Skip to main content
sharethis

เปิดร่างกฎบัตรแห่งสมาคมแห่งชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (กฎบัตรอาเซียน)  ซึ่งที่ประชุม สนช. ได้มีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ. นี้ด้วยคะแนนเอกฉันท์ 107 เสียง ก่อนที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปร่วมการประชุมผู้นำอาเซียน ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 19 - 22 พ.ย.ที่จะถึงนี้


 


สำหรับกฎบัตรอาเซียนนั้น ถูกร่างขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กร  เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี ค.ศ. 2015 (พ.ศ. 2558) ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้


 


ที่น่าสนใจคือ ในกฎบัตรนี้ได้วางกลไกด้านสิทธิมนุษยชนไว้ด้วย โดยกำหนดให้อาเซียนตั้งองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอาเซียนขึ้น แต่ก็มีคำถามตามมาว่า จะมีประสิทธิภาพเพียงใด เพราะปัจจุบันอาเซียนยังปล่อยให้พม่าละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชนในประเทศ


 


นอกจากนี้ ยังมีการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยว่า ขณะที่อาเซียน แสดงเจตจำนงที่จะให้เกิดการรวมตัวกันเป็นประชาคม โดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แต่ร่างกฎบัตรอาเซียนกลับถูกร่างโดยคณะทำงานระดับสูงในการยกร่างกฎบัตรอาเซียน (High Level Task Force on the ASEAN Charter: HLTF) เพียง 10 คน จากแต่ละประเทศสมาชิก โดยไม่เคยมีการเปิดเผยร่างกฎบัตรฯ หรือเปิดให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการร่างแต่อย่างใด


 


"การยกร่างกฎบัตรของคณะผู้ยกร่าง (HLTF - 10 คน จาก 10 ประเทศ) ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา นอกจากมีการรับฟังความเห็นของภาคประชาสังคมประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเดือนมีนาคม 2550 แล้ว ไม่มีการเปิดเผยร่าง หรือการหารืออื่นใดอีก" (จาก บทความ : กฎบัตรอาเซียน - โอกาสและขีดจำกัด, ชนิดา จรรยาเพศ แบมฟอร์ด)


 


ในส่วนของการลงนามนั้น มีการประกาศว่าผู้นำทั้ง 10 ประเทศ จะลงนามร่วมกันในการประชุมผู้นำอาเซียน ในเดือนพฤศจิกายน 2550 ที่ประเทศสิงคโปร์ และหลังจากการลงนาม ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินกระบวนการในประเทศเพื่อให้สัตยาบันกฎบัตรฯ ต่อไป ซึ่งคาดว่า อาจใช้เวลาประมาณ 1 ปี ทั้งนี้ กฎบัตรฯ จะมีผลใช้บังคับเมื่อครบกำหนด 30 วัน นับจากวันที่ประเทศในอาเซียน ให้สัตยาบันครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว


 


ในส่วนของประเทศไทย มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้รัฐบาลต้องนำหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบกับประเทศ เข้ารับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน จึงมีการพิจารณาของ สนช. เมื่อวันพุธ (7 พ.ย.)


 


อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ในการประชุมประชาสังคมอาเซียน ครั้งที่ 3 ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 2-4 พ.ย. ที่ผ่านมา มีการเรียกร้องให้แต่ละประเทศสมาชิก เลื่อนการลงนามในกฎบัตรอาเซียน และร่วมกันแก้ปัญหาความรุนแรงในพม่าเสียก่อน


 


รวมถึงเรียกร้องให้อาเซียนเปิดเผยร่างกฎบัตรฯ เพื่อให้มีการถกเถียงและปรึกษาหารือก่อนการลงนาม  รวมทั้งหยุดและป้องกันการละเมิดหลักการพื้นฐานของอาเซียน อันรวมถึงการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย พร้อมกันนี้มีการเรียกร้องให้แต่ละประเทศจัดให้มีการลงประชามติกฎบัตรอาเซียน


 


 


 


 


000000


ข่าว/บทความที่เกี่ยวข้อง:


บทความ : กฎบัตรอาเซียน - โอกาสและขีดจำกัด


ประชุมประชาสังคมอาเซียนครั้งที่ 3 คำถามจากกรณีพม่า อาเซียนเป็นปัญหาหรือแก้ปัญหา


อาเซียนภาคประชาชน : วันที่ "อาเซียน" ไม่เกี่ยวกับประชาชนคนตัวเล็ก


อะไรที่ท้าทายอาเซียน : เกษตรกรรายย่อย กฎบัตรอาเซียน สถานการณ์ในพม่า ปัญหาชนพื้นเมือง?


ประชาสังคมค้านลงนามกฎบัตรอาเซียน จนกว่าจะแก้ปัญหาพม่า


"Confidential', of the draft ASEAN Charter which we present here


สนช. มีมติเอกฉันท์เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.กฎบัตรอาเซียน


 


อ่านประกอบ:


http://th.wikipedia.org/wiki/กฎบัตรอาเซียน เรียกดูเมื่อ 8 พ.ย. 50


มาตรา 190 ในรัฐธรรมนูญ 2550

เอกสารประกอบ

ร่างกฎบัตรอาเซียน (คลิกเพื่อดาวน์โหลด)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net