ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์: "คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ ชนชั้นกลาง"

ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "วัฒนธรรมการเมืองไทย" โดย ศาสตราจารย์ ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในโอกาสการประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 9 ประจำปี 2550 ภายใต้หัวข้อ "วัฒนธรรมการเมือง จริยธรรม และการปกครอง" ในวันที่ 8 พ.ย. ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก โดยมีพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา แสดงเด็จแทนพระองค์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

000

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

เมื่อพูดถึงเรื่องการเมืองและวัฒนธรรมการเมืองในเมืองไทย คนส่วนใหญ่มักคิดถึงการแย่งชิงอำนาจในทางบริหารในระดับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในการเลือกตั้งหรือด้วยอำนาจอะไรก็ตาม ความจริงแล้วการเมืองมีความหมายมากกว่านั้น  การเมืองคือการจัดแบ่งปันจัดสรรทรัพยากร เป็นกลไกที่ขาดไม่ได้ในทุกกลุ่มคน เมื่อใดก็ตามที่มีคนเกิน 1 คน เราก็จำเป็นต้องตกลงร่วมกันถึงจะบังคับกันได้ในการที่จะแบ่งปันจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ ดังนั้นการเมืองจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในสังคมมนุษย์ทุกแห่งในโลก ถ้าเข้าใจถึงได้ก็จะเข้าใจถึงกระบวนการทางการเมือง ซึ่งก็คือกระบวนการที่จะเกิดการตกลงหรือการบังคับกันก็แล้วแต่เพื่อการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร

ทั้งนี้ พูดถึงเรื่องกระบวนการเพื่อให้เข้าใจว่าไม่ได้เกิดจากการใช้กำปั้นหรืออำนาจในการบังคับแต่เพียงอย่างเดียว แม้แต่ในซ่องโจรหัวหน้าโจรก็ไม่ได้ใช้อำนาจโดยกำบั้นในการบังคับให้เกิดการจัดสรรเพียงอย่างเดียว เบื้องหลังอำนาจของหัวหน้าโจรยังมีอำนาจในเชิงวัฒนธรรม เป็นต้นว่า หัวหน้าโจรเป็นคนที่มีคนรู้จักกว้างขวางที่สุด ภายใต้อำนาจของหัวหน้าโจรจะทำให้ซ่องโจร หรือกลุ่มโจรนั้นมีความปลอดภัยได้มากที่สุด ฉะนั้นคนที่มีกำปั้นใหญ่กว่าเขาก็จะยอมอยู่ภายใต้หัวหน้าโจร ถ้าเข้าใจอย่างนี้จะเข้าใจได้ว่าไม่มีอำนาจทางการเมืองใดในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นซ่องโจรอยู่ภายใต้รัฐประหาร กลุ่มทหารเข้ามาปกครองบ้านเมือง หรืออะไรต่างๆ ที่ใช้อำนาจปืนแต่เพียงอย่างเดียว จะต้องมีอำนาจอื่นๆ เข้ามาเจือปนเสมอ

เมื่อพูดถึงเรื่องอำนาจ อยากชวนให้คิดต่อว่า อำนาจคืออะไร สรุปอำนาจคือความสามารถที่ทำให้คนอื่นทำตามความต้องการของเราได้ ความสามารถนี้มีความหลากหลายมาก หลากหลายมากกว่ากำปั้นเพียงอย่างเดียว ยกตัวอย่างคุณพ่อที่ดุเรา สักวันหนึ่งท่านก็ต้องแก่จนกำปั้นเล็กกว่าเรา แต่เราก็ยังอยู่ภายใต้อำนาจของท่าน แสดงว่าอำนาจมันไม่ได้มาจากกำปั้น แต่อาจมาจากความนับถือก็ได้ เพราะถ้าเราต่อยหน้าคุณพ่อตัวเราเองจะถูกรังเกียจในสังคม แปลว่าท่านมีอำนาจในทางวัฒนธรรมที่จะบังคับให้เราทำตามความต้องการของท่านได้

ถ้าเข้าใจในความซับซ้อนของอำนาจนี้ กล่าวคือ วิธีการที่จะใช้อำนาจมีอยู่ 2 อย่างคือ ใช้ผ่านการจูง ส่วนอีกอย่างเป็นการใช้ผ่านการบังคับ แต่ในความเป็นจริงต้องเข้าใจว่ามันไม่ได้แบ่งเป็นสองอย่างเด็ดขาด ทุกครั้งที่เราใช้อำนาจ เราใช้ทั้งสองอย่างพร้อมๆ กัน ไม่ได้ใช้อำนาจอย่างใดอย่างหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว สรุปก็คือว่า เมื่อเราพูดถึงอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจอะไรมันไม่ได้ตั้งอยู่โดดเดี่ยว แต่มีอำนาจอื่นเสริมอยู่ด้วย และการใช้อำนาจก็เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน ไม่ได้เป็นเรื่องของการใช้ตำแหน่งหน้าที่ตัวเอง ใช้ความสำเร็จจากการเลือกตั้ง ใช้ผลสำเร็จจากการเป็น ผบ.ทบ.หรือใช้ผลสำเร็จจากการเป็นหัวหน้าซ่องโจรใดซ่องโจรหนึ่ง มันต้องใช้หลายอย่างซับซ้อนมากกว่าหนึ่ง

ผมจะขอพูดถึง "อำนาจอื่น" ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจทางการเมือง เป็น 2 อย่างที่มีความสำคัญ อันที่หนึ่งก็คือ "อำนาจทางเศรษฐกิจ" หมายถึงคนที่เข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจได้มากกว่าคนอื่น เมื่อเข้าถึงได้มากกว่าคนอื่นจะสามารถใช้อำนาจที่ตนครอบครองแบ่งปันทรัพยากรนั้น หรืออนุญาตให้คนมาใช้ทรัพยากรได้ อำนาจทางเศรษฐกิจนี้สามารถเปลี่ยนแปลงไปเป็น "อำนาจทางการเมือง" ได้ เปลี่ยนแปลงเป็น "อำนาจทางวัฒนธรรม" ได้

อีกอันหนึ่งที่มีความสำคัญ คือ "อำนาจทางวัฒนธรรม" พ่อเรามีอำนาจเหนือเราไม่ใช่เพียงเพราะอำนาจของกำปั้น แต่ท่านมีอำนาจทางวัฒนธรรม อำนาจทางสังคม และอีกร้อยแปดที่หนุนอำนาจของพ่อ เมื่อถามว่า "อำนาจทางวัฒนธรรม" นี้สามารถเปลี่ยนไปเป็น "อำนาจทางการเมือง" ได้ไหม ก็คือได้เลย ดังนั้นอำนาจทางการเมืองมันจึงมีความสลับซับซ้อนมาก มีอำนาจหลายสิ่งหลายอย่างแฝงอยู่ในอำนาจการเมือง ในการใช้อำนาจทางการเมืองก็ใช้วิธีสลับซับซ้อน ไม่ได้ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งล้วนๆ ทุกสังคมก็เหมือนกันรวมทั้งสังคมไทยในข้อนี้

หันมาดู "วัฒนธรรมทางการเมือง" เมื่อไหร่ถึงจะพูดเรื่อง "วัฒนธรรม" จริงๆแล้วเรากำลังพูดถึงเรื่องความคิดความเข้าใจ ว่าอะไรคือทรัพยากรที่จะนำมาจัดสรรแบ่งปัน และจะจัดสรรแบ่งปันอย่างไร ในเงื่อนไขอะไร จึงจะทำให้คนยอมรับได้ ไม่ใช่ตามใจชอบ จะจัดสรรทรัพยากรอะไร อย่างไร ที่คนอื่นๆ ในสังคมยอมรับได้ อันนี้ก็คือวัฒนธรรมทางการเมือง

แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นได้ว่า เฉพาะเพียงการจัดสรรทรัพยากร ความรู้ความเข้าเกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรยังไม่พอ มนุษย์เราต้องทำความรู้ความเข้าใจในเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับการจัดสรรทรัพยากรพื้นฐาน เป็นต้นว่า เราไม่สามารถจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรได้ถ้าไม่มีความคิดที่ว่า "ความยุติธรรม" นั้นคืออะไร อย่างนี้เป็นต้น นี่คือการจัดสรรแบ่งปันให้คนยอมรับ นอกจากการจัดสรรแบ่งปันพื้นที่ที่คนในสังคมยอมรับว่ายุติธรรม และคนในสังคมแต่ละสังคมคิดเรื่อง "ความยุติธรรม" ไม่เหมือนกัน ฉะนั้นวัฒนธรรมทางการเมืองจึงเข้ามาเกี่ยวข้องตรงที่ว่า อะไรคือความยุติธรรมของสังคมนั้นๆ อะไรคือสิทธิเสรีภาพ อะไรคือความชอบธรรมอย่างนี้เป็นต้น ความคิดทั้งหลายเหล่านี้ที่สังคมมีเราเรียกว่าเป็น "วัฒนธรรมทางการเมืองของสังคม"

เราจะพบได้ว่าความคิดทั้งหลายเหล่านี้แปรเปลี่ยนไปตามสังคม ไปตามยุคสมัย แปรเปลี่ยนไปตามสังคมโลกที่เรามีชีวิตอยู่นี้ตลอดเวลา เมื่อเราพูดถึง "วัฒนธรรม" เรากำลังพูดถึงอะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาไม่เคยหยุดนิ่งอยู่กับที่

ฉะนั้นเพื่อจะเข้าใจ "วัฒนธรรมทางการเมืองไทยปัจจุบัน" จะพิจารณาในแง่หนึ่งแง่ใดไม่ได้ เพราะในขณะที่แง่หนึ่งมันคือการเปลี่ยนแปลง แต่มันก็มีการรับมรดกสืบทอดกันมาเป็นอย่างดีด้วย จึงขออนุญาตที่จะพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมือง ในความหมายที่สืบทอดจากอดีตและที่มันกำลังเป็นอยู่ในปัจจุบันนี้ด้วย โดยการเริ่มต้นย้อนกลับสู่อดีตก่อน

ผมแบ่งประวัติศาสตร์ออกเป็น 3 ยุคสมัย คือยุค "สมัยก่อนรัชกาลที่ 5" (พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) หรือเรียกว่ายุคไทยโบราณ แล้วก็ยุคต่อมาจาก "สมัยรัชกาลที่ 5 ถึง 24 มิถุนา พ.ศ.2475" ซึ่งผมเรียกว่าการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และยุค "หลัง พ.ศ.2475" ผมเรียกว่าเป็นการเมืองในระบอบเลือกตั้งและรัฐประหารเหมือนเหรียญสองด้านที่เกิดขึ้นและไม่สามารถแยกออกจากกัน

เริ่มต้นจากยุค "สมัยก่อนรัชกาลที่ 5" หรือการเมืองของไทยโบราณก่อน เป็นอีกเรืองหนึ่งที่คิดว่ามีคนเข้าใจผิดในสังคมไทยกันมากว่า พระเจ้าแผ่นดินไทยในสมัยโบราณทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากรทุกส่วน ในความเป็นจริงไม่ใช่ พระเจ้าแผ่นดินไทยมีพระราชอำนาจจำกัด พระเจ้าแผ่นดินตั้งแต่สมัยอยุธยาไม่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะแผ่ขยายพระราชอำนาจไปถึงพลเมือง ไม่มีกองทหารประจำการ ไม่มีระบบราชการแบบใหม่ พระราชอำนาจแม้ในทางทฤษฎีจะมี แต่ในทางปฏิบัติมีจำกัด เมื่อเป็นเช่นนั้นถามว่าแล้วอำนาจในบ้านเมืองไปอยู่ที่ไหน คำตอบก็คือกระจายอยู่ในหมู่ "ชนชั้นปกครอง" อยู่ในกลุ่มที่กฎหมายโบราณเรียกว่า "มูลนาย"

อำนาจทั้งหลายอยู่กับมูลนาย เจ้าเมือง หรือใครก็ตามที่สามารจัดตัวเองได้ว่าเป็น "ชนชั้นปกครอง" กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้อยู่ในระบบราชการ ต่างคนต่างอยู่ ไม่ได้เป็นระบบราชการเช่นปัจจุบันที่มีปลัดกระทรวงและไล่เป็นทบวงต่างๆ มันเป็นอำนาจที่กระจายอยู่ในที่ต่างๆ รวมทั้งคนที่อยู่ในหมู่บ้าน คนที่เป็นนายบ้าน คนที่เป็นผู้นำของหมู่บ้านด้วย ในแง่ระบบโครงสร้างการปกครองใหญ่อำนาจถูกกระจายไม่ได้รวมศูนย์

มาดูในระบบที่เล็กลงบ้างคือ ในระดับที่เล็กลงมาในระดับชุมชน หมู่บ้าน และตำบล ในท้องถิ่นนั้น ในระดับชุมชนนั้นเราจะพบสิ่งสำคัญอยู่ 3 สิ่ง

อันที่ 1 คือ คนไทยส่วนใหญ่ดำรงชีพอยูในเศรษฐกิจเพื่อเลี้ยงตัวเอง แปลว่าเขาใช้ทรัพยากรอยู่ในระดับเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งจึงมีน้อย แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีเลย

อันที่ 2 ต่อมาคำว่าเศรษฐกิจพึ่งตัวเองนั้น ไม่ได้หมายความว่าการต่างคนต่างเพาะปลูกของตัวเองในไร่นาโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกัน ตรงกันข้าม ในการเพาะปลูกให้พอเพียงต้องใช้ทรัพยากรกลางของชุมชนหลายต่อหลายอย่าง เช่น เหมืองฝาย ที่ไม่ได้เป็นของใคร การทำนาในที่นาของตนต้องอาศัยเหมืองฝายซึ่งเป็นของส่วนรวม นอกจากนั้นในระบบการผลิตเพื่อเลี้ยงตนเองต้องการการช่วยเหลือกันเยอะมาก ฉะนั้นโดยวิถีการผลิตมันบังคบให้ชุมชนแต่ละแห่งต้องมีนโยบายร่วมมือแก่กันและกันพอสมควร ไม่เหมือนในปัจจุบันที่ต่างตนต่างอยู่และต้องมีอำนาจบังคับ

อันที่ 3 ที่มีความสำคัญคือ ถึงแม้หลักโบราณคนก็ไม่ได้อยู่โดยเท่าเทียมกัน มีคนรวย คนจน หรือจะพูดอีกอย่างคือมันมีคนที่เข้าถึงทรัพยากรได้ต่างกัน คนบางคนเข้าถึงทรัพยากรได้มากกว่าบางคน ฉะนั้นความสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้ในหมูบ้านคือความสัมพันธ์ที่เรียกว่า "ระบบอุปถัมภ์"

เมื่อพูดถึง "ระบบอุปถัมภ์" เรามักคิดกันว่ามีใครบางคนที่ใหญ่ ที่รวยและอีกบางคนที่ทำอะไรไม่ได้ต้องพึ่งพาเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องรอความช่วยเหลือจากคนที่ใหญ่ที่รวย แต่ว่าแท้จริงแล้ว "ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์" ในทางวิชาการมันก็คือ "ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน" คนรวยกว่าต้องให้คนจนที่อยู่ในอุปถัมภ์ของตนเองได้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในตัว ในขณะเดียวกันก็แลกโดยการให้คนนั้นมาเป็นลูกน้อง มาเป็นแรงงาน หรือเอาทรัพย์สินเงินทองมาบำเรอตัวก็ตาม แต่สรุปมันเป็น "ความสัมพันธ์เชิงแลกเปลี่ยน" ซึ่งมันเปิดโอกาสที่สำคัญให้มีการต่อรองในการใช้ทรัพยากรได้ เพราะมันอยู่ในความจำเป็นที่ต้องร่วมมือกัน คนที่รวยมีที่นาใหญ่ปลูกข้าวมากจะบังคับให้ได้ใช้น้ำคนเดียวไม่ได้เพราะต้องการกำลังในการเก็บเกี่ยวให้หมด ต้องให้คนอื่นมาเป็นกำลังช่วยในการเกี่ยวข้าว แปลว่าคนรวยต้องพึ่งพาอาศัยคนจน  ดังนั้นคนจนก็มีโอกาสต่อรองในการจัดสรรทรัพยากรด้วย

หัวใจของระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างระบอบประชาธิปไตย คือทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย มีโอกาสต่อรองใกล้เคียงกัน จึงจะเรียกได้ว่าเป็นประชาธิปไตย และคนไทยในชนบทมาแต่โบราณนั้นส่วนใหญ่ก็เคยชินกับระบบที่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีโอกาสต่อรองใกล้เคียงกัน ฉะนั้นการที่เชื่อมาตลอดเวลาว่าระบอบประชาธิปไตยมาจากต่างประเทศ คนไทยไม่เคยมีจึงไม่สามารถสร้างประชาธิปไตยในเมืองไทยได้ ผมคิดว่ามันผิด จริงๆ แล้วคนไทยส่วนใหญ่เคยชินกับการอยู่ในระบอบประชาธิปไตย

คนไทยที่ไม่เคยอยู่กับระบอบประชาธิปไตยเลยคือ "ชนชั้นกลาง" ที่ไม่เคยทำงานเลี้ยงตนเองเลย และอยู่ในระบบอุปถัมภ์แบบชนิดที่ไม่มีการต่อรอง คนเหล่านี้ต่างหากที่มาสร้างความเชื่อให้คนไทยว่าระบอบประชาธิปไตยเป็นของต่างด้าว เป็นของที่เราไม่เคยเห็น เราจึงอยู่กับมันไม่ได้ ทั้งที่คนส่วนใหญ่มี แต่เมื่อชนชั้นกลางเป็นกลุ่มคนที่มีอำนาจในทางวัฒนธรรมสูงสุดจึงสถาปนาความเชื่อนี้ครอบให้กับชาวบ้าน ทั้งที่ในสมัยปู่ย่าตายายเองอยู่ในระบบที่มี "ความสัมพันธ์ในเชิงประชาธิปไตย" ที่จะเรียกการระบอบอะไรก็แล้วแต่ แต่มันมีความสำคัญในเชิงประชาธิปไตยอย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้นหากจะสร้างประชาธิปไตยต่อไป จะต้องสร้างอำนาจที่ทุกฝ่ายทุกกลุ่มมีอำนาจในการต่อรองอย่างเท่าเทียมกัน แต่ตรงกันข้ามในการรัฐประหารกลุ่มต่างๆ ที่เขามายึดอำนาจในประเทศไทยนั้น จะทำตรงกันข้าม คือตัดโอกาสการต่อรองทั้งในกรอบและนอกกรอบออกไปหมด และพยายามสร้างความสงบเรียบร้อยขึ้น คนไทยเชื่อว่าความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายมีการตกลงต่อรองกัน ถ้าไม่มีการต่อรอง มีหรือความสงบเรียบร้อยจะเกิดขึ้นได้ แต่ทหารกลับคิดตรงกันข้ามด้วยการสัญญาว่าจะสร้างความสงบเรียบร้อย แต่กลับตัดกระบวนการการต่อรองทั้งในและนอกกรอบออกไปหมด เพราะคิดว่าการต่อรองคือความเดือดร้อน อันเป็นเรื่องความคิดที่มาจากวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางไทยที่ให้ชนชั้นกลางไทยเป็นผู้ถืออำนาจ

ในระบอบประชาธิปไตยหมู่มากแบบไทย "อำนาจ" จะเป็นอำนาจที่มีความหลากหลาย หมายถึงอำนาจทางวัฒนธรรม หมอผีมีอำนาจ อำนาจที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าเมืองก็มีอำนาจ พระก็มีอำนาจ หมอช้าง หมอตำแย หมออะไรก็แล้วแต่ที่มีอยู่ก็ต่างมีอำนาจ ซึ่งสามารถจะนำอำนาจเหล่านี้มาคานกันได้ตลอดเวลา สรุปก็คือว่า ถ้าคุณต้องการเป็นประชาธิปไตย คุณต้องมีอำนาจที่มีฐานมาจากความหลากหลาย เมื่อไรก็ตามที่คุณมีอำนาจมาจากฐานเดียว ไม่ว่าจะเป็นจะกำลังอาวุธ หรือจากการเลือกตั้ง หรืออะไรก็แล้วแต่ การเป็นประชาธิปไตยมันเกิดขึ้นไม่ได้ ประชาธิปไตยจะอยู่ได้ถ้ามีฐานอำนาจที่หลากหลาย ซึ่งสามารถเอาอำนาจนั้นมาคานอำนาจได้ แต่น่าเสียดายที่ประชาธิปไตยแบบไทยเหล่านี้มันไม่มีโอกาสได้พัฒนา

ภายใต้ "ระบอบจักรวรรดินิยม" ที่ครอบงำประเทศไทยมาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นมาตอบสนอง "ระบอบจักรวัรรดินิยม" ไม่ใช่การพัฒนาประชาธิปไตย แต่มันกลับเป็นการพัฒนาระบบที่เรียกว่า "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" โดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ถูกสถาปนาขึ้นตั้งแต่ประมาณปี 2436 ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงวันนี้มันเปลี่ยนแปลงการเมืองไทยไปอย่างไรบ้าง สิ่งสำคัญมันก็คือคนในรุ่นหลังเกิดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง

เวลาเราพูดถึงการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางเราก็คิดถึงแต่พื้นที่ทางภูมิศาสตร์ คือการรวมภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ หรืออะไรก็แล้วแต่เข้ามาอยู่ในการปกครองของรัฐ แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยกว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ คือการรวมพื้นที่ทางวัฒนธรรมเข้าไปด้วย แปลว่าครั้งหนึ่งคุณเคยมีอำนาจทางศาสนาที่แยกออกต่างหากจากอำนาจกลาง คุณเคยมีอำนาจของท้องถิ่นที่แยกจากส่วนกลาง คุณเคยมีอำนาจของนักวิชาการ ซึ่งนักวิชาการคือนักวิชาการในท้องถิ่น นักวิชาการหลายสำนัก ยกตัวอย่างเช่น ตำราแพทย์หมอดู ไม่มีตำราทางการแพทย์เหล่านี้ แต่มันมีตำราของสำนักเชลยศักดิ์ เมื่อมีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางมันทำให้สำนักแพทย์อื่นๆ หายไป นักวิชาการทางแพทย์ศาสตร์เหลือแต่สำนักที่รัฐบาลกลางให้การรับรอง เพราะฉะนั้นการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลางมันไม่ใช่การรวมพื้นที่เพียงอย่างเดียว แต่มันรวมพื้นที่ทางวัฒนธรรมด้วย แปลว่าอำนาจศูนย์กลางมันครอบครองทุกอย่าง รวมถึงกบาลเราด้วย ทำให้คุณไม่สามารถคิดอะไรออกจากข้อจำกัดตรงนี้ได้

สิ่งที่เกิดขึ้นของการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงที่สำคัญก็คือว่า ทั้งหมดมันกระจุกตัวอยู่ตรงกลาง ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ หรือความคิดของคนเรา โดยอาศัยการสร้างระบบราชการแบบใหม่ ที่เป็นระบบราชการซึ่งมีสายที่เป็นเอกภาพขึ้นมา อันที่จริงระบบราชการแบบใหม่เกิดขึ้นในรัฐแบบใหม่ทั่วทุกแห่งในโลกก็ว่าได้ ตัวระบบราชการแบบใหม่เป็นตัวอันตราย เพราะมันเป็นตัวดึงอำนาจที่ครั้งหนึ่งเคยอยู่ในมือประชาชนเข้ามารวมศูนย์ แล้วบอกว่าคุณควรจะจัดการป่าอย่างไร กำหนดการใช้ที่ดินอย่างไร เพราะฉะนั้นมันจึงอันตรายต่อในทุกสังคม แต่ในบางสังคมขณะที่มีการพัฒนาระบบราชการแบบใหม่ก็มีการพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยขึ้นมาจึงเกิดการคานอำนาจกันระหว่างระบบราชการที่เข้ามายึดกุมทรัพยากรกับอีกสถาบันหนึ่งที่เป็นตัวแทนทางการเมืองเข้ามาคานอำนาจในการจัดสรรแบ่งปันทรัพยากร แต่ในระบบการปกครองที่ผ่านมา รวมทั้งระบอบอาณานิคม ไม่สามารถสร้างพัฒนาสถาบันประชาธิปไตยขึ้นมาคานอำนาจกับระบอบราชการแบบใหม่ ผลก็คือว่าระบบการแบ่งปันจัดสรรทรัพยากรตกไปอยู่ในมือของระบบราชการแบบใหม่โดยที่ไม่มีใครสามารถเข้าไปปนได้เลย

ทางเดียวที่คนไทยจะสามารถคานอำนาจระบบราชการได้ สรุปก็คือการกบฏ คุณต้องกบฏ ถ้าคุณไม่กบฏก็จะถูกราชการควบคุม ตั้งแต่เราสร้างระบบราชการใหม่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 หันไปดูประวัติศาสตร์แบบไม่เข้าข้างตัวเองประเทศไทยเต็มไปด้วยการกบฏ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะเข้าไปถ่วงดุลอำนาจของรัฐได้ เพราะเราไม่ได้พัฒนาสถาบันประชาธิปไตยขึ้นมาคานอำนาจได้เข้มแข็งพอ ฉะนั้นการกบฏหรือการปฏิวัติ หรือจะเรียกว่าอะไรก็แล้วแต่มันมีมาตั้งแต่ปีแรกๆ ทีมีการแปรรูประบบราชการ

อำนาจทางเศรษฐกิจ อาจจะเป็นอำนาเดียวที่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่สามารถแย่งชิงมันมาได้ เพราะอยู่ในมือฝรั่ง ฝรั่งเป็นผู้ลงทุนให้เรา เป็นระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ภายใต้อำนาจของฝรั่ง แต่อย่างไรก็ตามมันก่อให้เกิด "ชนชั้นกลาง" ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันหนึ่งคือมันก่อให้เกิดพ่อค้าคนจีน ซึ่งมีความแปลกประหลาดมาเพราะเป็นคนที่ได้รับประโยชน์จาก "ระบอบจักรวรรดินิยม" ปลดปล่อยพ่อค้าคนจีนให้มีเสรีภาพในการค้าขายระดับหนึ่ง เพราะฉะนั้นพ่อค้าคนจีนย่อมไม่เป็นศัตรูกับฝรั่ง นอกจากเป็นมิตรกับฝรั่งแล้วก็ยังเป็นมิตรกับชนชั้นปกครองไทยเองด้วย เป็นมิตรกับ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ด้วย เพราะร่วมกันหาประโยชน์ทางการค้า

กลุ่มที่ 2 ต่อมาก็คือชนชั้นกลางมีการศึกษาสูงขึ้นมาและเป็นกลุ่มข้าราชการ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มพันธมิตรที่แนบแน่นกับ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เพราะระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้นคือส่วนระบบราชการแบบใหม่ สร้างคนกลุ่มนี้ขึ้นมาอย่างแนบแน่นกับระบบการปกครอง

ชนชั้นกลางไทยแม้จะเป็นพ่อค้าก็จริง แต่ก็เป็นพ่อค้าที่มีความเกี่ยวข้องกับตัวอำนาจค่อนข้างมาก หรืออีกทีก็คือมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง ส่วนการเมืองของกลุ่มข้าราชการ ก็เป็นการเมืองของชนชั้นกลางเพื่อแย่งทรัพยากรให้มาอยู่ในมือของหน่วยงานตนเองหรือตนเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เช่น งบประมาณ หรืออะไรก็ตาม ซึ่งผลของการกระทำนี้มันทำให้เกิดความแตกแยกกันเองในระบบราชการ โดยเฉพาะในกลุ่มชนชั้นนำในระบบราชการที่มีเยอะมาก เสนาบดีทั้งห้าคนคุมอำนาจในส่วนต่างๆ มันแตกแยกในระดับข้างบนลงมาถึงระดับล่าง และยังจะพบความแตกแยกของระบบราชการสืบต่อมาอย่างยาวนานมาก ภายใต้ระบอบเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ภายใต้ระบอบเผด็จการทั้งร้อยแปด ภายใต้ความสัมพันธ์ ความจริงมันมีอะไรอิงมาเยอะแยะมากที่มันมีมาในระบบราชการตั้งแต่ "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" แล้ว

อีกจุดหนึ่งที่มีความสำคัญก็คือ ตัวระบบราชการสอนให้เก่งเฉพาะด้าน เช่น การสอนให้เป็นทนายความ สอนให้เป็นหมอ สอนให้เป็นนักการข่าว สอนให้เป็นนักการเผยแพร่ จนทำให้คิดว่าสิ่งที่ถูกสอนและงานที่ได้ทำอยู่นั้นมีความสำคัญที่สุดในโลก คำว่า "สำคัญที่สุดในโลกนี้" แปลว่าสำคัญยิ่งกว่า "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" จะเห็นได้ว่าตั้งแต่มีการเริมระบบราชการแบบใหม่ไม่นานเท่าไหร่ก็มีการกบฏต่อผู้นำของระบบปกครอง สั่นคลอนความเป็นประมุขของฝ่ายบริหารของพระมหากษัตริย์ใน "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" เริ่มจากกลุ่มตุลาการที่ลาออกประท้วงในสมัยรัชกาลที่ 5 และกบฏของกลุ่มกองทัพหน้าที่ป้องกันชาติในรัชกาลที่ 6 ซึ่งมีความคิดที่ว่าการป้องกันชาติสำคัญยิ่งกว่าระบบการปกครอง

ทั้งสองจุดนี้คือที่มาของการเปลี่ยนแปลง 2475 คือในยุค 2475 ไม่ใช่ไปดูแต่โต๊ะกาแฟในกรุงปารีสแต่เพียงอย่างเดียว ต้องเข้าไปใน "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่อ่อนแอในการปกครองประเทศ ที่ก่อให้เกิดการปฎิวัติรัฐประหารเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน 2475

อีกข้อหนึ่งที่เป็นข้อที่น่าสังเกต คือ ในระบบการเมืองของระบบราชการไม่เกี่ยวกับประชาชน ประชาราษฎรไม่เกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรของระบบราชการ ข้อที่สองต่อมาคือมันแยกชนชั้นกลางพ่อค้ากับราชการออกจากกัน ระบอบราชการไม่เคยคิดว่าจะไปหากลุ่มพันธมิตรจากพ่อค้าจริงๆ พ่อค้าเองก็ไม่คิดหาพันธมิตรที่เป็นระบบราชการ เพราะทั้งสองกลุ่มมีความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกันมากเกินกว่าที่จะรวมกันได้ ฉะนั้นวัฒนธรรมการเมืองมันเป็นการรวมกันของชนชั้นนำ ไม่ใช่การรวมกันของคนทั้งประเทศ ประชาชนถูกกันออกจากการตัดสินใจทั้งหลาย

สุดท้าย เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยในวันนี้ จุดที่น่าสนใจที่สุดไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองของชาวบ้าน แต่มันเป็นวัฒนธรรมการเมืองของชนชั้นกลาง เพราะชนชั้นกลางคุมสื่อ คุมการศึกษา คุมทุกอย่าง เป็นผู้ที่ผลักวัฒนธรรมไปให้กลุ่มอื่นๆ รับต่อไป ดังนั้นพลังอำนาจของชนชั้นกลางจึงเป็นสิ่งสำคัญ คนที่จะเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองไทยได้ต้องเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลาง ซึ่งไม่ใช่วัฒนธรรมการเมืองของคนไทยทั้งประเทศ แต่คาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเป็นของคนไทยทั้งประเทศ

สรุปลักษณะสำคัญของวัฒนธรรมทางการเมืองของชนชั้นกลางไทยในปัจจุบัน 8 ประเด็น อันที่ 1.ชนชั้นกลางมีลำดับขั้นทางสังคมอย่างชัดเจน เป็นสังคมที่ "มีหัวมีก้อย" ชนชั้นกลางไทยเชื่อในสิทธิเสรีภาพของระบอบประชาธิปไตยแต่เป็นสิทธิเสรีภาพที่ไม่เสมอภาค เพราะชนชั้นกลางเชื่อว่ามีคนบางคนเท่านั้นที่จะใช้สิทธิเสรีภาพในเชิงสร้างสรรค์ได้ แต่การนำสิทธิเสรีภาพให้ไปอยู่ในมือคนบางคนมันทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวายขึ้น ชนชั้นกลางไทยเป็นชนชั้นที่มีความหวาดระแวงสิทธิเสรีภาพที่อยู่ในมือคนอื่นเป็นอย่างมาก แต่อยู่ในมือตัวเองไม่เป็นไร

2.ชนชั้นกลางไทยยังรับเอาคติ "รักความสงบเรียบร้อย" มาจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คำว่าความสงบเรียบร้อยเป็นความต้องการของในทุกสังคม แต่ว่าความสงบเรียบร้อยของเรามีปัญหาก็คือจะสามารถรองรับความเปลี่ยนแปลงได้หรือ คำถามก็คือว่า คำว่า Peace and Order ที่มีในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งจริงๆ รับมาจากต่างประเทศมาอีกทีที่เป็นคำขวัญของระบอบอาณานิคมทุกแห่งในโลกนี้ คำถามก็คือว่าระบบ Peace and Order มันรองรับการเปลี่ยนแปลงได้ไหม ถ้ารับไม่ได้มันก็จะนำสู่ความรุนแรงในอนาคตแน่นอน

3.ชนชั้นกลางเชื่อใน "อาญาสิทธิ์" ซึ่งก็คืออำนาจที่คนในสังคมเห็นว่าชอบธรรมทางกฎหมาย อย่างคนเอาปืนจี้คุณ มันมีอำนาจแต่ไม่มีอาญาสิทธ์ แต่ในขณะที่ตำรวจเอาปืนจี้คุณไปโรงพัก เขามีอำนาจมีอาญาสิทธิ์ แต่ชนชั้นกลางไทยนิยามคำว่าอาญาสิทธิ์ไว้แคบเกินไป จึงไม่สามารถรองรับอำนาจที่มีความหลากหลายได้ จนเกิดเป็นปัญหา และอำนาจที่เป็นอาญาสิทธิ์นั้นมีลักษณะอำนาจนิยมด้วย คือเป็นอำนาจที่เด็ดขาดฉับพลัน ปัญหาทุกอย่างในโลกแก้ไขได้ด้วยอำนาจ เมื่อมองว่าการใช้อำนาจคือการแก้ปัญหาแต่ไม่มองถึงวิธีการแก้วิธีอื่นเลย และยังมีอำนาจอื่นๆ อีกที่จะต้องจัดการมัน มันไม่ได้มีปัญหาเดียว

4.โลกทัศน์ชนชั้นกลางไทยมีลักษณะ "นานาชาตินิยม" ใช้มาตรฐานของนานาชาติเป็นมาตรฐานเราหลายต่อหลายเรื่อง ใช้เหรียญทองโอลิมปิกหรืออะไรก็แล้วแต่มาอธิบายอัตลักษณ์ของตัวเอง แต่แปลกมากที่ยังเชื่อในความโดดเด่นของตัวเองอยู่ด้วย ทั้งสองอย่างมันขัดแย้งกันเอง เรื่องนานาชาติ เรื่องความโดดเด่นของตัวเองเป็นความเชื่อที่ขัดแย้งและมีโจทย์ที่ชนชั้นกลางไทยสามารถชี้ว่า สิ่งนี้คือรับเข้ามาเป็นของเรา อันนี้ไม่ได้รับ อันนี้รับแล้วทำลายวัฒนธรรมของเรา อันนี้เราไม่รับเราจะไม่ทันเพื่อนบ้าน ต่างจากวัฒนธรรมนานาชาติที่เขาจะเป็นตัวชี้อยู่ตลอดเวลาว่าคุณควรรับหรือไม่รับอะไร

5.คนชั้นกลางเชื่อเรื่องความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจ เป็นเป้าหมายสำคัญในเรื่องของการปกครอง แต่ความไพบูลย์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นกลางมันแคบ ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงในทางสังคมที่มนุษย์ต้องการ แต่เป็นเรื่องสะพานลอย เขื่อน ไฟฟ้า เฉพาะในเรื่องทางวัตถุเท่านั้น

6.ชนชั้นกลางไทย "รักชาติ" เป็นอย่างมาก แต่คำว่าชาติของชนชั้นกลางนั้น เป็นความหมายที่ค่อนข้างแคบ ต้องมีลักษณะลงรอยเดียวกัน ไม่ว่าในแง่ศาสนา ภาษา ชาติพันธุ์ ความภักดี ซึ่งมันไม่เป็นจริงในสังคมไทย

7.ชนชั้นกลางไทยเชื่อในเรื่องเหตุและผล ซึ่งแน่นอนว่าคนรุ่นใหม่ๆ เชื่อในเหตุและผล แต่ความเป็นเหตุเป็นผลนี้มันตั้งอยู่บนกลไกทางวิทยาศาสตร์ในคริสตศตวรรษที่ 19 เมื่อร้อยปีที่แล้ว ที่มองเหตุผลเป็นความสัมพันธ์เชิงวัตถุ หรือเป็นความสัมพันธ์ในเชิงกลไกอยู่ตลอดเวลา ไม่คิดถึงเหตุผลเชิงวัฒนธรรม เหตุผลเชิงสังคม ไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งต่างๆ

8.เชื่อว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่แก้ปัญหาทั้งปวงได้ เพียงสิ่งเดียวแก้ปัญหาทุกอย่างได้

และ สุดท้ายในท่ามกลางวัฒนธรรมแบบนี้ที่ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น แต่คำถามก็คือว่า มันจะทันการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกประเทศหรือไม่ ถ้ามันไม่ทัน ผมคิดว่ามันคงพินาศ...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท