บทความสุรชาติ บำรุงสุข (1) : กฎหมายความมั่นคงกับการละเมิดสิทธิ บทเรียนจากมาเลเซีย

จากบทความเดิมชื่อ กฎหมายความมั่นคงกับปัญหาสิทธิมนุษยชน :บทเรียนจากมาเลเซีย                                                                                                            

สุรชาติ บำรุงสุข

 

          " กฎหมายความมั่นคงภายในของมาเลเซียเป็นชุดของกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุด

  และรอบด้านที่สุดสำหรับชนชั้นปกครอง "

                                                          The International Commission of Jurists

 

หากมองปัญหาการเมืองไทยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหนึ่งในปัญหาที่น่าสนใจก็คือ ท่าทีของกลุ่มเอ็นจีโอไทยต่อเรื่องของกฎหมายความมั่นคงใหม่ ซึ่งกำลังถูกผลักดันโดยนายกรัฐมนตรี  พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ เพื่อให้ได้รับความเห็นชอบและนำออกมาใช้ปฏิบัติโดยเร็ว

แม้กฎหมายจะได้รับการคัดค้านจากกลุ่มคนบางส่วนในสังคมไทย แต่รัฐบาลก็มีท่าทีที่ชัดเจนในการออกแรงผลักดันกฎหมายนี้ เช่น เมื่อเสียงคัดค้านมุ่งไปสู่ประเด็นของการ "รัฐประหารเงียบ ที่ฝ่ายทหารดึงเอาอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการประกาศสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ไปไว้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ. รมน.) ก็ได้มีความพยายามจากนายกรัฐมนตรี ที่จะแก้ไขเพียงให้อำนาจดังกล่าวมาอยู่ในมือรัฐบาล (ดูมติชนรายวัน, 29 กรกฎาคม 2550) ซึ่งเท่ากับว่า สาระหลักของกฎหมายนี้จะไม่ได้รับการแก้ไข และรัฐบาลได้แสดงท่าทีอย่างชัดเจนในการเป็นผู้ผลักดันกฎหมายนี้

ปัญหาเช่นนี้ทำให้บรรดาผู้นำเอ็นจีโอที่ร่วมอยู่ในรัฐบาลของพลเอกสุรยุทธ์ หรือร่วมอยู่ในฐานะผู้ได้รับประโยชน์จากกลุ่มทหารที่ยึดอำนาจ โดยการให้มีตำแหน่งในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือในองค์กรที่มีความเกี่ยวข้องกับฝ่ายบริหารหรือฝ่ายนิติบัญญัติ หรือกับส่วนหนึ่งส่วนใดของอำนาจรัฐ อาจจะต้องตอบคำถามแก่สังคมให้ได้ว่า ถ้ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่จะถูกใช้เพื่อนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้ว บรรดาผู้นำเอ็นจีโอเหล่านั้นจะกำหนดท่าทีต่อกฎหมายความมั่นคงดังกล่าวอย่างไร เพราะก่อนหน้าที่จะเกิดการยึดอำนาจ ผู้นำเอ็นจีโอที่มีตำแหน่งทั้งหลายนี้ล้วนแต่พร่ำอยู่กับเรื่องของการละเมิดสิทธิมนุษยชนตลอดมา

บทความต่อไปนี้ไม่เน้นในกรณีของไทย แต่จะทดลองนำเสนอว่า ทำไมนักสิทธิมนุษยชนและนักเคลื่อนไหวทางสังคมในมาเลเซียจึงคัดค้านกฎหมายความมั่นคงภายในอย่างมาก แม้ว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่มีท่าทีและสัญญาณเชิงบวกแต่อย่างใดว่า รัฐบาลมาเลเซียจะยินยอมยกเลิกกฎหมายนี้ ทั้งที่กฎหมายนี้ออกใช้บังคับในยุคของสงครามเย็น และกฎหมายความมั่นคงภายในหรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ISA (Internal Security Act 1960) เป็นผลผลิตโดยตรงของการต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์มลายา

แต่แม้สงครามคอมมิวนิสต์ในมาเลเซียจะสิ้นสุดลงจากการเจรจาสันติภาพที่หาดใหญ่ (The Haadyai Peace Accord) ในวันที่ 24 ธันวาคม 2532 ซึ่งส่งผลให้สงครามภายในที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 2491 สิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการ ต่อมาในเดือนสิงหาคม 2535 รัฐบาลมาเลเซียก็ได้ประกาศรับการกลับคืนของอดีตชาวสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์มลายาจำนวน 220 คน

ผลจากการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์เช่นนี้ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายในมาเลเซียเชื่อว่า กฎหมายความมั่นคงน่าจะต้องถูกยกเลิกไป เพราะกฎหมายนี้มีจุดกำเนิดมาจากปัญหาภัยคุกคามของคอมมิวนิสต์ ซึ่งเมื่อพรรคคอมมิวนิสต์ได้ยุติสงครามปลดปล่อยของพวกเขาแล้ว ความชอบธรรมของกฎหมาย ISA  ก็น่าจะหมดไป และกฎหมายก็น่าจะต้องยุติตามไปด้วย

สิ่งที่เห็นได้ชัดในทางการเมือง จากการที่กฎหมายไม่ได้ถูกยกเลิกไปพร้อมกับการสิ้นสุดของสงครามคอมมิวนิสต์ก็คือ กฎหมาย ISA กลับกลายเป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการจัดการกับฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ดังจะเห็นได้ว่า ผู้ถูกจับกุมในระยะหลังมักจะเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล ตัวอย่างจากการกวาดล้างในยุทธการลาลัง (Operation Lalang) ในวันที่ 27 ตุลาคม 2530 เห็นได้ชัดว่าผู้ถูกจับกุมส่วนใหญ่ในจำนวน 65 คน เป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ผู้นำเยาวชน นักธุรกิจ และนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล เป็นต้น ในขณะที่ผู้ถูกจับกุมจากกฎหมายนี้นับจากปี 2503 เป็นต้นมานั้น ส่วนใหญ่จะเป็นชาวจีน และถูกจับด้วยข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์เป็นหลัก

อย่างไรก็ตามในช่วงต้นปี 2539 รัฐบาลมาเลเซียได้แสดงท่าทีว่าอยากจะทบทวนกฎหมาย ISA แต่ก็ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาไว้ ดังนั้นในช่วงปี 2539 กลุ่มเอ็นจีโอร่วมกับพรรคการเมืองฝ่ายค้านในมาเลเซียได้ร่วมกันรณรงค์ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายนี้ เพราะเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลสามารถคุมขังผู้ต้องสงสัยได้โดยไม่ต้องผ่านการไต่สวน (detention without trial)

ในเดือนธันวาคม 2539 ได้มีการจัดประชุมโดยกลุ่มเอ็นจีโอเพื่อแสดงให้เห็นถึงการใช้อำนาจของตำรวจในทางที่เกินเลย แต่ทางอธิบดีตำรวจของมาเลเซียได้ข่มขู่ว่า จะใช้กฎหมาย ISA จัดการกับผู้เข้าร่วมประชุม และองค์กรผู้จัดก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกนิยมลัทธิมาร์ก เป็นต้น

ในเดือนสิงหาคม 2540 รัฐบาลมาเลเซียได้ขู่ว่าจะใช้กฎหมาย ISA จัดการกับนักวิเคราะห์ด้านการเงินที่ทำนายค่าเงินริงกิต ที่กำลังตกต่ำในช่วงวิกฤตการณ์การเงินเอเชียในปี 2540 การที่รัฐบาลใช้กฎหมายความมั่นคงขู่ก็เพื่อป้องกันไม่ให้มีใครพูดถึงปัญหาเช่นนี้ เพราะจะเป็นผลในทางลบแก่ภาพลักษณ์ของเงินริงกิต

ในเดือนสิงหาคม 2541 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอให้ใช้กฎหมาย ISA ในการควบคุมบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ปล่อยข่าวลือในอินเตอร์เน็ต และต่อมาในเดือนกันยายนของปีเดียวกันรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อินราฮิม ก็ถูกจับและคุมขังโดยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ใช้อำนาจที่ปรากฏในกฎหมาย ISA นี้เช่นกัน ในขณะเดียวกัน รัฐบาลยังใช้กฎหมายนี้ห้ามไม่ให้ภรรยาของรองนายกรัฐมนตรีอันวาร์ พูดในที่สาธารณะอีกด้วย

แม้กระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมในช่วงปี 2541 ก็ได้เสนอให้รัฐบาลใช้กฎหมายนี้จัดการกับผู้ที่จับกุมได้อย่างซึ่งหน้าจากความผิดในการวางเพลิง เป็นต้น

จากการที่กฎหมาย ISA ให้อำนาจแก่ฝ่ายบริหารอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้สิทธิพิเศษแก่เจ้าหน้าที่ในการจับและคุมขังบุคคลต้องสงสัยได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการไต่สวน จึงทำให้ในช่วงที่มีการเลือกตั้งทั้งในปี 2542 ได้มีการรณรงค์อย่างกว้างขวางเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายดังกล่าว และในปี 2543 ซึ่งเป็นวาระครบรอบ 40 ปีของ ISA องค์กรสิทธิมนุษยชนของมาเลเซียหรือ SUARAM ก็ได้ขยายการรณรงค์ให้มากขึ้น

แต่หลังจากเหตุก่อการร้ายที่เกิดขึ้นกับสหรัฐอเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2544 รัฐบาลมาเลเซียได้ใช้เหตุการณ์ 9/11 เป็นปัจจัยในการสร้างความชอบธรรมให้กับการคงอยู่ของ ISA ซึ่งรัฐบาลได้ยืนยันถึงความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎหมายนี้เพื่อจัดการกับปัญหาความมั่นคงใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการก่อการร้าย

ในความเป็นจริงกลับพบว่า หลังเหตุการณ์ 9/11 รัฐบาลได้ใช้กฎหมาย ISA จัดการกับการชุมนุมของขบวนการนักศึกษา  หรือใช้ในการควบคุมสื่อมวลชน  และแม้นายกรัฐมนตรีมหาเธร์  โมฮัมมัด ในระหว่างดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้แสดงท่าทีคัดค้านอย่างชัดเจนในการคัดค้านกฎหมาย ISA เช่น เขาได้กล่าวให้รัฐสภาในเดือนมีนาคม 2509 ว่า "ไม่มีคนที่มีความรับรู้อย่างถูกต้องคนใดชอบกฎหมายความมั่นคงภายใน เพราะกฎหมายนี้ขัดแย้งกับหลักการของประชาธิปไตยทุกเรื่อง" (ดูใน Parliamentary Debates, 22 มีนาคม 2509)

แต่เมื่อเขาเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นผู้มีอำนาจใช้กฎหมายนี้ เขากลับแสดงท่าทีตรงกันข้าม โดยเขาได้กล่าวในการประชุมระหว่างประเทศที่ประเทศดูไบว่า เขาเป็น "นักเผด็จการที่ดี" มากกว่าจะเป็น " นักประชาธิปไตยตะวันตก" ซึ่งเท่ากับการสนับสนุนให้ใช้กฎหมายเช่นนี้ต่อไปนั่นเอง

นอกจากนี้จะเห็นได้ว่า ในปี 2544 กฎหมาย ISA ถูกนำมาบังคับใช้กับการจับกุมผู้นำนักศึกษาในมาเลเซียมากขึ้น หรือรัฐบาลใช้กฎหมายนี้ในการไม่อนุญาตให้บุคคลสัญชาติมาเลเซียเดินทางออกนอกประเทศ เพราะมีรายงานว่าในการเดินทางครั้งก่อนหน้านี้ว่า บุคคลเหล่านั้นได้กล่าววิจารณ์รัฐบาลมาเลเซียในทางลบ เป็นต้น

การเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านกฎหมาย ISA ต่อมาได้ขยายตัวออกไปในวงกว้าง จนมีการก่อตั้ง "ขบวนการยกเลิก ISA" (The Abolish ISA Movement) ซึ่งถือได้ว่าเป็นการรวมตัวเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมาเลเซียในการต่อต้านกฎหมาย ISA และแกนกลางของการเคลื่อนไหวประกอบด้วยปัญญาชน เอ็นจีโอ พรรคการเมือง และสหภาพแรงงาน

อย่างไรก็ตามหลังเหตุการณ์ 9/11 รัฐบาลมาเลเซียยืนยันอย่างหนักแน่นในการคงไว้ซึ่งการใช้อำนาจพิเศษในกฎหมาย ISA เพื่อจัดการกับการก่อการร้าย โดยนายกรัฐมนตรีมหาเธร์กล่าวว่า กฎหมายนี้จะไม่ยกเลิก เพราะมี "ประสิทธิภาพในการต่อต้านการก่อการร้าย" แต่ในอีกด้านหนึ่ง กลุ่มนักสิทธิมนุษยชนในมาเลเซีย ได้กล่าววิจารณ์ว่า รัฐบาลมาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้โอกาสของสงครามต่อต้านการก่อการรายในการจัดการกับกลุ่มต่อต้านทางการเมืองภายในประเทศ

เรื่องราวของกฎหมายความมั่นคงของมาเลเซียที่มีผลกระทบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนเช่นที่กล่าวอย่างสังเขปในข้างต้น น่าจะเป็นข้อเตือนใจให้แก่สังคมไทยได้บ้าง เพราะกฎหมายเช่นนี้เมื่อถูกนำออกมาใช้แล้ว ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ เว้นแต่เราเชื่ออย่างที่ผู้นำรัฐบาลมาเลเซียกล่าวไว้ว่า "การใช้กฎหมายความมั่นคงภายในก็คือสัญลักษณ์ของความรักของรัฐบาล เพื่อช่วยให้พลเมืองมีชีวิตกลับคืนสู่ปกติ" !

 

..........................
บทความที่เกี่ยวข้อง
บทความสุรชาติ บำรุงสุข (2) : กฎหมายความมั่นคงมาเลเซีย ข้อคิดสำหรับประเทศไทย - 12/11/2550

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท