อย่างนั่นก็คือ 1) Products นั้นก็คือการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อผู้บริโภคและสังคมในราคา และคุณค่าที่ยุติธรรม 2) Process มีขบวนการผลิตที่ปลอดภัยกับผู้ทำงานและไม่ปลอดภัยกับคนทำงานและไม่ปล่อยให้เกิดมลพิษ เป็นอันตรายต่อผู้ผลิตเองรวมถึงสิ่งแวดล้อมด้วย วัตถุดิบที่ใช้ต้องไม่มาจากแหล่งที่ทำลายสิ่งแวดล้อม และความจะย่อยสลายได้ ไม่เป็นภาระต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในปัจจุบันและอนาคต 3) People นั่นก็คือการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม มีมาตรฐานแรงงานที่ดี และมีสวัสดีการที่เหมาะสม

"กระแสของ CSR เพิ่งจะเริ่มมาแรงเมื่อไม่นานมานี้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยก็ได้ตั้งสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility Institute ขึ้นมาดูและป้องกันปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมทีอาจเกิดขึ้นจากการประกอบธุรกิจของตน และดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือทางการตลาดของบริษัทในการประชาสัมพันธ์องค์กรของตัวเองมากกว่า ทั้งที่ CSR จะเกิดขึ้นได้ต้องมีความร่วมมือของแรงงาน ผู้บริโภค และชุมชน โดยต้องคำนึงถึงเสียงของผู้บริโภค ในต่างประเทศ จะถือเป็นพลังสำคัญที่จะทำให้เกิด CSR ได้อย่างถาวร" ประธานเครือข่ายนักธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าว

นางสุจินต์ รุ่งสว่าง เครือข่ายผู้บริโภค กล่าวว่า อยากให้การทำ CSR ในประเทศไทยเกิดขึ้นได้จริง และต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้ทั้งในเรื่องค่าแรงงานและค่าสวัสดิการ

"เราเองรับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ อย่างรับเสื้อผ้าจากบริษัทไปเย็บที่บ้าน สวัสดิการก็ไม่มี ค่าไฟ ค่าด้าย ก็ต้องซื้อเอง โดยจะได้รายได้จากการเย็บเป็นตัวๆ ไป ซึ่งได้ค่าแรงไม่มากนัก แต่เวลาไปเดินในห้างแล้วไปพบเสื้อยี่ห้อที่ที่ตัวเองเคยเย็บแล้วราคาแพง จึงอยากให้ผู้ผลิตใส่ใจในการทำ CSR ให้มากขึ้นหน่อย ไม่ใช่ใส่ใจแต่กำไรเพียงอย่างเดียว" นางสุจินต์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net