Skip to main content
sharethis


เอ็นจีโอและเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือทำหนังสือจี้ สนช.
ให้ทบทวนและชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ....
ชี้เป็นการละเมิดสิทธิชุมชน เพิ่มความขัดแย้งและสร้างความไม่เป็นธรรมในสังคม


 


ตามที่เมื่อวันที่ 24 ต.ค.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 60/2550 โดยได้ผ่านการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ในวาระที่ 1 ซึ่งในขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญทรัพยากรน้ำนั้น


 


ล่าสุด วันนี้ (8 พ.ย.) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ (กป.อพช.ภาคเหนือ) พร้อมด้วยองค์กรพันธมิตร ได้มีการจัดงานสมัชชาองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ประจำปี พ.ศ. 2550ณ บ้านกลางดอย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โดยในเวทีดังกล่าวได้ถกกันถึงเรื่องร่างพ.ร.บ.น้ำ และได้ร่วมกันทำหนังสือถึง สนช.โดยให้ความเห็นว่า หาก สนช.ผ่านร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมติดตามมา


 


เพราะกฎหมายฉบับนี้จะไม่ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 66 67 และมาตรา 87 ในทางตรงกันข้าม กฎหมายฉบับนี้จะยิ่งทำให้หน่วยงานรัฐมีอำนาจควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ พร้อมด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนและเครือข่ายองค์กรชุมชนแนบท้าย จึงขอเรียกร้องให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... ในขั้นกรรมาธิการวิสามัญทรัพยากรน้ำไว้ โดยมีเหตุผลในรายละเอียด ดังนี้


 



1. ร่างกฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการกำหนดรายละเอียด ในส่วนที่ 12 เรื่องสิทธิชุมชน ตามมาตรา 303 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ควรเป็นภาระหน้าที่ของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ อย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงความเห็นและผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม


 


เหตุผลประกอบ


1.1 สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ไม่ว่าจะเป็นร่างที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คือการเพิ่มอำนาจรัฐในการควบคุมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ย่อมส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อชุมชน ชุมชนท้องถิ่น หรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยจารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น (มาตรา 66) และ การลดทอนสิทธิของบุคคลและชุมชนตาม มาตรา 67 ถึงแม้ว่าในส่วนอารัมภบทของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำฉบับที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรีจะระบุเพียงว่า จะต้องจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ตามมาตรา 29 33 41และ มาตรา 64 เท่านั้น และไม่ปรากฏในฉบับที่เสนอโดย โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ


 


1.2 ถึงแม้ว่าร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ ทั้ง 2 ฉบับ จะถูกอ้างว่าได้รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนมาหลายครั้ง แต่ยังถือว่าการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมา ยังอยู่ในขอบเขตที่จำกัดและขาดความโปร่งใสอยู่มาก โดยพิจารณาได้จากทั้งส่วนของรัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่เคยจัดการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยเสนอร่างฯ ฉบับสมบูรณ์ในการประชุมรับฟังความคิดเห็น ดังตัวอย่างเช่น


 


ร่างฯ ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี ในการรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งที่ผ่านมา ไม่เคยระบุอัตราค่าธรรมเนียมที่ชัดเจน เช่น อัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำประเภทที่สองและประเภทที่สาม หรืออัตราค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาต ดังที่ปรากฏในร่างฯ ที่เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัตราค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตใช้น้ำและค่าใช้น้ำ (มาตรา 20(9) และมาตรา 38(3) ) เป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่งต่อประชาชนในภาคการเกษตร กระบวนการจัดทำร่างกฎหมายได้ปิดบังเรื่องนี้มาตลอด และเพิ่งมาปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนเมื่อเป็นร่างฯ ที่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วเท่านั้น


 


·ร่างฯ ที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นที่ดำเนินการในระยะเวลาที่จำกัดอย่างยิ่ง และเป็นไปในลักษณะของการรับฟังความเห็นต่อประเด็นเนื้อหาของการร่างกฎหมาย คณะผู้จัดทำร่างฯ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่เคยนำร่างฯ ฉบับสมบูรณ์ เข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง


 


2. เจตนารมณ์ของการร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ เพื่อให้เกิดกฎหมายแม่บท ที่มีความเป็นเอกภาพในการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทรัพยากรน้ำ และส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ หากเมื่อพิจารณาในสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้งสองฉบับแล้ว ยังไม่ปรากฏอย่างชัดแจ้งปราศจากข้อสงสัยใดๆว่า จะสามารถสร้างเอกภาพ และประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมได้จริงหรือไม่ (ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 66, 67 และมาตรา 87)


 


เหตุผลประกอบ


2.1 ร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้งสองฉบับ ตามมาตรา 3 มีสาระสำคัญตรงกันคือ การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำหากมีกฎหมายอื่นใดบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ก็ให้ดำเนินการไปตามกฎหมายฉบับนั้น การกำหนดไว้เช่นนี้จะไม่สามารถทำให้เกิดการบริหารทรัพยากรน้ำอย่างเป็นเอกภาพในระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง นอกจากการทำให้กรมทรัพยากรน้ำกลายเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มีอำนาจบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเท่านั้น การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำอาจนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บททรัพยากรน้ำได้ แต่ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการบูรณาการแผนงานให้เกิดเอกภาพได้จริง เพราะภายใต้โครงสร้างและระบบการบริหารราชการแผ่นดินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หน่วยงานราชการต่างต้องยึดกฎหมายของหน่วยงานเป็นหลักในการทำงาน


 


2.2 การปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยผลของร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำทั้งสองฉบับนั้น จะเป็นการลบล้างสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำตามจารีต ประเพณี และภูมิปัญญาท้องถิ่นลงทั้งหมด และสร้างระบบสิทธิการใช้น้ำขึ้นมาใหม่ โดยไม่คำนึงถึงประวัติศาสตร์และภูมิปัญญาของชุมชน เช่นระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ ผ่านกระบวนการจัดตั้งองค์กรผู้ใช้น้ำและการขออนุญาตใช้น้ำประเภทต่างๆ (มาตรา 36 และ 45 ตามร่างที่เสนอโดยรัฐบาล และ มาตรา 12 และ 34 ตามร่างที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ)


 


ในการจัดการน้ำระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ องค์กรเหมืองฝายมีสิทธิในการพิจารณาการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหม่ ว่าจะส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของระบบเหมืองฝายดั้งเดิมหรือไม่ ทั้งนี้หมายรวมถึงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะ หากองค์กรเหมืองฝายเห็นว่าการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำรายใหม่จะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำที่เป็นอยู่เดิมก็สามารถยับยั้งได้ กฎหมายทรัพยากรน้ำตามนัยของร่างฯ ทั้งสองฉบับอาจส่งผลให้สิทธิและการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการขององค์กรชุมชนท้องถิ่นที่มีอยู่แต่เดิมดังกล่าวหมดสิ้นไป ถึงแม้ในร่างฯ ที่เสนอโดยรัฐบาลจะมีโครงสร้างของคณะกรรมการลุ่มน้ำและให้เข้ามามีอำนาจการจัดสรรน้ำแทน แต่ก็ถือว่าเป็นการสร้างโครงสร้างการบริหารจัดการใหม่ที่ซ้อนทับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น


 


3. การจัดสรรน้ำโดยแบ่งประเภทการใช้น้ำเป็นสามประเภท และมีระบบการขออนุญาตใช้น้ำนั้น (มาตรา 45 ตามร่างที่เสนอโดยรัฐบาล และ มาตรา 34 ตามร่างที่เสนอโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ได้แก่


(1) การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือนและการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


 


(2) การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


 


(3) การใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้น้ำในแหล่งน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมากหรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวางตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


 


การแบ่งประเภทการใช้น้ำข้างต้นนี้ จะเพิ่มความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมในสังคม เนื่องจากระบบการออกใบอนุญาตใช้น้ำ ทำให้ผู้ขอต้องมีภาระทั้งค่าใช้น้ำและค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้น้ำ จะเป็นการกีดกันประชาชนที่ใช้น้ำจำนวนหนึ่งออกไปจากระบบ เนื่องจากไม่สามารถรับภาระด้านการเงินได้ รวมทั้งไม่มีหลักประกันใดๆว่ากระบวนการจัดสรรน้ำจะเกิดความเป็นธรรมและทั่วถึงต่อผู้ใช้น้ำกลุ่มต่างๆ ในร่างกฎหมายทั้งสองฉบับ


 


โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสรรน้ำในแหล่งน้ำสาธารณะที่รัฐจัดสร้างขึ้น เช่น อ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำ ตามร่างฯ ทั้งสองฉบับยังไม่มีหลักประกันใดๆว่า ในยามที่น้ำขาดแคลน การใช้น้ำประเภทที่ 1 จะได้รับการประกันว่าจะได้รับสิทธิการจัดสรรเป็นอันดับแรก ตัวอย่างการจัดสรรน้ำในยามน้ำขาดแคลนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การใช้น้ำประเภทที่ 1 และการใช้น้ำประเภทที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรกรรมหรือการเลี้ยงสัตว์เชิงพาณิชย์จะถูกจัดสรรไว้ในลำดับท้ายสุด สร้างความขัดแย้งในเรื่องการจัดสรรน้ำมาโดยตลอด เป็นปัญหาทั้งทางสังคม เศรษฐกิจและการเมือง


 


ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ประเทศไทยประสบภัยพิบัติเกี่ยวกับน้ำที่รุนแรงและบ่อยครั้งมากขึ้นในช่วงหลายปีมานี้ ถูกใช้เป็นเหตุผลสนับสนุนการเร่งผลักดันกฎหมายทรัพยากรน้ำ แต่ทุกครั้งที่วิกฤติการเกิดขึ้น รัฐบาลก็สามารถสร้างมาตรการที่เหมาะสมและพัฒนากระบวนการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งระยะเฉพาะหน้าและระยะยาว เช่น ปัญหาการขาดแคลนน้ำในภาคตะวันออกในปี 2548 รัฐบาลได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้จัดทำแผนการประมาณการความต้องการน้ำ ศักยภาพน้ำต้นทุนลุ่มน้ำภาคตะวันออก เป็นที่เรียบร้อยแล้วในเดือนธันวาคม 2549 ที่ผ่านมา หรือปัญหาพื้นที่เสี่ยงภัยจากดินโคลนถล่ม หน่วยงานราชการก็ได้เริ่มจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงภัยรวมทั้งการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ เห็นได้ว่าในสภาวะที่แม้ไม่มีกฎหมายทรัพยากรน้ำ การแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ก็ยังพอที่จะดำเนินการไปได้


 


ด้วยเหตุผลทุกประการที่กล่าวข้างต้น จึงใคร่ขอเรียกร้องให้ ฯพณฯ โปรดดำเนินการให้มีการชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. .... 


 


ทั้งนี้ รายชื่อองค์กรแนบท้ายจดหมายเรื่อง การชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำพ.ศ. ...มีดังนี้


 


1. คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ


2.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน


3.คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน


4.มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ


5.ชุมชนคนรักป่า


6.โครงการสื่อสารแนวราบ


7.สหพันธ์กลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ


8.มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ


9.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน(ภาคเหนือ)


10.เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ


11.เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคอีสาน


12.โครงการส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและเกษตรกรรมยั่งยืนจังหวัดน่าน


13.โครงการจัดการลุ่มน้ำปิงตอนบน


14.มูลนิธิพะเยาเพื่อการพัฒนา


15.โครงการฟื้นฟูชีวิตและวัฒนธรรมแม่ฮ่องสอน


16.กลุ่มรักษ์เชียงของ


17.ภาคีคนฮักเจียงใหม่


18.สถาบันสิทธิชุมชนท้องถิ่น


19.มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา


20.โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสิ่งแวดล้อม


21.เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพจังหวัดลำปาง


22.เครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดลำปาง


23.เครือข่ายป้องกันยาเสพติดจังหวัดลำปาง


24.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกจังหวัดลำปาง


25.ประชาสังคมจังหวัดลำปาง


26.ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น


27.กลุ่มเพื่อนประชาชนบนพื้นที่สูง


28.สมาคมมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภาคเหนือ


29.สถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน


30.กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา


31.โครงการทามมูน


32.สมาคมป่าชุมชนภาคอีสาน


33.สมัชชาองค์กรเหมืองฝายลุ่มน้ำภาคเหนือ


34.เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ


35.เครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ


36.เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือ


37.เครือข่ายลุ่มน้ำชี


38.เครือข่ายองค์กรชุมชนลุ่มน้ำมูน


39.กลุ่มแนวร่วมเกษตรกรภาคเหนือ


40.เครือข่ายองค์กรเหมืองฝายลุ่มน้ำแม่ตาช้าง


41.เครือข่ายองค์กรเหมืองฝายลุ่มน้ำแม่วาง


42.กลุ่มผู้ใช้น้ำคลองซอยที่ 21 ชลประทานแม่แตง


43.กลุ่มอนุรักษ์ฟื้นฟูลุ่มน้ำลำพะเนียง


44.กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี.


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net