Skip to main content
sharethis



เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2550 ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินจาก 4 ภูมิภาค ประกอบด้วยนายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) นายธนา ยะโสภา จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ นายนิวาส โคตรจันทึก จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน นายบุญ แซ่จุง จากเครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ และนายสุชิน เอี่ยมอินทร์ จากเครือข่ายสลัม 4 ภาคได้ร่วมกันแถลงข่าวถึงนโยบายที่ดินของพรรคการเมืองต่างๆ ว่า ในช่วงปัจจุบันที่พรรคการเมืองกำลังเร่งระดมการหาเสียงเพื่อช่วงชิงการเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล โดยพยายามเสนอนโยบายของพรรคในการแก้ไขปัญหาสังคมไทย แต่นโยบายที่ดินของพรรคการเมืองยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนจนได้

 


นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) กล่าวว่า หลังจากที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้ศึกษานโยบายด้านที่ดินของพรรคการเมืองต่างๆแล้ว พบว่า นโยบายที่ดินของพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ยังคงเป็นโยบายที่มุ่งเน้นเร่งรัดการออกเอกสารสิทธิที่ดิน เพื่อการสร้างมูลค่าของที่ดิน เพื่อการแลกเปลี่ยนในตลาด ซึ่งจะทำให้มีการเก็งกำไรในที่ดินและทำให้ที่ดินเปลี่ยนมือเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นการเร่งให้เกิดการสูญเสียที่ดินทำกิน และมีการกระจุกตัวผูกขาดการถือครองที่ดินของคนส่วนน้อยมากยิ่งขึ้น ในขณะที่ละเลยนโยบายในเรื่องการกระจายการถือครองที่ดิน หรือไม่ได้มีนโยบายในการสร้างความเป็นธรรมในการถือครองที่ดินในสังคมไทย แม้ว่ารัฐธรรมนูญในฉบับปัจจุบันในมาตราที่ 85 จะบัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า "รัฐบาลจะต้องดำเนินนโยบายกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม และดำเนินการให้เกษตรกรมีสิทธิในการทำกินอย่างทั่วถึง โดยการปฏิรูปที่ดินหรือโดยวิธีการอื่น" ทั้งนี้ เมื่อพิจารณานโยบายที่ดินของพรรคการเมืองต่างๆ ดังกล่าวแล้วจะเห็นได้ว่า พรรคการมืองเหล่านั้น มีแนวความคิดและแนวนโยบายในการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างจำกัดและคับแคบเพียงการออกเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินเป็นหลัก โดยไม่มีการรับรองสิทธิชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปัญหาสิทธิที่ดินทำกินของชุมชนท้องถิ่น เป็นประเด็นปัญหาที่ดินหลักของสังคมไทย การไม่รับรองสิทธิที่ดินทำกินของชุมชนท้องถิ่นและปฏิเสธการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติจะเป็นการกีดกันการเข้าถึงที่ดินของเกษตรกรและทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการถือครองที่ดินในคมไทยมากขึ้น


 


นายธนา ยะโสภา จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในภาคเหนือ มีทั้งประเด็นปัญหาความขัดแย้งในเรื่องที่ดินในเขตป่าตามกฎหมายของรัฐและที่ดินนอกเขตป่าที่เป็นพื้นที่ของเอกชน โดยการประกาศเขตพื้นที่ป่าทับที่ชุมชนของรัฐบาล ได้ทำให้เกษตรกรขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน ในขณะที่การดำเนินนโยบายอย่างแข็งกร้าวในการจับกุมและฟ้องร้องชาวบ้านที่เข้าถือครองที่ดินนอกเขตป่า โดยมิได้มีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของเอกชนหรือตรวจสอบแล้วว่าเป็นการออกเอกสารสิทธิไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่ไม่มีการยกเลิกเพิกถอนเสีย ได้ทำให้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในภาคเหนือไม่ได้รับการแก้ไขจนกระทั่งปัจจุบัน ดังนั้น จะเห็นว่านโยบายที่ดินของพรรคการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคประชาราช ที่มุ่งแก้ไขปัญหาที่ดินโดยการออกเอกสารสิทธิที่ดินอย่างเดียว จึงไม่ใช่นโยบายที่จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในประเด็นที่ดินทำกินของพี่น้องเกษตรกรภาคเหนือได้ ตราบเท่าที่ยังไม่มีการรับรองสิทธิที่ดินทำกินของชุมชนท้องถิ่นอย่างถูกต้องและไม่มีการตรวจสอบความชอบธรรมหรือการได้มาของเอกสารสิทธิในที่ดินทำกินของนายทุนเอกชนภาคเหนือ


 


นายนิวาส โคตรจันทึก จากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน กล่าวว่า ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในพื้นที่ภาคอีสานเกิดจากความไม่เข้าใจในประเด็นปัญหาพื้นฐานเรื่องที่ดินในสังคมไทย ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจึงมีการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้นในการจัดการกับเกษตรที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของรัฐ แม้ว่าเกษตรกรยากจนเหล่านั้นจะอยู่อาศัยและทำกินมาก่อนการประกาศเขตพื้นที่ป่าของภาครัฐก็ตาม นโยบายที่ดินของพรรคการเมืองต่างๆ ที่มุ่งหาเสียงในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคชาติไทย รวมถึงพรรคมัชฌิมาธิปไตย ต่างมิได้กล่าวถึงการรับรองสิทธิที่ดินทำกินของเกษตรกรในชุมชนท้องถิ่นเหล่านิ้ จึงเห็นได้ว่านโยบายที่ดินทำกินของพรรคการเมืองที่หาเสียงในปัจจุบัน จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรยากจนในภาคอีสานได้


 


นายบุญ แซ่งจุง จากเครือข่ายป่าชุมชนภาคใต้ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในที่ดินทำกินของพื้นที่ภาคใต้ปัจจุบันยังอยู่ในภาวะวิกฤต เนื่องจากภาครัฐได้ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเข้มข้น มีการดำเนินคดี การจับกุมคุมขังเกษตรกร การดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและทางอาญากับเกษตรกรที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ของตัวเองก่อนที่จะมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ป่าของรัฐ แต่การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาของภาครัฐ นอกจากจะไม่มีการรับรองสิทธิในที่ดินทำกินให้กับชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้แล้ว ยังได้มีการจับกุม ข่มขู่คุกคาม ตัดฟันต้นยาง และทำลายอาสินของชาวบ้าน รวมทั้งมีการฟ้องคดีแพ่ง เรียกร้องค่าเสียหายจากเกษตรกรยากจนที่มีปัญหาเรื่องความขัดแย้งในที่ดินทำกินจากรัฐเป็นมูลค่าสูงถึงครอบครัวละ 2 ล้านถึง 5 ล้านบาท นโยบายเรื่องที่ดินของพรรคการเมืองที่มีการหาเสียงในปัจจุบัน ไม่ได้มีการพูดถึงการแก้ไขปัญหาเรื่องความขัดแย้งในเรื่องที่ดินทำกินเหล่านี้ของเกษตรกรภาคใต้ ดังนั้น การถูกละเมิดสิทธิในที่ดินทำกิน การถูกจับและปรับเป็นมูลค่าสูงหลายล้านบาทต่อครอบครัว จะไม่สามารถถูกแก้ไขได้เพียงนโยบายตื้นๆ ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิที่ดินทำกินของพรรคการเมืองต่างๆ ตามที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน


 


นายสุชิน เอี่ยมอินทร์ จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่า ปัญหาหลักของชุมชนแออัดกว่า 3,000 ชุมชนทั่วประเทศ คือปัญหาการถูกไล่รื้ออย่างรุนแรง โดยที่ชุมชนแออัดถูกมองว่าเป็นผู้บุกรุกโดยไม่ได้มีส่วนร่วมแก้ไขไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในเรื่องสิทธิของตนเอง นโยบายการแก้ไขปัญหาของพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ที่มีนโยบายกว้างๆ เพียงต้องการสร้างความมั่นคงในที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน โดยใช้ระบบการผ่อนชำระหรือเงินกู้ระยะยาว รวมทั้งการสร้างแฟล็ตเพื่อย้ายชุมชนแออัดเหล่านี้ให้ไปอยู่ในพื้นที่ที่รัฐจัดสรรให้ แสดงถึงการไม่มีวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาชุมชนแออัด ซึ่งเท่ากับเป็นการแสดงว่า พรรคการเมืองเหล่านี้ไม่เข้าใจปัญหาของชุมชนแออัดในสังคมไทย เนื่องจากสิ่งที่ชุมชนแออัดต้องการคือ การสร้างความมั่นคงของที่อยู่อาศัยในที่ดินเดิมใกล้แหล่งประกอบอาชีพ ภาครัฐจึงควรพิจารณาให้ชุมชนแออัดสามารถเช่าที่ดินของรัฐเพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยได้ในระยะยาว และเร่งการปฏิรูปที่ดินเอกชน เร่งให้มีมาตรการในการการเก็บภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าเพื่อกระจายการถือครองที่ดินให้คนจนเมืองและคนจนในชนบทอย่างแท้จริง


 


นายไพโรจน์ พลเพชร กล่าวโดยสรุปว่า นโยบายที่ดินของพรรคการเมืองที่หาเสียงกันอยู่ในปัจจุบัน ยังขาดวิสัยทัศน์ในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินในสังคมไทยอย่างแท้จริง เพราะยังไม่มีพรรคการเมืองใดมีนโยบายการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เพื่อการกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยการใช้มาตรการหลายมาตรการพร้อมกันในแก้ไขปัญหาโครงสร้างการถือครองที่ดินที่เป็นอยู่ คือการปฏิรูปที่ดินโดยชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลจัดการทรัพยากรที่ดิน การจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าเพื่อใช้เป็นกลไกให้คนที่ถือครองที่ดินมากๆ ปล่อยที่ดินที่ถือไว้เพื่อการเก็งกำไรออกมา การจัดตั้งธนาคารเพื่อการปฏิรูปที่ดิน การจำกัดการถือครองที่ดิน รวมถึงการคุ้มครองพื้นที่เพื่อเกษตรกรรม อันจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับคนยากจนในเมืองและชนบทของสังคมไทย ดังนั้นในวันที่ 18 - 19 พฤศจิกายน 2550 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยจะจัดเวทีอภิปรายว่าด้วยเรื่องการแก้ไขปัญหาที่ดินในสังคมไทย ณ ลานคนเมือง กรุงเทพมหานคร เพื่อเสนอนโยบายที่ดินต่อพรรคการเมือง เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย จึงขอท้าทายและเชิญชวนให้พรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมอภิปรายนโยบายของพรรคในการแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินร่วมกับเครือข่ายฯ ซึ่งจะมีการเผยแพร่และถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตให้สาธารณะชนได้รับรู้ถึงนโยบายที่ดินของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวาง และขอเชิญชวนสื่อมวลชนจากทุกแขนงเข้าร่วมเวทีนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net