Skip to main content
sharethis


สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)

 


 


การอพยพย้ายถิ่นของประชากรเกิดขึ้นอยู่เสมอในทุกชุมชน โดยมีสาเหตุปัจจัยหลายประการ อาทิ การย้ายถิ่นฐานเพื่อประกอบอาชีพใหม่ เพื่อการศึกษา การสร้างครอบครัว รวมถึงเพื่อหลบหนีจากอันตรายในพื้นที่อยู่อาศัยเดิม อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุการณ์ความความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 ทำให้มีการเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการอพยพของประชากรในพื้นที่เป็นจำนวนมาก โดย ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่าจากการศึกษาวิจัยเรื่องผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กรณีการอพยพย้ายถิ่นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และแนวทางแก้ไข (ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.)) พบว่าการอพยพย้ายถิ่น ตั้งแต่ปี พ.ศ.2547 - เดือนมิถุนายน พ.ศ.2550 ไม่ได้มีความผิดปกติแต่อย่างใด โดยมีประชากรชาวไทยพุทธย้ายออกจากพื้นที่เพียง 319 คน เท่านั้น


 


ผศ.ปิยะ กล่าวต่อว่าจากการวิจัยเชิงสำรวจในพื้นที่ 27 ตำบล 9 อำเภอ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คลอบคลุมตำบลที่มีประชากรที่นับถือทั้งศาสนาอิสลาม และศาสนาพุทธ โดยในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสมีการอพยพย้ายออกของชาวไทยพุทธรวม 160 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในตำบลตันหยงมัส สาเหตุหลักของการย้ายออกเป็นการย้ายไปประกอบอาชีพที่พื้นที่อื่นๆ เช่น อำเภอหาดใหญ่ และบางส่วนย้ายเข้ากรุงเทพมหานคร เนื่องจากความไม่สงบในพื้นที่ และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงขึ้น ส่วนในเขตเทศบาลเมืองนราธิวาส ยังไม่มีการอพยพย้ายถิ่น เนื่องจากในชุมชนนี้ยังไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ที่จังหวัดยะลา เขตเทศบาลนครยะลา มีการย้ายถิ่นเข้า-ออกเป็นระยะๆ เนื่องจากเขตเมืองที่มีสถาบันการศึกษามาก จังหวัดปัตตานี เขตตำบลตาแกะ อำเภอยะหริ่ง มีชาวบ้านถูกยิงเสียชีวิตไป 28 ราย ซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีชาวไทยพุทธย้ายออกไปอยู่ในเมือง 7 หลังคาเรือน ยังคงอยู่ 3 หลังคาเรือน ในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี ชุมชนจือแรบาตู ยังไม่มีคนอพยพออก แม้จะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นในพื้นที่ แต่ไม่เคยเกิดขึ้นกับคนในชุมชน ชุมชนจะบังติกอ มีการย้ายออกไปเรียนหนังสือ และไปทำงานเท่านั้น


 


 


การศึกษาเบื้องต้นในด้านภาพรวมสถานการณ์ความรุนแรง และการอพยพย้ายถิ่นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ให้เห็นว่าแม้ในพื้นที่จะมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่การอพยพย้ายถิ่นมีไม่มากนัก และชุมชนไทยพุทธและไทยมุสลิมในพื้นที่ยังอยู่ร่วมกันได้ และมีการไปมาหาสู่กันเสมอ ดังนั้นการเผยแพร่ข้อมูลการอพยพย้ายถิ่นจึงควรเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดความไม่ไว้วางใจ และความระแวงกันในสังคม ทั้งนี้ในส่วนราชการควรต้องดำเนินการรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ให้ได้ โดยการปราบปรามหรือจับกุมผู้ก่อความรุนแรงตามกฎหมายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน รวมถึงควรเร่งแก้ปัญหาราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ และส่งเสริมเรื่องอาชีพให้ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ สำหรับการกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาของประชาชนในพื้นที่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) สามารถนำข้อมูลจากการวิจัยไปประกอบการกำหนดมาตรการได้ รวมทั้งควรมีการศึกษาต่อเนื่อง เช่น ประเด็นการประเมินสถานการณ์ในพื้นที่ การแก้ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชุมชนไทยพุทธที่ตั้งถิ่นกระจายตัวในพื้นที่ชนบท เป็นต้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net